รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุข้อความยืนยันเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 เกิดจากการตัดต่อพันธุกรรมร่วมกับเชื้อ HIV เพื่อให้กลายเป็นอาวุธชีวภาพทำลายล้างคนจีน ไม่เป็นความจริง
วันนี้ (2 ก.พ.) “อาจารย์เจษฎ์” หรือ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว “Jessada Denduangboripant” เกี่ยวกับกรณีการเผยแพร่ข้อความว่ามีความสงสัยที่เชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 จะเกิดจากการตัดต่อพันธุกรรมร่วมกับเชื้อ HIV ที่ก่อให้เกิดโรคเอดส์ ด้วยความตั้งใจให้กลายเป็นอาวุธชีวภาพ ทำลายล้างคนจีน โดยอาจารย์เจษฎ์ยืนยันว่าไม่เป็นเรื่องจริง โดยได้ระบุข้อความวิเคราะห์ให้ลองศึกษากันถึง 10 ข้อ
1. มีกลุ่มนักวิจัยด้าน bioinformatics ในมหาวิทยาลัยเดลี ประเทศอินเดีย เสนอบทความวิจัยแบบล่วงหน้า (คือยังไม่ได้ peer-reviewed หรือผ่านการตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์ จากนักวิจัยทีมอื่น) ลงในเว็บ bioRxiv ในชื่อว่า “Uncanny similarity of unique inserts in the 2019-nCoV spike protein to HIV-1 gp120 and Gag”
2. บทความนี้มีการนำเสนอการจัดเรียงลำดับพันธุกรรมของเชื้อโคโรนาไวรัส สายพันธุ์ใหม่ 2019 กับเชื้อโรคอื่นๆและระบุว่า พบความคล้ายคลึงกับบางส่วนของจีโนมเชื้อ HIV โดยผู้เขียนบอกว่ามันไม่น่าเกิดขึ้นเองโดยสุ่ม ... จนทำให้หลายคนอ่านแล้วคิดว่า ผู้เขียนต้องการสื่อว่า มันคืออาวุธชีวภาพ ใช่ไหม
3. จริงๆ สิ่งที่นักวิจัยกลุ่มนี้ได้ทำไป คือการเอาลำดับพันธุกรรมของเชื้อโคโรนาไวรัส สายพันธุ์ใหม่ 2019 จำนวน 28 สาย จากตัวอย่างคนไข้ 28 คน มาเรียงเทียบกับจีโนมของเชื้อโคโรนาไวรัสในค้างคาว ซึ่งเป็นญาติใกล้ชิดที่สุดของมัน โดยมีความเหมือนกัน 96%
4. แต่เชื้อในคนและในค้างคาวนั้น ก็มีประมาณ1200 คู่เบสที่แตกต่างกัน ซึ่งในนั้นถอดรหัสออกมากเป็นสายโปรตีนสั้นๆ ได้จำนวนหนึ่ง .... และสายโปรตีนที่แตกต่างกันนี้ มีอยู่ 4 ชุด (สั้นแค่ชุดละ 6 กรดอะมิโน) ที่แทรกเพิ่มขึ้นมาในช่วงโปรตีนที่ทำให้เกิด “หนาม spike” บนผิวของเชื้อ (หนามนี้มีหน้าที่ทำให้เชื้อไวรัสสามารถแทรกผ่านเข้าไปในเซลล์ของผู้ติดเชื้อได้)
5. หลังจากผู้วิจัยได้ลองเอาลำดับโปรตีนพวกนี้ ไปทำเป็นแบบจำลอง 3 มิติ (ดูในรูป) ก็พบว่าโปรตีนช่วงสั้นๆ ดังกล่าว จะอยู่ที่บริเวณปลายยอดของหนาม ... พวกเขาจึงทำการเทียบกับลำดับจีโนมของเชื้อไวรัสอื่นๆ ด้วยวิธี pBLAST กับฐานข้อมูลของ NCBI ทำให้พบว่ามันคล้ายกับโปรตีน gp120 และ Gag proteins ในเชื้อ HIV ที่ทำให้เกิดโรคเอดส์ในมนุษย์
6. แต่ๆๆ ลำดับพันธุกรรมที่คล้ายคลึงกันระหว่างเชื้อไวรัสทั้งสองนี้ มันสั้นมากๆๆ และปรากฏอยู่ในส่วนจีโนมที่มีความผันแปรสูงมากอยู่แล้ว ไม่แปลกอะไร และผลการวิเคราะห์จริงๆ มันก็ไม่ได้เหมือนแค่กับเชื้อ HIV แต่ก็ไปคล้ายกับสิ่งมีชีวิตบนโลกอีกหลายชนิด (ทั้งจุลินทรีย์อื่น พืช สัตว์ หรือแม้แต่คน) !
7. ลำดับพันธุกรรมที่จำเป็นต่อการทำงานของเชื้อ HIV นั้น ก็ไม่ได้ปรากฏอยู่บนเชื้อโคโรน่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019 .. แถมเชื้อโคโรนาไวรัส สายพันธุ์ใหม่นี้ ก็ไม่ได้ทำให้ผู้ป่วยมีอาการอะไรที่ผิดปกติแปลกไปจากเชื้อโคโรนาไวรัสตัวเดิมๆ
8. คือ ถ้าสมมติฐานเรื่องมีการพยายามตัดต่อพันธุกรรมของเชื้อ HIV ใส่เข้าไปในเชื้อโคโรนาไวรัส เป็นเรื่องจริง เราก็ควรจะได้เห็นว่าเชื้อโคโรน่าไวรัส สายพันธุ์ใหม่ 2019 นั้นสามารถจะเข้าจู่โจม T-cell หรือสามารถจดจำ CD4 receptor ได้ .. แต่ความจริงแล้ว มันกลับไม่เป็นเช่นนั้นเลย สายพันธุ์ใหม่นี้ไม่สามารถติดต่อสู่ T-cell หรือเซลล์ที่ปล่อย CD4 ออกมาได้เลย
9. เชื้อสายพันธุ์ใหม่ 2019 นี้ ก็ไม่ได้มีลักษณะอะไรพิเศษ เกินกว่าที่เราคาดการณ์เอาไว้ ว่าจะเป็นได้ที่จะเกิดจากเชื้อโคโรนาไวรัส ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาการของโรค ระดับของการแพร่ระบาด ความรุนแรงของโรค อัตราการตาย ระยะฟักตัว ฯลฯ
10. ดังนั้น การที่พบว่าเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019 มีพันธุกรรมบางส่วนไปคล้ายกับของเชื้อ HIV นั้น ก็เป็นแค่ความบังเอิญที่เกิดขึ้นโดยสุ่ม .. และจริงๆ แล้ว วิธี pBLAST งั้นก็ไม่ได้ถูกออกแบบให้ใช้กับการตรวจสอบลำดับพันธุกรรมสายสั้นมากๆ อย่างนั้นด้วย
สรุป ดังนั้น ที่มาของเชื้อโคโรนาไวรัส สายพันธุ์ใหม่ 2019 นั้น ก็ยังเหมือนเดิม คือมันคือเชื้อโคโรนาไวรัส สายพันธุ์ที่อยู่ในป่าเขาตามธรรมชาตินั่นแหละ ซึ่งกระโดดจากค้างคาวมาสู่มนุษย์ ผ่านตัวกลางที่น่าจะเป็นสัตว์บางชนิด ที่จำหน่ายในตลาดอาหารทะเลของเมืองอู่ฮั่นตั้งแต่เมื่อปลายปี 2019 ... ไม่ใช่ว่าเป็นอาวุธชีวภาพ ที่หลุดออกมาเป็นอย่างไร”