... รายงานพิเศษ
ยังคงเป็นที่เคลือบแคลงใจเกี่ยวกับการดำเนินการของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ต่อการบุกรุกที่ดิน ส.ป.ก. 682 ไร่ โดย “เขาสนฟาร์ม” ของ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ หลัง ส.ป.ก. แถลงว่า ให้ น.ส.ปารีณา ส่งมอบที่ดินคืนภายใน 7 วัน โดยไม่มีการดำเนินคดี
เมื่อมาตรฐานกลายเป็นเช่นนี้ จึงเกิดคำถามใหญ่ตามมาว่า จากนี้ไป ใครก็ตามที่เข้าไปทำประโยชน์ในที่ดิน ส.ป.ก.ก็จะ “ไม่มีความผิดทางอาญา” ใช่หรือไม่?
เพียงแค่คืนที่ดินให้รัฐก็จบ เลิกแล้วต่อกัน ใช่หรือไม่?
จำเลยในคดีที่จะยกมาอ้างถึงนี้... อาจไม่เห็นด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1030/2562 วันที่ 4 มีนาคม 2562 พิพากษาคดีบุกรุกที่ ส.ป.ก. ที่ ต.สันทราย อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ... สรุปคร่าวๆ ดังนี้
ผู้ยื่นคำฟ้อง คือ ตำรวจ ตั้งข้อกล่าวหา ส่งสำนวนให้อัยการสั่งฟ้องฐาน จำเลย 3 คน ร่วมกันบุกรุกที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) อัยการเขียนคำบรรยายฟ้องมีความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9 (1) 108 ทวิ และกฎหมายอาญามาตรา 83, 362 (บุกรุก) และ 365 (ลงรายละเอียดของการบุกรุก) แต่ไม่ได้เขียนถึงความผิดตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป่าไม้ พ.ศ. 2484 เพราะพนักงานสอบสวนไม่ได้ตั้งข้อกล่าวหาในประเด็นนี้
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9 (1) 108 ทวิ (เป็นความผิดอาญา) และผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362 พิพากษาทั้งจำคุกและปรับ
ศาลอุทธรณ์ พิพากษาแก้คำพิพากษาของศาลชั้นต้น ให้จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9 (1) 108 ทวิ แต่ไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362
(ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านป่าไม้ที่ดินให้ความเห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362 ส่วนใหญ่ใช้กับการบุกรุกที่ดินของเอกชน)
ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9 ระบุว่า “ภายใต้บังคับกฎหมายว่าด้วยการเหมืองแร่และการป่าไม้ ที่ดินของรัฐนั้นถ้ามิได้มีสิทธิครอบครอง หรือมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว ห้ามมิให้บุคคลใด
(1) เข้าไปยึดถือ ครอบครอง รวมตลอดถึงการก่นสร้างหรือเผาป่า”
...
“ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 108 ทวิ (ฝ่าฝืนมาตรา 9 หลังประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 96) นับตั้งแต่วันที่ประกาศคณะปฏิวัติฉบับนี้ใช้บังคับ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 9 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกิน 5 พันบาท
ถ้าความผิดตามวรรคหนึ่ง ได้กระทำแก่ที่ดินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ที่ประชาชนใช้ร่วมกัน หรือใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าความผิดต่อที่ดินสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน กระทำในเนื้อที่เกินกว่า 50 ไร่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
เห็นได้ชัดว่า แม้จะยกมาตรา 362 ไป ก็ยังถือว่ามีความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายที่ดินอยู่ดี
มาถึงชั้นฎีกา จำเลยที่ 1 โต้แย้งประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ (เข้าใจว่า จำเลยจะอ้างว่าโจทก์ คือ พนักงานสอบสวน ไม่ใช่ ส.ป.ก. คือ ไม่ใช่เจ้าทุกข์)
เมื่ออ่านดีๆ ศาลเห็นว่า การกระทำตามฟ้อง “เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9 (1) 108 ทวิ เป็นความผิดที่กระทำต่อรัฐ ไม่ใช่ความผิดต่อส่วนตัว พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนได้แม้จะไม่มีคำร้องทุกข์ (จากเจ้าทุกข์โดยตรง คือ ส.ป.ก.) ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 121 ดังนั้นเมื่อพนักงานสอบสวนทำการสอบสวนคดีนี้แล้ว พนักงานอัยการ ย่อมมีอำนาจฟ้องคดีนี้ต่อศาลได้... โดยไม่ต้องคำนึงว่า ผู้ร้องทุกข์คดีนี้จะเป็นผู้ใด หรือร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีนี้แก่ใครบ้าง... โจทก์ จึงมีอำนาจฟ้อง”
สรุปข้อนี้ก่อน คือ การเข้าไปทำประโยชน์ในที่ดิน ส.ป.ก. โดยไม่ได้รับอนุญาต ถือเป็นการบุกรุกที่ดินของรัฐ เป็น “อาญาแผ่นดิน” ไม่ใช่แค่พนักงานสอบสวน แต่ใครก็มีสิทธิ์กล่าวโทษได้
แต่ที่น่าแปลกใจ คือ “เจ้าทุกข์” ซึ่งก็คือ ส.ป.ก. กลับไม่ดำเนินการ “ร้องทุกข์” ทั้งที่เป็นเจ้าของบ้าน
ข้อโต้แย้งประการต่อมา ยังเป็นประเด็นข้อกฎหมาย จำเลยแย้งว่า คำฟ้องโจทก์ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือไม่
ศาลเห็นว่า จำเลยเข้าไปบุกรุกยึดถือที่ดิน ส.ป.ก. อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะเพื่อประโยชน์ในการจัดสรรที่ดินให้แก่เกษตรกรทำกิน แต่จำเลยก่อสร้าง แผ้วถาง ยึดถือครอบครองปลูกสร้างอาคารถาวร 3 หลัง (เหมือนที่ไหนสักแห่ง) ปลูกไม้ยืนต้นโดยไม่มีสิทธิครอบครองและไม่ได้รับอนุญาต อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของ ส.ป.ก.
โดยสรุปคือ ศาล เห็นว่า คำฟ้องของโจทก์ ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ศาลฎีกาจึงเห็นว่า “ศาลอุทธรณ์ ภาค 5 พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลย ฟังไม่ขึ้น” ... ให้คงลงโทษตามประมวลกฎหมายที่ดิน ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
คำพิพากษาฉบับนี้ ถูกประกาศอยู่ในเว็บไซต์ของ ส.ป.ก. เอง... อ่านจบแล้ว ก็วกกลับมาที่จอมบึง ราชบุรี พิจารณาเปรียบเทียบกันดู ว่าการที่ทั้งรัฐมนตรี ทั้ง ส.ป.ก. อ้างว่าดำเนินคดีไม่ได้ ใช่หรือไม่?
ผู้เชี่ยวชาญด้านการปราบปรามการบุกรุกที่ดินของรัฐท่านหนึ่ง ที่มีผลงานทวงคืนที่ดินมาแล้วหลักหมื่นไร่ ให้ข้อมูลมาอย่างน่าสนใจ 2 ประเด็น ได้แก่
1. ให้ดูคำนิยามของคำว่า “ป่า” ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ ปี 2484 คือ ที่ดินที่ไม่สามารถออกเอกสารสิทธิได้ ให้ถือเป็น ป่า ทั้งหมด และถือเป็นที่ดินของรัฐตามประมวลกฎหมายที่ดิน ถ้าพบการเข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินของรัฐโดยไม่ได้รับอนุญาต... เจ้าทุกข์ คือ ผู้ที่ดูแลที่ดินนั้นอยู่ ก็ควรร้องทุกข์ และคนทั่วไป ก็สามารถกล่าวโทษได้
เขาบอกว่า จริงอยู่ที่กฎหมาย ส.ป.ก. ไม่มีบทลงโทษ เพราะเป็นกฎหมายที่ออกมาเพื่อใช้บริหารจัดการที่ดิน แต่การดำเนินคดีสามารถมาปรับใช้กฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องได้ ซึ่งก็คือ พ.ร.บ.ป่าไม้ 2484 และประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งถือเป็นความผิดทางอาญา
ส่วนการคืนที่ดินให้ ส.ป.ก. เขาเห็นว่า ไม่ใช่การทำให้พ้นผิด เพียงแต่อาจช่วยบรรเทาโทษได้
2. เขายกตัวอย่างการทำงานในพื้นที่ใกล้เคียง คือ การจัดการปัญหานายทุนบุกรุกที่ราชพัสดุ ใน อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี
ที่เอามายกตัวอย่าง เพราะกฎหมายราชพัสดุ มีสถานะไม่ต่างจากกฎหมาย ส.ป.ก. คือ เป็นกฎหมายใช้บริหารจัดการที่ดิน และเป็นกฎหมายที่ไม่มีบทลงโทษเช่นเดียวกัน
แต่ตลอดเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา ที่ราชพัสดุใน อ.สวนผึ้ง ถูกเจ้าหน้าที่กรมการทหารช่าง ในฐานะผู้ดูแลพื้นที่ เข้าตรวจสอบจับกุมผู้บุกรุกที่เป็นนายทุนรายใหญ่ไปมากมาย โดยเฉพาะการบุกรุกเพื่อทำสวนปาล์มน้ำมันและยางพารา
มีข้อมูลว่า พื้นที่ส่วนนี้ สามารถจับกุมนายทุนผู้บุกรุก ส่งดำเนินคดีอาญาไปแล้วรวม 80 คดี และได้ที่ดินคืนมาเป็นของรัฐมากกว่า 2 หมื่นไร่
อยากรู้ใช่ไหมว่า เขาใช้กฎหมายอะไรในการดำเนินคดี?
คำตอบก็คือ “พ.ร.บ.ป่าไม้ ปี 2484 และ ประมวลกฎหมายที่ดิน”
และยังย้ำว่า ควรจะใช้ พ.ร.บ.ป่าไม้ ปี 2484 เป็นหลัก เพราะมีอัตราโทษสูงกว่าประมวลกฎหมายที่ดิน
ในเมื่อสถานะของกฎหมายราชพัสดุ กับ ส.ป.ก. มีค่าเท่ากัน นำมาเทียบเคียงกันได้ น่าแปลกไหมว่า ทำไมผู้ดูแลที่ราชพัสดุ ดำเนินคดีกับผู้บุกรุกด้วยกฎหมายป่าไม้กับกฎหมายที่ดินได้ และสามารถชนะคดีด้วย
แต่ผู้ดูแลที่ดิน ส.ป.ก. กลับบอกว่าทำไม่ได้?
ป.ล. มีรายงานมาว่า ให้จับตาดูคดีหนึ่งที่ จ.กาญจนบุรี ให้ดี ... มีข่าวว่า เป็นที่ดิน ส.ป.ก. และผู้เข้าทำประโยชน์ถูกฟ้องด้วย พ.ร.บ.ป่าไม้ ปี 2484 เพราะเจ้าหน้าที่ในพื้นที่เขายืนยันว่าต้องใช้กฎหมายป่าไม้ และอาจเป็นเพราะมีหน่วยงานอื่นที่เชี่ยวชาญเข้าไปเป็นผู้ทำคดี