จากกรณีที่มีลูกจ้างกรมป่าไม้ ประจำหน่วยป้องกันรักษาป่าไม้ยะลา 1-3 (3 หน่วยงาน) ได้รวมกันยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่อศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) อ.เมือง จ.ยะลา จากเหตุการถูกเลิกจ้างจากตำแหน่งเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า โดยให้เหตุผลว่าไม่มีงบประมาณในการจ้างให้ทำงานต่อ ส่งผลให้ต้องตกงานและมาทราบภายหลังว่าทางเจ้าหน้าที่ระดับผู้บังคับบัญชา ในหน่วยต้นสังกัดมีการเปิดรับสมัครลูกจ้างรายใหม่ ซึ่งเป็นตำแหน่งเดียวกันเพื่อแทนที่คนที่โดนเลิกจ้าง นอกจากนี้ยังกล่าวว่ามีการเรียกเก็บค่าเข้าทำงาน จึงได้มาร้องเรียนให้ดำเนินการสอบสวนหาข้อเท็จจริงให้กระจ่างและขอให้ย้ายข้าราชการ 2 รายออกจากพื้นที่ เพื่อไม่ให้เป็นการสร้างเงื่อนไขให้เกิดขึ้นในพื้นที่
วันนี้ (4 ธ.ค.) นางนันทนา บุณยานันต์ โฆษกกรมป่าไม้ เผยว่า กรณีดังกล่าว นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ ได้ทราบเรื่องร้องเรียนที่เป็นความเดือดร้อนของพนักงานจ้างเหมา (TOR) ตำแหน่งเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าดังกล่าวแล้ว และ กรมป่าไม้ได้ออกคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าว โดยมี นายธวัชชัย รัชกูด ผู้ตรวจราชการกรมป่าไม้ เป็นประธานคณะทำงาน ทั้งนี้ อธิบดีกรมป่าไม้ได้เน้นย้ำให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องดังกล่าวให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกๆ ฝ่าย พร้อมกันนี้ได้มอบให้ นายจิระศักดิ์ ชูความดี รองอธิบดีกรมป่าไม้ ลงพื้นที่เพื่อรับทราบปัญหาและแก้ไขในเบื้องต้นอีกทางหนึ่ง
นางนันทนา เผยอีกว่า โดยทางกรมป่าไม้ได้รับรายงานเบื้องต้นจากสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 13 สาขานราธิวาส แจ้งเหตุผลว่า พนักงานจ้างเหมา (TOR) ที่ถูกเลิกจ้าง เนื่องจากบางรายมีส่วนเกี่ยวข้องพัวพันกับคดีไม้ของกลางสูญหายและร่วมกันกระทำผิดกฎหมายป่าไม้ โดยมีการแจ้งความดำเนินคดีแล้ว ซึ่งในขณะนี้อยู่ในชั้นสืบสวนของพนักงานสอบสวน ต่อมาบันทึกข้อตกลงในการจ้างเหมา (TOR) ซึ่งกำหนดการจ้างงานครั้งละ 4 เดือนได้สิ้นสุดลง ทางหัวหน้าหน่วยป้องกันรักษาป่าจึงไม่ทำบันทึกข้อตกลงในการจ้างเหมา (TOR) ให้ปฏิบัติงานต่อเนื่อง ทั้งนี้เนื่องจากพนักงานจ้างเหมา (TOR) ดังกล่าวไม่ปฏิบัติงานตามข้อตกลงในสัญญาจ้างเหมา (TOR) ได้ทำไว้ โดยไม่มาปฏิบัติงานตามที่ได้รับมอบหมาย ทางผู้บังคับบัญชาได้มีการแจ้งตักเตือนให้ปรับปรุงในการปฏิบัติหน้าที่หลายครั้งด้วยกัน จึงเป็นเหตุให้ไม่มีการจ้างปฏิบัติงานต่อกับพนักงานจ้างเหมารวม 6 ราย
"สำหรับในประเด็นการเรียกรับเงินเพื่อแลกกับการได้เข้ามาปฏิบัติงานในหน่วยป้องกันรักษาป่านั้น ในเรื่องนี้ต้องมีการสอบข้อเท็จจริงจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกรายต่อไป และอธิบดีกรมป่าไม้แจ้งว่า ถ้าตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วพบผู้ที่กระทำผิดต้องลงโทษสถานหนักทางวินัย นอกจากนี้หากบุคคลใดที่ให้ข้อความหรือข้อมูลที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง และทำให้เสื่อมเสียแก่กรมป่าไม้ ทำให้กรมป่าไม้ได้รับความเสียหายก็จะแจ้งความดำเนินคดีด้วยเช่นกัน" โฆษกกรมป่าไม้ กล่าว