xs
xsm
sm
md
lg

“มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค” เตือนซื้อโรตีสายไหมอยุธยา ระวังสารกันบูดเกินมาตรฐาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค” ตรวจโรตีสายไหมอยุธยา 10 ตัวอย่าง พบมีสารกันบูดทุกยี่ห้อ เกินมาตรฐานถึง 4 ยี่ห้อ เตือนเลือกให้ดีก่อนซื้อ

เมื่อวันที่ 4 เม.ย. 61 ที่ผ่านมา นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ร่วมมือกับเครือข่ายผู้บริโภคสี่ภูมิภาค ได้จัดงานแถลงข่าวผลทดสอบ “ผลิตภัณฑ์ของฝาก-ของดีจาก 4 ภาค” หนึ่งในนั้นคือ “โรตีสายไหม” เพื่อเฝ้าระวังความปลอดภัยและยกระดับมาตรฐานสินค้า ด้านอาหารให้กับผู้บริโภค

ผลการทดสอบพบว่า “แผ่นแป้งโรตีสายไหมจากภาคกลาง” ที่นำมาทดสอบจำนวน 10 ตัวอย่าง จาก จ. พระนครศรีอยุธยา มีการตกค้างของสารกันบูด หรือกรดเบนโซอิกทั้งหมด

โดย 6 ตัวอย่างอยู่ในเกณฑ์ปลอดภัย ตามที่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 381 พ.ศ. 2559 เรื่องวัตถุเจือปนอาหาร (ฉบับที่ 4) สำหรับอาหารประเภทธัญชาติและผลิตภัณฑ์ธัญชาติ กำหนดไว้คือ พบปริมาณกรดเบนโซอิกได้ ไม่เกิน 1,000 มก./อาหาร 1 กก. ได้แก่

1. ร้านอาบีดีน + ประนอม แสงอรุณ พบ 23.96 มก./กก.

2. ร้านวริศรา โรตีสายไหม พบ 671.45 มก./กก.

3. ร้านโรตีสายไหมบังแป๊ะ พบ 686.56 มก./กก.

4. ร้านโรตีสายไหม ไคโร น้องชายบังอิมรอน พบ 708.64 มก./กก.

5. ร้านจ๊ะโอ๋ พบ 887.62 มก./กก. และ

6. ร้านประวีร์วัณณ์ พบ 985.84 มก./กก.

อย่างไรก็ตามพบว่า มีแผ่นแป้งโรตีสายไหม 4 ตัวอย่าง ที่มีกรดเบนโซอิกตกค้างเกินมาตรฐาน ได้แก่

1. โรตีสายไหม ร้านศิลัคข บังอารีย์ แสงอารุณ เจ้าเก่า พบ 1910.45 มก./กก.

2. ร้านแม่ชูศรี พบ 1894.05 มก./กก.

3. ร้านเรือนไทย พบ 1502.32 มก./กก. และ

4. ร้านเอกชัย (B.AEK) พบ 1147.95 มก./กก.

ทั้งนี้สำหรับผลการทดสอบสีสังเคราะห์ในสายไหม พบทุกตัวอย่างใช้สีสังเคราะห์ แต่ไม่เกินมาตรฐาน อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตว่า ร้านเอกชัย (B.AEK) ซึ่งตรวจพบสีสังเคราะห์ กลุ่มสีเหลือง คือ ตาร์ตราซีน ปริมาณ 49.82 มก./กก. และกลุ่มสีน้ำเงิน คือ บริลเลียนท์ บลู เอฟซีเอฟ ปริมาณ 5.94 มก./กก. เมื่อคำนวณแล้วพบว่า ผลรวมสัดส่วนของสีสังเคราะห์ทั้งสองชนิดที่ตรวจพบ เท่ากับ 1.036 ถือว่าเกินเกณฑ์มาตรฐานไปเล็กน้อย เพราะตามกฎหมายระบุว่า เมื่อนำมาคำนวณร่วมกันแล้ว ต้องไม่เกิน 1 (ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 381 ข้อ 6)

ทั้งนี้ สำหรับผลเสียของการใช้สารกันบูดหรือวัตถุกันเสียที่มากเกินไป สามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภคที่รับประทานเป็นประจำได้ เช่น ทำให้ระคายเคืองระบบทางเดินอาหาร คลื่นไส้ อาเจียน หรือเกิดการสะสมในร่างกายและก่อให้เกิดเป็นพิษเรื้อรังในอนาคต

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม http://www.consumerthai.org/news-consumerthai/ffc-news/4161-610404pressconsumers.html



กำลังโหลดความคิดเห็น