xs
xsm
sm
md
lg

เปิดใจออเจ้า “รอมแพง” ผู้แต่งนิยายบุพเพฯ ต้นฉบับละครฮิตทั้งพระนคร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

กลายเป็นปรากฏการณ์ไปทั่วเมืองแล้วจริงๆ สำหรับละครเรื่อง ‘บุพเพสันนิวาส’ ที่เป็นเรื่องราวของหญิงสาวในยุคปัจจุบัน ซึ่งบังเอิญได้หลุดไปอยุ่ในยุคของรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช นำพามาสู่เรื่องราวต่างๆ ซึ่งนับได้ว่าเป็นอีกครั้งหนึ่งของวงการละครไทยและนวนิยายเรื่องนี้ โดยเบื้องหลังแห่งความสำเร็จนี้ ต้องให้เครดิตอย่างมากให้กับ รอมแพง หรือ จันทร์ยวีร์ สมปรีดา ผู้ปลุกปั้นตัวอักษรในนิยาย ให้ทั้งคนอ่านและผู้ชมได้ติดตามมาถึงเพียงนี้

 • อยากให้เล่าถึงพื้นฐานการอ่านเบื้องต้นของคุณหน่อยครับ

เราเป็นคนอ่านหนังสือออกได้เร็วมาก ประมาณสัก 6-7 ขวบ ก็อ่านหนังสือออกแล้ว หนังสือที่อ่านในช่วงแรกๆ ก็จะเป็นพวกนิทานอีสปก่อน แล้วในที่ที่เราอยู่ (อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช) ก็จะมีห้องสมุดประชาชน มันก็จะมีมุมของเด็กๆ ให้อ่าน เราก็เริ่มอ่านจากตรงนี้ ซึ่งพอถึงเวลาพักเที่ยง เราก็เข้าไปอ่าน ไม่ค่อยได้เล่นเหมือนเด็กๆ ทั่วไปสักเท่าไหร่ อาจจะมีเล่นหมากเก็บ หรือกระโดดยางบ้าง แต่เวลาว่างส่วนใหญ่ก็อย่างที่บอก พอหลังจากเลิกเรียน เราก็อยู่ในห้องสมุดจนเขาปิดเลย แล้วก็จะมียืมหนังสือจากอาจารย์บ้าง หรือจากห้องสมุดของโรงเรียน แต่ไม่ค่อยเยอะเท่าไหร่ เราก็จะอ่านหมดไม่เหลือเลย แล้วพอขึ้นมาเรียนมัธยมที่โรงเรียนกัลยาณีศรีธรรมราช เราก็อ่านหนังสือจนหมดทุกเล่มในห้องสมุดค่ะ ก็อ่านทุกเล่ม ทุกหมวดหมู่ เหมือนเดิม

 • คุณเริ่มมาอ่านประเภทนิยายอย่างจริงจังตั้งแต่เมื่อไหร่ครับ

เริ่มอ่านนิยายตั้งแต่อายุ 8 ขวบค่ะ นิยายเรื่องแรกที่อ่านคือ ในฝัน ของ โรสลาเลน (หรือ ทมยันตี) แล้วก็อีกเรื่องคือ สัมผัสที่หก ของ ตรี อภิรุม เล่มหนามาก เราก็อ่านมาตลอด ซึ่งตอนนั้นก็ไม่ได้เน้นว่าจะเป็นแนวไพรัชนิยายนะคะ แต่จะเป็นลักษณะอ่านไปเรื่อยๆ แต่โดยส่วนตัวเรา จะชอบแบบแนวแฟนตาซี อย่างเรื่องในฝันก็เช่นเดียวกัน แต่จะเป็นแบบลิเกเจ้าหน่อย หรืออย่าง สัมผัสที่หก ก็จะเป็นแนวพลังจิต เหนือธรรมชาติ และเป็นทางจิต ซึ่งหลังจากนั้นเราก็อ่านหนังสือประเภทนี้มาโดยตลอด

จนกระทั่งเข้ามาเรียนที่ ม.ศิลปากร เราจะเช่าหนังสืออ่านที่ร้านต้นสน แถววังหลัง คือเช่าอ่านทุกวันค่ะ อย่างน้อยๆ ก็ครั้งละ 2 เล่ม จนเจ้าของร้านยังจำได้ แล้วลักษณะการอ่านก็เหมือนเดิมค่ะ เรียกได้ว่า พอไม่มีวิชาเรียน ก็จะมานั่งอ่านหนังสือ อ่านทั้งนิยาย และการ์ตูน บ้าง จะไม่ใส่ใจในเรื่องการเรียนเท่าไหร่ จะไปอ่านหนังสือเรียนตอนช่วงสอบอย่างเดียว (หัวเราะเบาๆ) แล้วโดยส่วนตัวจะชอบงานเขียนของ กิ่งฉัตร ทมยันตี ทั้ง 3 นามปากกา แก้วเกล้า ว.วินิจฉัยกุล และโบตั๋น ตามทุกเรื่องเลย เพราะว่าสำนวนและเนื้อหาถูกใจ และส่วนใหญ่คาแรกเตอร์ผู้หญิงจะไม่อ่อนแอ เราไม่ค่อยชอบนิยายที่นางเอกอ่อนแอเท่าไหร่

 • พอเราเป็นนักอ่านมาได้ประมาณหนึ่งแล้ว มีความคิดที่จะเขียนหนังสือมั้ยครับ

จริงๆ สมัยเรียนมัธยม เราก็เคยมีเขียนบทและแสดงละครเวที ตอนนั้นก็ได้รางวัลจากการเขียนบทเยอะอยู่ แต่ไม่ได้เรียนด้านการเขียนบทมานะคะ เอาตามความเข้าใจของตัวเอง เหมือนกับเราเขียนมาจากที่เราได้อ่านจากนวนิยาย หลังจากนั้นก็จะมีในลักษณะเขียนไดอารีบ้าง ซึ่งไม่ใช่แบบเขียนในชีวิตประจำวันนะคะ เป็นแบบว่า เขียนจากความฝันในแต่ละคืนที่ผ่านมา ว่าเราได้ฝันอะไรไป ว่าเราหลับแล้วฝันอะไร คือจำความฝันตัวเองได้แล้วเอามาเขียน ซึ่งจุดตรงนี้เองก็น่าจะเป็นในเรื่องพื้นฐานการเขียนของเราด้วย น่าจะมีส่วนอยู่เหมือนกัน เพราะจำได้ว่า การเขียนของเราจะเป็นแนวแฟนตาซีมาก แต่เราก็ทิ้งช่วงการเขียนมายาวเลย ตั้งแต่เรียนมหา'ลัยจนถึงอายุ 30 เพราะว่าเราก็ไปทำงานด้านอื่น ซึ่งก็ได้พบเจอผู้คนหลายระดับ เนื่องจากทำหลายงาน พอเบื่อแล้วก็ลาออก ก็สมัครที่ใหม่ เป็นอาชีพใหม่ไปเลย

 • เพราะอะไรถึงได้มาตัดสินใจเขียนหนังสือดูครับ

ตอนนั้นเล่นเกมพีซีออนไลน์ ชื่อว่า มังกรหยก ซึ่งพอเล่นไป มันก็จะมีโปรแกรมแชต เราก็แชตไป พอแชตไปก็จะมีคนที่ติดสำนวนเรา ประมาณว่าชอบสำนวนเรา ก็มาตามเราเป็นลูกน้องเราในเกม แล้วเขาก็บอกเราว่า ‘พี่น่าจะเขียนนิยายนะ อ่านแล้วสนุก’ เพราะเวลาที่เราเล่าเรื่องต่างๆ เราเล่าด้วยความสนุกจากสิ่งที่เรารู้ ซึ่งก็มีการพิมพ์แซวกันอย่างงี้ค่ะ เราก็รู้สึกว่า ลองเขียนดูก็ได้ตามลูกยุ (หัวเราะ) เราก็เขียน มีส่งให้น้องคนนั้นดูบ้าง เราเริ่มเขียนหนังสือมาตั้งแต่ 2549 แล้วก็เขียนมาตลอด จริงๆ เราก็ได้รับการติดต่อหลังไมค์ให้มาเขียนให้ เพราะก่อนหน้านี้เราเขียนลงออนไลน์ในเว็บพันทิปไงคะ จนเราตกลงทำสัญญา ก็ลาออกจากงานประจำเลย

 • พอได้มาเขียนงานจริงจัง แล้วมีผลงานเอง ผลตอบรับเป็นยังไงครับ

ผลตอบรับดีตั้งแต่เรื่องแรกคือ มิติรักข้ามดวงดาว แล้วพอมาเรื่องที่ 2 สายลับลิปกลอส ผลตอบรับก็ดีมากเลย ต่อด้วย ปักษานาคา ที่ลุยไปป่าหิมพานต์ จนมาถึง พรายพรหม เรื่องนี้ก็ถล่มทลาย เพราะว่าเป็นแนวพีเรียด แล้วก็มาเรื่อยๆ เรื่องดาวเกี้ยวเดือน ก็ได้รับรางวัล Voice Award จากเว็บเด็กดี แล้วตอนหลังๆ ก็มาลงในออนไลน์ ซึ่งเราก็มีเป็นรูปเล่มมาตั้งแต่เรื่อง สายลับลิปกลอส แล้ว ซึ่งผู้อ่านในตอนนั้น จะเป็นในแบบวัยทำงานมากกว่า ซึ่งเขาบอกว่า สำนวนหรือพล็อตที่เขียนแบบสดดี เหมือนกับว่าไม่เหมือนสำนวนทั่วๆ ไป สำนวนคือสื่อถึงคนอ่านได้ทันที ซึ่งเขียนอยู่ประมาณ 3 ปี 10 กว่าเรื่อง ก่อนที่จะมาถึง บุพเพสันนิวาส

 • ทีนี้อยากให้ช่วยเล่าถึงนิยายเรื่อง บุพเพสันนิวาส หน่อยครับ

คือตอนแรกตั้งแต่ปี 2549 เลย คิดไว้เลยว่าอยากจะเขียนนิยายอิงประวัติศาสตร์สักเรื่องนึง เพราะว่าเราเองก็มีความสนใจในด้านนี้ ชอบอะไรที่มันเป็นไทยๆ และเป็นอะไรที่เป็นประวัติศาสตร์อยู่แล้ว แล้วเราก็เคยอ่านนิยายหลายๆ เล่ม ที่เป็นแนวนางเอกย้อนยุค หรือแนวโบราณบ้าง ก็เกิดความรู้สึกว่าอยากเขียนจัง เราก็เริ่มเก็บข้อมูลมาตั้งแต่ปี 2549 เลย เราไปหาข้อมูลทั้ง หอสมุด ม.ศิลปากร และหอสมุดแห่งชาติ และมีอินเทอร์เน็ตนิดหน่อย เพราะว่าในช่วงนั้นยังไม่มีข้อมูลในนั้นเท่าไหร่ ตอนนั้น หลังจากที่แต่งเรื่อง ดาวเกี้ยวเดือนจบ เราก็มาแต่งบุพเพสันนิวาส และดาวเคียงเดือน ซึ่งเป็นดาวเกี้ยวเดือนภาคพิเศษ เรื่องละ 1 เดือน แล้ว 3 เรื่องนี้ ก็จะแต่งแบบติดๆ กันเลย เหมือนไฟกำลังมา แต่บางช่วงก็มีเหมือนกันที่เขียนไม่ได้เลยก็มี แล้วเรื่องนี้ก็ใช้เวลาเขียน 1 เดือน 29 ตอน แต่ก็จะมีช่วงหยุดตรงที่ตัวเอกเข้าหอ ที่จะเข้าช่วงประวัติศาสตร์ที่เครียดหน่อยแล้ว ตรงนั้นจะหยุดนานไปหน่อย หยุดจนคนอ่านบ่นว่า ทำไมตัวเอกโล้เรือสำเภานานจัง ฟ้าเหลืองหมดแล้ว (หัวเราะ) ตอนนั้นหยุดไป 3-4 วันได้ ก็กลับมาเขียนต่อจนจบเลย

 • ถือว่าหนักมั้ยครับ ที่เอาเรื่องทางวิชาการมาแปลงเป็นงานเขียนนวนิยาย

ตอนที่เขียนในตอนนั้น ถือว่าสนุกมากกว่าค่ะ เพราะว่าเรื่องนี้ก็เขียนในออนไลน์ แล้วก็จะมีคนตอบโต้มาตั้งแต่เรื่องดาวเกี้ยวเดือนแล้ว แล้วพอเรามาเขียนเรื่องนี้ ก็เหมือนกับว่าคนที่อ่านเรื่องก่อนหน้านี้ มาอ่านเรื่องนี้ต่อเลย ก็ยิ่งทำให้คนอ่านแบบปากต่อปาก เนื่องจากเราเขียนวันละตอนเลย เขียนจบ และโพสต์เลย แล้วเราก็มีข้อมูลอยู่ในหัวอยู่แล้ว เรารู้แล้วว่าเราจะเขียนไปแนวไหน แล้วเราจะเขียนอะไรบ้าง เพราะเราศึกษาและรวบรวมข้อมูลมานานไงคะ แล้วตกตะกอนกับที่เราอยากเขียนพอดี วันละตอนจนจบเลย เหมือนอารมณ์คนอ่านก็จะประมาณว่า จบแล้วเมื่อไหร่จะมีตอนใหม่ซะที ตอนเช้าเขาจะเล่าให้ฟังว่ามาเปิดคอมพ์รอแล้ว ซึ่งเขาก็รู้นะคะว่าเราแต่งสด แต่งปุ๊บโพสต์ปั๊บ ซึ่งถ้ามีเรื่องผิดพลาด เราก็จะแก้ทันที ซึ่งตอนนั้นก็ถือว่าเป็นข้อดีอย่างหนึ่งในตอนนั้นด้วย

 • ด้วยคาแรกเตอร์ตัวละครที่มีความเป็นปัจจุบัน แต่ฉากหลังเป็นเรื่องซีเรียส ในมุมของคุณเองถือว่าเป็นการผ่อนคลายให้ผู้อ่านด้วยมั้ยครับ

คือโดยปกติเราก็จะเขียนนิยายโรแมนติกคอเมดี้อยู่แล้วค่ะ แล้วการเขียนนิยายอิงประวัติศาสตร์ เรามีความรู้สึกว่า หลายๆ เรื่องในส่วนนี้มันรู้สึกเครียด แล้วเราจะใส่ไปยังไงให้ไม่รู้สึกเครียดมากนัก เราก็เลยใช้วิธีในสไตล์ของเราเข้าไป ก็พยายามให้ไม่เครียดมากนัก เพราะว่าเราก็รู้สึกเหมือนกันว่า พออ่านหนังสือที่มันเครียดๆ เราก็รู้สึกว่าไม่ค่อยอยากอ่าน เราก็จะอ่านไม่จบ เราเองก็ไม่อยากเครียดด้วย เราอยากให้คนอ่านได้สนุกสนานไปกับสิ่งที่เราสื่อ สนุกสนานกับข้อมูลที่เราย่อยไปให้ และอยากให้คนทุกเพศทุกวัยได้อ่าน โดยเฉพาะถ้าให้เด็กอ่าน จะให้รู้สึกว่าไม่น่าเบื่อ เราเลยให้เกศสุรางค์ที่เป็นคนยุคปัจจุบัน หลุดเข้าไปในอดีต ก็จะให้เขาเป็นคนที่ล้นๆ หน่อยค่ะ

อีกอย่างเรารักในเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ซี่งเราอยากจะสื่อสารออกไป และเราก็รักในงานเขียนของเราด้วย และเราก็รักในแฟนคลับเราด้วย ให้เขารู้สึกว่าคุ้มค่าที่ได้อ่าน ซึ่งพอแต่งจบ ก็จะเป็นรูปเล่ม เราก็รู้สึกว่าไม่เสียดายเงินที่ได้ซื้อนิยายของเราไป ก็เลยต้องพยายามให้มากที่สุดเลย ซึ่งตอนนี้เราก็คิดแบบนี้อยู่

 • แล้วพอมาทำเป็นละคร ที่ในตอนนี้ถือว่าเป็นปรากฏการณ์เลย โดยส่วนตัว ถือว่าเกินกว่าที่คาดมั้ยครับ

เกินกว่าที่คาดมาก ซึ่งตอนแรกที่จะเอามาทำเป็นละคร ก็เคยพูดกับพี่หน่อง อรุโณชา ว่าถ้าทำเรื่องนี้ให้ดี มันจะเป็นตำนานเลยนะคะ เราบอกพี่เขาไปอย่างงี้เลย แล้วทางทีมละครก็ตั้งใจมาก แล้วคนเขียนบทโทรทัศน์ ก็ได้ อ.ศัลยา (สุชะนิวัตติ์) ซึ่งท่านก็ดีมาก แล้วพอมารวมกับ คุณใหม่ (ภวัต พนังคศิริ) ก็ยิ่งทวีคูณไปอีก เพราะเขาอ่านนิยายไงคะ ก็จมไปในเนื้อเรื่องเลย เลยทำออกมาค่อนข้างตรงกับนิยาย อาจจะมีการเพิ่มสีสันในตัวละครให้เด่นชัดขึ้นตามภาษาศาสตร์ของละครเลยค่ะ

แล้วพอมาได้ดูแบบละครก็สนุกค่ะ อาจจะมีการลำดับที่แตกต่างกันบ้าง แต่ตัวบทค่อนข้างตรงกับนิยายเลยค่ะ เพราะ อ.ศัลยาท่านบอกว่า ก็เขียนบทละครตามนิยายเลย และจะไม่ลดลง อาจจะเพิ่มให้สมบูรณ์ขึ้น เพราะบางอย่างในนิยายบางจุดอาจจะไม่ชัดเท่าไหร่ แล้วท่านก็จะเน้นให้ชัดขึ้น ก็จะมีสีสันเพิ่มขึ้นมา อย่างเวลาที่ทีมงานกำลังทำละคร ก็จะมาปรึกษาเราตลอด แล้วเราก็แนะนำหลายๆ อย่างให้เขา ซึ่งทางทีมงานฝ่ายศิลป์ ก็จะมีการลงพื้นที่ทั้งอยุธยาและลพบุรี เราก็ได้ไปดู และชี้ให้ดูว่าตรงไหนเป็นตรงไหน

 • เรียกได้ว่า คุณก็ได้ใช้วิชาที่เรียนมาประยุกต์เข้ากับนิยาย ประมาณนั้น

อาจจะมีส่วนนิดนึงค่ะ เพราะว่าตอนที่เรียน เราเรียนเอกประวัติศาสตร์ศิลปะ มันเป็นคนละศาสตร์กัน เพราะวิชานี้จะศึกษาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ทางศิลปะทั้งหมด ทั้งวัตถุโบราณ สถานโบราณ เน้นในด้านศิลปะ พวกปูนปั้น พวกลวดลาย เพราะว่ามันจะบอกยุคสมัยได้ด้วย ลักษณะของพระพุทธรูปว่ามันจะสืบเนื่องกันยังไง หรือรูปปูนปั้นมันเป็นความนิยมสมัยไหน ดูลวดลายแล้วสืบเนื่องว่าเป็นยุคไหน ประมาณนี้ แล้วที่เราเรียนมันจะเน้นไปทางตะวันตกซะมากกว่า อย่างสารนิพนธ์นี่คือทำเรื่องของยุโรปด้วย ซึ่งไม่ค่อยยุ่งเกี่ยวกับของไทยซะเท่าไหร่ แต่ก็เป็นความชอบส่วนตัวในเรื่องประวัติศาสตร์มังคะ แต่มันก็มีส่วนช่วยในเรื่องจินตนาการอยู่นะคะ เพราะเวลาที่เราเห็นวัตถุโบราณ เราก็จะคิดแล้วว่าคนเคยจับนั้นมันจะเป็นยังไง เพราะมันเป็นเรื่องราว ทำให้ตัวเกตุสุรางค์ก็เลยตื่นตาตื่นใจ ทำให้เรามีความรู้สึกเดียวกันได้ เพราะเราชอบในด้านนี้ พอมาเจอของจริง ก็จะตื่นเต้นหน่อย

 • โดยส่วนตัวของคุณเอง ปัจจัยสำคัญอะไรที่ทำให้ละครเรื่องนี้ ถึงโด่งดังได้ครับ

อาจจะเป็นเพราะว่า นางเอกที่เป็นคนยุคปัจจุบัน ที่ไปอยู่ในร่างของคนในอดีต ทำให้ความคิดความอ่านของคนปัจจุบันมันเชื่อมโยงกันได้กับคนดู มันทำให้คนดูมีความรู้สึกว่า ถ้าคนดูเป็นเกศสุรางค์จะรู้สึกยังไง มันเลยทำให้มีความเอาใจช่วยนางเอก ก็เลยทำให้คนชอบละครเรื่องนี้ค่ะ เพราะเหมือนตัวเองไปเที่ยวเอง แล้วด้วยเจตนาของการเขียนแต่แรกอยู่แล้วค่ะ ว่าอยากสอดแทรกประวัติศาสตร์ให้คนอ่านรู้สึกชอบ รู้สึกเหมือนเรา ตอนที่เขียนนี่คือพยายามเขียนให้มันคลุมเครือเข้าไว้ แล้วประวัติศาสตร์ช่วงนั้นมันมีหลายกระแสมาก เราจึงต้องเลือกพล็อตแบบโรแมนติก-คอเมดี้ ก็เลยมาเป็นบุพเพสันนิวาส นี่แหละค่ะ

ตอนที่เขียนคือพยายามสร้างคาแรกเตอร์ของตัวละครที่เป็นคนจริงๆ ในประวัติศาสตร์สมัยก่อน อาจจะมีการเติมแต่งในบางส่วน อาจจะมีบิดๆ บ้าง ในบางส่วนของการกระทำ เพื่อให้เขาเป็นมนุษย์จริงๆ เพราะว่าเขาอาจจะมีดีและเลวอยู่ในตัว แล้วในข้อมูลทางประวัติศาสตร์ก็เป็นการเล่าแบบทื่อๆ จากการมองของคนในสมัยนั้น แล้วเล่าต่อๆ กันมา ก็อาจจะผิดเพี้ยนไป เราก็ใช้ส่วนนี้ค่ะ เป็นส่วนที่เราแทรกเข้าไป เหมือนกับเราต่อจิ๊กซอว์เข้าไป แล้วเสริมจินตนาการแทรกระหว่างประวัติศาสตร์ที่เราเลือกมาแล้ว แล้วมาร้อยให้เป็นหนึ่งเดียวกัน

 • เช่นเดียวกัน แน่นอนว่าเรื่องผิดลิขสิทธิ์ที่ประสบมา ก็ถือว่าเป็นตลกร้ายของคุณด้วย

โดยส่วนตัวเรา ก็ไม่ได้ซีเรียสมากนัก ก็ให้เป็นไปตามกฎหมาย และไม่ได้ส่งผลอะไรมากนัก เพราะว่าเจอบ่อย เจอมาตั้งแต่เขียนนิยายมาจนถึงตอนนี้ แต่ช่วงปีที่ผ่านมา จนคาบเกี่ยวมาจนถึงปีนี้ อาจจะหนักหน่อย เพราะว่าพอเจอเรื่องหนักๆ ก็รู้สึกเหมือนชินชา เรารับได้ แต่ก็เป็นไปตามกฎหมาย อีกอย่าง ก็มีคนให้กำลังใจเราเยอะด้วยมังคะ มีคนเห็นใจเข้าใจเราเยอะ เราก็รู้สึกว่า มันก็ไม่ได้เลวร้ายเสมอไป ซึ่งความเลวร้ายมันก็มีอยู่แล้ว แต่ความดีงามมันก็มีไงคะ จากคนรอบข้างที่เขาให้กำลังใจเรา ซึ่เราก็เลือกมองค่ะ เพราะต่อให้ทุกข์ใจไปมันก็เท่านั้น ในเมื่อมันเกิดไปแล้ว เราก็ทำให้ดีที่สุดละกันค่ะ เอาเท่าที่ได้ค่ะ เพราะกฎหมายฉบับนี้ มันก็ยากเหมือนกันค่ะ ถ้าเราไม่รู้อะไรเกี่ยวกับคนทำผิด ก็ไม่สามารถแจ้งความได้ ก็ต้องสืบค้นกันไป ซึ่งถ้าไม่ได้จริงๆ ก็คือไม่ได้ค่ะ ไม่สามารถสืบหาคนทำผิดได้ มันก็รู้สึกไม่ค่อยดีหรอกค่ะ แต่ในเมื่อเราทำดีที่สุดแล้ว ก็ต้องยอมรับในสิ่งที่เป็น

 • จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ในมุมของคุณเอง คิดว่าจะเป็นไปในทิศทางใดต่อครับ

เราคิดว่ามันเป็นกระแสในช่วงนี้ แต่เดี๋ยวละครจบกระแสก็คงซาค่ะ เพราะฉะนั้นถ้าใครคิดจะทำอะไรที่จะทำให้กระตุ้นเศรษฐกิจ กระตุ้นรับความเป็นไทย ตอนนี้ต้องรีบทำเลยค่ะ เราแทบไม่ปฏิเสธเลย ถ้าให้ไปพูดตามงานต่างๆ คือพยายามช่วยเขาให้มากที่สุดค่ะ เราไปเพราะเรารักในผลงานเรา ซึ่งอย่างที่บอกว่าเราก็ไม่คาดคิดว่ามันจะขนาดนี้ด้วยค่ะ อาจจะคิดแค่ว่ามีชื่อเสียงในระดับหนึ่ง เพราะเราก็เขียนงานให้เป็นปกติธรรมดา แต่ก็ไม่สามารถให้คนไปอ้างอิงได้นะคะ เนื่องจากมันเป็นนิยาย แต่ก็อยากให้คนอ่าน อ่านแล้วนึกฉุกใจว่า ที่เราเขียนไป มันใช่หรือเปล่า แล้วไปค้นคว้าเอง อาจจะมีการแลกเปลี่ยนความรู้กัน เพื่อให้เกิดความสนใจและศึกษาค่ะ ซึ่งถ้าเป็นประตูบานแรกสำหรับผู้ที่อยากศึกษา แบบพออ่านจบปุ๊บ ถ้าเราสนใจ ก็ทำการค้นคว้าต่อ เราก็ถือว่าสมใจนึกเลยนะคะ เพราะคิดแบบนี้ในช่วงที่เริ่มเขียนเรื่องนี้อยู่แล้ว ซึ่งถ้าจะมองก็ขอให้มองผ่านทางเกศสุรางค์ แล้วตัวละครนี้ก็ไม่รู้ว่าคนที่เขามองนั้น เป็นแบบที่เขาคิดจริงๆ หรือเปล่า คือพยายามเขียนให้เป็นประมาณนี้ แล้วให้คนอ่านฉุกคิด ว่าแล้วเรื่องราวมันเป็นยังไง ทำนองนี้ค่ะ
เรื่อง : สรวัจน์ ศิลปโรจนพาณิช
ภาพ : Facebook Fan Page : รอมแพง



กำลังโหลดความคิดเห็น