xs
xsm
sm
md
lg

เปิดใจ “ชมพิ้ง” นิสิตหญิงข้ามเพศ ผู้ต่อสู้เพื่อสิทธิของตัวเอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

เปิดเส้นทางสุดวิบากของ “นิสิตสาวสอง” แห่งคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ กับการลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อยืนยันสิทธิของตัวเอง เผย...เคยถูกสั่งห้ามเข้าชั้นเรียน เพียงเพราะแต่งกายไม่ตรงกับเพศ


ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา เชื่อว่า หลายคนคงผ่านหูผ่านตาเรื่องราวของนิสิตหญิงข้ามเพศที่กลายเป็นกระแสกดไลค์กดแชร์กันอย่างแพร่หลายทางสื่อโซเชียล หลังจากเธอได้รับอนุญาตจากทางมหาวิทยาลัยให้สามารถแต่งกายข้ามเพศได้สำเร็จ

แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ ... เธอต้องผ่านเรื่องราวและเหตุการณ์มามากมายชนิดที่กล่าวได้ว่า ต้องร้องไห้เสียน้ำตามาแล้วไม่น้อย เราพาไปเปิดใจนิสิตหญิงคนดังกล่าว “จิรภัทร ตรงจิตต์รักษา” หรือ “ชมพิ้ง” อนาคตว่าที่คุณครูสาวสองที่มุ่งหวังว่าจะเป็นต้นแบบทางเลือกให้น้อง ๆ เลือกมองและเลือกเป็นในแบบที่ตนเองเป็นอย่างแท้จริง...


รู้สึกอย่างไรบ้างกับการที่มีคนแชร์เรื่องราวของเราออกไปอย่างมากมายในโลกโซเชียล

อย่างแรกเลย เรารู้สึกขอบคุณมากจริง ๆ ที่ทำให้เราสามารถเดินทางมาได้ถึงทุกวันนี้ เพราะถ้าไม่มีทุกคน เราว่าระเบียบตรงนี้อาจจะไม่ได้เกิดการผลักดัน

ตอนเกิดเรื่อง เพื่อน ๆ ในมหาวิทยาลัยปฏิบัติกับเราอย่างไรบ้าง

เพื่อน ๆ ไม่ว่าจะเป็นตอนแรกที่เกิดเรื่องหรือตอนแรกที่รู้ว่าเราเป็นแบบนี้ ก็ให้เกียรติเราในฐานะผู้หญิงคนหนึ่งมาตลอด คอยซัพพอร์ตให้กำลังใจ เพื่อนเข้าใจว่าสิ่งที่เราทำอยู่ มันเป็นสิ่งที่ยาก ต้องเจอกับปัญหาเยอะมาก เพื่อน ๆ ก็คอยเป็นที่ปรึกษามาตลอด

ก่อนหน้านี้ ที่อาจารย์ผู้สอนไม่อนุญาตให้เราเข้าเรียน เพราะไม่แต่งกายตามเพศกำเนิด รู้สึกอย่างไรบ้าง

รู้สึกเครียด วันนั้นที่เกิดเรื่องคือเราเข้าช้า เพราะมีงานปฐมนิเทศอีกรายวิชาหนึ่ง หลังจากนั้นอาจารย์เลยทราบว่าเราเป็นนิสิตข้ามเพศ อาจารย์รู้สึกไม่พอใจในจุดนี้ อาจารย์ก็ว่าเราในคลาสเรียน แต่เรารับฟัง และหลังจากคาบเรียนนั้น อาจารย์ก็เรียกเราเข้าไปพบเพื่อคุยกันส่วนตัว ตอนนั้นเรารู้สึกแค่ว่าเราผิดอะไรหรือเราทำอะไรไม่ดีหรือเปล่า ทำไมเราถึงต้องโดนว่า โดนเรียกไปพบ ไปคุยเป็นการส่วนตัว

อีกสาเหตุหนึ่งที่เราสงสัย คือแค่เราเป็นนิสิตข้ามเพศ ทำไมเราไม่มีสิทธิ์เข้าเรียนเหมือนคนอื่น หรือใช้ชีวิตในฐานะนิสิตคนหนึ่ง หลังจากนั้นอาจารย์บอกว่า ไม่อนุญาตให้เราเข้าเรียนในคลาสนั้น เป็นคลาสสุดท้ายซึ่งเป็นคลาสทบทวนเนื้อหา ตอนแรกเราคิดว่าเดี๋ยวเราจะเข้าไปนั่ง แต่อาจารย์บอกว่าถ้าเราเข้าไปนั่ง อาจารย์ก็จะไม่สอนเพื่อนในคลาส เรารู้สึกว่าทำไมต้องเป็นเราด้วยที่โดนอะไรแบบนี้ ทำไมต้องมาเจออะไรแบบนี้ ปัญหาทั้งหมดทำไมเกิดที่เราคนเดียว

หลังจากที่เราคุยกับอาจารย์จบ คลาสนั้น เราก็แอบเข้าไปนั่ง แต่เรานั่งใต้โต๊ะ เราไม่ได้นั่งบนเก้าอี้เหมือนคนอื่นเขา เรารู้สึกว่าคาบนั้นมันเป็นคาบที่เราควรได้เรียนเพราะมันทบทวนเนื้อหารายวิชา ตอนแรก เราไม่ทราบว่าอาจารย์จะเอาเรื่องของเรามาพูดในชั้นเรียน แต่พออาจารย์พูด ท่านว่าเหมือนเราเห็นแก่ตัว มาทำเรื่องที่มันผิดปกติ อาจารย์ก็ชี้แจงกับเพื่อนว่าที่เราไม่มาเพราะอาจารย์ไม่ให้เข้าห้องเรียน ตอนนั้นในคลาสเรียนมีนิสิตร้อยกว่าคน และทุกคนมองมาที่เรา เรารู้สึกว่าเพื่อน ๆ ก็ให้กำลังใจเราอยู่ส่วนหนึ่ง เราเชื่อมาตลอดว่าสิ่งที่เราทำ มันไม่ใช่สิ่งที่ผิด แล้วทำไมเราถึงต้องมาหลบ ๆ ซ่อน ๆ ทั้ง ๆ ที่เราไม่ได้ทำอะไรผิด


จุดไหนที่ทำให้เรารู้สึกว่าต้องลุกขึ้นมาสู้เพื่อสิทธิของตัวเองได้แล้ว

ตั้งแต่แรกที่เรามาที่นี่แล้ว เพราะเราแต่งชุดนิสิตหญิงมา เราแต่งเพราะเราไม่ทราบด้วยว่าเขาไม่ให้แต่ง เท่าที่ทราบมา สามารถให้นิสิตแต่งกายข้ามเพศได้ อาจารย์ที่ปรึกษาก็เรียกเราไปพบแล้วบอกว่ามันแต่งไม่ได้ เราเลยขอยื่นเอกสารทำเรื่อง เป็นคำร้องเพื่อยื่นอธิการบดี คณบดี และในระหว่างรอดำเนินเรื่อง คือเป็นช่วงสอบของปี 1 เทอมแรก เราเลยต้องกลับไปแต่งชุดเป็นผู้ชาย

จากนั้น เราไปยื่นเอกสารอีกรอบหนึ่ง ซึ่งครั้งนี้เราแนบ พ.ร.บ.เท่าเทียมระหว่างเพศไปด้วย พอเราแนบไปมันก็เลยกลายเป็นว่าเราสามารถแต่งชุดนิสิตหญิงได้ชั่วคราวระหว่างการทำเรื่อง แต่ช่วงนั้น จดหมายกลับถูกยกเลิก เพราะเรามีปากเสียงกับอาจารย์ท่านหนึ่ง เราก็ไปปรึกษากับรุ่นพี่ที่ช่วยดำเนินหนังสือมาตั้งแต่แรก เขาบอกว่าอย่างนั้นไปร้องกับ วลพ.ไหม (คณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ) ตอนนั้น ท่านคณบดี คณะนิติศาสตร์ก็แนะว่าให้ไปทำเอกสาร เพราะเขาต้องการผลักดันในเรื่องนี้อยู่แล้ว เนื่องจากมันเป็นปัญหามานาน เขาก็ยื่นความช่วยเหลือมาให้เรา เราก็มายื่นหนังสือกับทางนี้ด้วย แต่สุดท้ายผลการพิจารณาว่าเราสามารถแต่งกายเป็นชุดนิสิตหญิงออกเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาก็คือต้นปีนี้

ตอนนั้น เรารู้สึกว่าอยากให้เคสนี้เป็นกรณีสุดท้าย ไม่อยากให้ใครเจอแบบนี้ คำรุนแรงทางคำพูด ความรุนแรงที่เราเจอ เรารู้สึกว่าตอนนี้เราเรียนช้ากว่าคนอื่นไปทั้งหมด 3 ปี เรามีเป้าหมายจะเข้าเอกจิตวิทยาการปรึกษา ตอนแรกเราเรียนวิชาเขาไปทั้ง 2 ปี แต่ว่าพอปีที่ 2 เทอม 2 อาจารย์ก็มาชี้แจงกับเราว่าอาจารย์ไม่อนุญาตให้เราเข้าเอกได้เพราะเราเป็นนิสิตข้ามเพศและเราไม่ยอมแต่งกายตามเพศกำเนิดของเรา แล้วตอนนี้เราเหมือนมานั่งนับหนึ่งใหม่ ทำให้เราเดินช้ากว่าคนอื่นไปหลายก้าว

เราคิดว่า เราควรจะเป็นเคสสุดท้ายหรือเปล่าที่เจอปัญหานี้ เราควรจะให้ทุกคนเดินตามความฝันของตัวเองได้ ไปพร้อม ๆ กับที่เราสามารถเป็นตัวเองได้ เพราะหลาย ๆ คนที่เรียนจุฬาฯ ก่อนหน้านี้ก็จะมีเคสบางเคสที่อยากเรียนคณะครุศาสตร์ แต่ว่าแต่งกายชุดนิสิตหญิงไม่ได้ ก็อาจจะลาออก เราว่ามันควรจะมีความสุขที่ทุกคนสามารถเดินตามความฝันของตัวเองที่อยากเป็นครู พร้อม ๆ กับที่สามารถเป็นตัวเองได้ในแบบที่เราอยากจะเป็น มันก็เลยเป็นจุดที่เรารู้สึกว่าเราควรจะทำเรื่องนี้ให้เป็นระเบียบของมหาวิทยาลัย


อยากจะบอกหรือฝากอะไรถึงคนที่มีเพศสภาพแบบเรา แต่ไม่มีความมั่นใจ และไม่กล้าเปิดเผยว่าเป็นผู้หญิงข้ามเพศ

หลายคนอาจจะบอกว่าเป็นเพศที่สามต้องพิสูจน์หลายอย่าง แต่เรามองว่าไม่จำเป็นต้องพิสูจน์อะไร แค่เราเป็นตัวเองในแบบที่เราเป็น ก็ถือว่าเป็นการพิสูจน์แล้ว ทำไมเราถึงต้องไปพิสูจน์คำพูดของคนอื่น แค่เราเป็นตัวเองในแบบที่เราเป็น มันมีความสุข เราคิดว่ามันไม่ใช่สิ่งที่ผิด ก่อนที่เราจะทำอะไร เราต้องเชื่อก่อน เราต้องมั่นใจว่ามันไม่ผิด บางคนอาจจะเอาค่านิยมของใครหรือความเชื่อของใครก็ตามที่บอกว่าการเป็นแบบนี้ต้องทำอย่างนี้

ในอาชีพครู จะมีคำพูดว่า ต้นแบบที่ดีคือต้องเป็นชายจริงหญิงแท้ เราคิดว่าครูควรจะมีหลายรูปแบบให้เด็กมอง ไม่อย่างนั้น เด็กก็จะมองแค่ว่าชายเป็นอย่างไร หญิงเป็นอย่างไร เป็นค่านิยมความเชื่อเดิม ๆ ที่ผู้ใหญ่สอนมา กะเทยต้องเป็นตัวตลกนะ ทอมต้องหล่อต้องเท่นะ แต่เด็กทุกคนสามารถเป็นตัวเองได้และถูกยอมรับในแบบที่เขาเป็น เราอยากให้เขาเชื่อว่าสิ่งที่เขาทำ มันไม่ได้ผิดอะไร


เพราะอะไร เราถึงมีความฝันอยากเป็นครู

ตอนแรกเราชอบการเลี้ยงเด็ก แต่ปัจจุบันสังคมไทยยังไม่ได้ก้าวหน้าขนาดที่ว่ามีครูข้ามเพศไปสอนเด็ก เพราะเราไม่ได้มีครูที่เป็นครูข้ามเพศ หรือครูที่เป็น “สาวสอง” อย่างเรา แล้วเราจะหาต้นแบบได้จากไหน เพราะรู้สึกว่าเราไม่ได้เหมือนเพื่อนในห้องที่เป็นผู้ชายอยู่แล้ว เราจึงคิดว่าเราควรจะเป็นแบบไหน

แต่พอโตขึ้น เราคิดว่าสิ่งที่เราทำอยู่ คือเรากำลังทำตามความเชื่อของคนอื่น หรือทัศนคติของคนอื่นอยู่ เราพยายามทำตัวตลก เราพยายามหัวเราะตลอดเวลา เรารู้สึกว่าต้องพยายามเป็นแบบนั้น แต่พอเราโตขึ้น เราก็ได้เห็นว่ามันไม่จำเป็นต้องเป็นแบบนั้น ในตอนเด็ก เรามองแค่ว่าเราต้องตลกนะ คือมันเหมือนแบกรับอะไรบางอย่างอยู่ตลอดเวลา ทั้งที่ตามจริงแล้ว เด็กควรจะมีทางให้เลือก เด็กสามารถเป็นที่ยอมรับได้ในแบบที่เค้าเป็น เด็กคนหนึ่งไม่จำเป็นต้องไปแบกรับภาระอะไรต่าง ๆ นานา เด็กควรมีทางเลือกอื่นที่มากกว่าการมองตามค่านิยมความเชื่อเดิม ๆ เราอยากให้เด็กมีทางเลือกและโตขึ้นอย่างที่เขาเป็น เด็กสามารถสวยได้อย่างที่เขาเป็น

อีกสิ่งหนึ่งซึ่งน่าพูดถึงก็คือ มันมีค่านิยมความเชื่อที่ว่ากระเทยต้องทำนมใหญ่ ตอนเด็ก ๆ เราก็เคยคิดว่าถ้าโตขึ้นและทำหน้าอกได้สักครั้ง จะทำ 600 - 700 ซีซีเลย แต่สุดท้ายแล้ว พอโตขึ้น เราก็กลับมาคิดทำไมตอนนั้น เราถึงมีค่านิยมแบบนี้ ทำไมตอนนั้นเราถึงเชื่อแบบนี้ เราอยากเป็นผู้หญิงไม่ใช่หรือ การเป็นสาวประเภทสอง เราไม่ต้องทำนมขนาดนั้นก็ได้ เราสามารถโตขึ้นมาเป็นดอกไม้ของตัวเอง เราไม่จำเป็นต้องเป็นดอกไม้สำเร็จรูปที่ถูกผลิตขึ้นมาแล้ว แล้วถูกโคลนนิ่ง เราไม่อยากให้เด็กถูกโคลนนิ่ง แต่เราอยากให้เด็กโตมาเป็นตัวเองในแบบที่ตัวเขาเป็นจริง ๆ และการเป็นที่เราเป็นครู ก็น่าจะเป็นต้นแบบหรือทางเลือกให้เด็ก ๆ ที่เขาเป็นสาวสองได้เดินตามได้




กำลังโหลดความคิดเห็น