จีนเผยงานวิจัยชี้ ”ตัวนิ่ม” อาจเป็นเจ้าบ้านตัวกลางของ “ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่”
วันนี้ (7 ก.พ.) สำนักข่าวซินหัว เปิดเผยงานวิจัยฉบับหนึ่ง พบว่า ลำดับจีโนมหรือข้อมูลทางพันธุกรรมทั้งหมดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ใน “ตัวนิ่ม” นั้น คล้ายคลึงกับไวรัสฯ ที่ติดในมนุษย์ถึงร้อยละ 99 อันเป็นเครื่องบ่งชี้ว่า ตัวนิ่มอาจเป็นโฮสต์ตัวกลาง (intermediate host) ของไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้
ทั้งนี้ โฮสต์ตัวกลางคือสิ่งมีชีวิตเจ้าบ้านที่ยอมให้ตัวอ่อนของปรสิตหรือปรสิตระยะที่มีการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศเข้ามาอาศัย
งานวิจัยฉบับนี้จัดทำโดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์หัวหนาน (South China Agricultural University) นครกว่างโจว มณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) โดยหลิวหย่าหง อธิการบดีมหาวิทยาลัยฯ เปิดเผยว่า คณะนักวิจัยวิเคราะห์ตัวอย่างเมตาจีโนม (metagenome) ของสัตว์ป่าหลายชนิดมากกว่า 1,000 ตัวอย่าง ก่อนพบว่าตัวนิ่มเป็นโฮตส์ตัวกลางที่มีความเป็นไปได้สูงสุด
การศึกษาแบบเมตาจีโนมิกส์ที่นักวิจัยใช้นั้นเป็นวิธีศึกษาจีโนมของจุลินทรีย์ทั้งหมดที่มีในตัวอย่างธรรมชาติด้วยการสกัดดีเอ็นเอ (DNA) จากตัวอย่างที่ต้องการศึกษาโดยตรงโดยไม่ต้องเพาะเลี้ยงเชื้อจุลินทรีย์
การตรวจสอบทางอณูชีววิทยา (Molecular biological detection) หรือการศึกษาระดับโมเลกุลในการวิจัยครั้งนี้ เปิดเผยว่าอัตราบวก (Positive rate) ของไวรัสโคโรนากลุ่มเบตา หรือ เบตาโคโรนาไวรัส (Betacoronavirus) ในตัวนิ่มนั้นอยู่ที่ร้อยละ 70 ต่อจากนั้นนักวิจัยทำการแยกไวรัสออกมา และศึกษาโครงสร้างด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนซึ่งเป็นกล้องกำลังขยายสูง ก่อนพบว่าลำดับจีโนมของไวรัสดังกล่าวคล้ายคลึงกับไวรัสที่ติดในมนุษย์ถึงร้อยละ 99
ทั้งนี้ เบตาโคโรนาไวรัส คือไวรัสโคโรนากลุ่มที่ก่อโรครุนแรงในมนุษย์ ซึ่งข้ามสายพันธุ์มาจากสัตว์ อาทิ ไวรัสโคโรนาโรคซาร์ส (SARS-CoV) ไวรัสโคโรนาโรคเมอร์ส (MERS-CoV) และไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ( 2019-nCoV)
หลิวระบุว่าผลการวิจัยจึงชี้ว่าตัวนิ่มเป็นโฮสต์ตัวกลางที่เป็นไปได้ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ พร้อมเสริมว่างานวิจัยฉบับนี้จะช่วยสนับสนุนการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสฯ ตลอดจนเป็นแหล่งอ้างอิงเชิงวิทยาศาสตร์สำหรับนโยบายเกี่ยวกับสัตว์ป่าได้ด้วย
เสิ่นหย่งอี้ ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยฯ และสมาชิกคณะนักวิจัย ระบุว่างานวิจัยก่อนหน้านี้ชี้ว่าไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่มีต้นกำเนิดจากค้างคาว แต่เนื่องจากการแพร่ระบาดครั้งนี้เกิดขึ้นในฤดูหนาว มนุษย์จึงไม่น่าติดเชื้อจากค้างคาวโดยตรงได้ เพราะค้างคาวยังอยู่ในช่วงจำศีล
“ดังนั้นภารกิจของเราคือการตามหาโฮสต์ตัวกลางที่ ‘เชื่อม’ ระหว่างค้างคาวกับมนุษย์”เสิ่นอธิบาย พร้อมระบุว่าตามปกติสิ่งมีชีวิตที่เป็นโฮสต์ตัวกลางของปรสิตจะมีหลายตัว และตัวนิ่มอาจเป็นแค่เพียงหนึ่งในนั้น
“ในทางหนึ่งเราก็หวังว่าผลการวิจัยนี้จะเป็นสิ่งย้ำเตือนให้มนุษย์อยู่ห่างจากสัตว์ป่า และในอีกทางหนึ่งเราก็อาจจะแบ่งปันผลการวิจัยนี้แก่บรรดานักวิจัย จะได้ใช้โอกาสนี้ร่วมกันศึกษาหาโฮสต์ตัวกลางที่เป็นไปได้อื่นๆ เพื่อเสริมแนวทางป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดต่อไป”เสิ่นทิ้งท้าย