xs
xsm
sm
md
lg

รัฐหรือ ผกค.สั่งสังหาร โกมล คีมทอง! มือปืนเปิดเผยตัว รับเป็นคนยิงเอง!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค



เมื่อวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๔๑๔ เสียงปืนชุดหนึ่งที่บ้านเหนือคลอง กิ่งอำเภอพระแสง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ดังก้องไปทั้งประเทศ เมื่อเหยื่อสังหารเป็นคุรุศาสตร์บัณฑิตหนุ่มวัย ๒๔ ที่มุ่งมั่นศึกษาวิชาครูด้วยความตั้งใจจะไปช่วยเด็กในชนบทห่างไกลในด้านการศึกษา เมื่อจบปริญญาตรีตามที่มุ่งหมาย เขาก็พกอุดมการณ์ที่มุ่งมั่นไปเปิดโรงเรียนขึ้นในชนบทกันดาร ท่ามกลางบรรยากาศที่ระอุด้วยควันปืนของการต่อสู้ระหว่างอำนาจรัฐกับพรรคคอมมิวนิสต์โดยไม่หวาดหวั่น ด้วยมีความบริสุทธิ์ใจเป็นที่ตั้ง ทั้งยังมีเพื่อนสาวที่ลาออกจากอาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตามไปร่วมอุดมการณ์ด้วย แต่กลับมีสายตาของทั้งอำนาจรัฐกับพรรคคอมมิวนิสต์จ้องมองด้วยความสงสัย โดยเชื่อว่าเขาจะต้องมีอะไรแอบแฝง จึงติดตามดูอย่างไม่ไว้ใจ จนกระทั่งฝ่ายหนึ่งแน่ใจว่าเขาเป็นคนของฝ่ายตรงข้ามที่มาสอดแนม บัณฑิตหนุ่มสาวกับชาวบ้านผู้นำทางอีกคนจึงถูกสังหารอย่างโหดเหี้ยม ทิ้งปริศนาคาใจตลอดมาว่า ใครฆ่า โกมล คีมทอง?

โกมล คีมทอง เกิดที่จังหวัดสุโขทัยเมื่อปั ๒๔๘๙ มาจบประถมที่โรงเรียนบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี และจบมัธยมที่โรงเรียนสวนกุหลาบ กรุงเทพฯ เข้าศึกษาต่อที่คณะคุรุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยความมุ่งมั่นมาแต่เด็กว่าจะเป็นครู ระหว่างศึกษาในมหาวิทยาลัย นอกจากโกมลจะตั้งใจศึกษาหาความรู้แล้ว ยังเข้าร่วมในกิจกรรมต่างๆ และงานเขียนหนังสือ โดยให้ความสนใจเป็นพิเศษกับกิจกรรมค่ายอาสาสมัครเมื่อปิดภาคเรียน

ในปีสุดท้ายที่จะจบการศึกษา อารีย์ ศรีบูรธรรม เบอร์แกน ผู้จัดการเหมืองในเขา ตำบลบ้านส้อง กิ่งอำเภอเวียงสระ ซึ่งได้อ่านบทความของอาจารย์สุลักษณ์ ศิวลักษณ์ ในหนังสือวิทยาสารปริทัศน์ ได้เชิญชวนนิสิตนักศึกษาจากสถาบันการศึกษาต่างๆมาจัด “ค่ายพัฒนากำลังคน เหมืองห้วยในเขา” ซึ่งโกมลมีโอกาสไปร่วมด้วย ได้สัมผัสกับความทุกข์ยากของเด็กๆในเหมืองที่ต้องเดินทางเป็นกิโลๆเพื่อไปโรงเรียน ฉะนั้นเมื่อ อุดม เย็นฤดี เจ้าของเหมืองชักชวนให้ไปตั้งโรงเรียนชุมชนตามแนวความคิดของโกมลขึ้นในเหมือง เขาจึงตอบรับคำชวนเพื่อเริ่มงานตามอุดมการณ์

ยามนั้น อำเภอพระแสงยังเป็นกิ่งอำเภอห่างไกลความเจริญ ไม่มีถนนติดต่อกับโลกภายนอก เป็นที่ส้องสุมกองกำลังของพรรคคอมมิวนิสต์ จัดตั้งขบวนการปลดแอกประชาชน (ทปท.) ขึ้นต่อสู้อำนาจรัฐ ซึ่งฝ่ายรัฐเรียกว่า ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ (ผกค.) มีค่าย ๘๒ ตั้งอยู่บนเขาสองพี่น้อง รับผิดชอบอำเภอเวียวสระ อำเภอพระแสง และอำเภอเคียนซา ซึ่งหลังจากกรณีของโกมล คีมทองแล้ว อีก ๖ ปีต่อมา ในวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๐ กองกำลังของค่ายนี้ยังได้ยิงเฮลิคอปเตอร์ของตำรวจ เป็นผลให้ ม.จ.วิภาวดี รังสิต สิ้นพระชนม์

โรงเรียนชุมชนตามแนวคิดของโกมลนั้น ต้องการให้เป็นโรงเรียนของหมู่บ้าน มีหมู่บ้านเป็นผู้สนับสนุน หลักสูตรก็จัดขึ้นตามความเหมาะสมกับสภาพชีวิตของคนในหมู่บ้าน ให้รู้เรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันให้ดีเสียก่อน เช่นเรื่องการทำนา ทำสวนยาง ปลูกไม้ผล เลี้ยงไก่ และปลูกผัก รวมทั้งวิชาช่างต่างๆ ไม่ต้องไปท่องเรื่องของกรุงเทพฯ ของยุโรปหรืออเมริกา ไม่ได้ยึดหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเรื่องนี้ไม่เป็นที่พอใจของเจ้าหน้าที่รัฐนัก และในบรรยากาศที่เต็มไปด้วยความหวาดระแวงกัน ทำให้ฝ่ายอำนาจรัฐเพ่งมองโกมลว่าจะเป็นแนวร่วมของพรรคคอมมิวนิสต์

โกมลไม่เพียงแต่ให้ความรู้แก่เด็กในเรื่องการดำรงชีวิตเท่านั้น ยังคิดจะบรรจุศิลปะพื้นบ้านทางปักษ์ใต้เข้าไว้ในหลักสูตรของโรงเรียนชุมชนแห่งนี้ด้วย เพื่อให้เด็กได้รักษามรดกของบรรพบุรุษด้านนี้ไว้ เป็นต้นว่า มโนห์รา หนังตะลุง และนิทานพื้นบ้าน โดยให้ชาวบ้านที่มีความรู้เป็นผู้ถ่ายทอดให้แก่ลูกหลานของตนเอง และเสนอให้อาจารย์สุลักษณ์ ศิวลักษณ์ ที่โกมลนับถือแนวคิด นำเอามโนห์ราแบบโบราณมาแสดงที่กรุงเทพฯได้ ทั้งยังขอให้อาจารย์สุลักษณ์ช่วยหาทุนเพื่อค้นคว้าเกี่ยวกับเรื่องนี้อีกด้วย ซึ่งเป็นต้นเหตุที่ทำให้ชีวิตโกมล คึมทองถึงจุดจบ

การนำมโนห์รามาแสดงที่กรุงเทพฯในครั้งนี้ โกมลยังได้เพื่อนร่วมอุดมการณ์และเพื่อนร่วมตายมาอีกคนหนึ่ง เธอคือ รัตนา สกุลไทย บัณฑิตอักษรศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งอายุมากกว่าโกมล ๑ ปีเศษ ในครั้งนั้นโกมลได้รับเชิญให้มาพูดเรื่องปัญหาของคนภาคใต้ร่วมกับ ส.ส.หนุ่ม ชวน หลีกภัย จากจังหวัดตรัง ที่ร้านหนังสือศึกษิตสยาม ซึ่งรัตนาที่เพิ่งลาออกจากอาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กำลังรอไปสอนภาษาภาษาไทยให้หน่วยสันติภาพอเมริกันที่ฮาวาย มาร่วมฟังด้วย ในการพบกันครั้งแรก โกมลเล่าเรื่องโรงเรียนเหมืองห้วยในเขาให้เธอฟัง รัตนาซาบซึ้งในสิ่งที่เขาทำ ปวารณาตัวว่าจะไปร่วมด้วย และได้ไปร่วมงานกับโกมลเมื่อปลายเดือนมกราคม ๒๕๑๔ นั้นเอง

นอกจากงานในโรงเรียนแล้ว โกมลกับรัตนายังออกตระเวนไปเยี่ยมเยียนชาวบ้าน เพื่อจดบันทึกและถ่ายรูปประกอบการจัดทำคตินิทานที่นับวันจะสูญหาย รวมถึงการเก็บเครื่องมือเครื่องใช้โบราณเพื่อรวบรวมทำเป็นพิพิธภัณฑ์ของโรงเรียน และกระตุ้นให้ชาวบ้านรื้อฟื้นการแสดงการรำมโนห์ราแบบโบราณที่กำลังจะศูนย์หายให้ดำรงอยู่ต่อไป โดยมี เสรี ปรีชา หมอเร่ขายยาเป็นผู้นำทาง

การตระเวนเข้าถึงชาวบ้านทั้งยังมีการถ่ายรูป ยิ่งทำให้ฝ่าย ผกค.สงสัยในพฤติการของโกมลหนักขึ้น และชี้ขาดจนถึงขั้นสั่งสังหาร เมื่อ มูลนิธิเอเซีย องค์กรพัฒนาระหว่างประเทศที่มีนโยบายพัฒนาคุณภาพชีวิตในภูมิภาคเอเซีย ได้ส่งเงินมาช่วยโรงเรียนเหมืองในเขา และโกมลได้นำเช็คของมูลนิธิไปเปิดบัญชีธนาคารออมสิน สาขาบ้านนาสาร ข่าวนี้ถูกรายงานไปยัง ทปท.เขตสุราษฎร์ธานีอย่างรวดเร็ว ผู้บังคับบัญชาระดับสูงของเขตจึงเชื่อโดยปราศจากข้อสงสัยว่า โกมลและรัตนาทำงานให้ฝ่ายรัฐบาลและต่างประเทศ คำสั่งสังหารจึงเกิดขึ้น

การตายของโกมล คีมทอง และ รัตนา สกุลไทย เป็นข่าวดังไปทั้งประเทศ ความจริงที่อยู่เบื้องหลังการกระทำของคนทั้งสอง ได้รับการกล่าวขานด้วยความยกย่องสรรเสริญ และถือเป็นแบบฉบับอันงดงามของคนหนุ่มสาว ต่างอยากจะรู้กันว่ารัฐหรือ ผกค. เป็นผู้สังหารโกมล คีมทอง หลังจากนั้นเครื่องบินของฝ่ายรัฐบาลก็โปรยใบปลิวออกตัวว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ต่อมาพรรคคอมมิวนิสต์จึงนำโปสเตอร์มาติด ยอมรับว่าเป็นผู้สังหารคนทั้ง ๓ เนื่องจากเข้าใจผิดคิดว่าเป็นสายลับให้กับฝ่ายรัฐบาล

ไม่นานหลังจากนั้น ก็มีหัวหน้าหน่วยล่าสังหารคนหนึ่งของฝ่ายขบวนการปลดแอกจากค่าย ๘๒ ผู้มีนามว่า “อนันต์” ได้แปรพักตร์จาก ผกค. หันมาสมัครเป็นอาสารักษาดินแดน หรือ อส.ของอำเภอเวียงสระ และเปิดเผยกับเพื่อน อส.ด้วยกันว่า เขาเองเป็นผู้ได้รับคำสั่งให้สังหารโกมล คีมทองและเพื่อน แต่หลังจากนั้นไม่นาน “อนันต์” ก็ถูกหน่วยล่าสังหารจากสังกัดเก่าตามมาเก็บไปด้วยโดยไม่ทราบสาเหตุ

โกมล คีมทอง มีโอกาสทำงานตามอุดมการณ์ที่เขาใฝ่ฝันมาตั้งแต่เด็กได้เพียง ๙ เดือน ๒๒ วันเท่านั้น แต่แบบอย่างของโกมลได้สร้างศรัทธาให้กับผู้อยู่ข้างหลัง ได้ร่วมกันจัดตั้ง “มูลนิธิ โกมล คีมทอง” ขึ้นในปี ๒๕๑๔ สานต่ออุดมการณ์ของเขา กระตุ้นและสนับสนุนให้คนหนุ่มสาวพัฒนาอุดมคติที่จะเสียสละเพื่อสังคม ตามแบบฉบับอันดีงามที่ “ครูโกมล” ได้สร้างไว้

ครูรัตนากับลูกศิษย์

สนามเด็กเล่นของโรงเรียน

อาคารโรงเรียนในเหมือง

บ้านพักของครูโกมล
กำลังโหลดความคิดเห็น