xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 15-21 เม.ย.2561

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

คลิกที่นี่เพื่อฟังสรุปข่าวฯ

1.ปปป.ส่งสำนวนคดีเงินทอนวัดให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบ “พระผู้ใหญ่ 5 รูป” แล้ว ด้าน “บิ๊กตู่” ปรามพระอย่าปลุกม็อบ – “ผบ.ตร.” ลั่น ถ้าพระเลวต้องจับ!
พระชั้นผู้ใหญ่ 5 รูปที่ถูกแจ้งความดำเนินคดีเงินทอนวัด (ซ้ายบน) พระพรหมดิลก (ซ้ายล่าง) พระพรหมเมธี (ขวาบน) พระพรหมสิทธิ (ขวากลาง) พระเมธีสุทธิกร หรือ พระราชอุปเสณาภรณ์ (ขวาล่าง) พระวิจิตรธรรมาภรณ์ หรือ พระราชกิจจาภรณ์
ความคืบหน้าคดีเงินทอนวัดที่ พ.ต.ท.พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อตำรวจกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ(บก.ปปป.) ให้ดำเนินคดีผู้เกี่ยวข้องในคดีทุจริตเงินทอนวัดล็อตที่ 3 ในพื้นที่ กทม.จำนวน 3 วัด 4 คดี ซึ่งมีชื่อพระชั้นผู้ใหญ่เกี่ยวข้องด้วย 5 รูป ได้แก่ 1.พระพรหมดิลก(เอื้อน หาสธมฺโม) เจ้าอาวาสวัดสามพระยา กรรมการมหาเถรสมาคม(มส.) และเจ้าคณะกรุงเทพมหานคร 2.พระพรหมเมธี(จำนงค์ ธมฺมจารี) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศาราม กรรมการ มส. และเจ้าคณะภาค 4-7 3.พระพรหมสิทธิ(ธงชัย สุขญาโณ) เจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร กรรมการ มส.และเจ้าคณะภาค 10 4.พระเมธีสุทธิกร(สังคม ญาณฑฺฒโน) ปัจจุบันเลื่อนสมณศักดิ์เป็น พระราชอุปเสณาภรณ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศฯ และ 5.พระวิจิตรธรรมาภรณ์ ปัจจุบันเลื่อนสมณศักดิ์เป็น พระราชกิจจาภรณ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศฯ โดยแจ้งความดำเนินคดีฐานกระทำผิดอาญาคดีทุจริตเงินอุดหนุนการศึกษา โรงเรียนพระปริยัติธรรมนั้น

เมื่อวันที่ 16 เม.ย. พล.ต.ต.กมล เหรียญราชา ผบก.ปปป.เผยว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่ บก.ปปป. ได้ส่งสำนวนทั้งหมด 4 สำนวน ที่มีพระชั้นผู้ใหญ่เกี่ยวข้อง 5 รูป ไปให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) แล้วเมื่อวันที่ 11 เม.ย. ดังนั้นอำนาจการสอบสวนอยู่ในความรับผิดชอบของ ป.ป.ช.ที่จะต้องตรวจสอบเรื่องทุจริตต่อไป ส่วนการฟอกเงินเป็นหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.)

ด้านนายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการ ป.ป.ช.เผยว่า ก่อนหน้านี้ ปปป.ได้ส่งสำนวนคดีทุจริตเงินทอนวัดมายัง ป.ป.ช.แล้ว 34 เรื่อง มีการแต่งตั้งอนุกรรมการไต่สวนไปแล้ว 11 เรื่อง อยู่ระหว่างการแสวงหาข้อเท็จจริงอีก 23 เรื่อง ส่วนเรื่องใหม่ที่เพิ่งส่งเข้ามาเมื่อวันที่ 11 เม.ย. ที่เกี่ยวข้องกับ 3-4 วัดดังใน กทม. ทางคณะกรรมการให้ความสนใจ และในฐานะเลขาธิการ ป.ป.ช. ได้มอบหมายให้สำนักไต่สวนภาครัฐ 1 เข้าไปตรวจสอบเรื่องนี้ โดยตั้งเป็นคณะทำงานแสวงหาข้อเท็จจริง ถือเป็นขั้นตอนแรกของการทำงาน คือการตรวจรับคำกล่าวหา

เป็นที่น่าสังเกตว่า หลัง ปปป.ส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบคดีทุจริตเงินทอนวัดที่มีพระชั้นผู้ใหญ่ 5 รูปเกี่ยวข้อง ปรากฏว่า มีข่าวว่า อาจมีการปลุกม็อบพระให้ต่อต้านการตรวจสอบครั้งนี้ ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่วัดสามพระยา ที่มีพระพรหมดิลกเป็นเจ้าอาวาส และเป็นกรรมการมหาเถรสมาคม(มส.) รวมถึงเป็นเจ้าคณะกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็น 1 ใน 5 พระชั้นผู้ใหญ่ที่จะถูกตรวจสอบ ได้เรียกประชุมพระสังฆาธิการระดับเจ้าอาวาส รองเจ้าอาวาส และผู้ช่วยเจ้าอาวาสในเขตปกครองคณะสงฆ์กรุงเทพมหานครในวันที่ 19-20 เม.ย. ร้อนถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ต้องออกมาปรามเพื่อไม่ให้พระสงฆ์เคลื่อนไหวปลุกม็อบ “ที่เป็นห่วงคือ พระสงฆ์กลุ่มต่างๆ ที่ต้องขอให้อยู่ในความสงบเรียบร้อย เพราะจะทำให้ความชัดเจนเกิดขึ้น อีกทั้งการออกมาเคลื่อนไหวนั้น ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์อะไรเลย เนื่องจากพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่คนไทยร้อยละ 90 นับถือ จะดำเนินการไปตามหลักฐานทั้งวัตถุพยาน และพยานบุคคลที่ปรากฏ เช่นเดียวกับความผิดกรณีอื่น”

เป็นที่น่าสังเกตอีกว่า เมื่อวันที่ 19 เม.ย. ซึ่งเป็นวันที่ พ.ต.ท.พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ ผู้อำนวยการ พศ. ได้นัดหมายกับตำรวจ ปปป.ว่าจะเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษคดีทุจริตเงินทอนวัดล็อต 3 ที่เหลืออีก 7 วัด ปรากฏว่า เมื่อถึงกำหนด พ.ต.ท.พงศ์พร ไม่ได้เข้าร้องทุกข์แต่อย่างใด โดยให้เหตุผลว่าติดภารกิจด่วน โดยไม่ได้นัดหมายวันใหม่แต่อย่างใด

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 20 เม.ย. สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้เป็นประธานการประชุมกรรมการมหาเถรสมาคม(มส.) โดยมีกรรมการ มส. ร่วมประชุม 18 รูป ซึ่งที่ประชุมมีมติให้ พ.ต.ท.พงศ์พร ชี้แจงกรณีแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับเครือข่ายทุจริตเงินทอนวัด โดยเฉพาะในล็อตที่ 3 ที่มีพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ 5 รูป ถูกแจ้งความกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำผิด

ซึ่งต่อมา พ.ต.ท.พงศ์พร แถลงว่า ที่ประชุม มส.ได้มอบหมายให้ชี้แจงทำความเข้าใจกับสื่อมวลชนเพียงสั้น ๆ ว่า ในที่ประชุมไม่ได้มีการพูดคุยหรือสอบถามประเด็นการทุจริตเงินทอนวัดล็อตที่ 3 แต่อย่างใด และว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นยังอยู่ระหว่างการดำเนินตามกระบวนการทางกฎหมาย โดยในการร้องทุกข์กล่าวโทษเจ้าหน้าที่และพระ เป็นการกล่าวหาตามหน้าที่ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจมีข้อมูล ไม่ได้มีอคติ และการร้องทุกข์กล่าวโทษไม่ได้ทำให้ผู้ถูกกล่าวหา ทั้งเจ้าหน้าที่หรือพระ เป็นผู้กระทำผิดในทันที เนื่องจากขณะนี้อยู่ในชั้นการสอบสวนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่ง ป.ป.ช. อยู่ระหว่างดำเนินการไต่สวนและวินิจฉัย อีกทั้งยังไม่มีความเห็นลงมา จึงยังไม่มีพยานหลักฐานพิสูจน์ว่าใครผิดใครถูก พร้อมย้ำว่า ขณะนี้ยังไม่มีผู้กระทำผิด จนกว่าจะมีคำพิพากษาของศาล

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษกับอีก 7 วัดที่เหลือวันใด หลังจากมีการเลื่อนเข้าพบพนักงานสอบสวนเมื่อวันที่ 19 เม.ย. พ.ต.ท.พงศ์พรเลี่ยงที่จะตอบคำถาม พร้อมขอให้ไปสอบถามตำรวจ ปปป. และ ป.ป.ช.

ด้าน พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) กล่าวถึงกรณีที่ผู้อำนวยการ พศ. แจ้งความร้องทุกข์ต่อ บก.ปปป. ให้ดำเนินคดีพระชั้นผู้ใหญ่ 5 รูป ในคดีทุจริตเงินทอนวัดว่า ทราบว่าทาง บก.ปปป.ส่งสำนวนไปยัง ป.ป.ช. แล้ว ตั้งแต่วันที่ 11 เม.ย. ผู้สื่อข่าวถามว่า มีข่าวว่าจะมีม็อบพระเพราะมีการกล่าวหาพระชั้นผู้ใหญ่ พล.ต.อ.จักรทิพย์กล่าวว่า ม็อบพระก็ต้องมีการบังคับใช้กฎหมายอยู่แล้ว ตนไม่เห็นกฎหมายห้ามจับพระ ทำคดีไม่กังวล กังวลถ้าดำเนินคดีกับพระดี แต่พระไม่ดี พระเลว ก็ไม่เห็นมีอะไร

เมื่อถามว่า หนักใจหรือไม่ดำเนินคดีกับพระผู้ใหญ่ทั้งนั้น พล.ต.อ.จักรทิพย์กล่าวว่า ต้องถามพระหนักใจหรือเปล่า ไปทำอะไรมา ถ้าไม่ทำอะไรมาก็ไม่ต้องหนักใจ ตนไม่หนักใจเลย เพราะบังคับใช้กฎหมายอย่างเดียว ทาง บก.ปปป.รายงานผลการสืบสวนสอบสวนว่าพบอะไรบ้าง แต่ตนไม่บอก ก็มั่นใจ บก.ปปป.ดำเนินการในกรอบกฎหมายอยู่แล้ว

2.สนช. โหวตคว่ำ 14 ว่าที่ กสทช. ชี้ขาดคุณสมบัติกว่าครึ่ง หากเลือกไป อาจมีปัญหาภายหลัง!
4 ใน 14 ว่าที่ กสทช.ที่ถูก สนช.โหวตคว่ำ (บนซ้าย) นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร  (บนขวา) นพ.สุริยเดว ทรีปาตี (ล่างซ้าย) นายณรงค์ เขียดเดช (ล่างขวา) นายวสันต์ ภัยหลีกลี้
เมื่อวันที่ 19 เม.ย. ได้มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อพิจารณาผู้สมควรได้รับเลือกเป็นกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ตามที่คณะกรรมการสรรหาฯ ที่มี พล.อ.อู้ด เบื้องบน เป็นประธาน เสนอมาให้ สนช. พิจารณา
สำหรับบุคคลที่ผ่านการสรรหาให้ดำรงตำแหน่ง กสทช. และให้ สนช.ลงมติเลือกให้เหลือด้านละ 1 คน ประกอบด้วย 1.ด้านกิจการกระจายเสียง ได้แก่ พ.อ.กฤษฎา เทอดพงษ์ และนายธนกร ศรีสุขใส 2.ด้านกิจการโทรทัศน์ ได้แก่ นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ และ พล.อ.มังกร โกสินทรเสนีย์ 3.ด้านกิจการโทรคมนาคม ได้แก่ นายอธิคม ฤกษบุตร และนายกิตติศักดิ์ ศรีประเสริฐ 4.ด้านวิศวกรรม ได้แก่ พล.อ.ต.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ และ พ.อ.อนุรัตน์ อินกัน 5.ด้านกฎหมาย ได้แก่ นายมนูภาน ยศธแสนย์ และ นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร 6.ด้านเศรษฐศาสตร์ ได้แก่ ผศ.ภักดี มะนะเวศ และ นายณรงค์ เขียดเดช 7.ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ ด้านการส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ได้แก่ นพ.สุริยเดว ทรีปาตี และนายวรรณชัย สุวรรณกาญจน์

ทั้งนี้ หลังประชุมลับนานประมาณ 5 ชั่วโมง นายสมชาย แสวงการ สมาชิก สนช.และเลขานุการวิป สนช. ได้อภิปรายว่า จากการรับฟังรายงานของคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติและพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้สมควรได้รับเลือกเป็นกรรมการ กสทช. พบว่า มีปัญหาด้านคุณสมบัติและความประพฤติ 8 คน ซึ่งอาจขัดกับมาตรา 7 ของ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 ซึ่งกำหนดลักษณะต้องห้ามว่า กสทช.ต้องไม่เป็นหรือเคยเป็นกรรมการ ผู้จัดการ ผู้บริหาร ที่ปรึกษา พนักงาน ผู้ถือหุ้นหรือหุ้นส่วนในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนหรือนิติบุคคลอื่นใดที่ประกอบธุรกิจด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์หรือกิจการโทรคมนาคม ในระยะเวลา 1 ปีก่อนได้รับคัดเลือก

นายสมชาย กล่าวอีกว่า สนช.ได้รับบัญชีรายชื่อบุคคลให้ดำรงตำแหน่ง กสทช.ในแต่ละด้านมาจำนวน 2 เท่าก็จริง แต่เมื่อพบว่ามีบุคคลที่คุณสมบัติไม่ครบและมีลักษณะต้องห้าม จึงมีประเด็นว่า บัญชีรายชื่อที่คณะกรรมการสรรหาเสนอมานั้นมีจำนวน 2 เท่าตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ ซึ่งถ้า สนช.ลงมติเลือกไป อาจมีปัญหาในทางกฎหมายได้ จึงขอให้ สนช.ลงมติเพื่อไม่เลือกบุคคลตามบัญชีรายชื่อที่คณะกรรมการสรรหาเสนอ เพื่อให้คณะกรรมการสรรหากลับไปแก้ไขข้อบกพร่อง ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 17 วรรคสองของกฎหมายที่กำหนดไว้ว่า ถ้า สนช.ไม่สามารถเลือก กสทช.ได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับบัญชีรายชื่อ ให้คณะกรรมการดำเนินการสรรหาเพิ่มเติมต่อไป

ขณะที่นายตวง อันทะไชย สมาชิก สนช.อภิปรายแย้งว่า เมื่อคณะกรรมการสรรหาได้เสนอบัญชีรายชื่อบุคคลที่สมควรได้รับเลือกเป็นกรรมการ กสทช. สนช.ก็ควรดำเนินการเลือกตามมาตรา 16 และมาตรา 17 ของ พ.ร.บ.ดังกล่าว อีกทั้ง สนช.ไม่มีหน้าที่ในการไปวินิจฉัยว่า ใครมีคุณสมบัติครบหรือไม่ เพราะบัญชีรายชื่อที่ สนช.ได้รับมานั้น ได้ผ่านกระบวนการคัดกรองมาแล้วชั้นหนึ่งจากคณะกรรมการสรรหา หากสมาชิก สนช.คนใดคิดว่าบุคคลดังกล่าวไม่เหมาะสมกับตำแหน่ง กสทช.ก็ใช้สิทธิในการลงคะแนนทางใดทางหนึ่งต่อไป

ทั้งนี้ หลังการอภิปราย ที่ประชุมได้มีการลงมติว่า เห็นด้วยกับการไม่เลือกรายชื่อ กสทช. ที่คณะกรรมการสรรหาเสนอมาหรือไม่ ซึ่งที่ประชุมมติเห็นด้วยไม่เลือกรายชื่อที่เสนอมา 118 เสียง ไม่เห็นด้วย 25 เสียง และงดออกเสียง 20 เสียง

เป็นที่น่าสังเกตว่า วันเดียวกัน ที่ประชุม สนช.ได้มีมติไม่เห็นชอบนางภรณี ลีนุตพงษ์ รองประธานผู้พิพากษาสมทบฝ่ายบริหาร ศาลเยาวชนและครอบครัว จ.นนทบุรี ที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยที่ประชุมมีมติไม่เห็นชอบ 117 เสียง เห็นชอบ 64 เสียง และงดออกเสียง 19 เสียง โดยรายงานแจ้งว่า เหตุผลที่นางภรณีไม่ได้รับความเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดิน เนื่องจากมีคุณสมบัติขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 202 ว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ที่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษณ์ และมีสุขภาพที่ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

3.ครม.ตั้ง “สนธยา” นั่งกุนซือนายกฯ- “อิทธิพล” นั่ง ผช.รมต. ด้าน ปชป.ซัดปูทาง “บิ๊กตู่” นั่งนายกฯ อีกรอบ!
(ซ้าย) นายสนธยา คุณปลื้ม (ขวา) นายอิทธิพล คุณปลื้ม
เมื่อวันที่ 17 เม.ย. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เผยหลังประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่า ที่ประชุมมีมติแต่งตั้งนายสนธยา คุณปลื้ม หัวหน้าพรรคพลังชล เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีด้านการเมือง และแต่งตั้งนายอิทธิพล คุณปลื้ม อดีตนายกเทศมนตรีเมืองพัทยา เป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา พร้อมย้ำว่า เป็นการแต่งตั้งตามขั้นตอน ในฐานะหัวหน้า ครม.เป็นผู้อนุมัติให้นำเข้าที่ประชุม ครม.ก่อนมีมติออกมา คนเสนอคือ เจ้ากระทรวงและรองนายกฯ ที่เสนอขึ้นมา เมื่อตรวจสอบคุณสมบัติแล้วผ่าน ไม่ติดอะไรต่างๆ ครม.ก็อนุมัติ

ผู้สื่อข่าวถามว่า คุณสมบัติอะไรที่เหมาะสม จึงทำให้มีการแต่งตั้ง พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า สื่อเอาอะไรมาวัดว่าเหมาะสมไม่เหมาะสม สื่อเป็นผู้ประเมินผลหรือไม่ ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า เป็นการสะท้อนอนาคตพรรคพลังชลที่จะเข้าร่วมรัฐบาลหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า “รัฐบาลใคร ยังไม่ตั้งรัฐบาลเลย”

ด้านนายสนธยา คุณปลื้ม หัวหน้าพรรคพลังชล และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวถึงกรณีได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษานายกฯ ด้านการเมืองว่า การรับตำแหน่งดังกล่าว เพราะคิดว่าจะทำประโยชน์ให้สังคมและประเทศชาติได้ ซึ่งเป้าหมายที่เข้ามา เพื่อผลักดันโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) โดยจะเป็นตัวกลางในการผลักดันให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งตนทราบปัญหาของคนในพื้นที่ เมื่อรัฐบาลเห็นตนเป็นคนในพื้นที่ ใกล้ชิดประชาชน ก็พร้อมจะรับตำแหน่ง ส่วนจะเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการเมื่อใดนั้น ต้องขอดูประกาศแต่งตั้งที่ชัดเจนก่อน

ผู้สื่อข่าวถามว่า หลายฝ่ายสงสัยว่า การรับตำแหน่งครั้งนี้ เพื่อปูทางอนาคตในการร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐหรือไม่ นายสนธยากล่าวว่า ไม่อยากให้หลายฝ่ายมองเป็นเรื่องการเมือง ยืนยันว่า การรับตำแหน่งนี้ เพื่อทำประโยชน์ให้พื้นที่และสังคม และเวลานี้ ตัวเองก็ยังเป็นหัวหน้าพรรคพลังชล ยืนยันสถานะสมาชิกภาพไปเรียบร้อยแล้ว

สำหรับท่าทีของนักการเมืองต่อกรณีที่รัฐบาลตั้งนายสนธยาเป็นที่ปรึกษานายกฯ นั้น คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวหลังเปิดบ้านให้อดีต ส.ส.รดน้ำอวยพรเนื่องในเทศกาลสงกรานต์เมื่อวันที่ 18 เม.ย.ว่า มีความชัดเจนอยู่แล้วว่า พล.อ.ประยุทธ์จะเข้ามาสู่การเมืองและปรารถนาที่จะเป็นนายกฯ ต่อ

ส่วนท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์นั้น นายสาธิต ปิตุเตชะ รองหัวหน้าพรรคมองว่า นายกฯ ทำเพื่อแก้ปัญหาของตัวเอง ไม่ได้แก้ปัญหาของประชาชน “การแต่งตั้งบุคคลทั้งสอง จะไปโทษตระกูลคุณปลื้มไม่ได้ ต้องโทษคนตั้งที่มีเป้าหมายพิเศษ เพื่อเป็นฐานการเมืองของตัวเองในการกลับมาเป็นนายกฯ อีกรอบ”

ทั้งนี้ เมื่อวันที่18 เม.ย. มีความเคลื่อนไหวของพรรคเพื่อไทยที่หลายฝ่ายจับตา คือ แกนนำพรรคเพื่อไทย นำโดยนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ พร้อมแกนนำพรรคกว่า 20 คน ได้ไปออกรอบตีกอล์ฟกับอดีต ส.ส.ของตระกูลสะสมทรัพย์ ที่สนามกอล์ฟนิกันติ จ.นครปฐม ของตระกูลสะสมทรัพย์ โดยมีนายไชยยศ สะสมทรัพย์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และนายอนุชา สะสมทรัพย์ อดีต ส.ส.นครปฐม พรรคเพื่อไทย ให้การต้อนรับ

มีรายงานว่า ระหว่างพูดคุยส่วนตัว นายสมชายและนายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ได้เอ่ยปากชวนนายไชยยศไปอยู่พรรคเพื่อไทยด้วยกัน ซึ่งนายไชยยศได้แต่หัวเราะ โดยไม่ตอบรับหรือปฏิเสธ ส่วนนายไชยาและนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์นั้น มีรายงานว่า นายไชยาอยู่ระหว่างรักษาตัว ขณะที่นายเผดิมชัย ติดภารกิจไปต่างประเทศ

ด้านนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ยืนยันว่า การมาตีกอล์ฟที่สนามนิกันติ ไม่ได้คุยเรื่องการเมือง และไม่ได้มาจีบตระกูลสะสมทรัพย์ เพราะทุกคนมีวุฒิภาวะ มีวิจารณญาณว่าจะทำงานการเมืองกันอย่างไร “เราไม่ขอก้าวก่าย และไม่เกี่ยวข้องกับการยืนยันสมาชิก เพราะเลขาธิการเคยประกาศให้มายืนยันสมาชิกแล้ว ยังมีเวลาถึงวันที่ 30 เม.ย. ซึ่งคนที่ยังไม่ได้ยืนยัน ก็สามารถสมัครใหม่ได้ ส่วนคนที่ยืนยันแล้วก็สามารถลาออกไปพรรคอื่นได้ จนกว่าจะถึงการเลือกตั้ง”

ส่วนท่าทีของนายไชยยศและนายอนุชา สะสมทรัพย์ นั้น นายอนุชากล่าวถึงการมาออกรอบตีกอล์ฟของแกนนำพรรคเพื่อไทยว่า สนามกอล์ฟนี้เปิดรับทุกคน ในฐานะเจ้าของสนามก็ให้การต้อนรับทุกคน เหมือนเช่นกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช.เดินทางมาก่อนหน้านี้ ผู้สื่อข่าวถามถึงการยืนยันความเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย นายอนุชากล่าวสั้นๆ ว่า “เมื่อชาติต้องการ”

ขณะที่นายไชยยศกล่าวถึงจุดยืนทางการเมืองของตระกูลสะสมทรัพย์ว่า พวกเราเป็นผู้อาสามาบริหารประเทศเพื่อประชาชน ต้องถามประชาชนว่าจะให้ไปอยู่ที่ไหน และว่า ที่ผ่านมา จากการฟังเสียงประชาชน ก็มีทั้ง 2 ทาง คือให้อยู่กับทั้ง คสช.และอยู่กับพรรคเพื่อไทย แต่สุดท้ายการเมืองก็คืออนัตตา ไม่อยู่ภายใต้การบังคับของใคร แต่ก็ต้องฟังเสียงประชาชนด้วย “ผมเคยถูกตัดสิทธิทางการเมืองไปแล้ว และยังไม่ได้สมัครสมาชิกพรรคใด ถึงวันที่เปิดรับสมัคร ก็จะได้รู้ว่าผมจะไปหรือไม่ ตอนนี้ขออยู่กับตัวเองก่อน”

4.ศาลอุทธรณ์คดีทุจริตฯ พิพากษาจำคุก “ปลอดประสพ” 2 ปี ไม่รอลงอาญา ฐานใช้อำนาจกลั่นแกล้งโยกย้าย ขรก.มิชอบ ให้ชดใช้ 1.4 ล้าน!
(ซ้าย) นายปลอดประสพ สุรัสวดี อายุ 73 ปี อดีตปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ซ้าย) นายวิฑูรย์ ชลายนนาวิน อดีตผู้อำนวยการสำนัก(นักวิชาการป่าไม้ 9)
เมื่อวันที่ 17 เม.ย. ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีที่นายวิฑูรย์ ชลายนนาวิน อดีตผู้อำนวยการสำนัก(นักวิชาการป่าไม้ 9) อดีตรองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายปลอดประสพ สุรัสวดี อายุ 73 ปี อดีตปลัด ทส. เป็นจำเลย ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่า ระหว่างวันที่ 1 ต.ค.2546-12 พ.ย.2554 จำเลย ขณะดำรงตำแหน่งปลัด ทส.ได้ยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งโจทก์ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนัก (นักวิชาการป่าไม้ 9) ซึ่งเป็นการใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบ และให้นายดำรง์ พิเดช รักษาการอธิบดีกรมป่าไม้ในขณะนั้น ย้ายโจทก์ไปดำรงตำแหน่งป่าไม้จังหวัดอำนาจเจริญ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ต่ำกว่าเดิม เนื่องจากจำเลยมีสาเหตุโกรธเคืองกับโจทก์เป็นการส่วนตัว ซึ่งการกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงขอให้ศาลลงโทษจำเลยและให้ชดใช้ค่าเสียหาย 2 ล้านบาท

ซึ่งคดีนี้ ศาลอาญาแผนกคดีทุจริตฯ ซึ่งเป็นศาลชั้นต้น พิจารณาแล้วเห็นว่า โจทก์มีคุณสมบัติที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้บริหาร การที่จำเลยมีคำสั่งไม่แต่งตั้งโจทก์ให้เลื่อนชั้นเป็นข้าราชการระดับ 9 นั้น ถือว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อกลั่นแกล้งโจทก์ให้ได้รับความเสียหาย จำเลยจึงมีความผิดตามฟ้องจริง พิพากษาจำคุกจำเลย 1 ปี ปรับ 20,000 บาท โดยโทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี และให้จำเลยชดใข้ค่าเสียหายแก่โจทก์ 1.4 ล้านบาท

ทั้งนี้ ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตฯ ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้วเห็นว่า การที่จำเลยแต่งตั้งนายดำรงค์เป็นอธิบดีกรมป่าไม้ และสั่งให้นายดำรงค์ย้ายโจทก์ ซึ่งเป็นผู้อำนวยการระดับ 9 ไปดำรงตำแหน่งป่าไม้จังหวัดอำนาจเจริญ ซึ่งเป็นระดับ 8 จำเลยย่อมทราบดีว่าเป็นการลดตำแหน่งโจทก์ โดยให้เหตุผลว่า โจทก์มีพฤติการณ์ก่อกวนการทำงาน ไม่ปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งข้ออ้างดังกล่าวยังไม่มีการสอบวินัยการกระทำของโจทก์ จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเกิดความเสียหายแก่โจทก์

ศาลอุทธรณ์ฯ ยังเชื่อด้วยว่า การกระทำของจำเลยมีการวางแผนมาก่อน เพราะมีการแต่งตั้งนายดำรงค์อย่างรวดเร็ว และก่อนจะมีคำสั่งย้ายโจทก์ นายดำรงค์ได้ขอความเห็นจากจำเลยก่อน ประกอบกับข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์และจำเลยต่างกล่าวหาฟ้องคดีกันในศาลยุติธรรมหลายคดี จึงน่าเชื่อว่า จำเลยมีสาเหตุโกรธเคืองโจทก์มาก่อน การกระทำของจำเลยจึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่มิชอบ จำเลยกระทำผิดตามฟ้อง แต่เนื่องจากศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจำเลยในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 84 ซึ่งศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วย จึงพิพากษาแก้เป็น จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 84 อีกกรรมหนึ่ง ซึ่งการกระทำเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป จำคุกกระทงละ 1 ปี รวม 2 กระทง เป็นจำคุก 2 ปี และไม่รอการลงโทษ นอกจากที่แก้ ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

สำหรับเหตุผลที่ศาลอุทธรณ์ฯ เห็นควรไม่รอการลงโทษจำเลย เนื่องจากการกระทำของจำเลยทำให้โจทก์เสียหาย ขาดโอกาสในการได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่สูงขึ้นอีก ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่สามารถชดเชยแก่โจทก์ได้ นอกจากนี้การที่จำเลยแต่งตั้งนายดำรงค์มาดำรงตำแหน่งซ้อนกับที่โจทก์ได้รับแต่งตั้งโดยชอบด้วยกฎหมาย ทำให้อาจเกิดปัญหาว่า การปฏิบัติราชการของนายดำรงค์ในการออกคำสั่งของกรมป่าไม้ มีความถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ จึงอาจเกิดความเสียหายต่อราชการ การกระทำของจำเลยจึงถือว่าเป็นความผิดร้ายแรง ไม่สมควรรอการลงโทษ

ทั้งนี้ หลังศาลมีคำพิพากษา นายปลอดประสพได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างฎีกา ด้านศาลอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว โดยตีราคาประกัน 400,000 บาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกประเทศ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล

5.อัยการส่งคดีหวย 30 ล้านคืน ตร. ชี้ ต้องให้ ป.ป.ช.พิจารณา ด้าน ป.ป.ช.รับเรื่องแล้ว จะรีบดำเนินการโดยด่วน!
(ซ้าย) นางรัตนาพร สุภาทิพย์ หรือเจ๊บ้าบิ่น แม่ค้าที่อ้างว่าขายล็อตเตอรี่ที่ถูกรางวัลที่ 1 ให้ครูปรีชา (ขวา) นายปรีชา ใคร่ครวญ ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนเทพมงคลรังษี จ.กาญจนบุรี
ความคืบหน้าคดีหวย 30 ล้านที่พนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปรามส่งสำนวนคดีอาญา 2 สำนวน คือสำนวนที่ ร.ต.ท.จรูญ วิมูล อดีตตำรวจ กล่าวหานายปรีชา ใคร่ครวญ ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนเทพมงคลรังษี จ.กาญจนบุรี และนางรัตนาพร สุภาทิพย์ หรือเจ๊บ้าบิ่น แม่ค้าที่อ้างว่าขายล็อตเตอรี่ที่ถูกรางวัลที่ 1 ให้ครูปรีชา ในความผิดร่วมกันแจ้งความเท็จ และอีกสำนวนคือ กรณีที่ครูปรีชา กล่าวหาหมวดจรูญ ในความผิดลักทรัพย์หรือยักยอกทรัพย์สิ่งของตกหล่น หรือรับของโจรนั้น

เมื่อวันที่ 18 เม.ย. นายพิทักษ์ อบสุวรรณ อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญา และนายธรัมพ์ ชาลีจันทร์ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด พร้อมคณะ ได้เปิดแถลงว่า นายปรีชาและนางรัตนาพร นอกจากเป็นผู้ต้องหาคดีร่วมกันแจ้งความเท็จแล้ว ยังเป็นผู้ถูกกล่าวหาในคดีร่วมกันสนับสนุนเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติหน้าที่มิชอบในคดีที่มีการกล่าวหา พล.ต.ต.สุทธิ พวงพิกุล อดีต ผบก.ภ.จว.กาญจนบุรี ด้วย ซึ่งคณะทำงานอัยการพิจารณาพฤติการณ์และข้อกฎหมายแล้วเห็นว่า ทั้ง 2 คดีเกี่ยวพันเป็นเรื่องเดียวกัน ซึ่งอยู่ในอำนาจการพิจารณาของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) คณะทำงานอัยการจึงมีความเห็นให้คืนเรื่องนี้ให้พนักงานสอบสวนนำสำนวนไปดำเนินการต่อไป

ทั้งนี้ มีรายงานว่า คดีที่พนักงานสอบสวนส่งสำนวนเห็นควรไม่ฟ้องหมวดจรูญนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะทำงานอัยการ

ด้าน พ.ต.อ.สุวัฒน์ แสงนุ่ม รอง ผบก.ป. เผยว่า ทางกองปราบฯ ได้รับสำนวนคืนจากอัยการเมื่อวันที่ 17 เม.ย. และส่งสำนวนต่อไปให้ ป.ป.ช.พิจารณาชี้มูลความผิดแล้ว หากมีคำพิพากษาว่า ผู้ต้องหาผิดจริง จะได้รับโทษหนักกว่าเดิม

ขณะที่ครูปรีชากล่าวว่า ต้องขอขอบคุณสำนักงานอัยการสูงสุด เจ้าหน้าที่ตำรวจและอีกหลายหน่วยงานที่เข้ามาดูแลคดีนี้ พร้อมเชื่อ กระบวนการยุติธรรมจะให้ความเป็นธรรมกับตนได้

ด้านนายสุชพงศ์ บุญเสริม ทนายความของเจ๊บ้าบิ่น กล่าวว่า เห็นด้วยกับความเห็นของอัยการ เนื่องจากทั้ง 2 คดี ถือเป็นเรื่องเดียวกัน จึงไม่ควรแยกฟ้อง

วันต่อมา 19 เม.ย. นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการ ป.ป.ช. เผยว่า สำนักงาน ป.ป.ช.ได้มอบหมายให้สำนักไต่สวนภาครัฐ 1 รับสำนวนคดีจากพนักงานสอบสวนไปดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไปแล้ว โดยให้ไปรวมพิจารณากับเรื่องที่กองปราบปรามส่งมาให้ก่อนหน้านี้ และว่า เรื่องนี้สาธารณชนให้ความสนใจ จึงได้สั่งการไปแล้วว่า ให้ดำเนินการโดยด่วน


กำลังโหลดความคิดเห็น