xs
xsm
sm
md
lg

“ดร.ปณิธาน” ชี้ตะวันตกตีข่าวกราดยิงทำคนเลียนแบบจริง แต่ไทยยังไม่ชัด ห่วงเด็กในเหตุการณ์สุดเสี่ยงทำตามเมื่อโตขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ดร.ปณิธาน” ชี้ทฤษฎีตะวันตกสื่อตีข่าวกราดยิงทำคนเลียนแบบจริง สถิติอเมริกาเกิดซ้ำหลัง 15 วัน แต่ไทยยังไม่ชัด แนะเสนอแบบทางสายกลาง ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แต่ลดทอนรายละเอียดบางอย่างลง ห่วงเด็กที่อยู่ในเหตุการณ์สุด ผลศึกษาต่างประเทศพบหลายปีต่อมาเด็กจะทำรุนแรงแบบเดียวกันเพราะฝังใจแบบไม่รู้ตัว ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ



วันที่ 12 ก.พ. 2563 รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมสนทนาในรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมช่อง “นิวส์วัน” ในหัวข้อ “สรุปบทเรียนเหตุกราดยิงโคราช”

ดร.ปณิธานกล่าวว่า ทฤษฎีตะวันตกแม้อาจใช้กับเราได้ไม่ทั้งหมด แต่พิสูจน์แล้วว่าสื่อมีส่วนสำคัญที่อาจทำให้การเลียนแบบมีแนวโน้มสูงขึ้นการายงานข่าวก็เหมือนการให้รางวัลแล้ว อยู่ดีๆ คนร้ายก็มีชื่อเสียงเลย เขาสร้างประวัติศาสตร์ใหม่แล้ว กลายเป็นรางวัลชิ้นมโหฬาร ในอเมริกาจากสถิติหลังเกิดเหตุกราดยิง 15 วันต่อมาจะเกิดซ้ำ ฉะนั้นกลายเป็นว่าต้องหาทางลดทอนบทบาทของสื่อ ไม่ให้ไปกระตุ้นเป็นปัจจัยสุดท้าย ของการกระทำความรุนแรงแบบนี้

สภาพการแข่งขันของสื่อรุนแรง เร็ว ลึก และเกิดข้อผิดพลาดเยอะ จริงๆ แล้ววันเกิดเหตุที่ผ่านมาต้องระดับ บก.ที่ไปหน้างาน แต่มักส่งน้องๆ ไป ทั้งที่ไม่เคยมีประสบการณ์ สมัยก่อนอาจไม่เป็นไรผ่านเพราะข่าวต้องผ่าน บก.ก่อน แต่สมัยนี้ถ่ายทอดสดออกไปเลย

ดร.ปณิธานกล่าวอีกว่า การรับสื่อจะฝังใจในคนที่อยากใช้ความรุนแรง โดยเฉพาะเด็กมีผลมาก เด็กที่อยู่ในเหตุการณ์อันตรายที่สุด เขาค้นพบว่าอีกหลายปีถัดมา เด็กเหล่านี้ก็จะใช้ความรุนแรงเหมือนที่ถูกกระทำในเหตุการณ์นั้นๆ การศึกษาในต่างประเทศ เด็กที่อยู่ในเหตุการณ์ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เขาไม่รู้ตัวแต่มันฝังลึก เด็กที่เห็นจากโทรทัศน์ก็มีแนวโน้มรุนแรงเพิ่ม มันฝังใจ จึงไม่อยากให้ออกอากาศเยอะ ไม่พูดถึงชื่อคนร้าย และประณาม ประจาน ให้คนดูรู้สึกว่าเขาไม่ได้รับรางวัล แต่บ้านเรายาก เพราะเรามีความเห็นอกเห็นใจกัน แล้วมักสรุปกันว่าเป็นกรรมเก่า แล้วก็ไม่ทำอะไรมาก

ส่วนกระแสเรียกร้องความรับผิดชอบให้ ผบ.ทบ.ลาออก ก็เป็นมาตรฐานใหม่แบบที่ญี่ปุ่น เกาหลี เราก็ต้องดูไป ซึ่งตรงนี้อาจสามารถสั่งการเอาคนผิดได้รวดเร็ว อาจดีกว่า การจัดระบบใหม่ก็ต้องทำ ถ้าระบบไม่ดีจริง ผู้บังคับบัญชาไม่ดีจริง ก็จะมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีก ฉะนั้นต้องลงไปดูที่ระบบ เฝ้าระวัง ตนเชื่อว่าผู้บังคับบัญชากองทัพรู้ดี เขาอาจขยับแล้วแต่ไม่ได้บอกเราก็ได้

เมื่อถามว่าการตีแผ่เรื่องการโกงกินในกองทัพ จะเป็นดาบสองคมให้คนร้ายมีเหตุผลรองรับในการทำผิด สื่อควรเสนออย่างไร ดร.ปณิธานกล่าวว่า ต้องถามว่าพูดแล้วใครได้ประโยชน์ จากการไม่รู้แล้วได้รู้ หรือไม่ก็กระตุ้นให้คนอยู่ในสภาพแบบนี้ทำแบบเดียวกัน ในหลายประเทศเลยว่าเสนอแล้วไม่ดี แต่เราพูดยากเพราะเป็นเงื่อนไขของฝรั่ง เรายังมีธรรมะธัมโม มีครอบครัวเกื้อหนุน บางคนก็ว่าไม่พูดแรงกดดันก็ไม่เกิด ก็ต้องชั่งน้ำหนักให้ดี ถ้ายังไม่ชัดเจนให้ยึดทางสายกลาง คือตอบสนองความใคร่รู้ของคน ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ส่วนหนึ่ง แต่ลดทอนรายละเอียดบางอย่างลง กดดันได้แต่ไม่เกินเลย เส้นตรงนี้อยู่ตรงไหนต้องช่วยกันขีด ทั้งประชาชนและสื่อต้องช่วยกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น