อาจารย์รัฐศาสตร์ จุฬาฯ ขอบคุณ “เนติวิทย์” ติชมการสอนวิชา “การต่างประเทศของไทยในการเมืองโลกสมัยใหม่” หลังเจ้าตัวบ่นการเตรียมสอนไม่ค่อยดี ข้อสอบกำกวมหลายข้อ แถมแนะให้ลาออกจาก คสช. ระบุคนรุ่นใหม่ควรเรียนรู้อย่างจริงจังและรอบด้านในเรื่องของบ้านเมือง
จากกรณีที่นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ในเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 12 มี.ค. ถึงนายปณิธาน วัฒนายากร ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง ระบุว่า “ผมกำลังเรียนกับท่านเวลานี้ ท่านเอาใจใส่ผมและเพื่อนดีมาก กรุณามาทักทายอย่างเป็นกันเอง แต่การเตรียมการสอนของท่านยังไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ข้อสอบกำกวมหลายข้อ เพราะท่านงานคงเยอะ แค่คำด่าก็เกินครึ่งแล้ว ผมเรียกร้องด้วยความเคารพ อยากให้อาจารย์ได้มีเวลากับการสอนมากกว่านี้ อยากให้ท่านได้พักจากคำตำหนิ โดยลาออกจาก คสช. ลบล้างภาพลักษณ์มลทินที่จะต้องแปดเปื้อนกับการรับใช้เป็นที่ปรึกษา พล.อ.ประวิตร (วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม) ซึ่งทุจริตและเป็นระบบพวกพ้อง อยากให้อาจารย์เป็นอาจารย์ตัวอย่างของนิสิตที่ใฝ่ประชาธิปไตยและยืนอยู่ข้างประชาชนที่เสียเปรียบมิใช่ผู้มีอำนาจมากบารมีจอมปลอม”
วันนี้ (14 มี.ค.) นายปณิธาน โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า "คนรุ่นใหม่ควรเรียนรู้อย่างจริงจังและรอบด้านในเรื่องของบ้านเมือง สองสามวันมานี้ บางท่านอาจจะเห็นข่าวพาดพิงเรื่องการเรียนการสอนของผมที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และก็อาจจะเห็นข่าวเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยหลายแห่งทั่วโลกในระยะนี้ มีจำนวนนักศึกษาลดลงเป็นอันมาก และกำลังทะยอยปิดตัวลง เหตุเพราะความต้องการของนักศึกษาเปลี่ยนแปลงไป และการเรียนบางประเภทก็สามารถทำได้ผ่านระบบออนไลน์โดยไม่ต้องพึ่งพามหาวิทยาลัยเหมือนในอดีต หลายท่านจึงอาจจะสนใจ สงสัย หรือมีความเป็นกังวลกับเรื่องดังกล่าว ผมจึงขออนุญาตให้ข้อมูลและแสดงความคิดเห็นดังนี้ครับ
ปีการศึกษานี้ หัวหน้าภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ของคณะฯ ที่ผมสอนมาตั้งแต่ปี 2536 ได้มอบหมายให้ผมปรับปรุงการเรียนการสอนวิชา “การต่างประเทศของไทยในการเมืองโลกสมัยใหม่” หลังจากที่ทางคณะฯ ได้ปรับปรุงหลักสูตรรัฐศาสตรบัณฑิตให้ครอบคลุมศาสตร์ต่างๆอย่างหลากหลายและเชื่อมโยงกันมากขึ้นในปี 2558 ไปแล้ว ซึ่งวิชานี้มีนิสิตชั้นปีที่สองจากสี่ภาควิชาในคณะฯ ลงทะเบียนเรียนจำนวน 199 คน ผมจึงได้ปรับเปลี่ยนเนื้อหาและวิธีการเรียนการสอน ให้รองรับกับความต้องการของผู้เรียนและสังคมมากขึ้น โดยแบ่งเนื้อหาใหม่ออกเป็น 4 ส่วน คือ 1) ประวัติศาสตร์การต่างประเทศของไทย 2) นโยบายต่างประเทศของไทยในปัจจุบัน 3) ความท้าทายและอุปสรรคในการดำเนินนโยบายต่างประเทศของไทย และ 4) ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายของนิสิต ในฐานะคนรุ่นใหม่ ต่อการต่างประเทศของไทย
ในชั่วโมงแรกของการเรียนการสอน นิสิตได้ร่วมออกความเห็นและออกเสียงเลือกกันว่า ในแต่ละสัปดาห์จะเรียนอะไรกันบ้าง จะวัดผลกันอย่างไร จะสอบกับแบบไหน กี่ครั้ง รวมทั้งการพิจารณาใช้สื่อสมัยใหม่ เช่น Facebook ในการเรียนการสอน การเชิญผู้ที่มีประสบการณ์ด้านการต่างประเทศมาบรรยายเพิ่มเติมตามระเบียบของคณะฯ และเลือกนิสิตที่อาสาเข้ามาช่วยประสานงานในการทำกิจกรรมต่างๆในชั้นเรียน ซึ่งเมื่อตกลงกันแล้ว รายละเอียดเหล่านี้ ก็จะไปปรากฏอยู่ในประมวลรายวิชาของมหาวิทยาลัยทางระบบออนไลน์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการควบคุมคุณภาพของการเรียนการสอนโดยนิสิตและโดยมหาวิทยาลัย การให้นิสิตร่วมกำหนดเนื้อหา วิธีการเรียนการสอน การวัดผล กิจกรรมต่างๆ ตลอดจนการนำเสนอข้อเสนอแนะของนิสิตบนเวทีในชั้นเรียนนี้ เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้รูปแบบใหม่ (Non Traditional Learning Approach) ตามแนวทางแบบ Active Learning ในแผนยุทธศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2560-2563
ในส่วนของวิทยากรพิเศษ ผมได้เชิญนายสุรพงษ์ ชัยนาม อดีตเอกอัครราชทูต 5 ประเทศมาบรรยายเรื่องไทยกับเพื่อนบ้าน (20 กุมภาพันธ์) นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรีคนที่ 20 มาบรรยายเรื่องการต่างประเทศไทยในยุควิกฤตเศรษฐกิจ(วิกฤตต้มยำกุ้ง) (6 มีนาคม) นายกวี จงกิจถาวร นักข่าวผู้เชี่ยวชาญเรื่องการต่างประเทศมากที่สุดคนหนึ่งของไทย มาบรรยายเรื่องการต่างประเทศของไทยในอาเซียน (20 มีนาคม) และนางสาวไปรยา สวนดอกไม้ ลุนเบิร์ก ทูตสันถวไมตรีของ UNHCR และในฐานะตัวแทนของคนรุ่นใหม่ มาบรรยายเรื่อง Gen-Y กับการช่วยเหลือผู้ลี้ภัย (10 เมษายน) ซึ่งการบรรยายพิเศษดังกล่าวนี้ เปิดให้ผู้ที่สนใจทั่วไปเข้ารับฟังได้ด้วย รวมทั้งในวันที่ 24 เมษายน และวันที่ 1 พฤษภาคม ที่นิสิตในชั้นเรียน จะขึ้นเวทีนำเสนอข้อเสนอแนะในเชิงนโยบาย
ผมขอบคุณ คุณเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ที่จุดประกายความสนใจ ที่สำคัญ ผมต้องขอขอบคุณนิสิตในชั้นเรียน ที่ตั้งใจเรียน มาเรียนสม่ำเสมอ และได้ช่วยกันรักษากติกาในการเรียนตามที่ได้ตกลงกันไว้ เช่น การอ่านเอกสารประกอบการเรียนทั้งภาษาไทยภาษาอังกฤษ 1,000 กว่าหน้าอย่างจริงจัง การเตรียมตัวสอบเก็บคะแนนกันเกือบทุก 3-4 สัปดาห์ในระหว่างที่เรียนวิชานี้ 16 สัปดาห์ และการเตรียมการนำเสนอ ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายกันอย่างแข็งขันในเดือนหน้า ซึ่งในวันนั้น ผมกับผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกและตัวแทนนิสิต จะร่วมกันประเมินผลงานและให้คะแนนนิสิต และผมต้องขอขอบคุณนิสิตผู้ช่วยประสานงานหลายคนจากสี่ภาควิชา ที่เสียสละเวลามาช่วยให้เพื่อนๆในชั้นได้เรียนอย่างสะดวกและราบรื่น โดยเฉพาะผู้ช่วยสอนของผม คุณเอนกชัย ซึ่งเป็นนิสิตระดับปริญญาเอกที่มีประสบการณ์ในการสอนมาแล้วกว่า 5 ปี ตลอดจน ขอขอบพระคุณวิทยากรพิเศษทั้ง 4 ท่านเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้กรุณาสละเวลามาถ่ายทอดประสบการณ์จริงอันมีค่าให้กับนิสิตในชั้นเรียนนี้
ตลอดเวลา 30 กว่าปีที่ผมสอนหนังสือและทำงานทางการเมืองควบคู่กันมาเป็นระยะๆ ทั้งในต่างประเทศและที่นี่ ผมมีความเชื่ออยู่เสมอว่า เราจะต้องพึ่งพาคนรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพ ให้เป็นกำลังสำคัญร่วมแก้ไขปัญหาบ้านเมือง แต่พวกเขาจะต้องศึกษาหาความรู้ในเรื่องของบ้านเมืองอย่างจริงจังและถ่องแท้ก่อน เพราะปัญหาบ้านเมืองเป็นเรื่องที่สลับซับซ้อน เกี่ยวข้องกับบุคคลหลายลักษณะ และยังเกี่ยวข้องกับเรื่องทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคง และการต่างประเทศในมิติที่คนส่วนใหญ่ไม่คุ้นเคย ดังนั้น ผมจึงให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ในเรื่องเหล่านี้อย่างจริงจัง ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ และผมยังมีความเชื่ออีกว่า กิจกรรมของนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัย หากตั้งอยู่บนพื้นฐานของวัฒนธรรมและวินัยในการเรียนรู้ที่ดี เช่น การรับฟังความเห็นซึ่งกันและกัน การเคารพความเห็นหรือความเชื่อของผู้อื่น การปรึกษาหารือหรือการสานเสวนากัน ตลอดจนการทำงานเป็นหมู่คณะ มีน้ำใจนักกีฬา สามัคคี จะทำให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้มีโอกาสเรียนรู้และฝึกฝนเรื่องค่านิยมประชาธิปไตยที่ดี โดยไม่ต้องทำผิดกฏหมาย และมีคดีความติดตัวไปนับตั้งแต่เป็นเยาวชน
ปัจจุบัน เยาวชนอายุน้อยๆ มักจะพูดกันบ่อยๆว่า เวลานั้นเข้าข้างพวกเขา (Time is on our side) เพราะเป็นคนหนุ่มสาว มีเวลาใช้ชีวิตอีกนาน ไม่ต้องรีบเร่งหรือจริงจังอะไรก็ได้ แต่ผมคิดว่า คนรุ่นใหม่ควรเรียนรู้อย่างจริงจังและรอบด้านในเรื่องของบ้านเมือง ณ บัดนี้ เพราะยุคสมัยของคนรุ่นใหม่ได้มาถึงแล้ว ผมเองจะสนับสนุนและส่งเสริมให้พวกเขาได้ใช้เวลาอย่างมีค่า ด้วยการส่งเสริมการเรียนรู้อย่างจริงจังในมหาวิทยาลัยต่อไปอย่างที่เคยทำมา เพราะผมเชื่อว่า นอกจากจะช่วยให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ ได้ร่วมนำพาประเทศให้ก้าวไปข้างหน้าแล้ว การส่งเสริมการเรียนรู้อย่างจริงจังในมหาวิทยาลัย ยังจะช่วยให้มหาวิทยาลัยกลับมาเข้มแข็ง เป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญให้กับสังคมได้สืบไป"
ต่อมา นายเนติวิทย์ กล่าวว่า "คำตอบของ อ.ปณิธาน ต่อที่ผมเขียนถึงอาจารย์ ขอบคุณที่อุตสาห์กล่าวถึงผม ให้เกียรติตอบ ทั้งที่เพจนี้ไม่ได้อัพเดตมานานหลายปีแล้ว เพื่อนๆ ผู้เรียนต่างไปแสดงความสรรเสริญถึงน้ำจิตน้ำใจของอาจารย์อันประเสริฐในโพสนี้ ก็เป็นตามนั้นแหละครับ อาจารย์เป็นคนตั้งใจสอน และเอาวิทยากรที่ทรงความรู้ที่สุดในปฐพีมาบรรยายให้ฟังหลายคนโดยไม่สนใจขั้วทางการเมือง และข้อสอบของอาจารย์ก็น่าจะมีคุณภาพมากขึ้น"