xs
xsm
sm
md
lg

พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ช้างต้น! ช้างเผือกคู่แผ่นดินและเครื่องประกอบสำคัญ มีให้ชมที่นี่!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค



ช้างต้น หมายถึงช้างที่ได้รับการขึ้นระวางเป็นช้างส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์ ซึ่งมี ๒ ประเภท คือ ช้างที่ทรงใช้เป็นราชพาหนะในการออกสงคราม กับช้างสำคัญที่มีลักษณะเป็นช้างมงคลตามตำราคชลักษณ์ แต่ไม่สมบูรณ์ครบทุกอย่าง และช้างเผือกที่มีลักษณะต้องตามตำราคชลักษณ์อย่างสมบูรณ์
ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนกลางเป็นต้นมา ความสำคัญของช้างศึกได้หมดไป ช้างศึกที่ขึ้ระวางเป็นช้างต้นไม่มีความจำเป็น จึงเหลือช้างสำคัญและช้างเผือก ซึ่งถ้าพบก็จะมีพระราชพิธีสมโภชและขึ้นระวางเป็นช้างต้นด้วย ถือตามพระราชประเพณีว่าช้างเผือกเป็นสัตว์ที่สูงด้วยมงคล เป็นรัตนะคู่บารมีพระมหากษัตริย์ ๑ ใน ๗ สิ่ง คือ ช้างแก้ว ม้าแก้ว ขุนพลแก้ว ขุนคลังแก้ว จักร์แก้ว ดวงแก้ว และนางแก้ว

พิพิธภัณฑ์แห่งชาติ ช้างต้น คือสถานที่รวบรวมสิ่งของและเรื่องราวของช้างส่วนพระองค์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ตั้งอยู่ในเขตพระราชวังดุสิต แต่ก็ไม่ค่อยจะเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางเหมือนพระที่นั่งวิมานเมฆที่อยู่ในบริเวณเดียวกัน นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่มาชมพระที่นั่งไม้สักทองหลังใหญ่ที่สุดในโลก ก็เดินชมแค่พระตำหนักต่างๆที่อยู่ใกล้ๆพระที่นั่งวิมานเมฆ มีเป็นส่วนน้อยที่จะเดินมาถึงพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ ช้างต้น เพราะอยู่ด้านหลังสุด ริมถนนอู่ทองใน ตรงประคูด้านเขาดิน ติดกับประตูทางเข้ารัฐสภาแห่งเก่า

เดิมสถานที่นี้เป็นโรงช้างต้นที่รัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นในบริเวนพระราชวังดุสิต สำหรับช้างเผือกที่มาสู่พระบารมี คือ พระเศวตอุดมวารณ์ ซึ่งได้จัดพิธีสมโภชขึ้นระวางเมื่อปี ๒๔๔๙

ในสมัยรัชกาลที่ ๖ ได้พบช่างเผือกอีก จึงได้จัดพระราชพิธีสมโภชขึ้นระวางพระราชทานนามว่า พระเศวตวชิรพาหนฯในปี ๒๔๕๔ และโปรดเกล้าฯให้ยืนโรงอยู่ที่โรงช้างต้นแห่งนี้

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๗ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างโรงช้างขึ้นอีก ๑ โรงคู่กัน สำหรับ พระเศวตคชเดชดิลกฯ ซึ่งพบในรัชกาลนี้ และจัดพระราชพิธีสมโภชขึ้นระวางเมื่อปี ๒๔๗๐

ต่อมาเมื่อช้างเผือกในรัชกาลที่ ๖ และรัชกาลที่ ๗ ล้มลง โรงช้างต้นทั้งสองนี้จึงว่าง จนถึงปี ๒๕๐๒ ในรัชกาลที่ ๙ จึงมีช้างเผิอกมาคู่พระบารมี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้บูรณะโรงช้างต้นโรงแรก เพื่อประกอบพระราชพิธีสมโภชและขึ้นระวาง พระราชทานนามว่า พระเศวตอดุลยเดชพาหนฯ และโปรดเกล้าฯให้ยืนโรงที่สวนสัตว์ดุสิตชั่วคราว จนโรงช้างต้นที่สร้างใหม่ในบริเวนพระตำหนักจิตรลดารโหฐานแล้วเสร็จในปี๒๕๐๙ จึงย้ายไปยืนโรงอยู่ที่นั่น ก่อนที่พระเศวตอดุลเดชพาหนฯจะล้มลงในวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๕๓ ณ โรงช้างต้นในพระราชวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน

ส่วนโรงช้างต้นในพระราชวังดุสิตทั้ง ๒ โรง เมื่อไม่มีช้างต้นยืนโรงจึงชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา แต่เนื่องจากเป็นสถานที่สำคัญเกี่ยวกับช้างเผือก ทั้งยังมีความสำคัญทางด้านสถาปัตยกรรม เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อวันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๑๗ และต่อมากระทรวงศึกษาธิการได้จัดเป็นพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ข้างต้น เมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๓๑

อาคารหลังที่ ๑ ของพิพิธภัณฑ์ จัดแสดงว่าด้วยประวัติสำคัญของช้างต้น ให้ความรู้ทางด้านคชลักษณ์และคติความเชื่อเกี่ยวกับช้างเผือก ประเภทของช้าง การกำเนิดของช้างมงคล

โบราณวัตถุและศิลปวัคถุที่นำมาจัดแสดงในอาคารนี้ ที่เด่นสะดุดตาอยู่ที่อยู่ตรงกลางคืองาช้างต้นในอดีต ซึ่งงาที่ยาวที่สุดในกลุ่มนี้ คืองาของเจ้าพระยาปราบไตรจักร ช้างต้นในรัชกาลที่ ๓ ต่อที่ ๔ มีความยาวถึงข้างละ ๒๕๗ และ ๒๙๐ ซม. ทั้งหมดตั้งอยู่หน้าภาพเขียนขนาดใหญ่ของเจ้าพระยาปราบไตรจักร ซึ่งเป็นช้างสูงถึง ๖ ศอก ๑ คืบ

ในอาคารหลังนี้ยังมีช้างเผือกจำลองรัชกาลต่างๆ รวมทั้งแพจำลองจากแพที่เคยรับพระเศวตอุดมวารณ์ฯ ช้างเผือกในรัชกาลที่ ๕ ที่เจ้านครลำปางน้อมเกล้าฯถวายใส่แพสวยงามวิจิตรล่องลงมาจากเมืองลำปาง

สิ่งสำคัญต่างๆที่เกี่ยวกับช้างถูกนำมาจัดแสดงไว้โดยรอบ ตู้หนึ่งที่ตั้งแสดง เป็นยันต์อรหันต์ ๘ ทิศ ที่ใช้แขวนในโรงะระราชพิธีสมโภชขึ้นระวางช้างต้น ชั้นล่างเป็นโหลใส่หนังช้างดองซึ่งเป็นช้างเผือกที่คล้องมาได้ในรัชกาลที่ ๔ แต่ยังไม่ทันได้เข้าพระราชพิธีขึ้นระวางก็ล้มลงเสียก่อน ทรงเสียดายมาก โปรดให้นำหนังมาดองตั้งไว้ตั้งแต่ปี ๒๔๐๗

อีกตู้หนึ่งเป็นบรรดาเครื่องลางของขลังที่หมอเฒ่าและควาญช้างในภาคอีสานใช้ติดตัวไปในการคล้องช้าง เช่น งาคุด เขาคุด ลูกสะกด เบี้ยแก้ เหล็กไหล เขี้ยวเสือกลวง เขี้ยวหมูตัน เป็นต้น

ส่วนอุปกรณ์ในการใช้จับช้างก็มีแสดงไว้หลายอย่าง เช่น

ทามคอ เป็นเชือกหนังหรือหวาย สำหรับมัดคอช้างป่า

ไม้คันจาม เป็นไม้ยาวประมาณ ๕ เมตร หมอช้างถือเวลาออกจับช้าง ด้านหนึ่งมีขอเหล็กสำหรับเหน็บเชือกปะกำที่ตรงปลาย ทำเป็นห่วงสำหรับคล้องช้าง

สายระโยง เป็นเชือกหนังหรือลวดชนิดเกลียว ใช้ล่ามโยงขาหรือคอของช้างกับต้นไม้

ไม้งก เป็นไม้ที่ควาญใช้ตีท้ายช้าง เพื่อเร่งความเร็วขณะไล่ช้างป่า

สะเนงเกล ทำด้วยเขาควายป่าตากแห้ง ใช้เป่าบอกสัญญาณต่างๆ เช่นกันหลงกันในป่า หรือเป่าเมื่อจะออกจากป่า เป็นสัญญาณสิ้นสุดการคล้องช้าง และเป่าเมื่อถึงหมู่บ้นให้ญาติพี่น้องทราบว่ากลับมาแล้ว

ในอาคารนี้ยังมีเรื่องราวทั้งภาษาไทยและอังกฤษประกอบภาพ ให้ความรู้เกี่ยวกับช้างติดไว้โดยรอบ ทำให้ผู้เข้าชมเข้าใจในเรื่องช้างเป็นอย่างดี

ส่วนในอาคารหลังที่ ๒ จัดแสดงเกี่ยวกับพระราชพิธีขึ้นระวางช้างเผือก จุดเด่นในอาคารหลังนี้ก็คือ รูปปั้นของพระเศวตอดุลยเดชพาหนฯ ช้างเผิอกในรัชกาลที่ ๙ ซึ่งคล้องได้ที่จังหวัดกระบี่ สมโภชขึ้นระวางเมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๐๒
ในการจัดแสดงพระราชพิธีสมโภชนี้ พระอดุลยเดชพาหนฯทรงเครื่องคชาภรณ์ มีพานพุ่มดอกไม้และฉัตรเขียนอักขระประกอบ โดยรอบยังมีเครื่องประกอบในพระราชพิธีสำคัญคือ พระชัยหลังช้าง

พระชัยหลังช้างเป็นพระพุทธรูปประทับนั่งปางมารวิชัย ซึ่งตามพระราชพิธีแต่โบราณมา พระเจ้าอยู่หัวจะทรงสร้างพระชัยหรือพระชัยวัฒน์ประจำรัชการไว้บูชาในหอพระ เพื่อความเป็นสิริมงคลในพระองค์ ในยามศึกเมื่อจะเสด็จออกสงคราม จะทรงอัญเชิญพระชัยวัฒน์ขึ้นหลังช้างนำกระบวนทัพ เพื่อคุ้มครองปกป้องอุปัทวอันตราย และเป็นขวัญกำลังใจแก่ทหาร จึงเรียกกันว่า “พระชัยหลังช้าง”

ในพระราชพิธีสมโภชขึ้นระวางช้างสำคัญ พระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จมาทรงเป็นประธานในพระราชพิธี ดังนั้นในพิธีสงฆ์จึงได้อัญเชิญพระชัยหลังช้างมาเป็นพระประธานบนโต๊ะหมู่บูชาที่ตั้งบนสัปคับ หรือที่นั่งบนหลังช้าง เพื่อพระสงฆ์จะได้สวดพระปริตรในระหว่างที่ประกอบพิธีพราหมณ์

สิ่งสำคัญอีกอย่างที่จัดแสดงในพระราชพิธีนี้ก็คือ ศาลพระเทวกรรม ที่ใช้ประกอบในพระราชพิธีขึ้นระวางช้างสำคัญหรือช้างเผือก ลักษณะเป็นเรือนยอดสีขาวปิดทอง ภายในประดิษฐานรูปพระเทวกรรมหรือพระพิฆเนศเป็นประธานในพิธีพราหมณ์ด้วย พระองค์ทรงเป็นเทพเจ้าแห่งช้าง และทรงเป็นเทพเจ้าแห่งอุปสรรคทั้งปวง

นอกจากนี้ ยังมีของที่ใช้ในพระราชพิธีจัดไว้อีกอย่างคือ เครื่องประโคม ประกอบด้วยแตรฝรั่ง แตรงอน บัณเฑาะว์ สังข์ และฆ้อง เป็นต้น

แต่โบราณมา เมื่อมีการพบช้างเผือกในรัชกาลใดก็ตาม เมื่อคล้องช้างเผือกได้แล้ว ก็มักจะได้ลิงเผือกและกาเผือกตามมาด้วยเสมอ จึงเชื่อกันว่าสัตว์ทั้ง ๓ ชนิดนี้อาจเป็นสหชาติคู่บารมีพระมหากษัตริย์พระองค์นั้น ในพิพิธภัณฑ์นี้จึงมีรูปปั้นลิงเผือกและกาเผือกแสดงไว้ด้วย

พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ช้างต้น แม้จะมีสิ่งที่น่าสนใจให้ชมมาก แต่ถ้าจะเดินดูพอให้ตื่นตาตื่นใจก็คงใช้เวลาไม่มากนัก เพราะบริเวนไม่กว้างขวางมาก เปิดบริการทุกวันตั้งแต่เวลา ๐๙.๐๐-๑๖,๐๐ น. อัตราค่าเข้าชมเพียงคนละ ๕ บาท ทั้งไทย-เทศ เมื่อชมพิพิธภัณฑ์ฯช้างต้นแล้ว ก็อาจจะเดินไปชมพระราชวังดุสิตที่มีสวนและตำหนักที่งดงาม โดยเฉพาะพระที่นั่งวิมานเมฆนั้น เป็นสถานที่น่าชมให้เป็นบุญตาอย่างยิ่ง






กำลังโหลดความคิดเห็น