xs
xsm
sm
md
lg

หน่วยอรินทราช 26 หน่วยจู่โจม หนึ่งในผู้อยู่เบื้องหลังปฏิบัติการสำคัญ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


(ภาพจากแฟ้ม)
รู้จัก “อรินทราช 26” หน่วยตำรวจที่มีความเชี่ยวชาญในการใช้อาวุธ-ยุทธวิธีพิเศษเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ที่เป็นภัยร้ายแรงต่อสังคม


วันนี้ (10 ก.พ.) จากเหตุการณ์ จ.ส.อ.จักรพันธ์ ถมมา อายุ 32 ปี ทหารสังกัดค่ายสุรธรรมพิทักษ์ ก่อเหตุขโมยรถฮัมวี พร้อมอาวุธสงครามจำนวนมากเข้ามาที่ศูนย์การค้าเทอร์มินอล 21 โคราช ถนนมิตรภาพ ต.ในเมือง อ.เมืองฯ จ.นครราชสีมา กราดยิงผู้คนภายในห้างจนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ ตั้งแต่ช่วงเย็นวันที่ 8 ก.พ.ที่ผ่านมา

ต่อมาเมื่อวันที่ 9 ก.พ. รายงานแจ้งว่า หลัง จ.ส.อ.จักรพันธ์ ถมมา อายุ 32 ปี ถูกเจ้าหน้าที่วิสามัญฆาตกรรม แหล่งข่าวระดับสูงเปิดเผยว่า ปฏิบัติการครั้งนี้เป็นการแบ่งการทำงานของทีมหนุมาน หน่วยอรินทราช กองบังคับการตำรวจมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ 904 รอ. เจ้าหน้าที่ทหาร

ทั้งนี้ หน่วยสวาท (SWAT) หรือ Special Weapons And Tactics นับเป็นกองกำลังที่มีความสำคัญของหน่วยงานที่มีหน้าที่ป้องกัน-ปราบปรามอาชญากรรม สุดแท้แต่จะเรียกชื่อกันไป ได้แก่ หน่วยอรินทราช 26 เป็นหน่วยตำรวจ ที่มีความเชี่ยวชาญการใช้อาวุธและยุทธวิธีพิเศษ สังกัดกองกำกับการต่อต้านการก่อการร้าย กองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ (191) และขึ้นตรงกับกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.)

อรินทราช 26 เป็นหน่วยตำรวจที่มีความเชี่ยวชาญการใช้อาวุธและยุทธวิธีพิเศษ (Special Weapons And Tactics : S.W.A.T.) มีขีดความสามารถในการปฏิบัติการพิเศษต่อภัยคุกคามที่เป็นอาชญากรรม และการก่อการร้าย ด้วยการแย่งชิงตัวประกัน การจับกุม ฯลฯ ตามแนว “การบริหารวิกฤตการณ์” (Crisis Management) โดยมีพื้นที่รับผิดชอบในเมืองหลวง และปริมณฑล เป็นหน่วยระดับ กองร้อย มีอุปกรณ์ครบมือเช่น ปืนยิงแห, ปืนไฟฟ้า, ปืนพก, ปืนลูกซอง, ปืนกลเบา, ปืนไรเฟิล, ระเบิดมือ, อุปกรณ์ต่อต้านการจลาจล ฯลฯ

พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ในขณะนั้นเป็นนายกรัฐมนตรี มีดำริให้กรมตำรวจจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการพิเศษ จึงได้จัดตั้งหน่วยนเรศวร 261 และอรินทราช 26 (โดยชื่อมาจาก อริ = ข้าศึก, ศัตรู + อินท = จอม, ผู้เป็นใหญ่ + ราช = พระราชา + 26 = ปีที่ก่อตั้ง พ.ศ. 2526) โดยแต่ต่างกันในเขตรับผิดชอบ และต้นสังกัด


ปัจจุบัน อรินทราช 26 อยู่ในสังกัดกองกำกับการต่อต้านการก่อการร้าย กองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ (191) และขึ้นตรงกัต่อกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น) โดยมีภารกิจดังนี้

- ช่วยเหลือตัวประกัน
- ควบคุมการก่อจลาจล
- ปราบปรามอาชญากรรม
- ต่อต้านการก่อการร้าย
- ให้ความปลอดภัยบุคคลสำคัญ
- เพิ่มการรักษาความปลอดภัยในจุดสำคัญ ในเวลาปกติ และเมื่อมีกิจกรรมพิเศษ

อรินทราช 26 มาจากผู้ที่เรียนจบจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ หรืออาสาสมัครตำรวจ การฝึกในครั้งแรกไม่มีรูปแบบที่แน่นอน โดยได้รับการสนับสนุนครูฝึกจาก ตร. และยึดรูปแบบการปฏิบัติการเป็นทีม 5 คน เหมือนหน่วยปฏิบัติการพิเศษ GSG 9 ของประเทศเยอรมนี มีการฝึกการยิงปืนทางยุทธวิธี การฝึกพลแม่นปืน การปฏิบัติการทางน้ำ การต่อสู้ป้องกันตัว การขับขี่ยานพาหนะในรูปแบบต่างๆ เมื่อการฝึกรุ่นแรกสำเร็จก็มีการถ่ายทอดให้แก่กำลังพลที่เข้าประจำการในกองร้อยปฏิบัติการพิเศษเรื่อยมา อีกทั้งมีการจัดส่งกำลังพลไปฝึกในหลักสูตรต่างๆ ของต่างประเทศและนำวิชาความรู้กลับมาถ่ายทอดให้กำลังพลที่อยู่ในหน่วย โดยจะทำการฝึกกันเองถ่ายทอดกันต่อๆ มา และได้มีการจัดแบ่งหลักสูตรออกเป็น 5 หลักสูตร คือ

1. หลักสูตรการต่อต้านการก่อการร้ายสากล 24 สัปดาห์ สำหรับกำลังพลที่บรรจุใหม่
2. หลักสูตรทบทวนการต่อต้านการก่อการร้ายสากล 6 สัปดาห์ สำหรับกำลังพลที่ประจำการอยู่ในหน่วย และฝึกทดสอบแผนปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้าย 1 สัปดาห์
3. หลักสูตรการทำลายระเบิด 12 สัปดาห์ สำหรับกำลังพลที่บรรจุในตำแหน่ง “พลเก็บกู้ทำลายระเบิด”
4. หลักสูตรพลแม่นปืน 4 สัปดาห์ สำหรับกำลังพลที่บรรจุในตำแหน่ง “พลซุ่มยิง”
5. หลักสูตรผู้ชำนาญการอิเล็กทรอนิกส์ 12 สัปดาห์ สำหรับกำลังพลที่บรรจุในตำแหน่ง “ผู้ชำนาญการอิเล็กทรอนิกส์”


นอกจากนี้ยังมีการฝึกต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น “แผนกรกฎ 48” การฝึกในสถานการณ์สมมติ และการฝึกร่วมกับหน่วยงานอื่น


ชุดสำหรับปฏิบัติหน้าที่ ในการแต่งกายจะไม่สามารถเปิดเผยใบหน้าได้ ที่ชุดบริเวณไหล่ซ้าย มีอาร์มสีบานเย็น รูปสี่เหลี่ยมคางหมู ตรงกลางมีรูปอักขระยันต์ มีตัวหนังสือบอกหน่วยสังกัดว่า “ตำรวจนครบาล ปฏิบัติการพิเศษ” นั่นคือ “ตำรวจ 191” เนื้ออาร์มมีคำว่า “อรินทราช 26” บริเวณหน้าอกมีรูปโล่อยู่ตรงกลาง พื้นโล่สีดำ-แดง กลางโล่มีสายฟ้าสีขาว มีดอกชัยพฤกษ์สีทองพุ่งเข้าหาโล่จากด้านข้าง ข้างละ 6 ดอก สีพื้นของชุดจะเป็นสีน้ำเงิน ซึ่งเป็นสีสำหรับหน่วยงานที่ทำหน้าที่บริเวณกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยชุดแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่

1. ชุดทำงานปกติ สามารถเห็นได้ทั่วไปตามจุดสำคัญ
2. ชุดเวสสีน้ำเงิน ใช้สำหรับฝึกและเตรียมพร้อมก่อนปฏิบัติงาน
3. ชุดเวสพร้อมอุปกรณ์ โดยจะมีอุปกรณ์ครบมือ ตั้งแต่หมวกกันกระสุน, เสื้อกันกระสุน, อาวุธอื่นๆ ที่เพิ่มเข้า
4. ชุดปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้าย โดยชุดนี้จะเหมือนแบบที่ 3 เว้นแต่สีชุดที่เป็นสีดำ จะใส่ชุดนี้เมื่อต้องทำงานกับหน่วยงานอื่น (การสนธิกำลัง)

อาวุธประจำกาย ในหน่วยงานราชการมีการเปลี่ยนแปลงแทนที่ยุทธภัณฑ์อยู่เสมอ สำหรับปืนสั้น เคยมีการใช้ Browning ปัจจุบันมีการใช้ Glock 19 และ HK P7M8 ส่วนอาวุธประจำกายคือ MP5 สำหรับบางคนจะใช้ปืนไรเฟิล หรือปืนลูกซองแทน ในการปราบจลาจลอาจมีการใช้โล่ และกระบอง หรือใช้กระสุนซ้อมมาแทนที่


กำลังโหลดความคิดเห็น