xs
xsm
sm
md
lg

ชาวนาบางบาล สุดช้ำ รับน้ำแทนคนทั้งประเทศ แต่คนพื้นที่ไม่ได้อะไร เคราะห์ซ้ำ ฤดูแล้งชลประทานห้ามทำนา อ้างไม่มีน้ำ ถ้าจะทำต้องจ่ายค่าไฟสูบน้ำเอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ชาวนาบางบาล สุดช้ำ รับน้ำแทนคนทั้งประเทศ แต่คนพื้นที่ไม่ได้อะไร เคราะห์ซ้ำ ฤดูแล้งชลประทานห้ามทำนา อ้างไม่มีน้ำ ถ้าจะทำต้องจ่ายค่าไฟสูบน้ำเอง สกสว.จับมือชาวบ้าน ผ่าทางตัน จัดทำธรรมนูญฟื้นฟูบ่อหลา กักเก็บน้ำสร้างประโยชน์ชาวไร่ ชาวนา แถมหน้าบ้านยังหน้ามอง สนองนโยบายรัฐบาล แต่ขาดงบสนับสนุน

ภายหลังจากที่ ชาวบ้าน ต.บางชะนี อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา ได้ร่วมกันจัดทำวิจัยภายใต้ “โครงการทางเลือกและข้อจำกัดในการปรับตัวของเกษตรกรในพื้นที่รับน้ำตำบลบางชะนี” โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกสว.) อันเนื่องมาจากชาวนา อ.บางบาล เกิดปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก เพราะเป็นพื้นที่รับน้ำตามนโยบายแก้มลิง แต่เมื่อถึงฤดูแล้งกลับไม่มีน้ำที่ใช้ในการเพาะปลูกสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวนาปรังและชาวไร่ชาวสวนเป็นอย่างมาก ชาวบ้านจึงได้จัดทำธรรมนูญการบริหารจัดการน้ำชุมชนตำบลบางชะนี ขึ้น เพื่อเป็นทางรอดให้กับเกษตรกรผู้ใช้น้ำ

ล่าสุด เมื่อวันที่ 7 พ.ย. ที่ผ่านมา ทีมวิจัยฯ ร่วมกับ อำเภอบางบาล จัดเวทีนำเสนอธรรมนูญการบริหารจัดการน้ำชุมชน ต.บางชะนี โดยมี นายธวัช สุวรรณ นายอำเภอบางบาล เป็นประธานในการประชุม พร้อมทั้ง นายกเทศมนตรีตำบลบางบาล เกษตรอำเภอ สสจ.พระนครศรีอยุธยา ชลประทาน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน รพ.สต.บางชะนี และตัวแทนเกษตรกรในพื้นที่เข้าร่วมประชุมกันอย่างพร้อมเพรียง

โดย นางเรณู กสิกุล ประธานสภาองกรค์ชุมชนบางชะนี ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยฯ กล่าวว่า จากกระบวนการวิจัยที่ทีมวิจัยฯ ซึ่งมี สกสว.เป็นพี่เลี้ยง ได้ลงพื้นที่ศึกษาข้อมูลแหล่งน้ำในพื้นที่รับน้ำ จัดทำแผนที่ สำรวจบ่อหลา (บ่อยืม) และสรุปข้อมูลแนวทางการฟื้นฟูพัฒนาแหล่งน้ำ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการทำการเกษตรและคนในชุมชน จึงเกิดเป็นเวทีการนำเสนอในครั้งนี้ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพื่อนำมาปรับใช้และมีแนวทางในการปฏิบัติการฟื้นฟูแหล่งน้ำร่วมกันอย่างเป็นระบบ

นายชูเกียรติ บุญมี นายกเทศมนตรีตำบลบางบาล กล่าวว่า บ่อหลา หรือ บ่อยืม ถูกเรียกขึ้นจากหน่วยวัด หรือเกิดจากการทำถนนในครั้งแรกเมื่อราวปี 2514 แล้วยืมเดินมาทำถนน จนเกิดเป็นบ่อตามแนวเส้นถนนหลายร้อยลูก เฉพาะที่ ต.บางชะนี มีการสำรวจได้ 69 ลูก โดยวัตถุประสงค์ของการมีบ่อหลาเพื่อกักเก็บน้ำให้กับคนในชุมชนที่อาศัยนอกคลองส่งน้ำ ได้ใช้สำหรับอุปโภคบริโภคและเพื่อการทำเกษตร และอาศัยจับปลาตามวิถีชีวิตดั้งเดิม แต่ต่อมาบ่อหลาบางบ่อไม่ได้ถูกใช้ประโยชน์ ขาดการดูแลทำให้เกิดเป็นที่รกร้าง ตื้นเขิน ไม่สามารถกักเก็บน้ำได้ เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์มีพิษหลายชนิด ดังนั้นหากมีการขุดลอกปรับปรุงก็จะทำให้เกษตรกรชาวไร่ ชาวนา และคนในชุมชน ได้ใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคทำการเกษตร และเป็นแหล่งน้ำสำหรับชาวนาปรังที่ต้องใช้น้ำในช่วงฤดูแล้งด้วย และยังถือเป็นการปรับภูมิทัศน์หน้าบ้านหน้ามองตามนโยบายของรัฐบาล ลงทุนคุ้มค่าได้ประโยชน์ ตรงตามวัตถุประสงค์ทุกอย่าง ขาดอย่างเดียวคือ งบประมาณในการดำเนินงาน ตอนนี้ก็มีงบประมาณจากโครงการช่วยเหลือประชาชน ที่มีท่านรองนายกรัฐมนตรี ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน มาใช้ในการพัฒนาบ่อหลาต่อไป

ด้าน นายชรัศ เพียงมีทรัพย์ ผู้แทนโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาบางบาล กล่าวว่า พื้นที่บ่อหลา เป็นที่ราชพัสดุ ที่อยู่ในเขตชลประทาน ดังนั้น การปรับปรุงจึงไม่อยากให้มีโครงสร้างถาวรเสริมคอนกรีต แต่ขอให้เป็นเพียงการกำจัดวัชพืชที่คลุมบ่ออยู่เท่านั้น และขุดลอกเฉพาะบ่อที่ตื้นเขิน เนื่องจากจะทำให้กระทบกับคันคลองและดินจากการขุดลอกลงไปในคลองส่งน้ำ นอกจากนี้ ในช่วงฤดูฝน ปีไหนน้ำมาก ตามนโยบายของรัฐบาล คือ ให้ทุ่งบางบาลเป็นแก้มลิงเพื่อตัดยอดน้ำ ก็ต้องมีการระบายน้ำเข้าทุ่ง ก็จะมีน้ำมาขังในบ่อยืม เช่นเดียวกันหากมีการปล่อยน้ำเข้านา ปล่อยปลาเข้าทุ่ง บ่อยืมก็จะได้ประโยชน์จากโคนงการนี้ด้วย แต่ในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งถ้าปีไหนแล้งหนักก็ไม่ควรจะมีการทำนา เนื่องจากไม่มีน้ำ แต่หากจะมีการกักเก็บน้ำไว้ในบ่อหลาก็อาจจะมีค่ากระแสไฟฟ้าเกิดขึ้นเนืองจากชลประทานต้องสูบน้ำ เกษตรกรที่ต้องการทำนาปรังก็จะต้องรับผิดชอบจ่ายค่าไฟฟ้าในส่วนนี้เอง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อพูดมาถึงตรงนี้ นางเรณู ได้ลุกขึ้นและพูดขึ้นว่า จากการปฏิบัติที่ผ่านมา ปกติชลประทานจะปล่อยน้ำสัปดาห์ละ 3 วัน ก็แค่เปิดน้ำแล้วเกษตรกรก็ใช้น้ำตามปกติ ไม่น่าจะต้องใช้กระแสไฟฟ้าอะไร และสิ่งที่สงสัยคือ แก้มลิง ที่บางบาลเป็นทุ่งรับน้ำนั้นถูกต้องหรือไม่ เพราะโครงการแก้มลิงตามแนวพระราชดำริของ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ คือ ลิงจะเก็บอาหารไว้ที่แก้ม เพื่อเอามากินในภายหลัง เปรียบได้กับการกักเก็บน้ำช่วงน้ำหลากไว้ใช้ประโยชน์ในฤดูแล้ง แต่แก้มลิงอำเภอบางบาล ไม่มีอาหาร เวลาน้ำมาก็มาปล่อยกันมาเต็มพื้นที่ ไร่นาเสียหายร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่พอน้ำไป ก็กลายเป็นพื้นที่ที่ประสบภัยแล้งอย่างหนัก

นายชูเกียรติ กล่าวเสริมว่า แก้มลิงบางบาลเป็นสองมิติ คือ ถ้ามองในตัวบางบาลเอง เป็นแก้มลิงไม่ได้ แต่ถ้ามองในระดับประเทศ อ.บางบาลคือแก้มลิงของประเทศ กล่าวคือ ช่วงที่น้ำเกิน ก็จะปิดคลองรพีพัฒน์ คลองมะขามเฒ่า พอกรุงเทพจะมิด กระแทกน้ำมาที่ทุ่งบางบาลเต็มๆ แต่พอเวลาหน้าแล้ง ก็จะเปิดคลองมะขามเฒ่า ให้ จ.สุพรรณ จ.นครปฐม ทำนาได้สามรุ่น เปิดคลองระพีพัฒน์ ให้ จ.ชัยนาท จ.ลพบุรี จ.สระบุรี ไปจนถึง รังสิต ให้ทำนาได้สามรุ่นเช่นเดียวกัน แต่ปิดประตูเจ้าพระยา ทำให้น้ำที่อยู่ในทุ่งบางบาลไหลออกอ่าวไทยหมด

“อ.บางบาล ในฐานะผู้เสียสละเป็นทุ่งรับน้ำ เป็นแก้มลิงของคนทั้งชาติ พอทุกคนรอด ลิงก็อ้วกแตกออกมา เก็บน้ำไว้ใช้เพื่อประโยชน์ในพื้นที่ตัวเองไม่ได้เลย คนบางบาลจึงอยู่ในภาวะ ไม่เกินก็ขาด เราเป็นแก้มลิงของประเทศไทย แต่ไม่ได้เป็นแก้มลิงเพื่อตัวเอง” นายกเทศมนตรีตำบลบางบาล กล่าว

ด้าน นายธวัช สุวรรณ นายอำเภอบางบาล กล่าวว่า ปัญหาที่นำเสนอมาทั้งหมด ทางอำเภอรับทราบแล้ว และขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามกระบวนการของชุมชน เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม บนพื้นฐานของความคุ้มค่า และความยั่งยืน ภายใต้ความยินยอมพร้อมใจกันทุกฝ่าย และจัดหางบประมาณเพื่อดำเนินการต่อไป เพื่อผลประโยชน์ของทุกคน


















กำลังโหลดความคิดเห็น