นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิชล จ.นครศรีธรรมราช ระบุข้อความพบผู้ป่วย “วัณโรคในกระดูกและข้อ”เป็นรายแรกที่พบในรอบ 15 ปี ระบุพบผู้ป่วยโรคนี้ได้น้อย แต่วัณโรคยังคงเป็นปัญหาสุขภาพของประเทศไทย
เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิชล จ.นครศรีธรรมราช ได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว เกี่ยวกับการเตือนภัยให้ระวังถึง “โรควัณโรคในกระดูกและข้อ” หลังตรวจพบเจอในผู้ป่วยรายหนึ่งซึ่งเป็นรายแรกในรอบ 15 ปี ถือว่าเป็นโรคที่พบได้น้อยมากและโรคนี้ยังเป็นปัญหาสุขภาพของประเทศ โดย นพ.อารักษ์ได้ระบุข้อความว่า
“พบเป็นรายแรกในรอบ 15 ปีของโรงพยาบาลสิชล วัณโรคกระดูกนิ้วมือหรือนิ้วเท้า เป็นผู้ป่วยหญิงอายุ 64 ปี มาด้วยเรื่อง 8 เดือนก่อน สังเกตเห็นว่านิ้วนางข้างขวาบวม ยังไม่ปวด ไม่มีอาการอย่างอื่น อีกสามเดือนต่อมาบวมมากขึ้น บีบตรงที่บวมจะรู้สึกเจ็บ งอนิ้วนางไม่ได้ ข้อติด ไปหาหมอที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน บอกว่าเป็นข้ออักเสบ ให้ยามากินอาการปวดลดลงแต่ไม่ยุบบวม ไปติดตามการรักษาอีก 3 ครั้งก็ไม่ดีขึ้น ต่อมาเห็นว่านิ้วบวมมากผิดรูปไปจากนิ้วอื่นๆ จนงอนิ้วไม่ได้ อยู่เฉยๆก็ปวด อากาศเย็นๆตอนเช้าๆ จะปวดมาก กินยาพารา ยาต้านการอักเสบพอบรรเทาลงได้บ้าง แต่ไม่ดีขึ้น จึงลองมาโรงพยาบาลสิชล ตรวจพบว่านิ้วนางข้างขวาบวมผิดรูปตั้งแต่โคนนิ้วจนถึงปลายนิ้วเป็นรูปกระสวย แพทย์จึงได้เจาะเลือดตรวจหาความผิดปกติของโรคข้อเช่นรูมาติซั่ม เอสแอลอี ค่าอีเอสอาร์ ดูเม็ดเลือด และค่าของเลือดทั่วๆ ไป เอกซเรย์กระดูกที่มือและทรวงอก พบว่าภาพรังสีจะเห็นรอยโรคที่กระดูกส่วนที่บวมผุกร่อน ค่าอีเอาอาร์สูงกว่า50 ผลเลือดอื่นๆปกติ จึงสงสัยเบื้องต้นน่าจะเป็นเนื้องอกที่กระดูก จึงส่งต่อไปรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง แพทย์ได้ทำการเจาะเอาเนื้อเยื่อไปตรวจทางพยาธิวิทยาและเพาะเชื้อ
ผลยืนยันออกมาเป็นเชื้อวัณโรคในกระดูกนิ้วมือ ซึ่งพบได้น้อยมากๆ แม้จะพยายามค้นหาว่าเชื้อมาโผล่ที่นิ้วมือได้อย่างไร ก็ไม่พบ ผู้ป่วยได้ยารักษาวัณโรคติดต่อกัน 9 เดือน พร้อมทั้งผ่าตัดเอากระดูกส่วนที่เป็นโรคออก แล้วเชื่อมกระดูกส่วนที่เหลือติดกันทำให้นิ้วนางสั้นลงไปบ้าง แต่ก็ไม่กระทบต่อชีวิตประจำวันแต่อย่างใด
วัณโรคกระดูกปกติพบได้ประมาณร้อยละ 1 ของคนไข้วัณโรคที่รับไว้รักษาในโรงพยาบาลทั้งหมด กระดูกสันหลังเป็นบริเวณที่เป็นวัณโรคกระดูกบ่อยที่สุด รองลงมาคือ ที่ข้อตะโพก นอกจากนั้น อาจพบได้แต่น้อยมากๆ คือที่กระดูกยาว หรือที่กระดูกมือและเท้า”