xs
xsm
sm
md
lg

เปิดฝึกอบรมหลักสูตรการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมคุ้มครองสิทธิฯ ให้ความรู้การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ตามพระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. 2562 รุ่นที่ 7-8 มุ่งสร้างความยุติธรรมไปสู่ประชาชน อย่างสะดวก รวดเร็ว และ มีความเสมอภาคทุกชนชั้น

วันนี้ (15 ม.ค.) เวลา 08.30 น. ณ ห้องแมกโนเลีย 2, 3 โรงแรมทีเค พาเลซ แอนด์คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ ศาสตราจารย์พิเศษ วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในพิธีเปิดการฝึกอบรมหลักสูตรการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ตามพระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. 2562 รุ่นที่ 7-8 โดยมี นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม เข้าร่วมรับการฝึกอบรม และมี นายเกิดโชค เกษมวงศ์จิตร รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กล่าวรายงาน และได้รับเกียรติจาก นายบวร โยธะคง อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด และ นางนงภรณ์ รุ่งเพ็ชรวงศ์ ที่ปรึกษาด้านการส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพเข้าร่วม

พระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. 2562 บัญญัติคุณสมบัติของบุคคลที่ประสงค์จะขึ้นทะเบียนเป็นผู้ไกล่เกลี่ยต้องผ่านการฝึกอบรมการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทตามหลักสูตรที่คณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติรับรอง กระทรวงยุติธรรม โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ซึ่งเล็งเห็นถึงความสำคัญในการเตรียมความพร้อมให้ผู้ไกล่เกลี่ยได้มีความรู้เกี่ยวกับกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทกฎหมายเบื้องต้นที่เกี่ยวข้อง จึงได้ร่วมมือกับสถาบันพระปกเกล้าจัดทำเนื้อหาหลักสูตร และคู่มือการฝึกอบรมสำหรับฝึกอบรมบุคคลที่จะขึ้นทะเบียนเป็นผู้ไกล่เกลี่ยตามพระราชบัญญัตินี้ขึ้น ซึ่งการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ถือเป็นกระบวนการยุติธรรมมิติใหม่ของประเทศ ที่ให้หน่วยงานของรัฐ พนักงานสอบสวน และศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน สามารถยุติหรือระงับข้อพิพาททางแพ่งที่มีทุนทรัพย์ไม่มากนัก และข้อพิพาททางอาญาบางประเภทได้ด้วยการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท อันเกิดจากความสมัครใจของคู่กรณี ซึ่งรัฐบาลปัจจุบันมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะสร้างความยุติธรรมลดความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ การให้ความสำคัญในการนำความยุติธรรมไปสู่ประชาชนอย่างสะดวกรวดเร็ว และมีความเสมอภาคทุกชนชั้น ดังนั้น พระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. 2562 จึงถือเป็นกฎหมายที่จะช่วยให้หน่วยงานของรัฐทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคพนักงานสอบสวน ภาคประชาชน สามารถอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชนได้โดยสะดวก รวดเร็ว และไม่เสียค่าใช้จ่ายสูงเกินสมควร เกิดความเท่าเทียมกัน และเสมอภาคทุกชนชั้น อีกด้วย

นายสามารถ กล่าวว่า วันนี้ตั้งใจมาอบรม พ.ร.บ.การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. 2562 เพราะตั้งใจจะนำความรู้และวัตถุประสงค์กฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายที่กระทรวงยุติธรรมได้ออกมาเมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2562 เป็นกฎหมายที่ไว่ช่วยลดข้อพิพาท ลดคดีขึ้นสู่กระบวนการยุติธรรม ลดความขัดแย้งในชุมชน โดยรายละเอียดมี 6 หมวด หมวด1 ได้แก่ ผู้ไกล่เกลี่ย หมวด2 ได้แก่ การไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางแพ่ง หมวด 3 ได้แก่ การไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางอาญา หมวด 4 ได้แก่ การไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางอาญาในชั้นสอบสวน หมวด 5 ได้แก่ การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน หมวด 6 ได้แก่ บทกำหนดโทษ

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ตามบัญชาของท่านนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้กำชับให้ลดความเหลื่อมล้ำ ช่วยให้ประชาชนให้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรม โดยไม่มีค่าใช้จ่าย เน้นให้ชุมชนเข้มแข็ง ดังนั้น ประชาชนถ้าได้รับการลดขั้นตอนฟ้องร้องกันก็จะลดความขัดแย้ง ก็จะซึ่งกฎหมายฉบับนี้ได้เขียนไว้แก้ปัญหาได้ และ คิดว่าถ้าในอนาคตคงน่าจะมีการกำหนดฐานการขยายกฎหมายให้อำนาจไกล่เกลี่ยได้มากขึ้น เพื่อลดจำนวนนักโทษผู้ต้องขังล้นเรือนจำได้ ซึ่งเรื่องนี้ตรงตามนโยบายของ ท่านสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่เน้นให้ทำยุติธรรมเชิงรุก สร้างสุขให้ประชาชน

โดยวันนี้ได้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาอบรมด้วย เช่น ส.ส.ภูดิท อินสุวรรณ์ ส.ส.พยม พรหมเพชร ส.ส.สมเกียรติ วอนเพียร ส.ส.นที ถิ่นสาคู เป็นต้น ดังนั้น จะเห็นได้ว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นที่สนใจ และเป็นประโยชน์ให้กับสังคม และช่วยกระบวนการยุติธรรมให้เป็นธรรมแก่ประชาชน








กำลังโหลดความคิดเห็น