xs
xsm
sm
md
lg

เก๋อย่างเก๋า “JAI” ผ้าพันคอสูงวัย แต่หัวใจเฟี้ยวฟ้าววัยรุ่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

คนสูงวัยเปรียบดั่งวัตถุโบราณคร่ำครึล้าสมัยที่รอวันดับสูญสลาย
หรือแก่เหมือนไม้ใกล้ฝั่ง ไม่สามารถทานทัดคลื่นลูกใหม่ได้...

คงต้องคิดและมองใหม่ ยิ่งในยุคที่ทั่วโลกต่างตบเท้าเข้าแถวสู่สังคมผู้อายุวัยชรามีมากกว่าเด็กอย่างหลายๆ ประเทศประสบปัญหาและกังวลในการรับมือ อย่างไรก็ตาม เราก็มักจะได้ยินเรื่องราวเจ๋งๆ และเท่ๆ เก่งๆ ของอดีตคนหนุ่มสาวเมื่อ 50-60 ปีที่แล้วที่ถูกนำมาถ่ายทอดผ่านทั้งไลฟ์สไตล์การแต่งตัว มุมมองความคิด รวมไปถึงวิถีชีวิต และล่าสุด เป็นข่าวครึกโครมพาดหัวตัวไม้กันข้ามรัฐประเทศ อย่างการทำลายสถิติโลกการเป็นนายกฯ ที่อายุมากที่สุดในเวลานี้ด้วยวัย 92 ปี อย่าง “ดร.มหาเธร์ โมฮัมหมัด”

แน่นอนว่าคนไทยเองก็มีบุคคลทำนองแบบนี้ที่เจ๋งๆ ไม่แพ้กัน ต่างก็ตรงที่สกิลเทพเมพขิงๆ เป็นไปในเรื่องของวงการงานฝีมือประยุกต์ศิลป์ ลูกศิษย์ลูกหาเด็กแนวต่างยกย่องเข้ามาขอความรู้ในคลับสูงวัย ความสวยงามระดับโด่งดังไปไกลระดับโลกถึงเวนิสตะวันออกแห่งเอเชียอย่างฮ่องกงที่เป็นเมืองแฟชั่นระดับแถวหน้า ณ เวลานี้

Manager  Online ขอนำพาไปรู้จักบุคลากรเปี่ยมคุณภาพและความสามารถอันน่าภาคภูมิใจของบ้านเมืองไทย แบรนด์ JAI Craft Design โดยอาจารย์ ชูศิษฎ์ เขียวชะอุ่ม ข้าราชการเกษียณ และบุตรสาวโปรดิวเซอร์มากฝีมือ “ณภัทร เขียวชะอุ่ม” ที่อินเทรนด์เก๋อย่างเก๋า

ต่างวัยใจเดียวกัน
ปฐมบทเรียนหัวใจ J-A-I
 
เราอยากเพิ่มโอกาส และเปลี่ยนมุมมองทัศนคติที่มีต่อผู้สูงอายุในปัจจุบัน ที่หลายคนมองข้ามความสามารถหรือคิดว่ากลุ่มคนสูงอายุเป็นภาระของสังคม คือผมมานั่งเขียนรูปหลังจากเกษียณแล้ว มานึกถึงสิ่งที่เราชอบ อยากจะทำ แต่เราทิ้งมันมานานนั่นก็คือการเขียนรูป หลังจากที่จบเพาะช่างก็มาสอนหนังสือหลายปี และพอมีครอบครัว อาชีพนักเขียนรูป อาจารย์สอนศิลปะโรงเรียนเอกชนมันไม่มั่นคง ก็ย้ายมาเป็นข้าราชการ สอบบรรจุ ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่เทศบาล เจ้าหน้าที่งานพัฒนาชุมชน ลงพื้นที่สำรวจความต้องการของชุมชนจนเกษียณ

“หลังจากนั้นผมก็คิดว่าจะมาทำอะไรดี ก็มาคิดรับมือก่อนเกษียณเพราะเห็นเพื่อนๆ ที่ไม่ได้ทำงานแล้วบางคนจับเจ่าหงอยเหงาอยู่กับบ้านแล้วก็เจ็บป่วยออดๆ แอดๆ เลยปรึกษาคุยกับเพื่อนที่มีในวงการงานทำศิลปะ เพื่อนๆ ที่เรียนมาด้วยกันเขาก็ทำตรงนี้อยู่ มีความสุข สุขภาพใจก็ดี เราก็เลยมาเขียนภาพ ทีนี้เรามองว่าความสวยงามมันน่าจะนำมาประยุกต์ใช้เป็นเครื่องแต่งกาย หรือของตกแต่งบ้านอะไรต่างๆ น่าจะดีกว่า ก็มาปรึกษากันและริเริ่ม ลูกเขาก็ให้แนวความคิดเรื่องคอนเซ็ปต์งานอย่างนั้นอย่างนี้ก็เกิดเป็นแบรนด์ JAI ขึ้นมาได้”

อาจารย์ชูศิษฎ์ เขียวชะอุ่ม เล่าถึงจุดเริ่มต้นของ ‘JAI Craft Design’ แบรนด์ผลิตภัณฑ์งานศิลป์ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ชีวิตอย่างครอบคลุมในทุกๆ เรื่อง ทั้งไลฟ์สไตล์ ความคิด รวมไปถึงเรื่องของจิตใจระหว่างคนสองยุค โดยที่การเชื่อมโยงกันด้วยวัยที่แตกต่างผสานกันได้เป็นอย่างราบเรียบ

ณภัทร : “มองคนวัยเกษียณยังไง ถ้าถามส่วนตัวจริงๆ ไม่ค่อยมีเวลาว่างได้คิดเรื่องอะไรเลยนอกจากเรื่องงาน งานโฆษณาค่อนข้างหนักมาก ซึ่งเราแรกๆ ก็ คล้ายๆ คนทั่วไปที่ละเลยพวกท่าน ไม่ได้ให้ความสนใจเท่าที่ควร คิดว่าการอยู่เฉยๆ คือความสบายของเขา จนวันหนึ่งที่เราเริ่มแบ่งเวลามองเห็น เราก็มีความคิดที่เปลี่ยนไป เขามีความภูมิใจ บางทีไม่ได้สนใจเขา พอเขาไม่ไดทำงานก็นั่งดูทีวี เลี้ยงหลานเหงาๆ หงอยๆ ของเขา เขาอาจจะรู้สึกว่าไม่มีคุณค่าเลย เราก็เลยเริ่มมองเห็น ถ้าเราให้คุณค่าเขาเขาจะกลับมามีชีวิต ก็เลยมุมมองความคิดเปลี่ยนไปเลย

“ทีนี้เราก็เห็นไฟในตัวเขาที่ยังมีอยู่เต็มร้อย จากไม่ได้คิดว่าจะทำเป็นธุรกิจ แค่ท้าทายคุณพ่อเฉยๆ ลองหาโจทย์ให้เขาวาดก็วาดได้ วาดสวย เราก็เริ่มนึก ถ้ามันเป็นภาพ เป็นโปรดักต์ มันอาจจะสวย ก็ตกลงกันทำแบรนด์เล็กๆ ตอนแรกจะทำแพกเกจจิ้งจำพวกกระดาษห่อของขวัญ แต่ในระหว่างที่คิดตรงนี้ก็ติดเรื่องจำนวนขั้นต่ำ ของบางอย่างมีขั้นต่ำที่สูง ก็มาลงตัวที่ผ้าผันคอ เนื่องจากเรทการผลิตขั้นต่ำมันไม่สูงมากที่จะเอางานคุณพ่อมาพิมพ์สร้างขาย เราก็ทำออกสู่ตลาด ลูกก็ค้าชอบ ก็เริ่มพัฒนาแบรนด์ให้มันเป็นตัวเป็นตนมากขึ้น”

และจากความคิดนี้ คนสองรุ่นต่างวัยจึงเริ่มมีความสนใจและหาข้อมูลเกี่ยวกับสังคมผู้สูงอายุมากขึ้น พบว่าปัจจุบันประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มสูงขึ้น จำนวนการเกิดน้อยลง หลายประเทศทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ และเตรียมความพร้อมในการที่โลกเรากำลังจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ อาจารย์วัยเกษียณจึงลุกที่จะขึ้นมาทำบางสิ่งบางอย่างที่มากกว่าแรงคิดของคนที่มองมีมากกว่าการพยุงตัวขึ้นเก้าอี้ หรือโซฟาตัวโปรด ดูโทรทัศน์และไกวเปลหลานๆ

“ผมมีความชอบงานตรงนี้อยู่ มีสิ่งที่ค้างที่เราอยากทำอยู่ อีกอย่างเราคิดว่างานศิลปะมันทำให้เราเอาตรงนี้มาทำให้มันเกิดประโยชน์ต่อตัวเอง มีความสุขกับตัวเอง คือเรามองที่ตัวเราเองก่อนว่าทำงานตรงนี้แล้วมีความสุข แทนที่จะไปทำกิจกรรมอะไรอย่างอื่นที่มันเป็นลักษณะที่อาจจะดีเหมือนกัน แต่งานตรงนี้เป็นงานที่เรารักและเราชอบอยู่แล้วด้วยหลังจากเราทิ้งนาน เรามาทำให้เรามีความรู้สึกว่าได้มีอารมณ์ความรู้สึกที่ดีๆ เกิดความสบายใจ

“ต่อไปสังคมผู้สูงอายุเยอะมาก และจะมีกิจกรรมต่างๆ ที่เขาเองไม่อยากทำ ก็จะกลับไปวัฏจักรเดิมคืออยู่บ้านเลี้ยงหลาน เหงา สุดท้ายก็เจ็บป่วย เพราะงานเพราะสังคมมีอยู่ไม่กี่อย่าง แต่ถ้าได้ทำตรงนี้ ได้ทำอย่างที่ชอบ ศิลปะเป็นงานที่จรุงใจ ทำจิตใจให้มันมีความสุขความบายใจ ไม่ต้องไปคิดฟุ้งซ่าน เราแก่แล้วเราคิดว่าเราไม่มีคุณภาพ มันไม่ใช่ เราก็ต้องไปแอคทีฟตัวเองขึ้นมา ก็รู้สึกดีใจ งานเราทำอออกแล้วมีคนสนใจยอมรับชิ้นงานของเราที่ไม่ใช่แค่คนวัยเดียวกัน แต่เด็กๆ ลูกๆ นักศึกษาก็มาติดตามมาเสพงานศิลปะผม ผมก็มีความภูมิใจ เป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้เราอยากจะทำงานตรงนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

“เราอายุเยอะขนาดนี้ยังมีอะไรต่างๆ ที่เกิดประโยชน์ต่อสังคมได้ งานออกไปจะสู้ได้หรือไม่ได้อย่างที่คิดตอนแรกที่ธุรกิจตรงนี้มันมีเยอะ แต่พอวันนี้เรามีกำลังใจ มีความสุขในการทำงาน ในอนาคตก็อยากจะให้มีผู้สูงอายุเข้ามาร่วมเยอะๆ ให้เขาเกิดความภูมิใจแบบนี้เยอะๆ”

โดยแบบที่ว่านั่นคือการเกิดเป็นฮับคลับแคมป์ในการถ่ายทออดความรู้ ไม่ต่างจากวิถีการสร้างสังคมในเรื่องไลฟ์สไตล์รวมกลุ่มคนที่รักชอบแนวทางเดียวกันของยุคเจเนอเรชันนี้

ณภัทร : “มันทำให้ ขอบเขตของงานศิลปะมันไปได้ไกลกว่า และยั่งยืนกว่าในทุกๆ เรื่อง ไม่ใช่แค่เรื่องศิลปะ มันรวมไปถึงเรื่องสังคม เรื่องชีวิต กระทั่งเรื่องความสัมพันธ์ในครอบครัว คือถ้าถามว่าข้อเด่นคนรุ่นเก่าและใหม่คืออะไร ข้อเด่นของคนรุ่นเก่าคือเขาจะมีเวลา มีความอดทน ความเพียรพยายาม เขาจะทำช้า แต่ว่ามันผ่านการคิดและประสบการณ์ชีวิตกว่าจะถ่ายทอดออกมา มันก็จะได้เสน่ห์ของชิ้นงานอีกแบบหนึ่ง หรืออย่างของคนวัยเรา อะไรที่ใหม่ อะไรที่แปลก เพราะเราเสพอะไรพวกนี้เราก็จะรู้โลกรอบด้าน ก็มีความต่างกัน

“ตรงนี้ก็คือเอาความรู้ความสามารถของคนรุ่นใหม่หรือมุมมองต่างๆ ของคนรุ่นใหม่มารวมกับทักษะ ความสามารถ ความชำนาญ ที่สั่งสมมาจากประสบการณ์ระดับ 30-40 ปี เวลาสิ่งต่างๆ ที่ออกมาก็จะประณีตและรวดเร็ว สวยงามอ่อนช้อยพร้อมกับร่วมสมัย ซึ่งคุณพ่อก็น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้สูงอายุคนอื่นได้เห็นคุณค่าในตัวเองและได้เริ่มทำในสิ่งที่ตัวเองรักโดยไม่มีกฎเกณฑ์อายุมาปิดกั้น อย่างที่เราเติบโตมามีทุกวันนี้ส่วนหนึ่งก็เพราะพวกท่านเหล่านี้ร่วมสร้างกันมา ที่เราได้จากคุณพ่อ คือ ไม่ว่าคุณจะเป็นคนวัยไหนในสังคม สิ่งที่ทุกคนต้องการเหมือนกันคือการยอมรับ การมีตัวตน และพื้นที่ยืนในสังคม”

ปรับเปลี่ยนไม่ใช่เพราะด้อยกว่า
แต่มันคือ craft & design ชีวิต

“ก็ไม่ง่ายในการทำงานร่วมกันแรกๆ เพราะผมจะเป็นแนวศิลปิน ก็จะสื่อตามจิตวิญญาณ เราเขียนงานขึ้นมาเพื่อให้รู้สึกว่าเราประทับใจจากที่ได้เห็น เป็นอารมณ์ศิลปะ อารมณ์ศิลปิน แต่มาทำตรงนี้ก็ไม่ได้ แทนที่จะเป็นภาพติดผนังตกแต่งบ้านอย่างเดียว เขาให้แนวความคิดตรงนี้ เอาไปทำเป็นผ้าพันคอ คือในเรื่องของภาพแต่งบ้าน จากประสบการณ์ถ้าเราไม่ดังหรือเป็นศิลปินใหญ่มีชื่อเสียงก็ขายลำบาก ก็ต้องมอง ต้องศึกษาตลาด เปิดใจยอมรับฟังแนวความคิดของเขาที่มองขาด และรวดเร็ว (ยิ้ม)

“คืออย่างเรื่องแนวความคิด เรื่องของการทำงาน บางทีผมคนรุ่นเก่าตามไม่ทัน เช่นเรื่องเทคโนโลยีมือถือความไวของข่าวสาร เขามีเรื่องตรงนี้ อินเทอร์เน็ต ข้อมูลต่างๆ เยอะ เขาสามารถจัดและเก็บข้อมูลเหล่านี้ได้ดี แต่ผู้สูงอายุไม่ค่อยมีความเข้าใจตรงนี้ เขามีความรู้กว้างกว่า แต่เรารู้ลึกชัดเจนกว่า ก็มาผสมผสานกันเราให้รายละเอียดเขา เขาขยายวงกว้างของความรู้เรา”

ด้วยเหตุนี้กลุ่มลูกค้าของแบรนด์ JAI จึงไม่ใช่เพียงแค่ผ้าพันคอเท่านั้น มีขยายไลน์สินค้าให้หลากหลายยิ่งขึ้น ทั้งวัตถุดิบผลิตภัณฑ์ผืนผ้าจากผ้าซาตินในปีแรก เป็นผ้าไหมในปีที่สอง หรืออย่างผลิตภัณฑ์สมุดโน้ต งานอาร์ตปรินต์พิมพ์ลงกระดาษตกแต่งบ้าน โปสการ์ด ปลอกหมอน เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้หลายกลุ่มภายในระยะเวลาทั้งสิ้นเพียง 2 ปี เท่านั้น

อะไรที่ทำให้การผสมผสานนี้เกิดขึ้น!

ณภัทร : “ก็ใช้ระยะเวลาพอสมควรค่ะ เริ่มตั้งแต่แรกเลยคือกระบวนการคิดและการทำงาน ต้องบอกก่อนว่าการทำแบรนด์กว่าจะออกแต่ละเวอร์ชันในระยะเวลาในการเตรียมงานบางที 3 เดือน ต้องเตรียมล่วงหน้า ถือว่าค่อนข้างนาน เรื่องดีไซน์ถ้าเป็นในวงการโฆษณาทำกันแต่ละชิ้นวันเดียวก็ต้องเสร็จเนื่องจากไทมิ่งมันไวมาก เพราะโพรเซสเงินมันต้องเข้า ทีนี้พอเราทำแบรนด์ของเราเอง เราตั้งใจว่าทำงานศิลปะ งานศิลปะมันไปเร่งไม่ได้ ดังนั้น เวลาเราคิดทำอะไร เราก็คิดล่วงหน้าเลยอีก 6 เดือนทำอะไร วันนี้ก็นั่งทำการบ้าน เริ่มหาแรงบันดาลใจ พอเราพร้อมลงตัวก็ไปบรีฟคุณพ่อทิ้งเอาไว้เลย เป็นโจทย์ แต่จะต้องมีไทมิ่งหลอก จะเอา 2 เดือนก็ขอ 1 เดือน

“เราไปเพิ่มความกระฉับกระเฉงให้เขา เพื่อให้เขารู้สึกตื่นตัวขึ้น ไม่อย่างนั้นเขาก็จะไปเรื่อยๆ ด้วยวัยวุฒิ อายุ ที่สำคัญเลยคือเรื่องสุขภาพ ปวดหลัง ปวดขา ปวดตา เราต้องเผื่อไว้ อีกเรื่องคือเรื่องของความเข้าใจ มุมมอง ภาพจบ คนระดับอายุเท่านี้ถ้าท่านไม่เข้าใจ ไม่เห็นภาพท่านจะมักไม่ลงมือทำ ซึ่งอาจจะเกี่ยวกับการเติบโตที่ได้รับมาจากอดีตเพราะวัสดุอุปกรณ์ในการทำอะไรสักอย่างไม่ใช่หาซื้อได้ ต้องทำเอง วิธีการตรงนี้เราก็ต้องรับมือโดยการใช้วิธีสร้างภาพจินตนาการ มีตัวอย่างงานให้ชัดเจน แล้วพอเห็นเป็นภาพ เช่น นกแบบนี้ ต้นไม้แบบนี้ เขาก็จะเข้าใจได้ง่ายขึ้น

“ในระหว่างที่ทำงานร่วมกัน เราก็ได้แลกประสบการณ์กันและกันคนรุ่นเราจะได้ประสบการณ์จากเขาที่เต็มๆ เลยก็คือใจเย็นขึ้นมาก (ยิ้ม) เขามีความเพียรที่เป็นลำดับขั้นตอน มีวินัย ที่สำคัญคือความสัมพันธ์ เราไม่ได้เห็นคุณพ่อวาดรูปมาตั้งแต่ประถม เห็นเขาได้กลับมาทำสิ่งที่เขารักก็มีความสุข ส่วนพ่อก็ไม่เคยรู้ว่าเราทำงานอย่างไร ทำไมต้องมาเร่งอะไรยังไง มันก็มีการเรียนรู้ซึ่งกันละกัน เรื่องมุมมองการทำงาน แล้วก็ปรับตัวเข้าหากัน รวมไปถึงการใช้ชีวิต ช่วยให้คนสองวัยเข้าใจกันมากขึ้น เข้าใจสัจธรรมชีวิตความแตกต่าง ขีดความสามารถจำกัดในการทำงานของแต่ละคนละแต่ละช่วงอายุที่เราเอามาประยุกต์ใช้ในชีวิตได้ทุกอย่าง”

ปัจจุบัน ประเทศไทยเป็นอันดับที่ 2 รองจากประเทศสิงคโปร์ของส่วนการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของประชากรผู้สูงอายุถึง 1 ใน 5 ของประชากรทั้งหมดและมากกว่าประชากรเด็ก การมีสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้เห็นว่าประเทศไทยมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องเตรียมความพร้อมรองรับการเป็นสังคมผู้สูงอายุ ที่กำลังจะมาถึงที่หลายฝ่ายกังวลทั้งในแง่เรื่องสุขภาพร่างกายภายนอกและคุณภาพชีวิตภายในจิตใจ

“ใจสำคัญ... อย่างที่บอก มีเด็กๆ ลูกๆ หลานๆ มาชื่นชอบ เราก็รู้สึกมีคุณค่า แม้ว่าตอนนี้จะมีชื่อเสียงตอนแก่หรืออายุมาก แต่ก็เกิดความภาคภูมิใจหลังจากที่ตกใจก่อน (ยิ้ม) ที่เขาชื่นชอบและชื่นชมด้วยผลงานและความสามารถจริงๆ คือเราเอางานเขาเอาความคิดเราเข้าไปใส่ แวบแรกคิดว่าเราทำงานตรงนี้จะขายได้ไม่ได้ยังไม่รู้เหมือนกัน แต่เราก็มีความเชื่อมั่น ลูกก็มีความเชื่อมั่นว่าน่าจะทำงานตรงนี้ออกมาให้ได้ ก็ทำ หลังจากที่สู่ตลาดมันก็ทำให้เรามีความรู้สึก เราขายได้

“ก็เป็นความภาคภูมิใจมีคนยอมรับ แค่นี้หัวใจก็สุข แล้วพอหัวใจสุข ก็แก่อย่างมีคุณภาพ มีไฟเสมอ คือไม่ว่าจะเรื่องของการออกกำลังกาย เรื่องสมอง ความคิด มันทำให้เรามีอะไรต่างๆ ที่ดีขึ้น อย่าไปคิดว่าแก่แล้วแก่เลย ให้มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องวัยรุ่นบ้าง แต่งตัว หรือเล่นกีฬา ทุกวันนี้ก็เล่นเทสนิส ตีกอล์ฟ มีหนุ่มๆ อยากจะมาเล่นด้วยเพราะเรามีลูกเก๋า มองเกมขาด ก็สู้ได้สบาย (ยิ้ม) ปัญหาทุกอย่างก็สู้ผ่านได้หมด ไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป เพราะเราร่วมกันทำ มันก็จะสร้างการอยู่ร่วม สร้างสิ่งต่างๆ ที่ดีกว่ายุคๆ เดียว”

เด็กให้จ๊าบ แก่ให้คูล
ครอบครัวจุดเล็กๆ ที่สำคัญที่สุด

“อยากให้ไปคิดดู อย่างน้อยคนในครอบครัวสำคัญที่สุด และจะเป็นแรงผลักดันให้แก่ผู้สูงอายุที่เกษียณแล้วอย่างน้อยเขาจะต้องให้กำลังใจคนพวกนี้ เขายังมีคุณค่าตรงนี้อยู่แล้วก็อยากจะให้เขามีความรู้สึกว่าทำอะไรก็ได้ที่ตัวเอง ชอบแล้วก็มีความสุขอย่าคิดว่าตัวเองไม่มีคุณค่าแล้ว เขายังมีคุณค่า

“อยู่บ้านเลี้ยงหลานเฝ้าบ้าน ไม่มีแค่ตรงนั้นอย่างที่เข้าใจและทำกัน เกษียณไปแล้วต้องมานั่งจับเจ่าอยู่เฉยๆ ดูทีวี ส่วนตัวคิดว่าควรจะออกไปพบปะสังคม เพื่อนๆ ที่เขามีอะไรที่เขาอยากจะให้การแนะนำในเรื่องของการทำงาน มันเป็นสังคมๆ หนึ่งของผู้สูงอายุ ฉะนั้น ตรงนี้ผู้สูงอายุหลายๆ คนที่ยังมีไฟ มีความคิด มีคุณค่าในเรื่องของงานอะไรก็แล้วแต่ ระบบข้าราชการก็เปลี่ยนระบบใหม่ เกษียณอายุ 65 ปี คนอายุ 60 ก็เป็นตัวชี้วัดให้สังคมลูกหลานมองเห็น ผู้สูงอายุยังแข็งแรงสามารถทำอะไรหลายๆ อย่างได้เยอะ”

ก็เยอะอย่างที่บอกกล่าว เนื่องจาก ณ ตอนนี้ผลงานชื่อเสียงของแบรนด์สองวัยใจเดียวกัน JAI ไม่ใช่เพียงผลิตภัณฑ์งานฝีมือในขอบเขตด้ามขวานประเทศไทย แต่ดังไกลไปถึงเวนิสแห่งเอเชียเมืองแฟชั่นระดับต้นๆ ในแถบภูมิภาคเอเชียที่ฮ่องกง กับทาง HKTDC ฮ่องกงในโครงการ ThaiAim 2018 โดยเป็นตัวแทน 1 ใน 20 แบรนด์ดีไซเนอร์เข้าร่วมโชว์ผลงานและประกวด ภายหลังจากเปิดตัวคอลเลกชันล่าสุดที่ตกผลึกทิศทางของตัวเองอย่างชัดเจนที่งาน TCDC Bangkok design week 2018

ณภัทร : “ก็ภูมิใจที่ได้เอาความรู้ความสามารถของคนไทยไปโชว์ และเป็นจุดหนึ่งที่สร้างกำลังใจให้แก่คนที่เคยสร้างคุณประโยชน์แก่เรา คนสูงวัยที่ทำให้ชาติเราก้าวมาเป็นแถวหน้าต้นๆ เอเชีย ซึ่งเราจะก้าวทำตรงนี้ได้ก็ต้องเริ่มจากตัวเองก่อน ปรับเปลี่ยนตัวเอง ผู้สูงอายุ ก็มีขึ้นๆ ลงๆ ด้วยสุขภาพด้วยอะไรด้วย แต่หนึ่งคือคนในครอบครัว นอกจากตัวเองต้องมีแพสชันที่เราอยากทำแล้วยอมที่จะเปลี่ยนแปลง พัฒนาตัวเองขึ้นมา คนในครอบครัวก็เป็นส่วนที่จะเปิดโอกาสให้ความสำคัญ พูดคุยกัน อันนี้ช่วยกันแล้วมันจะทำให้เกิดผลได้ เชื่อว่าผู้สูงอายุเองก็ต้องมีกลุ่มเพื่อนก๊วนแก๊งที่จะขยายและเชื่อมโยงความรู้ความสามารถประสบการณ์มันมีประโยชน์มหาศาล หากนำมาประยุกต์เข้ากับวิวัฒนาการของคนรุ่นเจเนอเรชันใหม่ในด้านใดด้านหนึ่ง

“ซึ่งหากยกตัวอย่างที่เห็นภาพคือแบรนด์ของเรา ตอนนี้พอเราตั้งขึ้นมาพอเป็นคุณพ่อ ศิลปินตอนนี้มีอาจารย์ผู้หญิงที่เพิ่งเกษียณ เพิ่มขึ้นมาอีกคนหนึ่ง เราก็อยากสร้างการรับรู้แรงบันดาลใจให้กับผู้สูงอายุ ถ่ายทอดให้เขามีกำลังใจ ให้เขารู้สึกว่ามีหวังในชีวิต ไม่ใช่ว่าฉันไม่มีคุณค่า พ่อไม่ได้เป็นศิลปินมาก่อน ไม่ได้ขายรูปได้เงินเป็นแสนบาท แต่วันนี้ท่านได้มานั่งพูดคุยกับสื่อ ได้มาถ่ายทอดให้คนวงกว้างได้เห็น ได้มีการจัดเวิร์คช็อปแลกเปลี่ยนความรู้ กับคนรุ่นใหม่ สิ่งทีเราอยากจะสร้างให้กับผู้สูงอายุสังคมไทย ก็คือการสร้างการรับรู้ให้กับผู้คนสูงอายุได้มีกำลังใจในการใช้ชีวิต

“ก้าวต่อไปทิศทางในอนาคตเป้าหมายเราคือทำอย่างไรให้ธุรกิจมันสามารถที่จะควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมได้ เรื่องแรกเรื่องบุคคลแบรนด์เราเน้นไปที่ผู้สูงอายุ ก็คือการเปิดโอกาส และพัฒนาผู้สูงอายุอย่างไรให้เขากลับมามีคุณค่าในสังคมและ มีกำลังใจอีกครั้ง เรื่องที่สองเรื่องมันจะเชื่อมโยงกัน คือวัตถุดิบในประเทศไทยที่เราจะเลือกมาพัฒนา อย่างคอลเลคชั่นล่าสุดเป็นผ้าไหม การออกแบบลวดลายมาจากเรื่องราวของตัวไหมที่เอามาเล่าเป็นเรื่องของพันธุ์ไหมอีรี่ ชื่อ ‘เส้นใยแห่งชีวิต’ จากที่ปีที่แล้วเป็นผ้าซาตินที่ราคาย่อมเยาเข้าถึงคนได้ง่าย

“ปีนี้เราเติบโตขึ้นเราก็ปรับให้มันมีความหลากหลายมากขึ้น ดูว่าวัตถุดิบในเมืองไทยมีใยอะไรอีกบ้าง ก็ได้เจอกับไหมสายชนิดนี้ ซึ่งเรื่องราวก็มาจากผู้สูงอายุที่เลี้ยงที่ภาคอีสาน เขาเรียก ‘ไหมอีรี่’ เอามาจากประเทศอินเดียโดยอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เนื่องเพราะว่ามันกินใบมันสำปะหลังได้ แล้วบ้านเรามีไร่มันสำปะหลังเยอะ แทนที่คนที่เขาทำไร่จะเผาทำลายทิ้งซึ่งก่อมลพิษ เอาใบมาเลี้ยงไหมแล้วก็ได้พันธุ์ไหม สตอรี่ก็จะเข้าถูกกับเรา ก็เป็นคอลเลคชั่นปีนี้

“เราก็เอาเรื่องราวเหล่านี้มาบอกมันเลี้ยงยังไง ตีโจทย์เป็นแอ็บสแตรก โทนสีที่ออกมาเป็นโทนเกี่ยวกับวงจารชีวิตไหม เช่นอาหารที่มันกิน ระยะตัวหนอน ไล่เป็น 3 วงจรที่กลายเป็นปรัชญาชีวิต ก่อนเกิด วัยตัวหนอน วัยที่เป็นผีเสื้อ แล้วก็ลากเข้าเป็นงานแอบส์แตร็กขึ้นมา เหมือนการวางธุรกิจก็เช่นเดียวกัน เราเน้นอยู่สองเรื่องอย่างที่บอก แล้วก็อยากให้เป้าหมายที่วางไว้ชัดเจนเลยก็คือ ใจเป็นเหมือนรูปแบบเป็นฮับ สถานที่ของผู้สูงอายุให้มารวมตัวกันแล้วก็มาสร้างพลังให้มันเข้มแข็ง และอีกเรื่องคือพอสร้างงานศิลปะ เราก็อยากนำพาศิลปะออกสู่ตลาดโลกสากล

“เพราะแบรนด์ JAI เกิดจาความตั้งใจ ความรักที่มีความผูกผันในครอบครัว เราอยากเห็นผลงานของคุณพ่อออกสู่สารธารณะให้เขาได้มีความภาคภูมิใจอีกครั้งหนึ่ง เพราะท่านเสียสละความชอบส่วนตัวเพื่อครอบครัว และเชื่อว่าหลายๆ ท่านคุณพ่อคุณแม่คุณปู่ย่าตายายเป็นแบบนี้ พ่อเองก็มองว่าเขาทำด้วยใจ ตั้งใจ พอถ่ายทอดผลงาน ลูกค้าเวลาเขาซื้อเขาก็ซื้อด้วยใจ มอบให้คนรักด้วยใจ เพื่อน ญาติ คนที่เขารัก ณ ตอนนี้คือแบรนด์ใจแข็งแรงขึ้น มีความชัดเจนในตัวตนตัวขึ้น ก็เหมือนใจที่ได้รับคุณค่าดูแลกันมา ก็เติบโตแข็งแรง”


สินค้าจะมีวางขายที่ Gaysorn Village /Ecotopia Siam Discovery / Seen Space Hua Hinหรือที่เว็บไซต์ www.jaicraftdesign.com / FB-IG: jai.craftdesign เบอร์ติดต่อ 094-226-9622
เรื่อง : รัชพล ธนศุทธิสกุล
ภาพ : วชิระ สายจำปา



กำลังโหลดความคิดเห็น