มาดูคำแนะนำในการนำสัตว์เลี้ยง สุนัขและแมวรวม 5 ตัว จากไทยไปยังสหรัฐอเมริกา พบแต่ละไฟล์ทจำกัดได้ไม่เกิน 5 ตัว ใช้กรงมาตรฐาน IATA และตรวจสอบสนามบินปลายทางที่สามารถนำสัตว์เลี้ยงออกจากเครื่องบินได้ แนะต้องฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า แล้วต้องส่งไปทำประวัติขอใบส่งออกที่ด่านกักกันสัตว์สุวรรณภูมิก่อนเดินทาง 3-7 วัน
ผู้ใช้เฟซบุ๊ก Nattaphorn Albrecht ได้บอกเล่าประสบการณ์นำสุนัข 2 ตัว และแมว 3 ตัว จากประเทศไทย ไปเลี้ยงที่สหรัฐอเมริกา หลังย้ายมาพำนักอยู่ที่สหรัฐอเมริกา เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับคนที่ต้องการนำสัตว์เลี้ยงออกนอกประเทศ เริ่มจาก ขั้นตอนแรก เตรียมตัวโดยซื้อกรงสัตว์เลี้ยงได้รับการรับรองจากสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ว่าแข็งแรงพอ และเหมาะสมกับขนาดของสัตว์เลี้ยง โดยซื้อใหญ่กว่าข้อกำหนด 2 ขนาด และซื้อเบาะปูที่นอนให้ในตัวแต่ละกรง ซึ่งกรงที่เหมาะสมคือ สุนัขและแมวต้องสามารถยืนขึ้นและหูไม่ชนเพดาน สามารถกลับตัวได้ และมีที่ให้น้ำและอาหารเล็กน้อยข้างในกรง กรงต้องแข็งแรง สุนัขและแมวไม่สามารถหลุดออกมาได้ เจ้าหน้าที่ที่สนามบินจะช่วยตรวจสอบอีกครั้งตอนเช็คอิน แต่ได้ล็อกแน่นหนาจากที่บ้านไปเลย
ขั้นตอนที่ 2 ตั๋วเครื่องบิน และสนามบิน เนื่องจากทุกสายการบินกำหนดให้นำสุนัขขึ้นเครื่องบินได้ 2 ตัว ต่อผู้โดยสาร 1 คน และเครื่องบิน 1 ลำ จำกัดสัตว์เลี้ยงได้เพียงแค่ 5 ตัว และต้องจองเมื่อสำรองที่นั่งเรียบร้อยแล้ว จึงไม่สามารถจองบัตรโดยสารผ่านเว็บไซต์ได้เลย ต้องโทรศัพท์ไปจองกับพนักงาน เมื่อตนมีสัตว์เลี้ยงรวม 5 ตัว ทีแรกจะตัดสินใจให้แมว 3 ตัวโหลดขึ้นเครื่องแบบคาร์โก้ ซึ่งต้องให้ตัวแทนสายการบิน (เอเจนท์) ดำเนินการทำเองไม่ได้ ทำให้เป็นเรื่องยาก หากจะทำให้ทุกตัวมาถึงที่สหรัฐอเมริกาพร้อมกัน
กระทั่งสายการบินอีว่า แอร์ (EVA Air) บอกกล่าวรายละเอียด ขั้นตอน ให้คำแนะนำ พร้อมทั้งส่งเอกสารทุกอย่างมาให้ทางอีเมล ซึ่งทางสายการบินจำกัดในแต่ละไฟท์ว่า ให้สัตว์เลี้ยงโหลดใต้ท้องเครื่องได้ไม่เกิน 5 ตัวต่อเที่ยวบิน แต่ไม่ได้กำหนดว่ากี่ตัวต่อผู้โดยสาร จึงได้ทำการจองบัตรโดยสารพร้อมกับสัตว์เลี้ยง 5 ตัว เจ้าหน้าที่จะถามรายละเอียดสัตว์เลี้ยงแต่ละตัวและจองบัตรโดยสารให้เลย เพราะถ้ามัวแต่รออาจจะพลาด
อย่างไรก็ตาม สนามบินปลายทางต้องตรวจสอบว่าสามารถนำสัตว์เลี้ยงลงจากเครื่องได้ด้วย เช่น อาศัยที่รัฐโอไฮโอ แต่สัตว์เลี้ยงไม่สามารถลงเครื่องที่นี่ได้ ต้องไปลงที่ชิคาโก รัฐอิลลินอยส์ ซึ่งต้องขับรถไปอีก 6 ชั่วโมง แต่ลดความยุ่งยากไปเยอะ นอกจากนี้ เนื่องจากต้องบินไปต่อเครื่องที่ไต้หวัน ต้องกรอกใบขอนำสัตว์ผ่านเข้าเขตแดน ถึงแม้ว่าจะเป็นการเปลี่ยนเที่ยวบิน (Transit) ก็ตาม โดยกรอกแบบฟอร์ม ส่งไปทางอีเมล ประมาณ 1-3 วัน เจ้าหน้าที่จะส่งสำเนาที่ประทับตรามาให้ว่าอนุมัติ เราต้องพิมพ์เอกสารดังกล่าวเก็บไว้ เพื่อไปยื่นที่เคาน์เตอร์เช็คอิน
ขั้นตอนที่ 3 การตรวจสุขภาพและฉีดวัคซีน ปกติแต่ละประเทศข้อกำหนดจะแตกต่างกัน สหรัฐอเมริกากำหนดแค่เรื่องพิษสุนัขบ้า ไม่ได้ยุ่งยากเหมือนทางยุโรป ที่ต้องฉีดวัคซีนอย่างน้อย 30 วันก่อนวันเดินทาง แต่ได้ขอให้สัตวแพทย์ฉีดวัคซีน รวมทั้งถ่ายพยาธิและป้องกันเห็บหมัดด้วย ในสมุดวัคซีนของสุนัขนั้น สัตวแพทย์ต้องลงวันที่ที่ต้องฉีดวัคซีนครั้งหน้าด้วย สำคัญมาก อีกทั้งต้องมีใบรับรองจากสัตวแพทย์ว่า สุนัขผ่านการฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าแล้ว โดยเป็นแบบฟอร์มของ CDC เพราะเกรงว่าในสมุดวัคซีนที่เป็นภาษาไทยและอังกฤษอาจจะมีปัญหา ซึ่งสัตวแพทย์กรอกรายละเอียด ลงนามและประทับตรามาให้เรียบร้อย
ขั้นตอนที่ 4 การขอใบส่งออก ณ กรมปศุสัตว์ ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ก่อนการเดินทาง 3-7 วัน ต้องไปที่ด่านกักกันสัตว์ที่สนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อนำสุนัขและแมวไปตรวจร่างกาย ถ่ายรูป และเพื่อตรวจเอกสาร เช่น บัตรโดยสาร ใบวัคซีน ทำการถ่ายรูปพร้อมเจ้าของ เพื่อที่ทางเจ้าหน้าที่จะออกใบอนุญาตส่งออก (Export License) โดยใบอนุญาตส่งออก มีอายุไม่เกิน 7 วัน
ขั้นตอนที่ 5 วันเดินทาง ให้สุนัขและแมวกินอาหารที่ชอบในช่วงเช้าตรู่ เพื่อให้อิ่มท้องและขับถ่ายให้เรียบร้อย ระหว่างนี้ได้พิมพ์ใบปะหน้าขนาด A4 ติดไว้ที่กรง มีข้อความแนะนำว่าแต่ละตัวมีนิสัยยังไงบ้าง เช่น ขี้กลัว ตื่นคน ระวังนิ้ว หรือระวังแหกกรง เผื่อเจ้าหน้าที่ต้องนำออกจากกรง และเตรียมอาหารเปียกใส่ถุงซิปล็อกแปะด้านบนกรง เผื่อต้องให้อาหาร เมื่อมาถึงสนามบิน ทางเจ้าหน้าที่จะตรวจดูเอกสารทั้งหมด และช่วยดูว่ากรงแน่นหนาพอหรือไม่ จุดนี้ต้องชำระเงินค่าบัตรโดยสารของสุนัขและแมว แนะนำว่าไปก่อนเวลาเครื่องบินออกประมาณ 4 ชั่วโมง เพื่อตรวจสอบเอกสารป้องกันความผิดพลาด เมื่อได้เวลา เจ้าหน้าที่จะมาเข็นรถเข็น เพื่อนำผ่านเครื่องสแกนต่อไป
ขั้นตอนที่ 6 เมื่อมาถึงท่าอากาศยานชิคาโก รัฐอิลลินอยส์ สหรัฐอเมริกา ผ่านตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ให้นำแบบฟอร์มพิธีการศุลกากร (Customs clearance) มาด้วย ระบุว่าเป็นสัตว์เลี้ยง ก่อนแจ้งเจ้าหน้าที่ตรงสายพานกระเป๋าจะมีพนักงานสายการบินอยู่ ให้สอบถามพนักงาน ซึ่งจะหา Porter ที่จะช่วยเข็นทั้งกระเป๋าและกรงสัตว์เลี้ยงทั้ง 5 กรงออกมา ผ่านด่านตรวจข้างนอก เจ้าหน้าที่รับเอกสารไปตรวจสอบ ก่อนให้ผู้โดยสารผ่านได้ ใช้เวลาไม่ถึง 5 นาที ก่อนที่สามีของตนเช่ารถตู้แบบขนของมารับ เพราะต้องขับออกมาซักพักเพื่อหาสถานที่ให้สัตว์เลี้ยงทำธุระ
อ่านโพสต์ต้นฉบับ คลิกที่นี่