ผอ.ฝ่ายวิจัยฯบ.หลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ เผยเศรษฐกิจไทยปีนี้โต 2.8 ดีขึ้นจากปีก่อน แต่ดูเชิงโครงสร้างกลับไม่ได้ดีขึ้นจริง ชี้ปัญหาส่วนหนึ่งมาจากภาครัฐลงทุนน้อย ส่งผลเงินเฟ้อต่ำเกิน บาทแข็ง ด้าน "ธีระชัย" อัดรัฐหมกมุ่นกับภาพลวงจีดีพี หลงทำนโยบายแบบท็อปดาวน์ยิ่งเพิ่มความเหลื่อมล้ำ เสนอเลิกตั้งเป้าเงินเฟ้อแบบโบราณ บริหารค่าบาทให้มีประสิทธิภาพกว่านี้
วันนี้ (6 ม.ค. 63) นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิจัยการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด ร่วมสนทนาในรายการ "คนเคาะข่าว" ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมช่อง "นิวส์วัน" ในหัวข้อ "ตีโจทย์ เศรษฐกิจไทย 2020"
โดย ดร.ปิยศักดิ์ กล่าวว่า โดยภาพรวมปีนี้ฟังดูเหมือนจะดีขึ้นบ้าง แต่ความเสี่ยงยังเยอะอยู่ ในเชิงตัวเลขปีนี้เศรษฐกิจโตที่ 2.8 ดีขึ้นจากปีที่แล้วซึ่งอยู่ที่ 2.5 อยู่นิดหน่อย
ดร.ปิยศักดิ์ กล่าวต่อว่า 4-5 ปีมาแล้ว ภาพเศรษกิจเหมือนดีขึ้น แต่ดูไส้ใน เชิงโครงสร้างไมใช่อย่างนั้น สิ่งที่จะสามารถมองได้ในเชิงปากท้องอย่างหนึ่งมันคือเรื่องของเงินเฟ้อ เศรษกิจที่เติบโตได้ต่อเนื่อง เงินเฟ้อต้องมีอ่อน ๆ 2-3% เพื่อทำให้คนอยากจับจ่าย แต่ช่วงที่ผ่านมาต่ำมาก สาเหตุหนึ่งมาจากนโยบายการเงินที่ตึงตัวเกินไป ทำให้เงินเฟ้อต่ำกว่าเพื่อนบ้าน ค่าบาทแข็งกว่าเพื่อนบ้าน ศักยภาพการแข่งขันเราก็ต่ำกว่าเพื่อนบ้าน มันเลยรวนไปหมดเลย ทำให้เรื่องการลงทุนยากไปด้วย
สรุปเกิดจากค่าบาทเราแข็งไป ช่วงที่ผ่านมาคิดว่าส่งออกได้ดี แต่นำเข้าแย่กว่ามาก ทำให้เศรษฐกิจข้างในแย่ แต่ว่าส่งออกพอไปได้ มันก็เลยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดมาก ค่าบาทก็แข็ง เมื่อเทียบกับที่อื่นที่อ่อนอกว่าก็ทำให้เวลาผู้ส่งออกแปลงเป็นเงินบาทก็ได้น้อยลง พอน้อยลงก็ให้ลูกจ้างน้อยลง รายได้ ค่าจ้างคนไทยขึ้นน้อยมาก เมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านเรา พอรายได้น้อยก็ซื้อของน้อยลง ผู้ผลิตก็ต้องลดราคา เงินเฟ้อต่ำ เงินบาทก็แข็ง รายได้ให้ประชาชนน้อย มันก็วนลูปอยู่แบบนี้
ดร.ปิยศักดิ์ กล่าวอีกว่า อีกอย่างคือนโยบายการคลัง ภาพที่เห็นคือการลงทุนภาครัฐน้อยมาก หน่วยงานต่าง ๆ ไม่ค่อยกล้าเบิกจ่าย เพราะกลัวถูกตรวจสอบ ถ้าผู้ใหญ่ไม่เร่งการลงทุนเพิ่ม ก็จะทำให้ศักยภาพเศรษฐกิจไทยล้าหลังลงไปเรื่อย ๆ ดัชนีความสามารถในการแข่งขันเราก็ต่ำสุด ซึ่งเป็นตัวฉุดเศรษฐกิจไทยให้ดูซึม ๆ เฉา ๆ
เมื่อถามถึงข้อเสนอแนะถึงรัฐบาล ดร.ปิยศักดิ์ กล่าวว่า อยากให้ทำคล้าย ๆ รัฐบาลญี่ปุ่นเมื่อปี 1997 (พ.ศ.2540) ตอนนั้นคล้าย ๆ เราเลย คือ เงินเฟ้อน้อยลง ดอกเบี้ยต่ำ เงินเยนแข็ง โดยมีธนูอยู่ 3 ดอก
1.นโยบายการเงิน การตั้งเป้าหมายเงินเฟ้อใช้ไม่ได้แล้ว ทางแก้ต้องเปลี่ยนนโยบายการเงิน จากเดิมใช้เงินเฟ้อมาเป็นใช้อัตราปลกเปลี่ยน แต่ไม่ได้เหมือนกับปี 97 ที่ไปฟิกกับดอลลาร์ แต่ดูคล้ายสิงคโปร์คือดูหลาย ๆ ที่ หลาย ๆ ทาง ให้เคลื่อนไหวสอดคล้องกับภูมิภาคมากขึ้น เมื่อสอดคล้องทำให้เงินเฟ้อขึ้นโดยอัตโนมัติ
2.นโยบายการคลัง ราชการไม่กล้าลงทุน โครงการต่าง ๆ มีน้อย ตนมองว่าข้าราชการโดยรวมของเราดีที่มีวินัยการเงิน แต่มันบีบรัดการลงทุนมากเกินไป ตอนนี้รัฐบาลก็ยังก่อหนี้เพิ่มขึ้นได้ เสี่ยงแต่ก็เพื่อเศรษฐกิจที่จะเติบโตในระยะยาว โครงการ 2 - 3 ล้านล้านที่เคยพูดกันเอามาทำเลย
3.นโยบายเชิงโครงสร้าง โลกเราเผชิญความเสี่ยงร้อยแปดพันเก้า ที่เห็นได้ชัดคือเข้าสู่สังคมสูงวัย ในขณะที่เรายังต้องการแรงงานจำนวนมาก พวกอาชีพ หมอ วิศวะ ฯลฯ ต้องเปิดให้ต่างชาติเข้ามามากขึ้น เมื่อเกิดการแข่งขันเสรี ประสิทธิภาพก็จะมากขึ้น
ด้าน นายธีระชัย กล่าวถึงภาพเศรษฐกิจในปัจจุบนว่า รัฐบาลช่วงที่ผ่านมา 5-6 ปี หมกมุ่นอยู่กับภาพลวงจีดีพี พยายามคิดนโยบาย มาตรการ ให้จีดีพีดีขึ้น เลยออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เน้นการอุปโภคบริโภค เพราะง่ายและเกิดฉับพลัน แต่มันก็เป็นแบบไฟไหม้ฟาง จนทำให้ประชาชนระดับคนเดินถนน , SME มีความรู้สึกว่าตอนนี้เศรษฐกิจแย่ ค้าขายไม่ดี และยังหลงทำนโยบายเศรษฐกิจแบบท็อปดาวน์ โดยเชื่อว่าขับเคลื่อนนโยบายเปิดโอกาสให้นักธุรกิจนายทุนทั้งไทยและต่างชาติ จะพาประชาชนให้อยู่ดีกินดีไปด้วย
ส่วนข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล นายธีระชัย กล่าวว่า สิ่งที่รัฐบาลควรทำ ในแง่ของการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและระยะยาว อาจมีสัก 4 เรื่อง ที่ควรให้ความสำคัญนอกเหนือจากการเมือง
1.ต้องบริหารจัดการค่าบาทให้ได้ประสิทธิผลมากกว่านี้ พลาดท่าตรงที่ปล่อยให้แบงก์ชาติเดินหน้ายึดหลักการตั้งเป้าเงินเฟ้อแบบโบราณ โดยไม่ได้เอาสภาพแวดล้อมปัจจุบันเข้ามาร่วมพิจารณาด้วย
2.ความเชื่อมั่นของนักลงทุน นอกจากภาวะเศรษฐกิจโลกดูแล้วไม่สดใส ส่วนหนึ่งก็มาจากความไม่มั่นใจในตัวรัฐบาลเองด้วย ที่ไป ๆ มา ๆ นายกฯเข้าไปร่วมเป็นตัวขัดแย้งเสียเอง
3. เรื่องการขับเคลื่อนแบบท็อปดาวน์ ทำให้การกระจายรายได้ถึงชาวบ้านน้อยไป ความเหลื่อมล้ำยิ่งแย่ขึ้น
4.อันนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก รัฐบาลตั้งโจทย์รองรับการเปลี่ยนแปลงของโลกน้อยเกินไป