xs
xsm
sm
md
lg

๑๖ ธันวาคม ทรงลงแข่งขันในฐานะนักกีฬาทีมชาติไทย! กรรมการโอลิมปิกถวายเหรียญทอง!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค



การแข่งขัน “กีฬาแหลมทอง” ซึ่งต่อมาได้ใช้ชื่อใหม่ว่า “กีฬาซีเกมส์” ในการจัดครั้งที่ ๔ ที่กรุงเทพฯระหว่างวันที่ ๙-๑๖ ธันวาคม ๒๕๑๐ นั้น นอกจากจะเป็นที่ปิติยินดีของชาวไทยแล้ว ชาวโลกยังพุ่งความสนใจมาที่งานนี้ด้วย เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชจะลงแข่งขันในฐานะนักกีฬาทีมชาติไทย

การแข่งขันครั้งนี้ มีนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขัน ๙๘๔ คน จาก ๖ ประเทศ คือ พม่า ลาว มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม และไทย กีฬาที่แข่งขันมี ๑๖ ประเภท คือ เซปักตะกร้อ รักบี้ กรีฑา แบดมินตัน บาสเกตบอล มวยสากล จักรยาน ฟุตบอล ยูโด ว่ายน้ำ ยิงปืน เทเบิลเทนนิส ลอนเทนนิส วอลเลย์บอล ยกน้ำหนัก และเรือใบ

พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ทรงลงแข่งขันในกีฬาเรือใบประเภทโอเค โดยมีสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี พระราชธิดาพระองค์โต ทรงเข้าร่วมการแข่งขันในฐานะนักกีฬาทีมชาติไทยอีกพระองค์ด้วย ทรงซ้อมและเก็บตัวเหมือนนักกีฬาทั่วไป

เป็นที่ทราบกันดีว่า พระเจ้าอยู่หัวทรงสนพระทัยในกีฬาเรือใบเป็นพิเศษ ทรงต่อเรือใบด้วยพระองค์เอง และทรงทดลองในสระน้ำภายในพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เรือใบฝีพระหัตถ์ลำแรกที่ทรงต่อเป็นเรือพระที่นั่งประเภทเอ็นเตอร์ไพรส์ พระราชทานชื่อว่า “ราชปะแตน” ต่อมาทรงต่อเรือใบประเภทโอเค ชื่อ “เวคา” และทรงแล่นข้ามอ่าวไทย โดยออกจากพระราชวังไกลกังวล หัวหิน ก่อนรุ่งสางของวันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๐๙ มีพระสหายอีก ๓ คนแล่นเรือใบตามไปด้วย ใช้เวลา ๑๖ ชั่วโมง เป็นระยะทางกว่า ๖๐ ไมล์ทะเล จนถึงอ่าวเตยงาม สัตหีบ กองบัญชาการนาวิกโยธิน ในเวลาค่ำของวันเดียวกัน

ส่วนเรือใบประเภทโอเค ในชื่อพระราชทานว่า “นวฤกษ์” ซึ่งทรงนำมาร่วมการแข่งขันกีฬาแหลมทองครั้งที่ ๔ นี้ ก็ทรงต่อด้วยพระหัตถ์เช่นกัน
ผลของการแข่งขันครั้งนี้ ปรากฏว่าคะแนนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและทุลกระหม่อมฟ้าหญิงอุบลรัตน์ฯ มีคะแนนเท่ากันเป็นอันดับหนึ่ง คณะกรรมการจัดการแข่งขันจึงถวายรางวัลเหรียญทองแด่ทั้งสองพระองค์ ส่วนตำแหน่งที่ ๒ เหรียญเงินได้แก่มาเลเซีย และที่ ๓ เหรียญทองแดงได้แก่พม่า ทรงขึ้นรับเหรียญทองบนแท่นเหมือนนักกีฬาทั่วไปในพิธีปิดที่สนามศุภชลาศัย

เพื่อเป็นการระลึกถึงพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชที่ทรงเป็นนักกีฬาตัวแทนประเทศไทยในการแข่งขันกีฬาแหลมทองครั้งที่ ๔ และเพื่อเป็นการกระตุ้นเตือนให้ประชาชนชาวไทยเห็นคุณค่าความสำคัญของการกีฬา การกีฬาแห่งประเทศไทยจึงได้มีมตินำเสนอคณะรัฐมนตรีลงความเห็นชอบเมื่อวันที่ ๑๕ เมษายน ๒๕๒๙ กำหนดให้วันที่ ๑๖ ธันวาคมของทุกปี เป็น “วันกีฬาแห่งชาติ”

และในการประชุมใหญ่คณะกรรมการโอลิมปิกสากลครั้งที่ ๒๙ ที่เมืองอิสตันบูล ประเทศตุรกี สมาชิก ๘๗ ประเทศที่เข้าร่วม ได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ให้ทูลเกล้าฯถวายเหรียญดุษฎีกิตติมศักดิ์ของโอลิมปิกสากล คือ “อิสริยาภรณ์โอลิมปิกชั้นสูงสุด” (ทอง) แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๓๐ ณ ศาลาดุสิตาลัย พระตำหนักจิตรดารโหฐาน นับเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของโลก ที่ทรงได้รับทูลเกล้าฯถวายเหรียญนี้

ปีเตอร์ คัมมินส์ ผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ช่างภาพ และบรรณาธิการอาวุโส ซึ่งเป็นนักกีฬาเรือใบ และเคยได้ร่วมเล่นเรือใบกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ได้เขียนไว้ในหนังสือ “His Majesty King Bhumibol Adulyadej: The Legendary Royal Sailor” ของเขาว่า
“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คืองค์กษัตริย์ผู้จุดประกายแสงแห่งวงการนี้อย่างแท้จริง นับตั้งแต่ต้นทศวรรษที่ ๑๙๖๐ และทำให้วงการเรือใบไทยยิ่งเข้มแข็งขึ้นทุกปี ดังที่มีการจัดงานเทิดพระเกียรติพระปรีชาสามารถด้านกีฬาทางน้ำของพระองค์ขึ้นมากมายทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ทั้งการแล่นเรือมาราธอนข้ามอ่าว การรับเหรียญทองในกีฬาแหลมทอง และรางวัลอื่นๆจากทั่วโลก ซึ่งมิเพียงเพื่อการยกย่องพระอัจฉริยภาพในการเล่นกีฬาเรือใบของพระองค์เท่านั้น หากยังรวมถึงพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อการกีฬาและนักกีฬาสาขาอื่นๆทั่วทุกหนแห่ง เหล่านี้คือมรดกแห่งผืนน้ำอันล้ำค่าที่พระองค์ทรงมอบแก่เหล่าพสกนิกร”

มีพระบรมราโชวาทถึงคุณค่าความสำคัญของการกีฬามาตลอด อย่างเช่น

“...การกีฬานั้น ย่อมเป็นที่ทราบกันอยู่โดยทั่วไปแล้วว่า เป็นปัจจัยในการบริหารร่างกายให้แข็งแรง และฝึกอบรมจิตใจให้ผ่องแผ้วร่าเริง รู้จักแพ้ และไม่เอารัดเอาเปรียบกัน มีการให้อภัยซึ่งกันและกัน สามัคคีกลมเกลียวกัน อย่างที่เรียกกันว่า มีน้ำใจเป็นนักกีฬา...”

ความตอนหนึ่งในพระบรมราโชวาท ในพิธีเปิดการแข่งขันกรีฑาประจำปี ณ กรีฑาสถานแห่งชาติ วันที่ ๑ ธันวาคม ๒๔๙๘

“...ร่างกายของเรานั้น ธรรมชาติสร้างมาสำหรับให้ออกแรงใช้งาน มิใช่ให้อยู่เฉยๆ ถ้าใช้แรงให้พอเหมาะพอดีโดยสม่ำเสมอ ร่างกายก็เจริญแข็งแรง คล่องแคล่ว ดังนั้นผู้ที่ปรกติทำการงานโดยไม่ได้ใช้กำลัง หรือใช้กำลังแต่น้อย จึงจำเป็นต้องหาเวลาออกกำลังกายให้พอเพียงกับความต้องการตามธรรมชาติเสมอ ทุกวัน...”

ความตอนหนึ่งในพระราชดำรัสในพิธีเปิดการประชุมใหญ่สัมมนาเรื่องการออกกำลังเพื่อสุขภาพ วันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๒๓




กำลังโหลดความคิดเห็น