xs
xsm
sm
md
lg

ชมต้นแบบ “แพสู้น้ำท่วม” ฝีมือชาววารินชำราบ โมเดลชุมชนสู้ภัยพิบัติ ลดภาระหน่วยงานรัฐ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดตัว “แพสู้น้ำท่วมต้นแบบ” ฝีมือชาววารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี พร้อมสร้างโมเดลชุมชนสู้ภัยพิบัติ ตั้งแต่ทีมเฝ้าระวังน้ำยันทีมขนของ เคลื่อนย้ายคน ลดภาระหน่วยงานรัฐฝ่าน้ำเข้าช่วยเหลือ

... รายงานพิเศษ

น้ำท่วมภาคอีสานปี 2562 จากพายุโพดุลและฮาจิกิ พื้นที่อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี เป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด จาก 32 จังหวัดที่ประสบอุทกภัย โดยมีประชาชนถูกน้ำท่วมเสียหายกว่า 4,000 หลังคาเรือน โดยเฉพาะชุมชนที่อยู่ริมแม่น้ำมูล 14 ชุมชน

ถ้านับเฉพาะ 14 ชุมชนนี้ มีผู้ได้รับกระทบจากน้ำท่วม 3,067 หลังคาเรือน หรือ 9,437 คน มีที่ต้องอพยพออกจากบ้านเรือน 308 หลังคาเรือน หรือ 1,045 คน คือ ชุมชนท่าบ้งมั่ง ชุมชนท่ากอไผ่ ชุมชนหาดสวนยา ชุมชนดีงาม ชุมชนดอนงิ้ว ชุมชนหาดสวนสุข ชุมชนคูยาง ชุมชนเกตุแก้ว ชุมชนกุดเป่ง 6 ชุมชนกุดเป่ง 16 ชุมชนลับแล ชุมชนวัดวาริน 9 ชุมชนกุดปลาขาว และชุมชนหาดสวนสุข 6


มูลนิธิชุมชนไท เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ทำงานด้านการจัดการภัยพิบัติมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมี “ไมตรี จงไกรจักร์” อดีตผู้ประสบภัยสึนามิที่บ้านน้ำเค็ม อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา รับหน้าที่ผู้จัดการมูลนิธิ ซึ่งเขาลงมาในพื้นที่ช่วงที่น้ำท่วมอุบลราชธานีเมื่อปลายปี 2562 และเห็นว่า ชุมชนเหล่านี้มีองค์ความรู้พอสมควรในการสู้กับน้ำท่วม เพราะเป็นพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก ถือเป็นพื้นที่เสี่ยงภัย จึงผ่านการต่อสู้และศึกษาแนวทางแก้ได้ด้วยตัวเองมาพอสมควร

แต่สิ่งที่พวกเขายังขาดอยู่ คือ “เรือ” และ “พื้นที่ปลอดภัย”

ไมตรี จึงเปิดแคมเปญ “ต่อเรือชุมชน” เปิดรับบริจาคคนละ 200 บาท เพื่อให้ชุมชนช่วยกันต่อเรือเอง เป็นเรือที่มีความหมายทางจิตใจ ชุมชนเป็นเจ้าของ และเหมาะกับความต้องการของชุมชน ซึ่ง “ไม่ใช่เรือท้องแบน” เขาได้เงินมากว่า 5 แสนบาท ต่อเรือไปได้ 10 ลำ

ก่อนจะประสานแหล่งทุนเพื่อสานต่อจนเป็นที่มาของ “แพชุมชน” หลังละ 1 แสนบาท และ “แพต้นแบบ” ถูกเปิดตัวในวันนี้ โดยมีแอดมินได้รับการเชื้อเชิญให้ไปร่วมถ่ายทอดแนวคิดนี้กลับมา






“แพชุมชนต้นแบบ” หลังแรก ... เริ่มที่ชุมชนหาดสวนสุข ถูกออกแบบและก่อสร้างโดยพี่สมาน นายช่างในชุมชน ใช้งบประมาณ 1 แสนบาท มีทั้งแพและเรือขนส่ง ทำจากเหล็ก 48 เส้น วางพื้นด้วยไม้อัดเคลือบ และลอยน้ำด้วยถังขนาด 200 ลิตร 30 ถัง ในแพมีห้องน้ำ มีแผงโซล่าเซลล์เพื่อผลิตไฟฟ้าให้แสงสว่างได้เอง

แต่ “แพ” ก็เป็นแค่สถานที่หลบภัย ... ดังนั้นแผนการจัดการภับพิบัติของชุมชนนี้จึงไม่ได้มีแค่แพ แต่มี “กระบวนการ” ด้วย

กระบวนการที่ว่านี้ ล้วนมีกลไกเป็นคนในชุมชน ชุมชนหสดสวนสุข มี 15 ครัวเรือน เมื่อน้ำท่วมปี 2562 สำรวจกันไว้ว่ามีทรัพย์สินเสียหายรวมกัน 657,100 บาท พวกเขาแบ่งเป็นทีมต่างๆ ที่มีหน้าที่ทำงาน เมื่อเกิดน้ำท่วม

แผนเผชิญเหตุที่พวกเขาแสดง เริ่มจากการสมมติสถานการณ์ว่ามวลน้ำจาก จ.ยโสธร ไหลมาถึงที่ อ.วารินชำราบแล้ว ผ่านการแจ้งเตือนของ “ทีมเฝ้าระวังน้ำ” ซึ่งชุมชนตั้งขึ้นมา จากนั้นจึงเปิดสัญญาณเตือนภัยในชุมชนด้วยเสียงไซเรนแบบหมุน พร้อมกับประกาศแจ้งให้ชาวบ้านทั้ง 15 ครัวเรือนรับรู้สถานการณ์ร่วมกัน






1. ทีมเฝ้าระวัง เป็นผู้ใหญ่ในชุมชน ที่มีประสบการณ์ “อ่านทางน้ำ” รู้ว่าน้ำมาเยอะหรือน้อยอย่างไร และรู้ว่าเมื่อไหร่จะต้องแจ้งเตือน

2. ทีมข้อมูล ทีมนี้เป็นเด็กผู้หญิงในชุมชน ที่มีหน้าที่ทำข้อมูลที่สำคัญ คือ ข้อมูลประชากร มีเด็กเล็ก อายุไม่ถึง 5 ปีกี่คน คนชราอายุ 70 ปีขึ้นไปกี่คน ผู้ป่วย ผู้พิการกี่คน ที่ต้องการการช่วยเหลือก่อน ข้อมูลที่ทำไว้ ยังรวมถึงทรัพย์สินที่สำคัญของชาวบ้าน ผ่านการประชาคมกันเองเรียบร้อยว่า แต่ละครอบครัวจะมีทรัพย์สินอะไรบ้าง ที่เมื่อถึงเวลาน้ำท่วมจะถูกนำมาไว้บนแพ อะไรบ้างที่ต้องขนออกไป เพื่อความเท่าเทียมของทุกครอบครัว

3. ทีมขนของ เคลื่อนย้ายคน ทีมนี้เป็นเด็กผู้ชายในชุมชน เมื่อได้รับการแจ้งเตือน ก็จะกระจายกันไปนำเด็กเล็ก คนชรา ผู้ป่วย ผู้พิการ ตามที่มีข้อมูลอยู่แล้วมาที่แพก่อนทันที พร้อมใส่เสื้อชูชีพ จากนั้นก็จะไปนำทรัพย์สินตามที่ทำข้อมูลไว้มาที่แพ

4. ทีมพยาบาล นำโดยกลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ซึ่งจะถ่ายทอดความรู้พื้นฐานให้เด็กๆ ผู้หญิงมาช่วยด้วยในการดูแลผู้ที่อ่อนแอ

5. ทีมขนส่ง คนที่ขับเรือเป็น มีหน้าส่งคนในชุมชนเข้า-ออก ประสานกับหน่วยงานภายนอก

เมื่อเกิดน้ำท่วม ... พวกเขาก็จะอยู่บนแพ มียาสามัญประจำบ้าน มีห้องน้ำ มีไฟ มีอาหารที่พออยู่ได้ 3 วัน โดยไม่ต้องรอความช่วยเหลือ ที่สำคัญทรัพย์สินที่เคยเสียหาย เพราะขนออกไปข้างนอกไม่ทัน ยกสูงก็ไม่พ้นน้ำ (น้ำท่วมปี 2562 สูงถึงหลังคาบ้าน) ก็จะไม่เสียหายอีก เพราะถูกรักษาไว้บนแพ ลดภาระที่รัฐจะต้องมาจ่ายค่าชดเชย


จำนงค์ จิตนิรัตน์ ที่ปรึกษาเครือข่ายภัยพิบัติชุมชน พื้นที่อุบลราชธานี มูลนิธิชุมชนไท ผู้ซึ่งเป็นผู้ผลักดันให้เกิดโมเดลเช่นนี้ขึ้นในชุมชนริมแม่น้ำมูล 14 แห่ง ที่ประสบภัยน้ำท่วมในอำเภอวารินชำราบ บอกว่า ที่ผ่านมาชุมชนเหล่านี้มีแนวโน้มจะถูกผลักดันออกจากพื้นที่ ด้วยข้ออ้างจากรัฐว่าเป็นพื้นที่เสี่ยงภัย โดยจะพัฒนาพื้นที่ไปเป็นแหล่งการค้าแทน

ดังนั้น การที่ชุมชนต่างๆ สร้างแพและต่อเรือขึ้นมาเอง ก็สะท้อนว่า พวกเขาต้องการจะปักหลักอยู่ที่นี่ตามที่เคยอยู่มาตั้งแต่บรรพบุรุษ มีอาชีพที่นี่ ถึงแม้จะยากจน แต่ก็ได้ประกาศว่า การอยู่ริมน้ำมูล ไม่ใช่อยู่เพื่อเป็นภาระให้รัฐต้องคอยเข้ามาเยียวยาช่วยเหลือ แต่พวกเขาดูแลกันเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ และถ้าได้รับผลที่ดี อาจกลายเป็นต้นแบบให้พื้นที่เสี่ยงภัยอื่นๆ ทำตามทั่วประเทศก็ได้






การเปิดตัว “แพต้นแบบ” เมื่อ 19 ม.ค. 2563 มี นายธนาคม กองเพียร นายอำเภอวารินชำราบ อยู่ร่วมด้วย มีป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดอุบลราชธานี มีตัวแทนองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี ทุกคนต่างชื่นชมและเห็นเป็นแนวทางที่ดี ที่ชุมชนมีศักยภาพในการจัดการภัยพิบัติเพื่อดูแลตัวเองก่อน

นายอำเภอวารินชำราบ ถึงกับบอกว่า เห็นแล้วสบายใจ และจะประสานมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ช่วยพัฒนาแพนี้ให้ดียิ่งขึ้น พร้อมบอกให้ผู้นำชุมชนทำเรื่องไปที่อำเภอเพื่อของบประมาณสนับสนุนพัฒนาโซลาร์ เซลล์ในแพให้ดียิ่งขึ้น โดยรับปากว่าจะจัดสรรมาให้ ... และจะไปรายงานต่อผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ให้ทราบทันทีว่านี่เป็นต้นแบบที่สำคัญ


“ราชการมุ่งหวังให้พี่น้องประชาชนช่วยตัวเองได้ก่อน เพราะบางทีเหตุการณ์ก็มาใชเวลากลางคืน ถ้ามีแพรองรับแบบนี้ก็สบายใจ ก่อนที่หน่วยงานรัฐจะเข้ามาช่วยประชาชนได้ การที่เขาช่วยเหลือตัวเอง คิดเอง ทำเอง จะทำให้การจัดการภัยพิบัติยั่งยืน เพราะชุมชนจะรักอุปกรณ์ รักเครื่องมือต่างๆที่เขาคิดและทำขึ้นมาเอง เป็นองค์ความรู้ที่สามารถต่อยอดได้ และผมจะประสาน ม.อุบลราชธานี เพื่อพัฒนารูปแบบแพให้ดียิ่งขึ้นด้วย” นายอำเภอวารินชำราบ กล่าว

นี่เป็นแค่หนึ่งชุมชน ที่ต่อแพเป็นต้นแบบ ถ้าทำได้หลายๆ ชุมชน หรือทุกชุมชนมีงบประมาณทำแพเช่นนี้ ผ่านกประบวนการคิด กระบวนการอบรม ให้เข้าใจการรับมือน้ำท่วมเช่นนี้

น่าคิดว่า “รัฐ” จะประหยัดงบประมาณในการช่วยเหลือเยียวยา ปีละกี่สิบกี่ร้อยล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น