xs
xsm
sm
md
lg

เชื้อเงียบ ซ่อนตัวเก่ง รอจู่โจม! “วัณโรคกระดูก” ปล่อยไว้พิการถาวร!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



 
สังคมตื่นตระหนัก!! “วัณโรคกระดูก” ก็มีด้วย เคสล่าสุดลงที่นิ้วมือ หนักถึงขั้นงอนิ้วไม่ได้ แพทย์เตือนกลุ่มเสี่ยงคือ คนมีอายุมาก-มีโรคประจำตัว-ร่างกายอ่อนแอ ถ้ารักษาไม่ทันเวลา มีสิทธิ์พิการถาวร!!

“วัณโรคกระดูก” พบได้น้อย แต่มีสิทธิ์เจอ!

ตามที่ได้มีการเปิดเผยเรื่องราวของคนไข้จากคุณหมอท่านหนึ่ง เกี่ยวกับวัณโรคกระดูกบริเวณนิ้วมือ ทำเอาสังคมพากันตื่นตัวไปตามๆ กัน เนื่องจากว่าเป็นกรณีที่พบได้ยาก หรือกล่าวได้ว่าวัณโรคกระดูกพบได้ประมาณร้อยละ 1 ของคนไข้วัณโรคที่รับไว้รักษาในโรงพยาบาลทั้งหมด!

เพื่อหาคำตอบเรื่องนี้ ทีมข่าว MGR Live ได้ติดต่อไปยัง “พญ.ซายน์ เมธาดิลกกุล” สถาบันออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลเลิดสิน กรมการแพทย์ ได้ย้อนให้ฟังถึงสาเหตุการเกิดโรคชนิดนี้ว่าเป็นการติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งเชื้อที่ว่ามีความสามารถในการซ่อนตัวอยู่ในร่างกาย จนกระทั่งอวัยวะบางส่วนเกิดอ่อนแอ เชื้อจึงเข้าจู่โจมทำให้เกิดอาการ

“ต้องบอกว่าวัณโรคคือเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่มีความเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเขา ทางการแพทย์จะเรียกว่าไมโคแบคทีเรีย ชนิดที่เรียกว่าเป็นวัณโรคโดยตรง ซึ่งปกติเชื้อนี้มีอยู่ในอากาศอยู่แล้วส่วนหนึ่ง แต่คนที่ภูมิคุ้มกันดีจะไม่มีภาวะรับเชื้อเข้าไปสะสม

จริงๆ ก่อนจะเป็นโรควัณโรคกระดูก ปกติจะมีการติดเชื้อของวัณโรคของร่างกายอยู่แบบสงบ วัณโรคเป็นเชื้อโรคชนิดที่ค่อนข้างพิเศษตรงที่ว่าหลายคนที่ติดเชื้อจะไม่มีอาการ พอไม่มีอาการ เชื้อจะไปหลบอยู่ตามบางอวัยวะในร่างกาย ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะเป็นปอด เหมือนไปหลบอยู่เฉยๆ แล้วอาศัยพักพิงในร่างกาย

วันดีคืนดีที่จุดไหนในร่างกายเกิดอ่อนแอเกินระดับจริงๆ เช่น กระดูกตำแหน่งนั้นเกิดการอ่อนแอ อักเสบ เชื้อก็หลุดลอดไปตามระบบกระแสเลือดค่ะ ไปอาศัยพึ่งพิงอีกที่หนึ่งจึงเกิดอาการขึ้นมา ขึ้นอยู่กับว่าเป็นอวัยวะกระดูกส่วนไหน ส่วนใหญ่จะไปติดเชื้อมากที่สุดคือ “กระดูกสันหลัง”



ภาพ FB: Arak Wongworachat
 
ถ้าเป็นที่กระดูกสันหลังมักจะมีอาการปวดหลัง มีอาการทำให้กระดูกสันหลังยุบตัว มีการกดเบียดทับเส้นประสาท ทำให้ระบบเส้นประสาท หรืออวัยวะที่เกี่ยวข้องกับเส้นประสาททำงานผิดปกติไปได้ หลักๆ อาการจะประมาณนี้ มีเรื่องปวดและกดเบียดเส้นประสาท”

คำถามก็คือทำไมกระดูกสันหลังถึงการติดเชื้อกลายเป็นวัณโรคที่พบได้มากที่สุด เรื่องนี้ พญ.ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกและข้อให้คำอธิบายว่ากระดูกสันหลังของคนเราอยู่ติดกับระบบเส้นเลือดดำใหญ่ ดังนั้น เมื่อเชื้อมีการเล็ดลอดมาตามระบบเส้นเลือดจึงพุ่งเป้าไปที่อวัยวะที่ใกล้ที่สุด นั่นคือ กระดูกสันหลัง

“กระดูกสันหลังเราอยู่ติดกับระบบเส้นเลือดดำใหญ่ที่อวัยวะตรงนี้ มันอยู่ใกล้กับระบบของปอด เชื่อว่าเชื้อโรคตรงนี้ สามารถหลุดลอดมาที่ระบบเส้นเลือดตรงนี้ได้ง่ายที่สุด พอเข้ามาง่ายที่สุด อวัยวะที่อยู่ใกล้ก็คือกระดูกสันหลัง จึงติดที่ตรงนี้

ขณะที่เชื้อสามารถเล็ดลอดไปติดที่กระดูกส่วนไหนของร่างกายก็ได้ แต่โอกาสก็จะน้อยกว่ามาก เพราะการเดินทางไปได้ยากกว่า เช่น บริเวณระยางค์ส่วนปลายทั้งหลาย อย่าง มือ ข้อมือ เท้า อย่างที่เป็นข่าวเกิดขึ้นได้น้อยมากตามนิ้วมือ

ถ้าให้เทียบต่อรายในประเทศไทยสำหรับนิ้วมือยากมาก แต่บริเวณข้อมือหรือข้อศอกขึ้นมา อาจพบได้บ่อยกว่า เช่น หลักสิบรายต่อปี ส่วนการรักษา ต้องกินยาให้ครบคอร์สอยู่แล้ว เป็นมาตรฐานตายตัว
ส่วนการรักษาผ่าตัดจะเป็นชนิดไหน มันขึ้นอยู่กับอวัยวะตรงนั้นที่เป็น มันจะมีการผ่าตัดหลายรูปแบบ ต้องดูเป็นรายๆ ไป

เคสที่ร้ายแรงสุดเกิดในอดีต เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยเจอ ถ้าคนไข้มาค่อนข้างช้าจะเกิดภาวะกดเบียดเส้นประสาทมากจนพิการ อันนั้นคือหนักสุด เกิดความพิการของร่างกาย
เช่น เขาติดเชื้อบริเวณกระดูกสันหลัง ตรงกลางหลังส่วนบนก็จะทำให้รยางค์ส่วนล่างขยับไม่ได้เลย ก็พิการถาวร ยิ่งมาช้าเท่าไหร่ โอกาสที่จะรักษาให้หายมันก็ยากขึ้นเท่านั้น”


 
อายุเยอะ-อ่อนแอ-มีโรคประจำตัว = กลุ่มเสี่ยง

“แปลกๆ มีเยอะค่ะ ส่วนใหญ่จะเป็นอวัยวะภายใน เช่น ตับ ตับอ่อน ถุงน้ำดี ลำไส้ มีการติดเชื้อวัณโรคได้หมด เขาเป็นเชื้อโรคที่ไปได้เกือบทุกอวัยวะในร่างกายเลย มันขึ้นอยู่กับว่าอวัยวะในร่างกายเราตอนนั้น มันอ่อนแอจนเชื้อมันชนะ พอเชื้อชนะ มันก็ไปอาศัยอยู่ตรงนั้น”

พญ. ซายน์ อธิบายให้เห็นภาพการทำงานของเชื้อ หลังจากที่คนไข้ในข่าวเป็นวัณโรคกระดูกบริเวณนิ้วมือ จนทำให้สังคมเกิดความสนใจขึ้นมา คำถามคือเราสามารถรู้ระยะเวลาการซ่อนตัวของเชื้อก่อนเกิดอาการได้หรือไม่ ผู้เชี่ยวชาญคนเดิมตอบอย่างตรงไปตรงมาว่ายากที่จะระบุ

“อันนี้บอกไม่ได้เลยค่ะ เพราะบางคนรับมาตั้งแต่เด็กเลย ในทางการแพทย์เองบอกระยะเวลาไม่ได้ โดยส่วนใหญ่รับได้ทุกช่วงอายุ ขึ้นอยู่กับว่าภูมิคุ้มกันในช่วงไหนตกก็จะเป็นปัจจัยเสี่ยง

อาการคือจะปวดหนักๆ ปวดหน่วงๆ ปวดอยู่กับที่ ไม่ได้ย้ายไปไหน อย่างที่บอกไป คนไข้ส่วนหนึ่งเลยนะคะ เกิน 50% ไม่ได้มีอาการอะไรค่ะ จริงๆ ถามว่าจะคัดกรองได้ไหม โอกาสคัดกรองค่อนข้างยาก โดยที่ว่าเนื่องจากเป็นโรคที่อุบัติการณ์ไม่ได้พบเยอะอยู่แล้ว

ต้องถามว่าสิ่งที่เรากังวลมากที่สุด คือ ต้องดูกลุ่มคนที่มีความเสี่ยง ถ้าคนที่ไม่มีความเสี่ยง อย่างที่บอกไปตอนต้นก็ไม่น่ากังวล กลุ่มเสี่ยงก็คือ อายุมาก โรคประจำตัวเยอะ เป็นเบาหวานรุนแรง หรือกลุ่มที่ภูมิคุ้มกันบกพร่องก็มีส่วนเยอะ

แนะนำว่าถ้าเรารู้ว่าเรามีความเสี่ยงก็คือการคัดกรองทางการแพทย์ เขาจะมีการทดสอบว่ามีความเสี่ยงต่อการสะสมของเชื้อวัณโรคอยู่ในร่างกายหรือไม่ จะเป็นการตรวจ อย่างบุคลากรการแพทย์เอง จริงๆ จะเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงค่อนข้างเยอะ เพราะใช้ชีวิตอยู่กับคนไข้เยอะ จะมีการตรวจประจำปีด้วยเหมือนกัน”


 
แม้สิ่งที่พอบ่งบอกหรือเป็นสัญญาณให้ได้คืออาการปวดที่เกิดขึ้น แต่คำถามคือเราจะแยกได้อย่างไรว่า อาการปวดที่พบคือปวดกล้ามเนื้อในกลุ่มผู้ที่เป็นออฟฟิศซินโดรม หรือปวดเพราะวัณโรค!?

“อาการปวดจะไม่เหมือนอาการปวดของกล้ามเนื้อการใช้งานทั่วไป มักจะปวดโดยที่ไม่สัมพันธ์กับกิจกรรมอะไร เช่น นอนอยู่เฉยๆ ก็ปวด หรือปวดมากในตอนกลางคืน โดยที่ไม่สัมพันธ์กับการใช้งานอะไรเลย โดยส่วนใหญ่มักจะเป็นในคนที่ภูมิคุ้มกันร่างกายไม่ดีนะคะ

คำว่าภูมิคุ้มกันร่างกายไม่ดี ไม่ใช่ภูมิแพ้นะ เช่นว่า คนสูงอายุมีโรคประจำตัวเยอะ หรือรับประทานยาสเตียรอยด์ก็จะมีความเสี่ยง ถามว่าโรคนี้พบได้มากแค่ไหน จริงๆ ตัวเลขนี้ยังไม่ได้มีตัวเลขที่เชื่อถือได้แน่ชัด ในทางการแพทย์เราเชื่อกันว่ามีการรายงานเคสต่ำกว่าความเป็นจริง

ซึ่งอุบัติการณ์แต่ละปีจะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ตามตัวโรควัณโรค อย่างเมื่อ 20 ปีที่แล้ว เราเคยมีคนที่เป็นวัณโรคติดเชื้อที่กระดูกประมาณ 1-2% แต่พอผ่านมา 10 ปี มันก็ลดลงไป และเหมือนจะกลับมาใหม่ในช่วง 2-3ปีนี้ ส่วนวัณโรคปอด คาดว่ามีระดับอยู่ที่ 20-30 ต่อพันราย โดยประมาณ”


 
อย่างไรก็ดี พญ. ซายน์ ยังกล่าวทิ้งท้ายไว้ด้วยว่า ไม่อยากให้ทุกคนตระหนกหรือกังวลเกินไป เพราะโรคนี้หากมาพบแพทย์รวดเร็วสามารถรักษาหายได้ หรือผู้ที่มีกลุ่มเสี่ยงอยากแน่ใจก็สามารถมาเช็คที่โรงพยาบาลได้ ที่สำคัญอยากให้ประชนชนออกกำลังกายให้ร่างกายแข็งแรง เพื่อให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันอยู่เสมอ

“หากรู้ว่าตัวเองมีความเสี่ยงอยากให้ไปคัดกรองว่า ตัวเองเสี่ยงติดเชื้อวัณโรคในร่างกายไหม แต่คนส่วนใหญ่มักไม่ได้ไปตรวจเพราะไม่ได้เกิดอาการ ซึ่งสุดท้ายก็จะย้อนกลับมาว่าคุณรู้หรือเปล่าว่าตัวเองมีความเสี่ยง อย่างหมอดูแข็งแรง แต่ทำงานเจอคนไข้ประจำ หมอก็ควรต้องตรวจอย่างน้อยปีละครั้ง

จริงๆ ต้องรู้ปัจจัยเสี่ยงของตัวเองก่อน อายุมาก โรคประจำตัวมากกว่า 2-3 โรค กินยาเยอะ เหล่านี้เสี่ยง หรือการทำร่างกายให้แข็งแรงก็เกี่ยวข้องมากค่ะ ตราบใดที่ภูมิคุ้มกันร่างกายแข็งแรง โรคพวกนี้จะไม่มีวันทำร้ายเราได้

หมอไม่อยากให้ตื่นตระหนก เพราะหนึ่งไม่ได้พบเยอะ สองคือถ้ารู้ตัวว่าตัวเองเสี่ยงมาคัดกรองที่โรงพยาบาลดีกว่า หรือสำหรับคนที่มีอาการแล้วก็รีบมารักษา มันก็จะไม่มีปัญหาที่ส่งผลให้พิการถาวร”

ข่าวโดย MGR Live
ขอบคุณภาพ FB: Arak Wongworachat



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **


กำลังโหลดความคิดเห็น