xs
xsm
sm
md
lg

“จิตแพทย์” ลั่นกราดยิงไม่ควรหาเหตุผลมารองรับ ต้องทำให้คนร้ายไร้ตัวตน ห่วงเกิดเหตุซ้ำถ้าไม่เปลี่ยนแปลง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โฆษกกรมสุขภาพจิต เผยสถิติต่างประเทศคนร้ายกราดยิง สุขภาพจิตปกติที่จัดการอารมณ์ไม่ได้ในตอนนั้น เป็นผู้ป่วยจิตเวชเพียง 25 เปอร์เซ็นต์ แนะอย่าละเลยดูแลความเครียดตัวเอง ห่วงเกิดเหตุซ้ำหากยังไม่เปลี่ยนแปลงการจัดการปัญหา-การนำเสนอของสื่อ ลั่นฆ่าผู้บริสุทธิ์ไม่ใช่การแก้แค้น เลิกหาเหตุผลมารองรับสร้างความชอบธรรม ต้องทำให้คนร้ายไร้ตัวตน เข้าใจสื่อเพิ่งเคยเจอเหตุแบบนี้ครั้งแรกจึงพลาดกันได้ แต่ถ้ามีครั้งหน้ายากจะให้อภัย



วันที่ 11 ก.พ. 63 ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต ร่วมสนทนาในรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ช่อง “นิวส์วัน” ในหัวข้อ “บทเรียนจิตใจ จากเหตุกราดยิงโคราช”

นพ.วรตม์กล่าวว่า การกระทำลักษณะแบบนี้ขอไม่พูดถึงกรณีในไทย แต่ต่างประเทศนั้นเอฟบีไอได้วิจัยเก็บข้อมูล พบว่าสาเหตุมีความหลากหลายมาก สาเหตุทั่วไปที่ทุกคนมี เช่น งาน เงิน ฯลฯ แต่มี 3-4 สาเหตุ มีหลายปัจจัยกระตุ้นให้ก่อเหตุ ซึ่งสัญญาณนั้นส่วนมากคนรอบข้างเห็นอยู่แล้ว 80-90 เปอร์เซ็นต์ แต่ไม่ได้รับการแก้ไข ส่วนเรื่องปัญหาสุขภาพจิตมีเพียง 25 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง ที่พบว่าผู้ก่อเหตุมีปัญหาสุขภาพจิต 75 เปอร์เซ็นต์ คือคนธรรมดาๆ แบบพวกเรานี่แหละ แต่เกิดปัญหาที่ไม่สามารถจัดการอารมณ์ตัวเองได้ในขณะนั้น

นพ.วรตม์กล่าวอีกว่า สัญญาณก่อเหตุถ้าคนสนิทจะเห็นสัญญาณเล็กๆ อยู่แล้ว ความรุนแรงใหญ่ๆ มาจากสัญญาณเล็กๆ เสมอ แต่บางครั้งเราปล่อยผ่าน ที่อเมริกาหลายครั้งผู้ก่อเหตุมักมีการพูดถึงเหตุการณ์ก่อนหน้าที่มีการกระทำ เรียกง่ายๆ คือการเอาแบบอย่าง ยิ่งถ้ามีการเสียชีวิตมากๆ เป็นที่จดจำของสังคม บางทีกลุ่มนี้มองว่าเป็นแบบอย่าง ในเมื่อไม่เป็นที่ต้องการของสังคมแล้ว ทำแบบที่คนนี้ทำดีกว่า

นพ.วรตม์กล่าวด้วยว่า มันไม่ยุติธรรมถ้ามองว่าผู้ก่อเหตุเป็นผู้ป่วยจิตเวช ถ้าเป็นเช่นนั้นเราก็จะมองว่าตัวเองไม่ป่วย เราไม่มีโอกาสเป็นผู้ก่อเหตุ จะทำให้ละเลยการพิจารณาดูแลความเครียดของตัวเอง

เมื่อถามว่าเป็นพฤติกรรมเลียนแบบเหตุการณ์ปล้นร้านทองหรือไม่ นพ.วรตม์กล่าวว่า บอกไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าใช่หรือไม่ เพราะมีปัจจัยหลายอย่างแบบที่บอก แต่ก็ต้องดูว่ามันเกิดติดกัน ต่างประเทศเวลาเกิดเหตุการณ์แบบนี้ก็จะเกิดถี่ จนกระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง เช่นเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ เปลี่ยนแปลงการจัดการปัญหาเรื่องนี้ เปลี่ยนการนำเสนอของสื่อ ถ้าปล่อยไปแบบเดิมก็จะเกิดแบบเดิมซ้ำๆ

พฤติกรรมเลียนแบบเป็นจิตวิทยาสื่อรูปแบบหนึ่ง เมื่อดูสื่อ เสพสื่อ ก็มีแนวโน้มคล้อยตาม อย่างโฆษณาก็ใช้หลักการเดียวกัน เวลานำเสนอเรื่องอะไรมากๆ เช่นยูทูปเบอร์ เด็กเห็นก็อยากเป็นกันเยอะ หรือการฆ่าตัวตายด้วยการรมควัน พอสื่อเสนอหลังจากนั้นก็ใช้วิธีเดียวกันตามมาในหลายครั้ง เพราะมนุษย์ได้รับอิทธิพลจากพวกนี้ตลอด

บางครั้งถ้าภาพที่ออกมา มีความรุนแรงบ่อยๆ เราจะเริ่มเกิดความชินชา เห็นว่าสิ่งนี้ก็เกิดขึ้นทุกวัน สอง เราจะพบว่าสิ่งนี้มีตัวตนอยู่จริง ทำให้เรียนรู้วิธีจัดการ ยิ่งสื่อลงรายละอียดมากว่าต้องทำอย่างนี้ๆ ก็เกิดการเลียนแบบขึ้นได้ สาม ผู้รับสื่ออาจเกิดการเบื่อหน่าย เศร้า ความรุนแรงในสื่อมีผลกระทบทั้ง 3 อย่างในมนุษย์

นพ.วรตม์กล่าวว่า เราถึงจุดแล้วที่ต้องให้ผู้กระทำไม่มีตัวตน นี่เป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องสรุปว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่เราต้องระวัง แล้วต้องหาวิธีแก้ด้วย แล้วต้องไม่เอาเหตุผลนั้นไปรองรับพฤติกรรม อาจดูว่าการแก้แค้นเป็นเหตุผล แต่การกราดยิงนี่คือผู้บริสุทธิ์ ต้องแยกพิจารณา ไม่ควรหาเหตุผลมารองรับว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง

ส่วนสื่อโดนโจมตี สถานการณ์นี้ยากลำบากจริง เพราะสื่อก็เพิ่งเคยเจอ หน่วยงานต่างๆ ก็เพิ่งเคยเจอ จึงผิดพลาดกันได้ เมื่อพลาดก็ต้องยอมรับเสียงสะท้อนสังคม คนไทยพร้อมให้อภัย แต่อนาคตถ้ามีครั้งหน้าอีก น่าจะลำบากที่จะให้อภัย


กำลังโหลดความคิดเห็น