พระบรมสารีริธาตุ หรือ พระบรมธาตุ ก็คือ พระบรมอัฐิ หรือ กระดูก ของพระพุทธเจ้านั่นเอง เหตุที่ไม่เรียกว่าพระบรมอัฐิเหมือนกษัตริย์หรือจักรพรรดิทั้งหลาย ก็เพราะสมเด็จพระบรมศาสดาทรงล่วงพ้นวิสัยของสามัญชน ทรงสร้างสมพระบารมีไว้อย่างเอนกอนันต์ ทรงสมบูรณ์ด้วยพระวิสุทธิคุณ พระปัญญาธิคุณ และพระมหากรุณาธิคุณอย่างที่ไม่มีบุคคลมาเทียบได้ ทรงมีพระพุทธานุภาพยิ่งใหญ่ไพศาลแผ่ซ่านคลอดไปทั่วจักรวาล
ในการถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระของพระพุทธเจ้าที่นครกุสินารายณ์นั้น กษัตริย์มัลละได้ทรงประกอบพิธีเช่นเดียวกับพระบรมศพของพระเจ้าจักรพรรดิ คือห่อหุ้มพระพุทธสรีระด้วยผ้าถึง ๕๐๐ ชั้น โดยชั้นนอกและชั้นในสุดใช้ผ้า “อโธวิตะ” แปลว่า “ไม่ต้องซักด้วยน้ำ” ซึ่งอาจเป็นผผ้าทนไฟชนิดหนึ่งในยุคนั้น เพราะเมื่อถวายพระเพลิงแล้วพระพุทธสรีระและสิ่งห่อหุ้มได้มอดไหม้ไปกับเปลวเพลิง เหลือแต่ผ้าชั้นนอกและชั้นในห่อหุ้มพระบรมธาติไว้
พระบรมสารีริกธาตุที่เหลืออยู่ในห่อผ้า ๒ ชั้นนี้ มีลักษณะไม่เหมือนกระดูกคนธรรมดาทั่วไป แต่ดูคล้ายอัญมณี คล้ายไข่มุก คล้ายแก้ว คล้ายหิน มีสีสันต่างๆกัน เช่น เหลืองทอง เขียว ขาวสุกใส และขาวดุจงาช้าง เป็นต้น
คนรุ่นใหม่อาจจะเชื่อยาก ว่าพระบรมธาตุของพระพุทธเจ้ามีลักษณะคล้านแก้ว คล้ายหิน ต่างจากกระดูกของคนธรรมดา
แต่เรื่องนี้ก็ไม่ใช่อิทธิฤทธิ์ปาฏิหารย์แต่อย่างใด วิทยาศาสตร์น่าจะค้นคว้าเรื่องนี้ต่อไป ขณะนี้ก็มีการค้นพบแล้วว่า ในยามที่มนุษย์คิดถึงความทุกข์หรือความสุขนั้น ร่างกายจะหลั่งสารที่แตกต่างกันออกมา ซึ่งทำให้จิตใจเบิกบานหรือห่อเหี่ยวต่างกันไป
ฉะนั้น การบำเพ็ญสมณธรรมมาเป็นเวลานาน จนดวงจิตหลุดพ้นจากโลกียวิสัย ปราศจากโลภ โกรธ หลง มีแต่ความเมตตา กรุณา ต่อสัตว์โลก ร่างกายก็อาจหลั่งสารบางอย่างที่ทำให้กระดูกแปรเปลี่ยนไปเช่นนี้ก็เป็นได้ เพราะไม่เพียงแต่พระบรมธาตุสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น พระธาตุของพระอรหันต์สาวกก็มีก็มีลักษณะเช่นกัน แม้แต่พระอริยสงฆ์ในปัจจุบันหลายรูป อัฐิของท่านก็แปรเปลี่ยนสภาพไปจากกระดูกคนธรรมดา เป็นเช่นเดียวกับพระธาตุ ดังปรากฏอยู่ทั่วไป อย่างเช่น พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต แห่งวัดป่าสุทธาวาส อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร ที่ประดิษฐานอยู่ในพิพิธภัณฑบริขารพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ณ วัดป่าสุทธาวาส ซึ่งเปิดให้ชมให้นมัสการ รวมทั้งพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล วัดดอนธาตุ จังหวัดอุบลราชธานี พระอาจารย์พรหม จิรปุญโญ วัดประสิทธิธรรม บ้านดงเย็น จังหวัดอุบลราชธานี หลวงพ่อเฟื่อง อินทวัณโณ วัดคงราเลียบ หาดใหญ่
ในพิธีถวายพระเพลิงพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ได้มีกษัตริย์และพราหมณ์จาก ๗ นครมาร่วมและถวายพระราชสาส์นต่อพระเจ้ามัลละ ขอส่วนแบ่งพระบรมสารีริกธาตุไปประดิษฐานไว้ในพระสถูปเพื่อสักการะ แต่กษัตริ์มัลละทรงดำริว่า พระพุทธเจ้าทรงประชวรตั้งแต่นายจุนทะ เจ้าของป่ามะม่วงที่เมืองปาวา ได้ถวายอาหาร “สุกรมัทวะ” พระอาการหนักจนลงพระโลหิต แต่พระองค์ก็ทรงพระอุตสาหะเสด็จมาดับขันธปรินิพพาน ณ สาลวันอุทยานของตน คงมีพระประสงค์จะประทานพระสารีริกธาตุให้เรา จึงประกาศที่จะไม่แบ่งให้ใคร ทำให้กษัตริย์ต่างๆเตรียมจะเรียกกองทัพมาชิงพระบรมสารีริกธาตุ โฑณพราหมณ์ ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของคนทั่วไป เห็นว่าทุกคนต่างเลื่อมใสในพระพุทธองค์เป็นบรมครู ซึ่งได้ทรงสั่งสอนไม่ให้รบราฆ่าฟันกัน การที่จะเอาความปรารถนาในพระบรมสารีริกธาตุของพระองค์เป็นเหตุของการทำสงคราม จึงเป็นสิ่งที่ไม่บังควรอย่างยิ่ง จึงได้ขอให้กษัตริย์ทุกนครจงสามัคคีกัน แบ่งพระบรมสารีริกธาตุออกเป็น ๘ ส่วนให้เท่ากันทุกนคร พระเจ้ามัลละและกษัตริย์อีก ๗ นครต่างก็สำนึกเห็นพ้องต้องกัน
พระบรมสารีริกธาตุมีลักษณะเป็น ๓ แบบด้วยกัน คือ
๑. ขนาดใหญ่ มีขนาดเท่ากับถัวมุคคะครึ่งซีก (ถั่วมุคคะเป็นถั่วชนิดหนึ่งของอินเดีย มีขนาดเท่ากับถั่วเหลือง) ไทยเราเรียกพระบรมสารีริกธาตุแบบนี้ว่า “สัณฐานเท่าเมล็ดถั่วหัก” มีสีสันดั่งพรรณทองอุไร หรือเหลืองดอกบวบ แบบนี้ตวงได้ ๕ ทะนานทองคำ
๒. ขนาดกลาง มีขนาดเท่าเมล็ดข้าวสารหัก มีสีสันรูปพรรณแวววาวเหมือนแก้วผลึก แบบนี้ตวงได้ ๕ ทะนานทองคำเช่นกัน
๓. ขนาดเล็ก มีขนาดเท่าเมล็ดผักกาด มีสีน้ำตาลอ่อนปนขาวเหมือนสีดอกพิกุล แต่วาวใส แบบนี้ตวงได้ ๖ ทะนานทองคำ
พระบรมสารีริกธาตุทั้ง ๑๖ ทะนานนี้ ถูกแบ่งออกเป็น ๘ ส่วน กษัตริย์ทั้งหลายได้นำไปบรรจุในสถูปตามเมืองต่างๆ
นอกจากนี้ยังมีพุทธบริขาร คือ บาท จีวร ผ้าสันถัด (รองนั่ง) รัดประคด (ผ้าคาดเอว) สมุก (ภาชนะมีฝาครอบสำหรับใส่สิ่งของ) เหล็กไฟ กล่องเข็ม ผ้ากรองน้ำ (กรองตัวสัตว์) ธมกรก (กระบอกกรองน้ำ) ผ้าอาบน้ำฝน มีดโกน เครื่องลาดแท่นบรรท ฉลองพระบาท เป็นต้น รวมทั้งทะนานที่ตวงพระบรมสารีริกธาติด้วย พราหมร์ได้อัญเชิญพุทธบริขารเหล่านี้ไปประดิษฐานไว้ ๑๐ เมือง
แต่ถึงกระนั้น พระบรมสารีริกธาตุที่เป็นรูปกระดูกคนธรรมดาก็ยังมี สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุถาพ ได้ทรงนิพนธ์ไว้ใน “นิทานโบราณคดี” เรื่อง “สืบพระศาสนาในอินเดีย” ตอนหนึ่งว่า
“เมื่อขึ้นไปยุโรป ไปถึงกรุงลอนดอนก่อนมาอินเดีย นึกถึงเรื่องนั้น วันฉันไปดูพิพิธภัณฑ์สถาน จึงขอให้เจ้าพนักงานเขาพาไปดูพระบรมธาตุพระพุทธเจ้าที่ได้ไปจากอินเดีย ไปเห็นก็เกิดพิศวง ด้วยพระบรมธาตุที่ว่านั้นเป็นกระดูกคน มิใช่พระธาตุที่คล้ายกับปูนที่เรานับถือกันในเมืองไทย”
ส่วนพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล ได้ทรงแสดงความเห็นลักษณะที่แตกต่างของพระบรมสารีริกธาตุทั้ง ๒ แบบนี้ไว้ว่า
“เรื่องของพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า และพระธาตุของพระสาวกนั้น ข้าพเจ้าจึงเห็นควรแบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ ประเภทที่หนึ่ง ได้แก่พระบรมสารีริกธาตุที่เป็นกระดูกคนตามที่ควรจะเป็น และอีกประเภทหนึ่งนั้น เป็นสมมติธาตุ ซึ่งหมายถึงสิ่งที่พุทธาภินิหารของพระพุทธเจ้าหรือของพระสงฆ์ หรือของที่มีพลังจิตแรง ได้บันดาลให้หินมาปรากฏแทนพระบรมสารีริกธาตุ (กระดูก) ของพระพุทธเจ้า เพื่อเราได้ไว้สักการะ และนั่นก็คือพระธาตุชนิดที่เป็นหินปูน มิใช่กระดูกคนจริงๆ”
อย่างไรก็ตาม พระบรมสารีริกธาตุไม่ว่าจะเป็นรูปแบบไหน หรือแม้แต่พระพุทธรูปที่สร้างกันขึ้นไว้ทั่วไป ก็เป็นสิ่งที่ทำให้เรารำลึกถึงองค์สมเด็จพระศาสดา ที่ทรงประทานคำสั่งสอนให้เรายึดถือดำเนินชีวิตอย่างสงบสุขนั่นเอง