ผอ. โรงพยาบาลสิชล จ.นครศรีธรรมราช โพสต์เตือนโรคที่พบเจอได้บ่อยในระยะนี้ "โรคพยาธิชอนไชผิวหนัง" เกิดจากพยาธิในมูลสัตว์ชอนไชเข้าทางผิวหนัง แนะวิธีป้องกัน พยายามอย่าสัมผัสดินที่ปนเปื้อนมูลสัตว์
เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. ผู้ใช้เฟซบุ๊ก "Arak Wongworachat" หรือ นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผอ.รพ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช ได้โพสต์ภาพมือของผู้ป่วยรายหนึ่งที่มีรอยแดงยาวและนูนคดไปคดมาขึ้นที่ง่ามนิ้วนางและนิ้วก้อย ซึ่งทราบว่าเป็นอาการของพยาธิชอนไชเข้าทางผิวหนัง โดยในกรณีนี้เกิดขึ้นที่มือ โดยสาเหตุของผู้ป่วยรายนี้มาจากที่บ้านเลี้ยงสุนัขหลายตัว ไม่เคยถ่ายพยาธิ ชอบใช้มือเปล่าพรวนดิน พยาธิจึงชอนไชเข้าทางผิวหนังที่มือ
สำหรับ โรคพยาธิชอนไชผิวหนัง (Cutaneous larva migrans) คือโรคผิวหนังที่เกิดจากพยาธิตัวกลมระยะตัวอ่อน (ส่วนมากเป็นพยาธิปากขอหรือพยาธิเส้นด้าย) ของสัตว์ พยาธิระยะตัวอ่อนจะไชไปตามผิวหนัง ชั้นหนังกำพร้าทำให้เกิดผื่นมีลักษณะเป็นเส้นนูนสีแดงคดเคี้ยวใต้ผิวหนังตาม ทางที่ พยาธิไชผ่าน เนื่องจากคนไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่พยาธิเจริญเติบโต พยาธิตัวอ่อนจึงเดินทางไปตามเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังโดยไม่สามารถเจริญเป็นระยะตัวแก่ในร่างกายคนได้ จนในที่สุดพยาธินั้นจะตายไปเอง พยาธิสภาพและอาการแสดงทางผิวหนังจะเป็นอยู่นานจนกว่าพยาธิจะถูกทำลายโดยภูมิคุ้มกันหรือได้รับยาฆ่าพยาธิ
โดยวิธีป้องกัน อย่าเดินเท้าเปล่า นั่งหรือใช้มือสัมผัสดินที่สงสัยว่าปนเปื้อนมูลสัตว์ , ถ่ายพยาธิในแมวและสุนัขเพื่อไม่ให้มีการแพร่ปรสิตสู่ดิน