กรมอนามัย ห่วง 13-14 ธ.ค. แนวโน้มค่าฝุ่นละออง PM2.5 เพิ่มสูงขึ้น ย้ำตรวจเช็กคุณภาพอากาศก่อนออกจากบ้าน หากมีความเสี่ยงให้ป้องกัน เผยผลสำรวจ ปชช.ส่วนใหญ่เข้าใจวิธีปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันฝุ่น ย้ำฤดูหนาวดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ ป้องกันหลอดลมอักเสบ ปอดบวม
วันนี้ (12 ธ.ค.) พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงกรณีกรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑล เผชิญปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 เกินมาตรฐาน ว่า คาดการณ์ว่าในช่วงวันที่ 13 - 14 ธ.ค.นี้ ฝุ่นละอองในภาพรวมมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากลมอ่อนในหลายพื้นที่ ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง ปฏิบัติตนตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และติดตามสถานการณ์คุณภาพอากาศอย่างใกล้ชิดก่อนออกจากบ้าน ด้วยการดูค่า PM2.5 หรือค่า AQI ได้ที่เว็บไซต์ air4thai.pcd.go.th หรือแอปพลิเคชั่น “Air4Thai” ของกรมควบคุมมลพิษ แต่ต้องแปลผลให้ถูกต้อง หากค่า PM2.5 อยู่ในช่วง 51 – 90 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งเท่ากับค่า AQI 101 – 200 อยู่ในระดับเกินมาตรฐานและเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ (สีส้ม) ต้องสวมหน้ากากอนามัยป้องกัน นอกจากนี้ ยังสามารถติดตามการแจ้งเตือนพื้นที่เสี่ยงฝุ่น PM2.5 จากเฟซบุ๊กเพจ “คนรักอนามัย ใส่ใจอากาศ PM2.5 ” ของกระทรวงสาธารณสุข โดยให้สังเกตที่สีเป็นหลัก หากเป็นสีส้มและสีแดง ซึ่งเป็นค่าฝุ่นละอองที่เกินมาตรฐานและมีผลกระทบต่อสุขภาพควรปฏิบัติตนตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด
พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า อีกหนึ่งสิ่งที่ประชาชนต้องให้ความสำคัญคือการประเมินตนเองว่า เป็นกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ อาทิ มีอาชีพอยู่กลางแจ้งต้องสัมผัสฝุ่นเป็นเวลานานหรืออาศัยในพื้นที่เสี่ยง เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ หอบหืด เยื่อบุตาอักเสบ หัวใจและหลอดเลือด หากพบว่าเข้าข่ายกลุ่มเสี่ยงให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสฝุ่น ปิดประตูหน้าต่างให้สนิท งดกิจกรรมหรือออกกำลังกายอย่างหนักกลางแจ้ง หลีกเลี่ยงการออกจากบ้าน แต่ถ้าจำเป็นต้องเข้าไปในพื้นที่เสี่ยง ฝุ่นสูง ให้สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากาก N95 แต่ต้องใส่ให้ถูกวิธีและที่สำคัญห้ามสวมใส่หน้ากากทุกชนิดขณะที่ออกกำลังกายอย่างเด็ดขาด เพราะจะทำให้ร่างกายต้องหายใจแรง เร็วขึ้น ส่งผลให้ระบบหัวใจและหลอดเลือดทำงานหนักมากขึ้น และอาจเป็นอันตรายได้ อีกทั้งคอยสังเกตอาการตนเองและคนใกล้ชิด หากสังเกตพบอาการผิดปกติ เช่น ไอบ่อย หายใจลำบาก หายใจถี่ หายใจไม่ออก หายใจมีเสียงวีด แน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก ใจสั่น คลื่นไส้ เมื่อยล้าผิดปกติ หรือวิงเวียนศีรษะ ให้รีบไปพบแพทย์ สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวควรเตรียมยาและอุปกรณ์ที่จำเป็นให้พร้อม และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
“จากผลการสำรวจอนามัยโพลเกี่ยวกับการเตรียมดูแลสุขภาพเพื่อรับมือ PM2.5 กลุ่มประชาชน 536 คน พบว่า ประชาชนได้มีการเตรียมตัวดูแลสุขภาพเพื่อรับมือ PM2.5 มากที่สุดคือ เตรียมหน้ากากป้องกันฝุ่น PM2.5 ร้อยละ 78 รองลงมาคือทำความเข้าใจระดับค่าสีของ PM2.5 และคำแนะนำในการปฏิบัติตนแต่ละระดับ ร้อยละ 63 งดเผาขยะในช่วงที่เกิดฝุ่น PM2.5 ร้อยละ 51 เตรียมบ้านโดยการทำความสะอาดบ้าน ล้างแอร์ ล้างพัดลม ร้อยละ 45 ปลูกต้นไม้เพื่อดักฝุ่น ร้อยละ 36 และติดตั้งเครื่องฟอกอากาศ เครื่องกรองอากาศ ร้อยละ 33 นอกจากนี้ยังสามารถ มีส่วนร่วมลดการเพิ่มปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ด้วยการงดจุดธูป หมั่นตรวจเช็คสภาพรถยนต์ ลดการใช้รถยนต์ ดับเครื่องยนต์ขณะจอดรถ และใช้รถสาธารณะมากขึ้น” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า สำหรับช่วงหน้าหนาวนี้ กลุ่มผู้สูงอายุจำเป็นต้องได้รับการดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ เพื่อป้องกันโรคระบบทางเดินหายใจ ไข้หวัด เพราะหากเกิดในช่วงหน้าหนาวอาจส่งผลกลายเป็นโรคหลอดลมอักเสบและโรคปอดบวมได้ในที่สุด ซึ่งจากสถิติโรคปอดบวม ของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ในปี 2562 พบผู้ป่วยทั่วประเทศ 230,357 ราย โดยกลุ่มที่พบมากที่สุดคือผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป พบป่วย 77,604 ราย ลูกหลานจึงควรใส่ใจและดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ โดยควรหลีกเลี่ยงการอาบน้ำในเวลากลางคืน หรือถ้าไม่สามารถเลี่ยงได้ก็ควรมีการยืดเส้นยืดสายเพื่อสร้างความอบอุ่นให้กับร่างกายก่อนอาบน้ำ และเนื่องจากผู้สูงอายุมักมีสภาพผิวหนังที่แห้งง่าย ควรให้ดื่มน้ำบ่อย ๆ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับผิวหนัง หรือคนที่เป็นโรคเบาหวาน ต้องระวังอย่าให้ผิวแห้งแตก หากเกิดเเผลจากการเกา อาจทำให้อักเสบ และเกิดโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมาได้ นอกจากนี้ ควรนอนหลับพักผ่อน ให้เพียงพอวันละ 7 – 9 ชั่วโมงต่อคืน กินอาหารที่มีประโยชน์และครบ 5 หมู่ เพียงพอต่อร่างกายและดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 8 แก้ว ที่สำคัญควรกินอาหารปรุงสุก อุ่นให้ร้อน เพื่อเพิ่มอุณหภูมิความร้อนให้กับร่างกาย
“เนื่องจากในช่วงอากาศหนาวจะทำให้อาหารจับตัวเป็นไขได้ง่าย การอุ่นอาหารให้ร้อนก่อนบริโภคจะช่วยเพิ่มรสชาติของอาหารให้อร่อยขึ้น อีกทั้งยังช่วยเพิ่มอุณหภูมิความร้อนคลายหนาวให้กับร่างกายได้อีกทางหนึ่ง ดังนั้น หากผู้สูงอายุและทุกกลุ่มวัยดูแลสุขภาพตนเองด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และกินอาหารที่มีประโยชน์ นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ ไม่เพียงแต่จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันในช่วงหน้าหนาวเท่านั้น แต่ยังส่งผลดีต่อสุขภาพในระยะยาวอีกด้วย” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว