xs
xsm
sm
md
lg

“ไม่อยากเห็นเด็กถูกทิ้งเป็นศพ” พ่อพระ ผู้ต่อลมหายใจให้เด็กกำพร้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ระยะเวลากว่า 20 ปีที่ “หลวงพ่อทองมา”่ อุทิศตน ต่อลมหายใจให้เด็กกำพร้า - เด็กที่ถูกทอดทิ้ง กว่า 100 ชีวิต ให้ชีวิต ให้โอกาสทางการศึกษา เพื่อให้อยู่กับสังคมได้ ในเส้นทางแห่งความเสียสละที่หาได้ยากในสังคมไทยในปัจจุบัน





เสียสละ- อุทิศตนดูแลเด็กกำพร้า!!

“ไปเจอเด็กกำพร้าคนหนึ่ง แล้วเขาไม่มีพ่อ แม่ก็เสียสติ เด็กคนนั้นอายุประมาณ 4-5 ขวบ ความรู้สึกมันเหมือนสมัยเด็ก เราเคยลำบากแบบนี้ ทั้งที่มีแม่อยู่ แต่เขาไม่มี เขามีแต่คนแก่ๆ อยู่ดูแล ทำไงถึงจะช่วยเขาได้”

พระครูสมุห์ทองมา อคคธมโม หรือ "หลวงพ่อทองมา" เจ้าอาวาสวัดป่าดอนใหญ่ อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา บอกเล่าถึงความรู้สึกตลอดระยะ 20 ปี ที่ได้อุทิศตน อุปถัมภ์เด็กกำพร้ากว่าร้อยชีวิต ว่าเพียงอยากให้เขามีอนาคตที่ดีขึ้น



ณ วัดป่าดอนใหญ่แห่งนี้ ไม่ใช่วัดที่หลวงพ่อทองมาบวชในช่วงแรก แต่เป็นวัดที่ก่อตั้งขึ้นในภายหลัง บนพื้นที่ และปัจจัยของโยมแม่ของหลวงพ่อเอง ซึ่งใครจะรู้ว่าวัดป่าดอนใหญ่ได้ให้การดูแลเด็กกำพร้า จนมีอนาคตไกล ซึ่งสิ่งที่ที่คาดไม่ถึง คือเด็กที่หลวงพ่อเลี้ยงดูบางคนรับเลี้ยงมาตั้งแต่แบเบาะ

“ขอพื้นที่ตรงนี้เพื่อสร้างเป็นวัด โยมแม่ก็ได้ถวายให้อนุญาตสร้างได้ คือเนื้อที่ตรงนี้มีทั้งหมด 20 ไร่ แต่โยมแม่ให้เอาสร้างวัดได้ 7 ไร่ เพราะว่าตามระเบียบแล้ว 6 ไร่ ขึ้นไปถึงจะขอสร้างวัดได้
โยมแม่ก็เลยให้ 7 ไร่ และที่เหลือโยมแม่ก็แบ่งขาย แล้วเอาปัจจัยที่ขายได้มาช่วยถมที่ ช่วยก่อร่างสร้างวัดขึ้นมา แรกๆ คือไม่มีเงินเลย ก็อาศัยที่ผืนนี้ และที่ที่ตัดแบ่งไปโยมแม่เขาก็ขายออกไป แล้วเอาเงินปัจจัยมาถวาย จนเงินสมบัติโยมแม่หมด”

ย้อนกลับไป ความยากจนในวัยเด็ก ทำให้หลวงพ่อเข้าใจและอดสงสารเด็กไม่ได้ เมื่อพบเด็กกำพร้าอดอยากจากตายายที่เลี้ยงไม่ไหว หลวงพ่อจึงอาสารับเด็กคนนั้นมาดูแลแทน ซึ่งเมื่อเห็นเด็กเหล่านี้ ก็อดนึกถึงชีวิตตัวเองในอดีตไม่ได้



“อาตมาเริ่มเลี้ยงคนแรกไปขอกับตายาย รู้สึกสงสาร เพราะว่าเด็กก็อดอยาก ตายายก็ลำบาก แกก็ดีใจ ร้องไห้ที่เราเอาหลานมาช่วยเลี้ยง หลังจากนั้นมา พอใครลำบากหรือว่าเด็กกำพร้ามีที่ไหน ตายายหรือพี่ป้าน้าอา เขาก็เอามาฝาก

โยมแม่ไม่ค่อยมีเวลาเข้าวัด ทำบุญ ท่านจะใช้เวลาส่วนใหญ่ในการทำมาหากิน เลี้ยงลูกมากกว่า เพราะเป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวตั้งแต่หลวงพ่อยังอายุประมาณ 5 ขวบ

แม่ก็เลี้ยงดูแลมา เวลาส่วนใหญ่จะต้องไปทำมาหากิน ทำยังไงจะได้อาหารมาให้ลูกกิน ทำยังไงจะได้ปัจจัยมาให้ลูกไปโรงเรียน ยังจำได้เลยไปโรงเรียนห่อข้าว ไข่ใบหนึ่งกิน 4 คน ผ่า 4 ชิ้น
และมีโอกาสได้เรียนแค่ประถมศึกษาปีที่ 5 ก็ต้องออก เพราะว่าพอเริ่มประถมศึกษาปีที่ 5 รัฐบาลก็เริ่มให้ซื้อหนังสือ ซึ่งโดยกำลังของโยมแม่แล้วไม่ไหว ก็ออก

จากนั้นก็ไปรับจ้างเลี้ยงวัว พอโตมาขึ้นหน่อยก็มาฝึกเป็นช่างตัดผมอยู่ระยะหนึ่ง พอโตเป็นหนุ่มก็ถูกไปเป็นทหาร แล้วเริ่มวัยรุ่นก็เริ่มติดเพื่อน เริ่มดื่มเหล้าเป็น สูบยาดื่มเหล้า แล้วกลับมาบ้านทีก็ดื่มเหล้าอยู่ 2-3 วัน

แล้วแม่เขาไม่ชอบคนดื่มเหล้า ในช่วงปี 37 ในหมู่บ้านมีการบวชนาค 8 คน ก็กลับมาจากที่ทำงานก็ฉลอง 8 นาคกับเขา ฉลองเมาไม่รู้เรื่อง โยมแม่เขาบอกว่าพอแล้วเอ็ง บวชซะเถอะ ตอนนั้นเมาอยู่นะ ก็คะนองปากบอกถ้าเอาผมบวช ผมบวชไม่สึกนะ ก็บอกแม่อย่างนั้น แม่ก็บอกถ้าแม่ไม่ตาย อย่าสึก ถ้าสึกมาแม่ยังอยู่หัวแตก ก็เลยได้บวช แล้วบวชยาวมา”

 

หลังจากนั้นไม่นานหลวงพ่อทองมา ได้รับอุปการะเด็กมาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะสามารถรับอุปการะเด็กได้ทุกคน สำหรับผู้ที่เปรียบดั่งพ่อของเด็กกำพร้าคนนี้ ยังบอกอีกว่าจะดูไปตามความเหมาะสมและกำลังของตัวเอง




เลี้ยงเด็ก = กิจของสงฆ์!!?

“คือเด็กคนนี้ ถ้าเราไม่เอาไว้ เด็กคนนี้ตายกับอยู่เท่ากัน อยู่คือหมายความว่าเขาไปโยนทิ้งแล้วมีคนเห็น แต่ถ้าไม่มีคนเห็นล่ะ

เด็กคนนี้เป็นอะไรไป เราไม่เอา ไม่รับไว้แล้ว เขาเดินออกไป 3 วันต่อมาเจอศพเด็กคนนี้ เราจะรู้สึกยังไง เราช่วยเขาได้ แล้วทำไมเราไม่ช่วย”

ไม่เพียงเปรียบเหมือน "พ่อ" ที่ให้ชีวิตใหม่แก่เด็ก ได้มี ที่อยู่-ที่กิน-มีการศึกษา แต่ยังช่วยให้เด็กมีอนาคตที่สดใส ไม่ตกอยู่ในวงจรยาเสพติดอีกด้วย

แม้ปัญหาถูกทอดทิ้งจะพบเห็นได้ทั่วไปในสังคม หากเด็กโชคดีก็อาจจะมีผู้พบเห็น และนำไปสู่การเลี้ยงดู หรือเข้ารับการสงเคราะห์จากหน่วยงาน หรือมูลนิธิฯที่ทำเพื่อเด็กและสังคม แต่หากเด็กโชคร้ายถูกทิ้งในที่ลับหูลับตา ไม่มีใครพบเห็นได้ง่าย นั่นอาจหมายถึงวาระสุดท้ายของเด็กคนนั้น

อย่างไรก็ดี เนื่องจากวัดเป็นศาสนสถาน เมื่อต้องปรับบทบาทมาเป็นสถานสงเคราะห์แบบนี้ ก็มักจะตามมาด้วยคำถามถึงความเหมาะสม และสงสัยว่านี่ใช่กิจของสงฆ์หรือไม่

“คำถามนี้เจอบ่อย มันใช่กิจของสงฆ์มั้ย ในตัวของอาตมา ยึดถือพรหมวิหาร 4 เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา

เมตตา คือความรักใคร่ อยากให้คนมีความสุข เมื่อเขามีความทุกข์มา เราก็ช่วยเขา แต่เราจะช่วยเขายังไง ในสภาวะนี้เราสามารถช่วยเขาได้อย่างไร

เด็กๆ ที่อุปการะมีคนเดียวเท่านั้น ที่เมื่อ 20 ปีที่แล้วที่ไปขอ นอกนั้นไม่เคยไปขอใคร มีแต่เขาเอามา แล้วถ้าหากเราไม่ช่วยเขา ใครจะช่วย ในความคิดขณะนั้นคือถ้าเราไม่ช่วยเขา คือแม่เด็กที่มา เขาสิ้นหวังแล้ว”

สำหรับแนวคิด และหลักเกณฑ์ ผู้เปรียบเสมือนพ่อของเด็กกำพร้าเหล่านี้ ให้คำตอบไว้ว่า เด็กที่อุปการะ ต้องเป็นเด็กผู้ชายเท่านั้น



“อันดับแรกเลยต้องเป็นผู้ชาย ถ้าเป็นผู้หญิงมา อย่างอื่นก็ไปต่อไม่ได้ คุยกันไม่ได้แล้ว เพราะปัญหามันจะเกิดภายหน้า อาตมาไม่ใช่รังเกียจนะ แต่ว่าปัญหามันจะเกิดกับวัด เกิดกับสังคม

2. อายุ ไม่ได้กำหนดว่าต้องอายุเท่าไหร่ คือจะอายุเท่าไหร่ก็ได้ และพ่อแม่มีมั้ย ถ้ามีทั้งพ่อทั้งแม่ แล้วเหตุผลอะไรล่ะทำไมถึงจะต้องเอามาให้เรา อันนี้เรารับไม่ได้ ถ้ามีทั้งพ่อทั้งแม่ คุณต้องดูแลเด็ก คุณทำให้เขาเกิดแล้ว
ถ้าหากว่าเขาไม่มีทั้งพ่อทั้งแม่ และอยู่ในสภาวะที่ลำบาก เช่นคนดูแลไม่ใช่ญาติ หรือคนที่ดูแลเป็นตายายแก่ๆ ตัวแกก็หากินไม่พอปากพอท้องแล้ว แล้วถ้าเกิดว่าวันใดวันหนึ่งแกล้มหายตายจากไป เด็กจะเป็นยังไง เราก็ดูตรงนี้ ในเคสนี้เราก็รับไว้"

มองย้อนกลับไปภาพที่ชินตาสำหรับคนละแวกนั้นคือ เวลาตอนเช้า หลวงพ่อมักนำเด็กใส่รถเข็นไปบิณฑบาตด้วยกันจนเป็นภาพจำของทุกวัน ซึ่งการส่งเสียเลี้ยงดูเด็กๆ หลวงพ่อเปิดใจว่า ไม่ได้มีกองทุนมาช่วยเหลือใดๆ เพียงแต่ได้รับจากปัจจัยศรัทธาจากญาติโยมเท่านั้น



“ปัจจัยมันก็อย่างที่เห็นคือ ส่วนใหญ่ก็อาศัยบิณฑบาตยังชีพนี่แหละ เราไม่มีทุนจากที่อื่น ไม่มีกองทุน ไม่มีนายทุน หรือว่าไม่มีงบจากรัฐบาล

บางคนก็บอกว่าถ้าเรียนปริยัติธรรม มันจะต้องมีค่าหัวอยู่แล้วแน่นอน อันนี้จริง แต่อย่าลืมว่าค่าหัวนักเรียนตกที่โรงเรียนนะ ไม่ใช่ตกที่วัด

วัดเรามีกี่องค์ ส่งไปเรียนเท่าไหร่ โรงเรียนได้ ค่าใช้จ่ายอยู่ที่เรา ค่าน้ำมัน ค่าสมุด ค่าปากกา ค่าอะไรต่อมิอะไรอยู่ที่เราหมดเลย แต่ว่าเราก็ไม่เคยย่อท้อ ไม่เคยไปขอแบ่ง หรือว่าไปเรียกร้องอะไรจากโรงเรียน
รวมทั้งค่าน้ำค่าไฟ ค่าอะไรทุกอย่างด้วย อยู่ในบาตรลูกเดียว เขาเรียกว่าเงินหลวง หรือทุนหลวง แต่หลวงพ่อนะ ไม่ใช่หลวงรัฐบาล

บางคนเขาก็ถวายเป็นปัจจัย ปัจจัยส่วนนั้นเราก็เอามาทำประโยชน์ ส่วนกลาง ไปส่วนรวม หรือว่าไปกิจนิมนต์ เขาถวายส่วนตัว มันก็ต้องเอามาส่วนกลางทั้งหมด เพราะถ้าไม่มาเอาลง ส่วนกลางจะไปไม่รอด”




ไม่หวังให้เด็กกลับมาดูแล...ขอแค่เด็กมีอนาคตที่ดี!!

แม้ชีวิตจะลำบากแค่ไหนก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลวงพ่อทองมา เป็นผู้อุทิศตนและมีเมตตากับเด็กกำพร้าเป็นอย่างมาก อีกทั้งนำที่ดินไปจำนอง เพียงเพราะอยากสนับสนุนให้เด็กๆที่เปรียบดั่งลูก ได้มีการศึกษาที่สูงที่สุด

“หลวงพ่อส่งถึงปริญญาตรี แต่จริงๆก็กำหนดว่าส่งถึงปริญญาโท แต่ยังไม่มีใครไปถึง ไม่เคยขวาง สนับสนุนเต็มที่ ขอให้เรียน ขอให้อยากเรียนจริงๆ จะลำบากแค่ไหนก็ได้ ขนาดที่ว่าเคยเอาที่ของโยมแม่ไปจำนอง เปิดเทอมทีนึงเอาที่ไปจำนองไฟแนนซ์ เอามาส่งลูกศิษย์เรียน”

เมื่อถามหลวงพ่อว่า เลี้ยงดู-ส่งเสียเด็กขนาดนี้ เคยหวังให้เด็กๆ ที่เติบโตไป กลับมาดูแลเราหรือช่วยเหลือวัดไหม

เจ้าอาวาสวัดป่าดอนใหญ่บอกว่า ไม่เคยหวังว่าเด็กจะกลับมาดูแล หวังแค่เขาจะไปรอด และมีชีวิตที่เจริญรุ่งเรืองขึ้นเท่านั้น

 

“ส่วนใหญ่กลับมา ก็อย่างปีละ 1 -2 ปีหรือวันเกิดหลวงพ่อ มาเยี่ยมหลวงพ่อ มากราบหลวงพ่อ บางทีก็หอบลูก หอบเมียมาหา มากราบ มาไหว้ มาขอพร

เรื่องหวังว่าเขาจะกลับมาดูแลเรา เป็นไปไม่ได้ เพราะบางคนแม้แต่พ่อแม่แท้ๆ เขายังไม่ได้มีโอกาส ไม่มีเวลากลับไปดูแล แล้วเราเป็นใคร ไม่ได้หวังว่าเขาจะกลับมาดูแลเรา เราหวังว่าเขาจะไปรอด เขาจะมีชีวิตที่เจริญรุ่งเรืองขึ้นแค่นั้น เขาจะกลับมาช่วยดูแลวัดวาอาราม อันนั้นมันก็อยู่ที่จิตสำนึกเขาเอง”

ด้วยเคยผ่านความยากลำบากมาก่อน หลวงพ่อทองมาจึงเข้าใจ และไม่ใช่แค่อยากเห็นเด็กๆเหล่านี้ เติบโตและมีอนาคตที่ดี แต่ยังหวังด้วยว่าเมื่อเด็กๆ เติบโตเป็นผู้ใหญ่ จะเป็นผู้ใหญ่ที่มีความรับผิดชอบต่อครอบครัว และมีลูกๆ เมื่อพร้อม เพื่อที่จะไม่สร้างปัญหาใหม่ หรือเพิ่มเด็กกำพร้าให้กับสังคมต่อไป

“บอกเด็กๆ ว่าถ้าจะมีครอบครัว มีลูก หลวงพ่อไม่ห้าม แต่ห้ามอย่างเดียวอย่าเพิ่งมีลูก จะบอกทุกคนเลยนะ อย่าเพิ่งมีลูก รู้ว่าทุกคนมีครอบครัว ก็อยากมีลูกกันทั้งนั้น แต่เธออย่าลืมว่ามีลูกแล้ว ปัญหาเก่าๆ มันจะวนมา เหมือนตัวเธอที่ถูกทอดทิ้งมา เพราะเหตุจากความไม่พร้อม

บางคนบอกผมพร้อมหลวงพ่อสบายๆ พ่อแม่เราก็พูดแบบนี้แหละ ก่อนจะมีเรา เราต้องเตรียมพร้อมก่อน มีเงินเก็บก่อน เลี้ยงเด็กคนหนึ่งเตรียมไว้เลยเดือนละ 5,000 อย่างน้อยๆ เลย

พื้นฐานเดือนละ 5,000 เด็กต้องเลี้ยงกี่ปีกว่าที่จะไปเข้าโรงเรียน 3 ปี เดือนละ 5,000 ปีละ 6 หมื่น จะต้องเงินสักแสนนึงก่อน ค่อยคิดจะมีเด็ก

แล้วก่อนจะมีถามพ่อแม่ ปู่ย่าตายายเด็ก ทางไหนพอรับไว้ได้ ทำงานไป 2 คน ส่งเสียไปให้ปู่ย่าตายายไป ก็ต้องสอนแบบนี้ ต้องบอกเขา เพราะถ้าหากว่าทำแบบนั้น กงกรรม กงเกวียนมันจะหมุนกลับมา”

ระยะ 20 ปีกับเด็กกำพร้านับ 100 ชีวิต ที่หลวงพ่อทองมา ช่วยชุบเลี้ยง และส่งเสียให้เด็กได้ศึกษาเล่าเรียน ถ้าไม่ได้ความเมตตาจากหลวงพ่อ เด็กๆ เหล่านี้อาจจะไม่มีชีวิต ถึงวันนี้ก็ได้ ซึ่งแม้หลวงพ่อจะไม่ใช่พ่อแม่ แต่ท่านก็รัก และเอาใจใส่เด็กๆ ทุกคน ราวกับเป็นลูกของตนเอง




สัมภาษณ์ รายการ "ฅนจริง ใจไม่ท้อ"
เรียบเรียง : ผู้จัดการ Live
เรื่อง : ภูริฉัตร ปริยเมธานัยน์




** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **

กำลังโหลดความคิดเห็น