xs
xsm
sm
md
lg

หนาวกว่าขึ้นดอย แมลงอันตรายกัด!! แพทย์เตือนรักษาไม่ทัน ระวังตาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รู้ไว้!! “โรคสครับไทฟัส” โรคที่ติดต่อจากตัวไรป่า อันตรายหากพบโรคแทรกซ้อน บางรายถึงขั้นไตวาย ไม่มีวัคซีนป้องกัน แต่กินยาก็หายได้ แพทย์แนะสำหรับผู้ที่ชอบขึ้นเขา เดินป่า ขึ้นดอย โดยเฉพาะภาคเหนือ-อีสาน เสี่ยงที่สุด

โรคติดต่อจาก “ตัวไรป่า”

“มีรอยเหมือนกับโดนบุหรี่จี้ มีอาการไข้ ปวดหัว ปวดเมื่อยตามตัว มีแผลเกิดจากตัวไรอ่อนนำพวกเชื้อที่ทำให้เกิดโรคสครับไทฟัส ตัวไรอ่อนพวกนี้มันอยู่ตามป่า ถ้าคนไปนอนกางเต็นท์ หรือเข้าป่าก็จะมีตัวไรเข้ามากัดได้ พอกัดแล้วตัวเชื้อสครับไทฟัสก็จะติด จากนั้นจะมีอาการไข้ ถ้าปล่อยลุกลามก็อันตราย”
พญ.ชีวนันท์ เลิศพิริยสุวัฒน์ ผอ.กองโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค ช่วยให้ความรู้กับทีมข่าว MGR Live ถึง “โรคสครับไทฟัส” หลังผู้ใช้เฟซบุ๊ก “Apsonsiri Psg” ออกมาโพสต์เตือนสำหรับผู้ที่ชื่นชอบการท่องเที่ยวตามธรรมชาติในช่วงฤดูหนาวให้ระวังโรคสครับไทฟัสจากตัวไร
หลังจากที่หญิงสาวรายนี้ไปเที่ยวดอยที่จังหวัดเชียงรายแล้วถูกแมลงกัด ซึ่งเดิมทีคิดว่าเป็นเพียงยุงกัดเท่านั้น แต่ปรากฏว่า แผลกลับใหญ่ขึ้น พร้อมกับมีอาการไข้ขึ้นสูง มีผื่นแดงตามใบหน้า จนต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลนานถึง 7 วัน และกลับมาพักรักษาตัวที่บ้านอีก 3 วัน เสียค่ารักษาพยาบาลไปแสนกว่าบาท แม้อาการจะดีขึ้นแต่ผื่นที่ขึ้นตามใบหน้าก็ยังไม่ยุบ



ช่วงนี้หลายพื้นที่มีอากาศหนาวเย็น ตามป่าตามเขาจึงเป็นพื้นที่ที่คนมักนิยมไปเที่ยว เดินป่า หรือกางเต็นท์นอน ทำให้มีความเสี่ยงที่จะถูกตัวไรอ่อนที่อาศัยอยู่ในป่ากัด จนอาจติดเชื้อและป่วยเป็นโรคสครับไทฟัส (scrub typhus) หรือโรคไข้รากสาดใหญ่ได้
โดยโรคสครับไทฟัส หรือโรคไข้รากสาดใหญ่เกิดจากตัวไรอ่อนกัดหรือดูดเลือด ซึ่งในตัวไรอ่อนจะมีเชื้อริกแกตเซีย (rickettsia) เชื้อนี้อาศัยอยู่ในสัตว์ตระกูลฟันแทะ เช่น กระแต กระจ้อน หนู
ซึ่งตัวไรอ่อนจะเข้าไปกัดตามตัวโดยเฉพาะที่พบบ่อยคือ บริเวณร่มผ้า เช่น ขาหนีบ เอว ลำตัวบริเวณใต้ราวนม รักแร้ และคอ โดยโรคนี้จะมีระยะฟักตัว โดยเฉลี่ยประมาณ 1 สัปดาห์
ลักษณะเฉพาะของโรคนี้อย่างหนึ่งที่พบได้คือ รอยแผลเหมือนโดนบุหรี่จี้ ตรงบริเวณที่ถูกไรอ่อนกัด แต่อาการของโรคจะค่อนข้างหลากหลาย มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระบอกตา ตาอักเสบ ต่อมน้ำเหลืองโต ไอแห้ง และอาจมีอาการอักเสบที่สมอง ปอดบวม ในรายที่อาการรุนแรงหัวใจจะเต้นเร็วมาก ความดันโลหิตต่ำ
“ถ้ามีรอยเหมือนกับบุหรี่จี้ก็ค่อนข้างชัดเจนว่าเป็นโรคสครับไทฟัส แต่ถ้าจะยืนยัน 100 เปอร์เซ็นนต์ต้องเจาะเลือดส่งตรวจ แต่ส่วนใหญ่จะมีอาการไข้ ปวดหัว ปวดเมื่อยตามตัว มีแผล บางคนถ้าแผลอักเสบก็สามารถเห็นถึงแผล แต่ถ้าบางคนแผลเขาไม่ได้เป็นอะไรมาก บางทีก็หาร่องรอยไม่เจอเหมือนกันเพราะอาการจริงๆ มันไม่มีอาการไหนเฉพาะ อาการไข้ ปวดหัวจะเป็นอาการกว้างๆ แต่ที่เฉพาะคือตัวรอยแผล
โรคนี้ไม่สามารถหายเองได้ ต้องกินยา โรคนี้ไม่ได้มียาป้องกัน แต่มีแค่ยารักษา ด็อกซีไซคลินกินทีเดียวก็หายแล้ว เพราะฉะนั้น บางทีหมอเขาก็จ่ายยาเลย มันก็ง่ายกว่าตรวจเลือด เพราะว่าถ้าไปตรวจเลือดส่งบางทีมันใช้เวลาแล้วก็ค่าใช้จ่ายสูง


[พญ.ชีวนันท์ เลิศพิริยสุวัฒน์ ]

อีกอย่างไม่มีความรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต เพราะว่าส่วนใหญ่อย่างที่หมอบอกจะรักษาหายทุกที ไม่ได้รุนแรงขนาดนั้น แต่ก็ต้องกินยานะ ถ้าไม่กินยาก็ไม่หาย ถ้าปล่อยลุกลามก็อันตราย
ถิ่นที่พบเยอะๆ อย่างเช่น เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน แต่ภาคอื่นก็มีนะที่มีป่า ภาคกลาง ภาคใต้ก็มีบ้างที่อยู่ตามแนวป่า ตามทุ่งนา อยู่แถวเถียงนาที่ชาวบ้านไปทำนา บ้านที่อยู่ติดเขาติดป่าก็สามารถมีได้ อย่างเกษตรกรก็สามารถเป็นโรคนี้ได้ ไม่จำเป็นที่เราต้องเป็นักท่องเที่ยวเข้าป่าอย่างเดียว"
นอกจากนี้ คุณหมอรายเดิมยังยืนยันอีกว่า โรคนี้เป็นคนละโรคกับที่พระเอกหนุ่มหล่ออย่าง บอย ปกรณ์ เป็นอีกด้วย
“โรคสครับไทฟัสกับ ที่บอย ปกรณ์เป็นก็ไม่เกี่ยวกันคนละโรค สครับไทฟัสเป็นแค่รอยเล็กๆ เอง หมอต้องบอกว่าที่บอยปกรณ์ออกข่าว “โรคแบคทีเรียกินเนื้อคน” ตามที่เราเรียนมาไม่เคยมีภาษาไทยว่าแบคทีเรียกินเนื้อคน
เพราะฉะนั้น ต้องบอกว่าเชื้อโรคอะไรกันแน่ แล้วการที่เชื้อบางเชื้อที่ทำให้คนเราแผลเหวอะหวะ มันไม่มีแบคทีเรียกินเนื้อคนแต่หมายถึงว่าบางคนดูแลแผลไม่ดีมันก็จะลุกลาม แผลใหญ่โต หรือถ้าบางคนภูมิคุ้มกันร่างกายสู้คนอื่นไม่ได้ แผลก็จะลุกลามกว่าคนอื่น เพราะฉะนั้นเชื้อประหลาดๆ ที่ว่ากินเนื้อคนถ้ามันมีเยอะจริงๆ คงมีเยอะกว่านี้แล้วในประเทศไทย”

เหนือ-อีสาน เสี่ยงสุด!!

พื้นที่ที่พบผู้ป่วยโรคสครับไทฟัสมากที่สุด ได้แก่ ภาคเหนือ รองลงมาคือภาคอีสาน อย่างไรก็ตาม อาการของโรคสครับไทฟัสไม่ได้รุนแรงเหมือนไข้มาลาเรีย แต่หากรักษาไม่ทันหรือไม่ทราบว่าเป็นอาการจากไรอ่อนกัด ก็อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น ไตเป็นพิษ ไตวาย
การรักษาไม่สามารถรับประทานยาจำพวกแก้ไขแก้ปวดได้ เนื่องจากโรคนี้ต้องใช้ยาปฏิชีวนะโดยแพทย์เท่านั้น ดังนั้น หลังกลับออกจากเที่ยวป่าภายใน 2 สัปดาห์ แล้วป่วยมีไข้ขึ้นสูง มีอาการปวดศีรษะ ควรรีบไปพบแพทย์และแจ้งประวัติการเข้าไปในป่าให้แพทย์ทราบเพื่อรับการรักษา โดยเร็ว



“จากรายงานที่เฝ้าระวังก็มี 5,000-7,000 รายที่ป่วยเป็นโรคนี้ แต่ตรงนี้หมอว่ามันยังเชื่อถือไม่ค่อยได้ เพราะว่ารายงานเฝ้าระวังโรคเราก็มีอยู่ แต่ที่หมอบอกว่ามันเชื่อถือไม่ค่อยได้ เพราะว่าจริงๆ งานเฝ้าระวังโรคของเราจริงๆ เราอยากให้เขาเจาะเลือดตรวจ แต่เนื่องจากว่าการเจาะเลือดส่งตรวจบางทีโรงพยาบาลก็ต้องตรวจเอง โรงพยาบาลใหญ่ๆ ถึงจะตรวจได้ ถ้าโรงพยาบาลไม่ใหญ่ก็ต้องส่งมาที่ระดับเขต หรือลงศูนย์ที่จะตรวจแล้วก็ต้องมีค่าใช้จ่าย ค่าเสียเวลากว่าจะรอผลเลือด
ส่วนใหญ่ที่เขาจะวินิจฉัยว่าจะเป็นโรคสครับไทฟัส หมอที่ในทางปฏิบัติเขาก็จะไม่ส่งเลือดตรวจกัน เขาก็จะจ่ายยาที่หมอบอกว่ายาด็อกซีไซคลินให้กินเลย ถ้าหายก็คือหาย ถ้าไม่หายก็ต้องนึกถึงโรคอื่น เพราะว่ายาค่อนข้างจะมีประสิทธิผลสูงมากเกี่ยวกับโรคนี้ ง่ายกว่ารอผลเลือด
เพราะฉะนั้น รายงานเฝ้าระวังที่เราส่งมา ที่บอกว่ามี 5,000-7,000 ราย เราไม่รู้ว่าจริงๆ มันมีโรคเกิดจากสครับไทฟัสจริงๆ กี่พันกันแน่ เพราะว่าวินิจฉัยโดยไม่มีผลเจาะเลือด แต่วินัจฉัยตามอาการ จ่ายยาแล้วหาย เราก็กำลังทำวิจัยเพื่อประเมินอยู่เหมือนกันว่าที่มีการรายงานเข้ามานั้นจริงๆ มีกี่ราย
คือโรคแบบนี้บอกยาก เพราะว่าไม่มีผลยืนยัน ใช้วินิจฉัยตามอาการ ซึ่งบางทีถ้าเราเป็นเชื้อไวรัสอื่นๆ ทั่วไป มีไข้ มีประวัติไปป่าเหมือนกัน แต่ไม่ได้ติดจากป่า มาเป็นเชื้อไวรัสอื่นๆ บางทีก็หายเอง หรือบางทีอาจจะหายโดยที่ไม่ได้เกี่ยวกับตัวยาด็อกซีไซคลินที่หมอให้กินเลยก็ได้”



เนื่องจากโรคสครับไทฟัสยังไม่มีวัคซีนป้องกัน คุณหมอก็ฝากเตือนสำหรับผู้ที่จะไปเที่ยวป่าต้องรู้จักป้องกันตัวเอง ระวังอย่าให้ไรอ่อนกัด หลีกเลี่ยงการนั่งและนอนบนพื้นหญ้า ควรสวมเสื้อให้มิดชิด และที่สำคัญทายากันยุงทุกครั้งที่เข้าป่า
“เวลาเราจะเดินป่า ขึ้นเขา หรือไปเที่ยว ควรจะใส่เสื้อแขนยาว ขายาว สามารถป้องกันแมลงสัตว์กัดต่อย ป้องกันงูก็ได้ หรือรองเท้าที่หุ้มข้อคุ้มกันได้ และที่สำคัญเวลาเข้าป่าถ้าไปนอนในเต็นท์ ก็ปัดพื้นรองเต็นท์ให้สะอาดอย่าไปนอนบนพื้นหญ้าหรือกลิ้งไปกลิ้งมาบนพื้นดิน เพราะมีหลายเชื้อที่เราไม่รู้ว่าเราจะติดอะไร และที่สำคัญถ้าทายากันยุงได้จะดีมาก เพราะยากันยุงไม่แค่ไล่ยุงป่า สามารถไล่แมลงอื่นๆ ได้ด้วยที่เป็นอันตราย
ที่สำคัญพอไปเที่ยวกลับมา ต้องอาบน้ำ เสื้อผ้าต้องรีบเอาไปซัก เพราะว่าแมลงต่างๆ ที่เกาะมาตัวเรือด ตัวไร บางทีมันเกาะอยู่บนเสื้อผ้า ถ้าเอากลับบ้านแล้วเรานำไปหมกไว้ มันก็สามารถเดินหรือกระโดดได้มาจากเสื้อผ้า ทางที่ดีหลังจากเข้าป่ากลับบ้านต้องรีบซักเสื้อผ้าให้เรียบร้อยรีบอาบน้ำ
แล้วถ้าเกิดว่ามีอาการเป็นไข้ไม่สบาย ประวัติส่วนใหญ่เวลาเราติดเชื้ออะไรมา จะมีระยะการฟักตัวของเชื้อกว่าจะแสดงอาการ 3-10 วัน เพราะฉะนั้นถ้าใครไปหาหมอหรือมีอาการผิดปกติมีไข้หรือมีแผลให้ไปหาหมอที่โรงพยาบาลแล้วก็อย่าลืมให้ประวัติคุณหมอด้วยว่า 1-2 อาทิตย์ที่ผ่านมาได้ไปเที่ยวตามป่า ตามเขา หรือรวมโรคอื่นๆ ที่ไปติดจากต่างประเทศด้วย
ประวัติคนไข้สำคัญ เพราะจะช่วยหมอวินิจฉัยได้ว่านึกถึงโรคอะไรบ้าง เพราะส่วนใหญ่โรคจะวินิจฉัยจากประวัติ ยกตัวอย่างโรคสครับไทฟัส ก็เป็นโรคที่วินิจฉัยจากประวัติเป็นหลัก”

ขอบคุณภาพ : เฟซบุ๊ก “Apsonsiri Psg”




** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **



กำลังโหลดความคิดเห็น