xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 25-31 มี.ค.2561

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

คลิกที่นี่เพื่อฟังสรุปข่าวฯ

1.ป.ป.ช.ยังสรุปที่มานาฬิกาหรู “บิ๊กป้อม” ไม่ได้ รอสอบเพิ่ม ด้านเจ้าตัวแจง 25 เรือนของเพื่อนคนเดียว ส่วนแหวนเพชรยุติสอบ!
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม
ความคืบหน้าการตรวจสอบเรื่องนาฬิกาหรูและแหวนเพชร ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ พล.อ.ประวิตร ไม่ได้แจ้งในบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินที่ยื่นต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หลังเข้าดำรงตำแหน่งในวันที่ 4 ก.ย. 2557 นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. แถลงเมื่อวันที่ 29 มี.ค. ว่า คณะกรรการป.ป.ช. ได้พิจารณาเรื่องที่สำนักงาน ป.ป.ช. รายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นกรณีดังกล่าวแล้ว โดย พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. ขอถอนตัวไม่เข้าร่วมพิจารณา จากรายงานผลการตรวจสอบเบื้องต้น สำนักงาน ป.ป.ช. ได้ให้ พล.อ.ประวิตรชี้แจงข้อเท็จจริง 4 ครั้ง ซึ่ง พล.อ.ประวิตร ได้ชี้แจงมาแล้วว่า นาฬิกาทั้งหมดยืมจากเพื่อน และสำนักตรวจสอบทรัพย์สินภาคการเมือง ป.ป.ช. ได้ตรวจสอบความมีอยู่จริงของทรัพย์สินดังกล่าวแล้ว ปรากฏว่า ทรัพย์สินดังกล่าวมีอยู่จริง แต่ยังขาดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับที่มาของนาฬิกาจำนวนดังกล่าว ขณะนี้อยู่ระหว่างการสอบพยานบุคคลและบริษัทที่เกี่ยวข้อง ว่าผู้ครอบครองเป็นเจ้าของจริงหรือไม่ จึงมีมติให้สำนักงาน ป.ป.ช. ตรวจสอบยืนยันข้อเท็จจริงให้สิ้นกระแสความก่อน จึงจะเสนอต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. อีกครั้ง โดยให้เร่งรัดรวบรวมพยานหลักฐานให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เนื่องจากเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของประชาชน

นายวรวิทย์ กล่าวว่า ป.ป.ช. ได้ถามไปยังบริษัทจำหน่ายนาฬิกาแล้ว 13 แห่ง แต่ตอบกลับเพียง 3 แห่ง และมีข้อมูลที่ ป.ป.ช. จะต้องตรวจสอบหมายเลขซีเรียลนัมเบอร์ของนาฬิกาแต่ละเรือน รวมทั้งต้องสอบพยานบุคคลใหม่อีก 2 ราย คาดว่าจะใช้เวลาไม่นาน

นายวรวิทย์ เผยด้วยว่า พล.อ.ประวิตร ชี้แจงว่า นาฬิกาทั้งหมดเป็นของเพื่อนคนเดียวทั้ง 25 เรือน อย่างไรก็ตาม ทั้ง 25 เรือนที่ปรากฎตามสื่อนั้น มีซ้ำกัน 3 เรือน จึงเหลือ 22 เรือน ส่วนเพื่อนที่ พล.อ.ประวิตร ยืมนาฬิกา จะยังมีชีวิตอยู่หรือเสียชีวิตไปแล้ว สื่อมวลชนก็รู้ๆ กันอยู่ และจะต้องเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องหรือครอบครองนาฬิกามาให้ข้อมูลทั้งหมด โดยคณะทำงานฯ ได้เชิญมาสอบแล้ว ส่วนจะเชิญ พล.อ.ประวิตร มาชี้แจงด้วยตัวเองหรือไม่ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่พิจารณาประเด็นนี้ แต่ให้คณะทำงานฯ ไปรวบรวมพยานหลักฐานให้ครบถ้วนก่อน

เมื่อถามว่า พล.อ.ประวิตร ยืนยันว่า เป็นนาฬิกาของเพื่อน ก็เท่ากับว่า ไม่ต้องยื่นต่อ ป.ป.ช. นายวรวิทย์กล่าวว่า จะต้องรอให้ได้ข้อยุติก่อน จากนั้นคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะเป็นผู้วินิจฉัยประกอบข้อกฎหมายต่อไป

ส่วนเรื่องแหวนเพชรนั้น นายวรวิทย์ กล่าวว่า พล.อ.ประวิตร ชี้แจงว่า แหวนเพชรเป็นของบิดาที่มารดาเก็บไว้ ต่อมาได้มอบให้ พล.อ.ประวิตร และสำนักงาน ป.ป.ช. เห็นว่า มีมูลค่าไม่ถึง 2 แสนบาท จึงไม่จำเป็นต้องแสดงในบัญชีทรัพย์สินฯ และให้ยุติการสอบสวนเรื่องแหวนเพชร

2.“พรเพชร” วัดใจ “บิ๊กตู่” จะส่งร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.ให้ศาล รธน.วินิจฉัยเอง หรือให้ สนช.ส่ง เดดไลน์ 12 เม.ย.นี้!
(ซ้าย) นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. (ขวา) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.
ความคืบหน้ากรณีสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ได้ส่งร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.) ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ หลังนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) แสดงความห่วงใยว่ามีประเด็นที่อาจขัดรัฐธรรมนูญ ส่วนร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ทาง สนช.ไม่ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ แม้จะมีประเด็นที่นายมีชัยแสดงความห่วงใยว่าอาจขัดรัฐธรรมนูญก็ตาม แต่ สนช.เห็นว่า ไม่น่าจะขัดรัฐธรรมนูญ จึงไม่ยื่นให้ศาลฯ ตีความ และส่งร่างดังกล่าวให้นายกรัฐมนตรี เพื่อเข้าสู่ขั้นตอนการนำขึ้นทูลเกล้าฯ บังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป ท่ามกลางความห่วงใยของหลายฝ่ายในสังคมว่า หากไม่ยื่นให้ศาลฯ วินิจฉัยตอนนี้ แล้วหากมีผู้ร้องให้ศาลวินิจฉัยหลังเลือกตั้ง จะส่งผลให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะหรือไม่

ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 27 มี.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เผยว่า รัฐบาลได้รับร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. จาก สนช.แล้ว และมีเวลาในการพิจารณาก่อนจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ จนถึงวันที่ 12 เม.ย. โดยได้สั่งการให้ฝ่ายกฎหมายตรวจสอบตามขั้นตอนว่า ควรจะต้องมีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความหรือไม่ อย่างไร พร้อมยืนยัน กำหนดการเลือกตั้งยังคงอยู่ภายใต้โรดแมปที่วางไว้ และหากมีการยื่นตีความ ก็ไม่น่าจะช้าเกินไป โดยขอความกรุณาให้ศาลรับเรื่องกฎหมายลูกไปเป็นประเด็นสำคัญ ขอให้ช่วยรัฐบาลดูแลให้อยู่ในกรอบของโรดแมป

ทั้งนี้ ขณะที่สังคมจับตาว่า สนช.หรือนายกฯ จะยื่นร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความหรือไม่ ปรากฏว่า วันต่อมา 28 มี.ค. นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สมาชิก สนช.ออกมาเผยว่า สนช.ได้ล่าชื่อสมาชิกครบ 25 คน เพื่อส่งให้นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ยื่นร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ต่อไป

วันต่อมา 29 มี.ค. นายพรเพชรแถลงว่า ได้รับหนังสือจากนายปรีชา วัชราภัย สมาชิก สนช.พร้อมคณะรวม 27 คน เพื่อขอให้ประธาน สนช.ส่งร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยใน 2 ประเด็น คือ การตัดสิทธิการดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองของผู้ที่ไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง และการอำนวยความสะดวกให้กับคนพิการในการลงคะแนนเลือกตั้ง นายพรเพชรเผยด้วยว่า หลังจากนี้จะมีหนังสือไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.เพื่อสอบถามว่า ได้นำร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ขึ้นทูลเกล้าฯ แล้วหรือไม่ โดย สนช.จะต้องรอหนังสือตอบกลับจากนายกฯ ก่อน ถ้านายกฯ ยังไม่ได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ และนายกฯ จะไม่ยื่นร่าง พ.รงป.ดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ประธาน สนช.จะได้ส่งคำร้องของสมาชิก สนช.จำนวน 27 คน ไปยังศาลรัฐธรรมนูญต่อไป และว่า หากพ้นวันที่ 12 เม.ย.นี้ นายกฯ ยังไม่ได้ตอบกลับมา เท่ากับว่าหน้าที่ในการส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความของ สนช.เป็นอันหมดไป

ด้านนายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย(พท.) ยืนยันว่า การยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความร่างกฎหมายลูก ย่อมส่งผลกระทบต่อโรดแมปแน่นอน เพราะเวลานับหนึ่งต้องเลื่อนออกไปอีก

ส่วนความคืบหน้าการยื่นร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยที่มา ส.ว. ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนั้น เมื่อวันที่ 28 มี.ค. ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาข้อกฎหมายแล้ว เข้าเกณฑ์ที่ศาลจะรับไว้พิจารณา จึงมีคำสั่งรับไว้วินิจฉัย พร้อมแจ้งให้ประธาน สนช.ทราบ และพิจารณามอบหมายให้ผู้แทนสมาชิก สนช.ที่ลงมติเห็นชอบในวาระที่ 3 รวมทั้งให้นายกิตติ วะสีนนท์ ซึ่งเป็นผู้แทนของฝ่ายที่เสนอความเห็น ประธาน กรธ. และประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.จัดทำความเห็นเป็นเอกสาร โดยให้ยื่นต่อศาลฯ ภายในวันที่ 18 เม.ย.นี้

3.อัยการสั่งตำรวจสอบเพิ่มครั้งที่ 2 คดี “เปรมชัย” ล่าสัตว์ป่าทุ่งใหญ่ฯ ส่วนคดีติดสินบน นัดฟังคำสั่ง 30 เม.ย.!
ตำรวจ ปปป.นำตัวนายเปรมชัย กรรณสูต และนายยงค์ โดดเครือ คนขับรถ ส่งให้อัยการพร้อมสำนวนคดีข้อหาร่วมกันติดสินบนเจ้าหน้าที่
ความคืบหน้าคดีนายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหารบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) กับพวกอีก 3 คน คือ นายยงค์ โดดเครือ, นางนที เรียมแสน และนายธานี ทุมมาศ นำอาวุธปืนเข้าไปล่าสัตว์คุ้มครองในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก จ.กาญจนบุรี ก่อนถูกนายวิเชียร ชิณวงษ์ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่ฯ และเจ้าหน้าที่เขตฯ จับกุมส่งให้ตำรวจ สภ.ทองผาภูมิ ดำเนินคดี ต่อมา ตำรวจได้สรุปสำนวนพร้อมความเห็นสั่งฟ้องส่งให้อัยการเมื่อวันที่ 13 มี.ค. หลังจากนั้น วันที่ 20 มี.ค.อัยการสั่งให้ตำรวจสอบเพิ่ม 3-4 ประเด็น โดยให้เหตุผลว่า เพื่อให้การสอบสวนสมบูรณ์และสิ้นกระแสความ ต่อมา วันที่ 22 มี.ค. ตำรวจได้ส่งผลสอบเพิ่มให้อัยการเรียบร้อยแล้ว

ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 26 มี.ค. นายสมเจตน์ อำนวยสวัสดิ์ อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 2 ภาค 7 เผยถึงการพิจารณาคดีนายเปรมชัยกับพวกว่า ยังพิจารณาไม่เสร็จสิ้น และว่า ได้รับผลสอบสวนเพิ่มเติมแล้ว แต่ยังไม่สมบูรณ์เพียงพอที่จะลงความเห็นมีคำสั่งที่สมบูรณ์ได้ อาจจะสั่งสอบสวนเพิ่มเติมอีกสักครั้งหนึ่งในประเด็นที่ทางพนักงานสอบสวนส่งสำนวนมาไม่ครบถ้วนตามที่สั่งไป ซึ่งพนักงานสอบสวนอาจไม่เข้าใจเนื้อหาของการสอบสวนตามคำสั่งของอัยการ ทำให้ผลการสอบเพิ่มไม่ครบถ้วน และว่า หากผลสอบเพิ่มเติมกลับมาเร็ว อัยการก็สามารถสั่งคดีได้เร็ว

หลังอัยการให้พนักงานสอบสวนสอบเพิ่มเป็นครั้งที่ 2 ทางตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ปทส.) จึงได้สอบปากคำนายเปรมชัยกับพวกเพิ่มเติม ขณะที่นายวิเชียร ชิณวงษ์ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก ก็เข้าให้ปากคำเพิ่มเติมเช่นกัน ตามที่อัยการภาค 7 มีคำสั่งให้สอบเพิ่มใน 2 ประเด็น คือ การแจ้งข้อหานายเปรมชัยกับพวกชัดเจนเพียงใด และประเด็นแผนผังการยิงเสือดำ เพื่อไปประกอบการเขียนคำฟ้องนายเปรมชัยต่อศาลจังหวัดทองผาภูมิ โดย พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เดินทางมาสอบปากคำด้วยตัวเอง

พล.ต.อ.ศรีวราห์เผยอีกครั้งในวันต่อมา 28 มี.ค.ว่า พนักงานสอบสวน สภ.ทองผาภูมิ ได้ส่งสำนวนที่สอบเพิ่มเติมให้กับพนักงานอัยการจังหวัดทองผาภูมิแล้ว หลังจากได้สอบปากคำนายเปรมชัยและนายวิเชียร เมื่อวันที่ 27 มี.ค.ที่ผ่านมา

ส่วนความคืบหน้าคดีติดสินบนเจ้าหน้าที่นั้น ตำรวจกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ(รองผบก.ปปป.) ได้มีความเห็นสั่งฟ้องนายเปรมชัย และนายยงค์ โดดเครือ คนขับรถแล้ว ข้อหาร่วมกันติดสินบนเจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 144 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

โดยตำรวจ ปปป.ได้นำตัวนายเปรมชัย และนายยงค์ พร้อมสำนวนคดีร่วมกันติดสินบนเจ้าหน้าที่ไปพบนายอภิชาติ ต่อดำรงค์ อัยการพิเศษฝ่ายคดีปราบปรามการทุจริต 1 รักษาราชการแทนอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีปราบปรามการทุจริตภาค 7 เมื่อวันที่ 30 มี.ค. เพื่อส่งสำนวนเอกสารจำนวน 199 แผ่น แผ่นซีดีสแกนเอกสาร และคลิปนายยงค์ ที่พูดในลักษณะพยายามจะติดสินบนเจ้าหน้าที่เพื่อให้ปล่อยตัวนายเปรมชัยและพวกในวันที่ถูกจับกุม โดยอัยการได้นัดฟังคำสั่งคดีในวันที่ 30 เม.ย.นี้

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 26 มี.ค. นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาคิดคำนวณค่าเสียหายทางแพ่ง กรณีนายเปรมชัยกับพวกร่วมกันล่าสัตว์ป่า เพื่อรวบรวมเอกสารหลักฐาน เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาความเสียหาย ซึ่งต่อมา คณะกรรมการได้ประชุมพิจารณาข้อมูลนิเวศของเสือดำ ตั้งแต่ตัวเล็กๆ กระทั่งสามารถปล่อยคืนสู่ธรรมชาติได้ สรุปมูลค่าความเสียหายของเสือดำที่ถูกฆ่า อยู่ที่ 12,750,000 บาท มูลค่าความเสียหายของไก่ฟ้าหลังเทาอยู่ที่ 25,224 บาท ส่วนหมูป่า มูลค่าความเสียหายอยู่ที่ 22,500 บาท รวมมูลค่าความเสียหายทางแพ่งในคดีนายเปรมชัยและพวกล่าสัตว์ป่าเป็นจำนวนทั้งสิ้น 12,797,724 บาท

ขณะที่ พล.ต.อ.ศรีวราห์ เผยวันเดียวกันว่า พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหานายเปรมชัยเพิ่มอีก 1 ข้อหา ฐานทำผิด พ.ร.บ.กรมศุลกากร ปี 2535 เนื่องจากไม่พบประวัติการนำเข้างาข้างแอฟริกาที่ตรวจยึดได้ที่บ้านพักนายเปรมชัย โดยงาช้างดังกล่าวมีมูลค่า 4 ล้านบาท

ด้านนายถิรเดช ปาละสุวรรณ นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า พร้อมเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ ได้เข้าแจ้งความตำรวจ บก.ปทส.เมื่อวันที่ 28 มี.ค. ให้ดำเนินคดีเพิ่มเติมนางคณิตา กรรณสูต ภรรยานายเปรมชัย และนางวันดี สมภูมิ ผู้เซ็นรับรองงาช้างแอฟริกาเป็นงาช้างบ้าน ในข้อหาร่วมกันแจ้งความเท็จ และร่วมกันแจ้งให้จดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ ซึ่งช่วงเย็นวันเดียวกัน นางคณิตาและนางวันดีได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาแล้ว

4.ศธ.มีมติไล่ออก “รจนา สินที” ขรก.ซี 8 โกงเงินกองทุนเสมาฯ กว่า 100 ล้าน ด้าน รมต.ตั้ง กก.สืบเล็งเรียกเงินคืนจากผู้เกี่ยวข้อง!
นางรจนา สินที นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ สำนักส่งเสริมกิจการการศึกษาระดับ 8 กระทรวงศึกษาธิการ
ความคืบหน้ากรณีนางรจนา สินที นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ สำนักส่งเสริมกิจการการศึกษาระดับ 8 กระทรวงศึกษาธิการ กับพวกรวม 5 ราย ยักยอกเงินกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต โอนเงินค่าเล่าเรียนเด็กเข้าบัญชีตัวเอง พวกพ้องและญาติพี่น้อง เป็นเวลานับสิบปี ตั้งแต่ปี 2551-2561 เป็นเงินกว่า 88 ล้านบาท ซึ่งล่าสุดพบว่า มีเงินหายเพิ่มอีกกว่า 30 ล้าน ในปี 2550 2551 และ 2553 รวมเงินที่หายกว่า 100 ล้านบาทนั้น

เมื่อวันที่ 26 มี.ค. นายการุณ สกุลประดิษฐ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) เผยหลังเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อพิจารณาโทษทางวินัยนางรจนาว่า ที่ประชุมมีมติเอกฉันท์ลงโทษวินัยอย่างร้ายแรงนางรจนา ไล่ออกจากราชการ เนื่องจากเห็นว่าการกระทำของนางรจนาเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงใน 3 เรื่อง คือ 1.ฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบของทางราชการ มติคณะรัฐมนตรี(ครม.) และรายงานเท็จต่อผู้บังคับบัญชา เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง 2.ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ผู้หนึ่งผู้ใด และ 3.ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยทุจริต

นายการุณ เผยด้วยว่า เมื่อลงโทษไล่ออกจากราชการ จะไม่ได้รับบำเหน็จ บำนาญ ส่วนขั้นตอนทางกฎหมาย ทราบว่า ปปง.และ ป.ป.ท.เตรียมส่งเรื่องให้อัยการสั่งฟ้อง ส่วนกระทรวงศึกษาธิการจะขยายผล สืบสวนข้อเท็จจริงเชื่อมโยงไปถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องด้วย

ด้านนาย นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เผยว่า ขณะนี้ได้แต่งตั้งกรรมการสืบข้อเท็จจริงความผิดทางละเมิดกับผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดแล้ว ซึ่งจะบอกว่า ใครต้องรับผิดชอบเท่าไร และว่า การตรวจสอบความผิดทางละเมิดไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการทางวินัย แต่เป็นการตรวจสอบเชื่อมโยงไปยังผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งแม้จะไม่ได้ร่วมกระทำผิดด้วย แต่ถือว่ามีความบกพร่องในฐานะที่มีหน้าที่ดูแลเส้นทางการเงิน ก็ถือว่ามีความผิดทางละเมิดด้วย เพราะฉะนั้นผู้บริหารคนใดเกี่ยวข้องในช่วงไหน ก็ต้องมีส่วนรับผิดชอบ ส่วนจะต้องชดใช้คนละกี่เปอร์เซ็นต์ ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการตรวจสอบ

5.ศาลกระบี่พิพากษาประหารชีวิต “บังฟัต” กับพวก คดีฆ่ายกครัว 8 ศพ ไม่ลดโทษแม้สารภาพ เหตุโหดเหี้ยมผิดมนุษย์!
(บน) นายซูริก์ฟัต บ้านนบวงศ์กุล หรือ บังฟัต (ล่าง) โฉมหน้าผู้ต้องหาคดีฆ่ายกครัว 8 ศพ
เมื่อวันที่ 28 มี.ค. ศาลจังหวัดกระบี่ได้นัดอ่านคำพิพากษาคดีนายซูริก์ฟัต บ้านนบวงศ์กุล หรือ บังฟัต กับพวกรวม 8 คนก่อเหตุฆ่ายกครัวนายวรยุทธ สังหลัง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 ต.บ้านกลาง อ.อ่าวลึก จ.กระบี่ พร้อมครอบครัว และญาติรวม 8 ศพ ภายในบ้านพักนายวรยุทธ

สำหรับจำเลยทั้ง 8 คน ประกอบด้วย นายซูริก์ฟัต หรือ บังฟัต, นายประจักษ์ บุญทอย (จักร์) , นายคมสรรค์ เวียงนนท์ (ม่อน), นายอับดุลเลาะ ดอเลาะ (เลาะห์), นายธวัฒชัย บุญคง (ชัย), นายอรุณ ทองคำ (กี้ร์), นายธนชัย จำนอง (โกบ) และ น.ส.ชลิตา สังข์โชติ

ทั้งนี้ ก่อนศาลอ่านคำพิพากษา เจ้าหน้าที่เรือนจำ จ.กระบี่ได้คุมตัวจำเลยมาฟังคำพิพากษา ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด ขณะที่ญาติของผู้เสียชีวิต ญาติจำเลย รวมถึง พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้นำทีมนายตำรวจระดับสูง มาฟังคำพิพากษาด้วย

ต่อมา ศาลได้มีคำพิพากษาประหารชีวิตจำเลยที่ 1-6 โดยไม่รอลงอาญา ส่วนจำเลยที่ 7 จำคุก 19 เดือน จำเลยที่ 8 จำคุก 12 เดือน โดยศาลเห็นว่า แม้ว่าจำเลยที่ 1-6 จะรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา แต่มีพฤติกรรมร่วมกันใช้อาวุธปืนจ่อยิงผู้ตายทั้งแปด และผู้รอดชีวิต เพื่อปิดปากถึง 11 คน ซึ่งมีทั้งผู้หญิง และเด็กอายุเพียง 4 ปี 11 ปี 12 ปี รวมอยู่ด้วย เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตถึง 8 คน นับเป็นเหตุการณ์เศร้าสลดหดหู่ใจและสะเทือนขวัญแก่ประชาชนเป็นอย่างยิ่ง จำเลยดังกล่าวเป็นฝ่ายก่อเหตุขึ้นมาเองและลงมือกระทำความผิดอย่างอุกอาจ โหดเหี้ยมผิดมนุษย์ จึงไม่สมควรลดโทษให้ และเมื่อลงโทษในฐานความผิดปล้นทรัพย์ ทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ถึงขั้นประหารชีวิตแล้ว จึงไม่ต้องนำโทษในกระทงอื่นๆ มารวมด้วย พิพากษาประหารชีวิตจำเลยที่ 1-6 สถานเดียว ส่วนจำเลยที่ 7 มีความผิดฐานพกพาอาวุธปืนไปในหมู่บ้านโดยไม่ได้รับอนุญาต และบุกรุก จำเลยที่ 8 มีความผิดฐานซ่องโจร และแสดงตนเป็นเจ้าพนักงานกรณีจัดหาเสื้อทหาร

เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังฟังคำพิพากษา จำเลยยังมีท่าทีสบายใจ และทำมือส่งสัญลักษณ์ ไอเลิฟยู ให้กับผู้ที่มาให้กำลังใจด้วย พร้อมทั้งยิ้มแบบไม่สำนึกในความผิดแต่อย่างใด

ด้าน พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ได้เปิดแถลงที่หอประชุมพิทักษ์กระบี่ หน้า สภ.เมืองกระบี่ หลังศาลอ่านคำพิพากษา โดยมีญาติของผู้เสียชีวิต เดินทางมามอบช่อดอกไม้ขอบคุณ

ขณะที่นางอัญชลี พริกดำ หนึ่งในผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว เผยว่า พอใจคำตัดสินที่ออกมาให้ประหารผู้ต้องหา 6 คน และจำคุกอีก 2 คน แม้จะไม่มาก แค่ปีกว่าและ 1 ปี แต่ก็น้อมรับในคำตัดสิน ส่วนเงินชดใช้ที่ศาลได้ตัดสินให้กลุ่มผู้ต้องหาชดใช้ให้กับญาติๆ นั้น มองว่าคงเป็นเรื่องยากที่จะได้มา

ด้านนายจรีย์ บุตรเติบ พ่อตาของผู้ใหญ่บัติ ที่เสียชีวิต กล่าวว่า พอใจคำตัดสินของศาล ส่วนจะมีการอุทธรณ์หรือฟ้องแพ่งเพิ่มเติมหรือไม่นั้น ขอปรึกษากับทางญาติอีกครั้ง

ขณะที่นายเกรียงศักดิ์ สารภี ทนายความของกลุ่มจำเลย กล่าวว่า ทางบังฟัตและกลุ่มจำเลยไม่พอใจคำตัดสินของศาล และขอใช้สิทธิในการยื่นอุทธรณ์ภายใน 30 วันเพื่อต่อสู้คดีต่อไปทั้ง 8 คน

อนึ่ง คดีนี้เกิดขึ้นเมื่อกลางดึกคืนวันที่ 10 ก.ค.2560 โดยนายซูริก์ฟัต พร้อมพวกรวม 8 คน แต่งกายชุดคล้ายทหาร บุกเข้าจับตุวนายวรยุทธ และคนในครอบครัว ญาติๆ รวม 11 คน แยกย้ายไว้ตามห้องต่างๆ ในบ้านพัก จากนั้นใช้อาวุธปืนของนายวรยุทธจ่อยิงศีรษะทีละคน แต่มีผู้รอดชีวิต 3 คน ชนวนเหตุที่ก่อเหตุครั้งนี้เกิดจากความขัดแย้งเรื่องโฉนดที่ดิน ที่พ่อตานายวรยุทธนำไปจำนองไว้กับนายซูริก์ฟัต กระทั่งได้ผ่อนชำระหมด แต่นายซูริก์ฟัตนำที่ดินไปจำนองไว้กับธนาคาร ไม่สามารถนำนำหลักฐานที่ดินกลับมาคืนได้ เมื่อมีการทวงถามหลายครั้ง นายซูริก์ฟัตไม่พอใจจึงวางแผนก่อเหตุฆ่ายกครัว โดยจัดฉากว่านายวรยุทธเครียด มีปัญหาเรื่องหนี้สิน จึงก่อเหตุฆ่าคนในครอบครัว แล้วฆ่าตัวตายตาม แต่เผอิญมีผู้รอดชีวิต 3 ราย จึงเป็นพยานสำคัญว่าใครเป็นผู้ก่อเหตุ

6.ศาลอุทธรณ์ พิพากษากลับจำคุก 6 ปี “สุธรรม มลิลา” อดีตบิ๊ก ทศท.ทุจริต-เอื้อประโยชน์ AIS ให้ชดใช้ 4.6 หมื่นล้าน!
นายสุธรรม มลิลา อดีตผู้อำนวยการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย(ทศท.) ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท ทีโอที
เมื่อวันที่ 26 มี.ค. ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ที่อัยการสูงสุด(อสส.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสุธรรม มลิลา อดีตผู้อำนวยการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย(ทศท.) ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท ทีโอที เป็นจำเลยฐานผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ กรณีที่จำเลยไม่เสนอผลการศึกษาข้อมูลเพื่อพิจารณาทบทวนอัตราส่วนแบ่งรายได้ของ เอไอเอส ให้คณะกรรมการ ทศท.พิจารณา รวมทั้งยังลงนามข้อตกลงต่อท้ายสัญญาอนุญาตดำเนินกิจการครั้งที่ 6 ให้กับเอไอเอส และกำหนดผลประโยชน์ตอบแทนโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายใต้ชื่อ “วันทูคอล” ให้เอไอเอสแบ่งส่วนรายได้อัตราร้อยละ 20 ของมูลค่าหน้าบัตร ทำให้ ทศท.ได้รับส่วนแบ่งรายได้น้อยลงจากเดิมที่ได้รับตามสัญญาหลักในอัตราร้อยละ 25-30

ทั้งนี้ โจทก์ฟ้องว่า การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำในฐานะเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใดๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ และเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 151 และมาตรา 157 โดยบริษัท ทีโอที ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลบังคับจำเลยให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 จากการที่จำเลยลงนามข้อตกลงครั้งที่ 6 กับเอไอเอส เป็นผลให้ผู้ร้องสูญเสียรายได้ คิดเป็นเงิน 66,060,686,735.94 บาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5 ต่อปี รวมเป็นเงิน 93,710,927,981.84 บาทด้วย ซึ่งจำเลยให้การปฏิเสธ

คดีนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง และยกคำร้องของบริษัททีโอที ผู้ร้อง ต่อมาโจทก์ยื่นอุทธรณ์ ขอให้ลงโทษจำเลย

ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้วเห็นว่า อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น จำเลยกระทำผิดตามฟ้องจริง ส่วนจำเลยต้องรับผิดค่าสินไหมทดแทนแก่บริษัททีโอทีหรือไม่ ศาลเห็นว่า แม้ทีโอทีจะไม่ได้อุทธรณ์ในส่วนคดีแพ่งก็ตาม แต่ได้ยื่นคำร้องเข้ามาตามมาตรา 44/1 เมื่อโจทก์ยื่นอุทธรณ์จึงถือว่า คำร้องดังกล่าวได้อุทธรณ์ด้วยทำนองเดียวกัน และเมื่อข้อเท็จจริงส่วนอาญาฟังว่า จำเลยใช้อำนาจในทางทุจริต จำเลยต้องรับผิดชอบใช้เงินแก่ทีโอที โดยบริษัททีโอทีได้คำนวณค่าเสียหายที่ต้องขาดรายได้จากเงินส่วนแบ่งตลอดอายุสัญญาแต่ละช่วงเป็นเงิน 66,060,686,735.94 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี

อย่างไรก็ตาม ศาลเห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงเชื่อได้ว่า บริษัททีโอทีได้รับความเสียหายตามจำนวนดังกล่าว แต่การพิจารณาอนุมัติลดอัตราส่วนแบ่งรายได้แก่เอไอเอสเป็นมติคณะกรรมการ จำเลยไม่ได้พิจารณาแต่เพียงลำพัง หากจำเลยต้องรับผิดเต็มจำนวนความเสียหาย คงไม่เป็นธรรม สมควรให้จำเลยรับผิดเพียงกึ่งหนึ่ง ศาลจึงพิพากษากลับ จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 จำคุก 9 ปี แต่พยานหลักฐานที่จำเลยนำเข้าไต่สวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ 1 ใน 3 คงจำคุก 6 ปี และให้จำเลยชำระเงิน 46,855,463,990.92 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินต้น 33,030,343,367.97 บาท นับตั้งแต่วันที่ 4 ก.ค. 2559 ซึ่งเป็นวันที่บริษัททีโอทียื่นคำร้อง

หลังฟังคำพิพากษา จำเลยได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์ขอปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างฎีกา ซึ่งศาลพิจารณาแล้วอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยตีราคาประกัน 8 แสนบาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกประเทศ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล


กำลังโหลดความคิดเห็น