xs
xsm
sm
md
lg

“สหรัตนนคร” ร้อง ป.ป.ช.- ขอความเป็นธรรมนายกฯ กนอ.บีบยึดนิคมฯ มิชอบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“สหรัตนนคร” ร้อง ป.ป.ช. พร้อมยื่นขอความเป็นธรรมนายกฯ อีกรอบ กรณี กนอ. หาทางยึดนิคมฯ โดยมิชอบ ฉวยจังหวะช่วงน้ำท่วมเข้ากดดัน ยึดเงินประกันไปสร้างเขื่อนเอง หน่วงเหนี่ยวจ่ายเงินอุดหนุน จนขอให้ศาลพิทักษ์ทรัพย์นิคมฯ ได้สำเร็จ แล้วยึดเขื่อนดินไปฟรีๆ พร้อมยึดสาธารณูปโภคไปให้ “กัสโก้” บริหารโดยวิธีพิเศษ

วันนี้ (21 พ.ค.) บริษัท สหรัตนนคร จำกัด ผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร ออกเอกสารชี้แจงต่อสื่อมวลชน ว่า เกือบ 3 ทศวรรษของนิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร ชักนำการลงทุนจากต่างชาติ สร้างงานสร้างรายได้ให้ประชาชนในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และใกล้เคียง ในการกำกับดูแลของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) นิคมฯ ต้องฝ่าฟันปัญหาอุปสรรคมาตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 มาจนถูกน้ำท่วมเมื่อปี 2554 ในขณะที่หน่วยงานต่างๆ ช่วยกันฟื้นฟูเศรษฐกิจในทุกๆ ด้าน รัฐบาลมีนโยบายอุดหนุนเงินทุนและจัดหาเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้นิคมฯ ที่ได้รับความเสียหายแสนสาหัส สร้างเขื่อนเพื่อกอบกู้ความเชื่อมั่นของนักลงทุน

แต่กลับกลายเป็นว่า กนอ. ใช้เหตุจากที่น้ำท่วมเข้ากดดันนิคมฯ แห่งนี้ ทำแม้กระทั่งขอยึดเงินประกันภัยของนิคมฯ (ราว 30 ล้านบาท) ไปเพื่อจ่ายให้ กนอ. สร้างเขื่อนชั่วคราว แต่ไม่ยอมให้นิคมฯ ตรวจสอบการใช้เงินของเราเอง หน่วงเหนี่ยวการจ่ายเงินอุดหนุนตามนโยบายรัฐ ยื่นขอให้ศาลให้พิทักษ์ทรัพย์ผู้พัฒนานิคม ในที่สุดก็ลงท้ายด้วยการที่ กนอ.ยึดสาธารณูปโภคของนิคมฯ รวมทั้งยึดเขื่อนดินของนิคมฯ ที่เพิ่งก่อสร้างเสร็จไปฟรีๆ จนบัดนี้เป็นเวลาร่วม 2 ปีแล้วก็ยังไม่ได้สร้างต่อ

ส่วนสาธารณูปโภคของนิคมฯ ที่ กนอ. ยึดไปเป็นรายได้ ก็นำไปให้ GUSCO (บริษัท โกลบอล ยูทิลิตี้ เซอร์วิส จำกัด) บริหารโดยวิธีพิเศษ

บริษัท สหรัตนนคร จำกัด ผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร ได้นำปัญหากราบเรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีไปหลายครั้ง จนบัดนี้ก็ไม่มีการดำเนินการจากรัฐบาล นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้นำเรื่องเข้าร้องเรียนคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณา ในครั้งนี้บริษัทฯ จึงได้สรุปความเป็นมาและปัญหาความไม่เป็นธรรมที่บริษัทฯ ได้รับ ให้ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีรับทราบอีกครั้ง

ทั้งนี้ นิคมฯ สหรัตนนคร เป็นธุรกิจในเครือสหพัฒน์ เริ่มกิจการนี้ตั้งแต่ปี 2534 และประสบปัญหาจากวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 ส่งผลให้ต้องมีการฟื้นฟูกิจการ โดยศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งฟื้นฟูกิจการเมื่อ 10 กันยายน 2551 และได้บริษัท SCMB เข้ามาบริหารแผนเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2552

ในปี 2554 เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ นิคมสหรัตนนครถูกน้ำท่วมเมื่อ 4 ตุลาคม 2554 จากนั้น 15 พฤศจิกายน 2554 คณะรัฐมนตรีมีมติให้อุดหนุนเงิน 2 ใน 3 ของการสร้างเขื่อนผ่าน กนอ. ในช่วงเวลาดังกล่าวภายใต้การบริหารของ SCMB ได้ว่าจ้างบริษัททีมฯ ออกแบบระบบป้องกันน้ำท่วม

23 มีนาคม 2555 เจ้าหนี้มีมติให้เปลี่ยนผู้บริหารแผนจาก SCMB และเลือกผู้บริหารของสหรัตนนครเข้ามาทำหน้าที่แทนมีผล 4 กรกฎาคม 2555 วันรุ่งขึ้น 5 กรกฎาคม กนอ. โดยนายจักรรัฐ เลิศโอภาส รองผู้ว่าการฯ ส่งหนังสือตำหนินิคมฯ ว่าไม่ดูแลผู้ประกอบการ หลังจากที่เข้ารับงานได้เพียง 1 วัน

จากนั้นปัญหาในเรื่องการสร้างเขื่อนก็เริ่มขึ้นระหว่างทาง กนอ.และนิคมฯ ที่มีทั้งความเห็นไม่ตรงกันและมีปัญหาเรื่องการเบิกจ่ายเงินจาก กนอ.

ทั้งนี้ ทางบริษัท สหรัตนนคร ได้ตั้งข้อสังเกตหลายเรื่องในการประสานงานกับทาง กนอ. ทั้งการตัดสินใจต่างๆ ดำเนินการผ่านเพียงผู้บริหารของ กนอ.เท่านั้น ไม่มีการส่งเรื่องไปถึงบอร์ดบริหารของ กนอ. และที่ติดใจเป็นพิเศษคือการตัดบริษัทในฐานะผู้บริหารแผนออกจากการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา

นอกจากนี้ ยังพบความพยายามของ กนอ. ในการยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายให้สหรัตนนครออกจากแผนฟื้นฟูและพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเมื่อ 27 สิงหาคม 2558 แต่ศาลไม่รับคำร้อง สถานการณ์ยังคงไม่ดีขึ้น การทำเรื่องขอสินเชื่อกับสถาบันการเงินถูกปฏิเสธเนื่องจากยังอยู่ในแผนฟื้นฟูกิจการ

จนมาถึง 5 เมษายน 2559 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ในที่สุด











กำลังโหลดความคิดเห็น