xs
xsm
sm
md
lg

นักจิตแพทย์วอนผู้ปกครอง! อย่าปล่อยให้เด็กต้องเผชิญหน้ากับสังคมที่ใช้ความรุนแรง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คุณหมอ ‘เบญจพร ตันตสูติ’ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โพสต์ข้อความวอนผู้ปกครองอย่าให้เด็กต้องทนอยู่ในสังคมที่ใช้ความรุนแรง พร้อมแนะ ผู้ปกครองควรทำให้เป็นแบบอย่างที่ดี

จากเหตุการณ์สุดสลด นักเรียนชั้นมัธยมต้น โรงเรียนดังย่านรัตนาธิเบศร์ สางแค้นเพื่อนร่วมชั้นเรียน ถูกล้อเป็นตุ๊ด เกย์ ขโมยปืนพ่อ จ่อหัวยิงขณะก้มถอดรองเท้า ก่อนพยายามหลบหนี แต่ไปไม่รอดถูกครูจับได้พร้อมของกลาง จากการพูดคุยกับผู้ปกครอง ทราบว่าเด็กนักเรียนที่ก่อเหตุถูกเพื่อนร่วมชั้นล้อว่าเป็นตุ๊ดและตบหัวต่อยแขนบ่อยครั้งล้อพ่อล้อแม่ ล่าสุดไปเข้าค่ายก็ถูกแกล้งกลับมา ตนกับสามีเห็นเป็นเรื่องของเด็กและเกิดเรื่องที่โรงเรียนจึงได้บอกลูกว่าให้ไปแจ้งครูว่าถูกเพื่อนรังแก จนมาเกิดเหตุขึ้น

ล่าสุดวันนี้ (22 ธ.ค.) เพจ "เข็นเด็กขึ้นภูเขา" โดย ‘หมอมินบานเย็น’ หรือ คุณหมอ ‘เบญจพร ตันตสูติ’ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ได้ออกมาแสดงความคิดเห็น ในมุมมองของนักจิตแพทย์เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ว่า

"ข่าวเรื่องการกลั่นแกล้งรังแก การใช้ความรุนแรงต่อกันมีให้เห็นกันอยู่บ่อยๆ จนอาจจะพูดได้ว่าเราอยู่ในสังคมที่นับวันดูเหมือนความรุนแรงมักถูกมองเป็นเรื่องปกติชินชา ไม่ต้องไปดูที่ไหนไกล เราเห็นได้จากในสื่อต่างๆ ทั้งในโซเชียลมีเดีย เฟซบุ๊ก ยูทูป แม้ว่าภาพยนตร์ รายการต่างๆ จะเห็นบ่อยๆว่า มุขตลกที่ถูกนำมาเล่นบ่อยๆ คือ การที่คนคนหนึ่งกระทำความรุนแรงกับอีกคนในเชิงตลกขบขัน ไม่ว่าจะเป็น การแกล้ง รังแก ทำให้อีกฝ่ายเจ็บตัว ที่หมอจำได้เลย เห็นบ่อยๆตอนเด็กๆ คือ ภาพดาราตลกในรายการทีวีที่เอาถาดตีศีรษะอีกคน แล้วก็ขำๆกันไป

ตามหลักพฤติกรรมศาสตร์ พฤติกรรมไหนที่กระทำแล้ว ได้รับคำชื่นชมยอมรับ เช่น กดไลค์ กดแชร์ มีคนมีดูและสนใจ พฤติกรรมนั้นก็จะถูกกระทำมากขึ้น นั่นคือ การได้รับแรงเสริมทางบวก (positive reinforcement) เราอาจเคยเห็นคลิปใน YouTube ที่มีคนกดไลค์และยอดวิวก็มาก หลายคลิปที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความรุนแรง การที่คนเราสัมผัสกับความรุนแรงในชีวิตประจำวันจนคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดา แถมบางทีคนที่พบเห็นก็ดูจะชอบ ให้การยอมรับ มีเสียงหัวเราะที่มอบให้ จึงเป็นเรื่องที่น่ากลัวอย่างยิ่ง โดยเฉพาะกับลูกหลานตัวเล็กๆของเรา หมอเคยคุยกับเด็กคนหนึ่ง พ่อแม่พามาตรวจเพราะเด็กชอบแกล้งเพื่อน ส่วนใหญ่เป็นการแกล้งแบบไม่คิดอะไร แต่เพื่อนที่ถูกแกล้งมักจะเจ็บตัวมาก เพราะเด็กตัวใหญ่ อ้วน และแรงเยอะ อาจะคล้ายๆ ไจแอนท์ในการ์ตูนโดราเอมอน

ตอนที่คุยกับเด็ก ถามว่าทำไมถึงไปแกล้งเพื่อนล่ะ เด็กก็ตอบแบบใสซื่อว่า

"ผมก็แค่อยากจะเล่นด้วย มันตลกดีออก"

"ทุบหัวเพื่อน กับต่อยเพื่อน มันตลกยังไงล่ะ" หมอถาม

"ทำไปแล้วเพื่อนคนอื่นก็หัวเราะ"

"ตอนอยู่บ้าน พ่อก็ชอบแกล้งผมแบบนี้ ผมบอกไม่ชอบ พ่อก็บอกว่า พ่อแกล้งเล่นๆ แล้วทำไมผมจะแกล้งเพื่อนบ้างไม่ได้อ่ะครับ"

"แถมเวลาแม่กับพ่อทะเลาะกัน แม่ก็ชอบต่อยพ่อด้วย บางทีพ่อก็ตบแม่ แต่แป๊บเดียว แล้วพ่อกับแม่ก็ดีกัน ไม่เห็นมีอะไร"

เป็นภาพชินตาและคำพูดที่ชินหู ที่ผู้ใหญ่มักจะสอนเด็กว่า "แม่อยากให้หนูเป็นเด็กดี" ไม่ก็ "เล่นกันดีๆนะ" หรือ "อย่าตีกัน" แต่ที่ตลกร้ายก็คือ หลายๆครั้งผู้ใหญ่กลับกลายเป็นตัวอย่างและสนับสนุนความรุนแรงเสียเอง แบบที่เราเห็นแม่กังฟูคิกพ่อในคลิปวีดีโอ หรือเรื่องที่หมอเล่าให้ฟัง จริงๆแล้วหมอคิดว่าพ่อแม่ไม่รู้ว่ามันจะมีผลเสียและคงไม่ตั้งใจหรอก

"ไม่เห็นจะเป็นไรเลย นิดหน่อยเอง" ส่วนใหญ่พ่อแม่หรือผู้ใหญ่จะคิดกันแบบนี้

ก็น่าคิดว่าขณะที่ผู้ใหญ่พูดสอนเด็กๆ ผู้ใหญ่กลับทำตรงข้าม

หากผู้ใหญ่ไม่อยากให้เด็กใช้ความรุนแรง อย่างแรกที่ผู้ใหญ่ต้องทำ คือ ผู้ใหญ่จะต้องเป็นตัวอย่างในการไม่ใช้ความรุนแรง ความเสี่ยงหนึ่งของเด็กที่กลายเป็นคนที่ใช้ความรุนแรง ก็คือ ผู้ใหญ่ เช่น พ่อแม่ใช้ความรุนแรงให้ลูกเห็นบ่อยๆ หรือเป็นเด็กที่ถูกกระทำรุนแรง เช่น พ่อแม่ทะเลาะตบตีกันเป็นประจำ เด็กเห็นตัวอย่าง หรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีความรุนแรง แถวบ้านมีคนตบตีหรือใช้ความรุนแรงกันเป็นธรรมดา

เราอาจจะเปลี่ยนแปลงสังคมหรือคนรอบข้างไม่ได้ แต่เราเริ่มที่บ้านของเราเอง ที่จะไม่สนับสนุนหรือใช้ความรุนแรง การทำเป็นตัวอย่างมีความสำคัญ เพราะเด็กจะเรียนรู้จากการกระทำของผู้ใหญ่ โดยเฉพาะผู้ใหญ่ที่เป็นที่รักและมีความหมายกับเด็ก และหากเราพบเห็นข่าวหรือคลิปที่มีลักษณะรุนแรง หรือนำเสนอออกมาว่าเป็นเรื่องธรรมดาทั่วไป เราก็ไม่ควรไปสนับสนุน ไม่กดไลค์ ไม่แชร์ เพื่อทำให้สื่อเหล่านี้ลดน้อยลง และหายไปจากสังคมไทยในที่สุด"




กำลังโหลดความคิดเห็น