xs
xsm
sm
md
lg

ตัวจริงไม่ธรรมดา! “นางผิน” ของออเจ้า : “หยา จรรยา” เธอคือสุดยอดนักแสดง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

กว่า 20 ปี บทเส้นทางการแสดง ทั้งจอแก้วและละครเวที เธอคนนี้ได้รับการพูดถึงอย่างชื่นชมอีกครั้ง กับบทบาท “พี่ผิน” ในละครยอดนิยม ณ ขณะนี้ อย่าง “บุพเพสันนิวาส”
Manager Online ขอนำเสนอเรื่องของนักแสดงสมทบ หรือ “ตัวประกอบ” ที่ถ้าได้รู้จักเธออย่างแจ่มแจ้งทุกมุมและที่มา จะพบว่า “จรรยา ธนาสว่างกุล” หรือ “หยา” คนนี้นี่แหละ คือ “ตัวประกอบ” ที่ยอดเยี่ยมมากที่สุดคนหนึ่งในวงการบันเทิงของบ้านเรา

“สาวใช้” ในตำนาน...
ปฐมบท “ป้าหยา อูมามิ”

“คือจริงๆ ตั้งแต่เด็กจนโต เข้าร่วมกิจกรรมโรงเรียนมาตลอดทุกปี เพราะชอบโดนบังคับขึ้นไปตลอดเวลา ความฝันในตอนนั้นก็เลยไม่ได้แบบว่า ฉันชีวิตต้องเป็นดารา เฉยๆ (หัวเราะ) ก็เป็นเด็กโย่งๆ คนหนึ่ง หน้าหมวยๆ หน้ามึนๆ พูดถึงความสวยไม่มีอยู่แล้ว”

นักแสดงหญิงชั้นนำผู้ดำเนินเรื่องแม้ในบทบาทเล็กๆ ที่สร้างสีสันให้ละครไทยมายาวนานกว่า 20 ปี กล่าวถึงจุดเริ่มต้นด้วยรอยยิ้มในเส้นทางชีวิตที่เสมือนขีดเส้นให้บรรจบพบเมืองมายา ดุจบุพเพสันนิวาสที่กำลังฮิตติดลมบน ณ ขณะนี้

“แต่พอช่วง ม.4 ที่เริ่มจะต้องค้นหาเส้นทางชีวิต โรงเรียนก็พาไปทัศนะศึกษาข้างนอก ซึ่งพาไปดูการถ่ายทำที่สตูดิโอค่าย JSL รายการยุทธการขยับเหงือก ซึ่งในตอนนั้นดังมาก เสนาหอย เสนาลิง เสนาแหม่ม แก๊งเสนา เราเคยดูในทีวีตลอด แต่นั่นคือการเห็นจริงๆ ครั้งแรกว่า เขาทำอะไรกันอยู่ ระหว่างที่ดู เราก็ชอบ ก็เกิดการคิดต่อว่ามันจะหาเรียนได้จากที่ไหนวะ (หัวเราะ)

“ไอ้งานแบบนี้ สิ่งนี้เราจะไปถามใคร ทีนี้ หลังจากที่กลับมา เจอพี่สาวเขากำลังจะเอ็นทรานซ์ เราก็ได้มีโอกาสเห็นหนังสือเตรียมของเขา ก็ไปเปิดๆ ไปศึกษาดู เจอคณะนิเทศสาขาวิทยุโทรทัศน์ ก็ไม่ใช่ มันยังไม่สุด ฟิล์มก็ไม่ใช่ มันคืออะไร จนมาเลียบๆ เคียงๆ เจอการแสดง ทฤษฎีการแสดง แล้วคำถามต่อไปคือมหาวิทยาลัยไหนบ้างที่สอน ก็ทำการบ้านตั้งแต่ตอนนั้นเพื่อจะให้รู้ว่ามีสถาบันไหนรองรับการเรียนการสอนการแสดงบ้าง”

สุดท้าย...ที่ฝึกปรือวิชาอินเนอร์ภายในและภายนอก ก็คือ ภาควิชาศิลปะการแสดง มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

“หลังจากผ่านด่านแรก ด่านต่อมา ชิมลางเรียนปรับพื้นฐานใน 2 ปีแรก จนกระทั่งปี 3 ตอนนั้นตื่นเต้นมาก จริงๆ มันถอดใจไปแล้ว เนื่องจากตอนเรียน เราเดินผ่านคณะทีไร เห็นเพื่อนๆ เขารู้จักรุ่นพี่กันหมดเยอะมาก แต่เราไม่รู้จักใครเลย แล้วเราจะอยู่ในพื้นที่นี้ได้ไหม ก็เกิดการถอดใจ ยิ่งเข้าใกล้วันรับประกาศตอนปี 3 ให้เราเลือกคณะ เขาเปิดออดิชั่น”

โดยที่มีคนมาสมัครทั้งหมด 80 แต่เอาแค่ 40 คน “ครึ่งต่อครึ่ง”...

“เราก็คิดว่าเราคงเลือกผิดทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ไปออดิชันด้วยซ้ำ จนวันหนึ่งช่วงที่กำลังทานข้าวก่อนกลับบ้าน เพราะรถมันติด ทางมหาวิทยาลัยจะมีคอนเสิร์ตมาเล่นประจำทุกวัน วันนั้นก็เป็นพี่มิเกล (สุกัญญา มิเกล) แล้วพี่เขาเจอวิกฤตการณ์ชีวิตค่อนข้างเยอะสมัยสาวๆ จนกระทั่งมาออกอัลบั้มโด่งดัง เขาก็พูดถึงเรื่องของโอกาสในชีวิตคนเรา “เรื่องในอดีตบางเรื่อง เราเสียใจที่เรากลับไปแก้ไขมันไม่ได้ เพราะวันนั้น เราตัดสินใจที่เราไม่กระโดดไปทำมัน ถ้ามีโอกาสอยากจะแก้ไขมันจริงๆ แต่มันทำไม่ได้แล้ว” เราได้ฟังก็รู้สึกว่าถ้าวันนี้เราไม่ออดิชัน มันจะเป็นสิ่งที่ค้าคาใจเราไปตลอดชีวิตเลย

“เราก็...เอาวะ” นักแสดงสาวเปิดเผย เพราะทั้งที่ก่อนหน้านั้นหาข้อมูลต่างๆ นานา ไหนจะเรื่องคุณพ่อที่เป็นอดีตนักเต้นลีลาศและเคยห้ามปรามไม่อยากให้เลือกเรียนสายการแสดงเต้นกินรำกินที่ในอนาคตอาจจะไม่พอประทังชีพ

“พอออดิชันเสร็จ ออกมาเข่าอ่อนเลย แล้วเข่าอ่อนยิ่งกว่าคือตอนประกาศผล ยิ่งกว่าลุ้นสอบเอ็นทรานซ์ เราได้ พอรู้ว่าได้ก็ยืนร้องได้อยู่ตรงหน้ากระดาษที่ติดผล คิดไม่ผิดที่เลือกทางนี้ ทีนี้ตอนไปเรียนก็ไปอย่างมีความสุข นี่คือสิ่งที่เรารอตลอดเวลา เรียนวิชาไหนก็สนุก เรียนทฤษฏีการละคร คนอื่นปวดหัวตึบๆ แต่เราตาแป๋ว ได้เกรดเอ หมดทุกวิชา พ่อที่เคยเป็นห่วงเนื่องจากเขาเป็นนักลีลาสระดับประเทศ แชมป์ถ้วยรางวัลพระราชทานเยอะแยะ แล้วเขาตัดสินใจจบอาชีพนี้เพราะต้องมีครอบครัว แล้วเขารูว่าสิ่งนี้มันเลี้ยงครอบครัวไม่ได้ ฉะนั้น เขาต้องยอมทิ้งความฝันตัวเองเพื่อให้เกิดการมีครอบครัวขึ้นมา วันที่เราเลือกทางนี้ เขาก็เป็นห่วง แต่พอเห็นว่าเราทำได้เขาก็เลยวางใจ ให้เราเต็มที่ ให้พื้นที่เราเต็มประสิทธิภาพ เพราะเรามีโอกาสที่วงกว้างกว่าในยุคของเขา

“เราก็เต็มที่จนจบวันสุดท้ายของการเรียน เราก็ยังออกมาทำละครข้างนอก มีเว้นว่างไปช่วงหนึ่งไปทำงานประจำ ไปเป็นแคสติ้งบริษัทโฆษณา แต่ไม่เหมาะกับตัวเรา ทั้งๆ ที่เงินดีมากกก... อู้ฟู่ แต่มันไม่ได้มีความสุขมากเท่าเราแสดงละคร ทั้งๆ ที่เราทำได้ดี แต่เราเบื่อที่ต้องทำงานกับคน สุดท้ายก็กลับมาละครเวทีเรื่อยๆ มา จนมาเข้าทีวี พอรุ่นพี่หัวหน้าคณะเสาสูงที่เราตั้งกลุ่มกันไว้ตั้งแต่ตอนเรียน เขาก็กลับมาเจอเราพอดี จะเอาเราไปเล่นละครเวทีที่โรงรงละครกรุงเทพ ออฟฟิศเราอยู่สุขุมวิท ช่วงนั้นทำงานเสร็จก็ไปซ้อม มีความสุขมาก ไปมหาวิทยาลัยกรุงเทพกล้วยน้ำไทใกล้ๆ มีความสุขมาก ไม่ทุกข์ใจอะไรเลย

“ทีนี้พอมาเล่น พี่ณัฐ นวลแพง ผู้กำกับซึ่งเป็นคนเขียนบทให้กับคุณอาบัณฑิต ฤทธิ์ถกล ช่วงแกทำละครทีวีเรื่อง ‘บุญชู’ ทีมนี้เขามาดูละครเวทีแล้วเห็นเรา เขาก็ชอบ ประสานงานให้เรามาเล่นละครเรื่องใหม่ ‘นางสาวโพระดก’ ซึ่งตอนแสดงเราใส่วิกก็ดูอายุเยอะ โตหน่อย แต่จริงๆ เรายังเด็ก ผมซอยสั้นสีทอง ใส่เสื้อกล้ามกางเกงทหารสะพายเป้เดินไปที่กองละครเขา เขาก็ตกใจทุกคน งง มาเล่นเป็นใคร เล่นเป็นเพื่อนพลอย นางเอกรุ่นเหรอ (หัวเราะ) แต่จริงๆ มาเล่นเป็นเพื่อนรุ่นเดียวกับคุณสุพรรษา เนื่องภิรมย์ อายุอารมณ์ประมาณพี่จิ๊ก เนาวรัตน์ ยุกตะนันท์ ทั้งๆ ที่เราอายุ 27 ปี ก็ใส่วิก เขียนหน้าแก่ คือแกจะเอาคนนี้ ก็เลยมีผลงานแรกออกมา ก็ผ่านไปได้ด้วยดีในบทคนใช้ แต่เป็นคนใช้ที่ไปทั่ว ปากดี รักนาย”

ด้วยบทบาทการแสดงส่งผลให้เรื่องที่ 2 เรื่องที่ 3-4-5 ก็ตามมาติดๆ กระทั่งกว่า 50 เรื่องในปัจจุบัน โดยที่บทบาทการแสดงแม้จะภายนอกดูผิวเผินเป็นบทเล็กๆ ธรรมดา อย่างแม่บ้าน เลขา คนใช้ หรือว่าทาสในเรือนเบี้ย ทว่าล้วนแล้วแต่เป็นที่จดแลจำและอินตามในทุกครั้งของเสี้ยววินาทีที่ออกประกอบฉากเดินเรื่อง เรียกได้ว่าครบเครื่องอูมามิฉายาที่ถูกเรียกขาน

“ก็ต่อยอดมาเรื่อยๆ พอเขารู้ว่าเล่นละครแล้ว เรื่องที่สองของค่าย JSL ก็ไปเจอเพื่อนที่ข้าวสาร เป็นผู้ช่วยละครของพี่คิง (สมจริง ศรีสุภาพ ผู้กำกับ) เรารู้จักพี่เขาตอนที่ทำโฆษณา ก็เลยให้ฝากบอกว่าเราเล่นละครแล้ว เรียกได้ แกก็โทรให้ไปเล่นเรื่องปริศนา เป็นครู พอละครออนแอร์ คนเห็น ก็เป็นที่รู้จัก คือถ้าถามว่าทำไมเราถึงได้เข้าไปในพื้นที่นั้น เนื่องจากว่าในช่วงหนึ่งรุ่นใหญ่ๆ อย่างพี่ท็อป-ดารณีนุช พี่ผัดไทย-ดีใจ เขาเฟดตัวจากการรับบทประมาณนี้ แล้วช่วงนั้นไม่มีใคร เรามาพอดี งานก็เลยเข้า เล่นยาวจนถึงทุกวันนี้ ไม่ได้หยุดเลย

“ทีนี้ คนอื่นๆ เขาไม่ชอบให้ถูกเรียกว่าป้า แต่เราชอบ เราก็ให้หลานเรียกป้าหยาเลย (ยิ้ม) พอมันประกอบกับเราเป็นคนทำอาหาร มันมีช่วงหนึ่งที่จะมีโฆษณาผงปรุงรสยี่ห้ออูมามิ เป็นรสนวลๆ เราเป็นคนทำอาหารที่ให้คนอื่นกินแล้วมีความสุขกลมกล่อมอร่อย ลูกๆ หลานๆ เพื่อนก็เลยเรียก “ป้าหยา อูมามิ” ก็ถามว่าทำไมต้องป้าหยาอย่างนั้น ก็เพราะป้าหยาอร่อยไง มันนัว มันกลมกล่อม ก็เป็นที่มาที่นอกจากทำอาหาร เรื่องชีวิตเรา หน้าที่การแสดงมันก็กล่อมกลอมในนั้นด้วย ในหนึ่งคำ มันให้ความหมายทั้งชีวิตเราเลย”

“บอร์น ทู บี”
ไม่ว่าบทไหน ออเจ้าต้องโอเค

“อย่างทองเนื้อเก้า ที่อ๊อฟ (พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง) ให้พื้นที่ตัวละครเยอะมาก แล้วที่เขาเรียกใช้เรา เพราะไม่มีใครกล้าจิกหัวนุ่น แล้วก็พลังที่สาดใส่นุ่นให้ดูแข็งแรงกว่านุ่นมันไม่มี ก็เลยกลายเป็นเรา ระบุเป็นเรา เพราะถ้าใช้นักแสดงเอ็กซ์ตร้าที่มาจากโมเดลลิ่ง อาจจะได้ลุคและอายุ แต่อารมณ์และความแข็งแรง อาจไม่ได้ บทก็เลยตกมาที่เรา”

นักแสดงรุ่นใหญ่เปิดเผยถึงเส้นทางการแสดงที่แม้แต่บทเล็กๆ น้อยๆ แต่ไม่ใช่ว่าขอให้เล่นผ่านไป ทุกสิ่งอย่างในบทบาทหน้าที่ของแต่ละคนมีความหมายมีคุณค่าในตัวของมันเอง ไม่ใช่ใครที่รับบทนั้นแล้วก็จำเป็นต้องเล่นบทแบบเดิมๆ เพราะผลงานการแสดงจากเรื่องที่ผ่านมาที่ส่งต่อให้ได้รับบทบาทนั้นๆ เรื่อยไป พี่น้องประชาชนจะชื่นชอบพร้อมใจมอบเปลือกทุเรียนห้ามเดินตลาด

“คือเราก็รู้วิธีทอนแรง เราไม่ได้จิกหัวนุ่นจริงๆ นุ่นก็รู้ว่าไม่ได้จิกจริงๆ นุ่นก็เล่นแล้วรับส่ง ก็เป็นเรื่องพื้นฐานเทคนิคการแสดง คือถ้าจะนับเพื่อการันตีให้เห็นภาพ นางเอกคนอื่นก็มี อย่าง จอย (รินลณี ศรีเพ็ญ) ในดอกส้มสีทอง ตบจอย ได้ทำร้าย อ้อม (พิยดา จุฑารัตนกุล) แม้ว่าคาแรคเตอร์ที่ได้มาตลอด มันคือคนใช้ ลูกไล่ เลขา ผู้ติดตาม แม่บ้าน คนข้างบ้าน ป้าในตลาด ส่วนใหญ่เป็นคาแรคเตอร์ที่เป็นผู้กระทำนางเอก แต่ก็แพ้นางเอก ทั้งที่เราตัวใหญ่กว่าตั้งสองเท่า แต่ตบทีไรไม่เคยชนะนางเอกเลย ฟ้าเพียงดินแกล้งอ้อม แต่ก็แพ้ตลอดเวลา ก็เป็นการสร้างสีสัน ที่ในแต่ละครั้งเราต้องให้กำเนิดมัน”

รู้สึกอย่างไรที่เราได้รับแต่บทบาทที่ไม่ใช่พระนาง เป็นบทประกอบ เป็นคนรับใช้ เป็นทาส

ส่วนหนึ่งคือในตอนนั้น เราหวงพื้นที่ส่วนตัวของเรา เราไม่ค่อยออกสื่อ เคยมีคนสัมภาษณ์ช่วงทำละครเวทีกรุงเทพฯ เขายกให้เราเป็นคนรับใช้ในตำนาน พอเป็นคำว่าตำนาน โอ๊ย ฉันยังไม่ตายนะ เพราะคำว่าตำนานมันให้อารมณ์หมายถึงว่านานมาก (หัวเราะ) นานจนเราอาจจะไม่มีชีวิตอยู่แล้ว แต่ก็ขอบคุณที่เห็นคุณค่าในตัวเรา แต่ถ้าถามเรื่องความรู้สึกตรงนี้ จริงๆ คือไม่ว่าจะบอกว่าตัวเองเป็นนักแสดงหรือเป็นศิลปินหรืออะไรก็ตาม แต่ภาพหรือสิ่งที่มันติดปากคนตลอดเวลา ก็นักแสดงตัวประกอบ อย่างพื้นที่ของละครเวที เราไม่ได้แคร์มากเท่าไหร่ เฮ้ย ไม่ได้ ฉันเป็นดารา ต้องเรียกฉันว่าดารา ไม่ใช่อย่างนั้น เพราะเรารู้สึกว่าดารามันคือดวงดาว มันเกิดขึ้นมันตั้งอยู่แล้วมันก็ดับไป แสงที่เปล่ง เปล่งในพื้นที่และอยู่ได้ในช่วงเลาหนึ่ง แต่คุณค่าของแสงสว่างนั้นมากกว่าที่มันมีค่า

เราจะบอกตัวเองว่าอาชีพเราคือนักแสดง เราไม่ได้บอกว่าเราเป็นดารา เราเป็นศิลปินนักแสดง เราสร้างงาน คุณค่ามันอยู่ในงานของเรา แต่ก็เคยยึดติดช่วงแรกๆ ที่เข้าวงการ แล้วมันมีแต่บทแบบนี้ตลอด ช่วงหนึ่งความถืออัตตาเพราะเราเรียนมา รู้สึกว่าทำไมเราเรียนการแสดงมา จบเอกการแสดง ทำไมต้องได้แต่บทคนใช้ บทแม่บ้านแบบนี้ เราถืออัตตาในตัวเองสูงมาก เราก็รู้สึกว่าไม่เล่นก็ได้ คนไม่ให้พื้นที่เรา ตอนนั้นคิดอย่างนั้น

จนวันหนึ่ง วันที่มีคนมาถามมาทัก เราใช่ไหมที่เล่นเป็นคนใช้ เขาจำเราได้ ผู้กำกับ ผู้จัด เรียกเราตลอด ผลจากที่คนอื่นปฏิบัติกับเรา ดูแลเราแบบเอ็กซ์ตร้า ก็เปลี่ยนตัวเราไป อย่างเรื่องสามีตีตรา ฉากโดนราดคารามายด์ต้องเรา เพราะละครเริ่มที่จะซีเรียส แอนก็ให้เราไปรับเชิญฉากเดียว แต่ฉากเดียวต้องเป็นเราเท่านั้น เขาก็ขอโทษที่ใช้งานเราน้อย แต่ต้องเป็นเรา 10 วินาที ทำให้คนดูได้ผลักออกจากความกดดัน แล้วมันก็ได้อย่างนั้นจริงๆ เราก็รู้สึกวางลง เข้าใจอะไรๆ หลายอย่างมากขึ้น เพราะเราได้ทำหน้าที่ของเราในฐานะนักแสดงอย่างเต็มที่

กว่าจะเป็น...พี่ผิน ในวันนี้

มันก็พัฒนาเรื่อยมา คือเรารับบทแบบนี้ บางทีมันไม่ได้ทำอะไรกับตัวละครเลย ยืนเฉยๆ เดินตามเฉยๆ เรารู้สึกว่าเสียดายวันเวลาที่ผ่านไป มันไม่ได้ทำให้ตัวละครเติบโตขึ้น เราก็เอาเรื่องของการแสดงที่เรียนมา ทำให้มันพัฒนา ให้เกิดขึ้น เติบโตขึ้นในทุกๆ บท เราสร้างขึ้นมาใหม่ บางครั้งก็มาจากไดแร็คเตอร์ผู้กำกับอย่างพี่เติม ทำงานกับเขาสนุกมาก เพราะเขามาสายทางละครเวทีเหมือนกัน (ยิ้ม) เราก็จะคุยงานเวทีควบไปกับการแสดงที่แกชอบให้บทอะไรบางอย่างเป็นตัวละครผู้หญิงที่มีการป่วยทางจิต มีความไม่เสถียรทางอารมณ์บางอย่าง เขาชอบให้เราถ่ายทอด ก็สนุกมาก หลายๆ เรื่องก็จะได้การเติบโต

ส่วนตัวมีทำการบ้านมากน้อยแค่ไหน

เราก็ต้องไปหาจากชาวบ้าน เราชอบไปตลาด เราชอบไปที่ๆ มีคนพลุกพล่านเจี๊ยวจ๊าว ความโผงผาง ทำไมต้องตะโกนคุยกันขนาดนี้ อะไรยังไง ก็ไปนั่งเนียนๆ แต่จริงๆ ไปสำรวจพฤติกรรมของคน เพราะว่านักเรียนการแสดง สิ่งที่เป็นวัตถุดิบของเราก็คือคน เพราะเราทำงานกับคาแรคเตอร์คน เราจะนั่งเทียนสร้างคาแรคเตอร์ไม่ได้ เราต้องไปมองให้เห็นว่าแล้วว่าในความเป็นจริง สิ่งนี้มันเกิดขึ้นเพราะอะไร แล้วเราก็เก็บเป็นข้อมูล เป็นคลังขุมสมบัติ เก็บไปเรื่อยๆ ถึงเวลาที่ต้องทำงานกับคาแร็คเตอร์อะไรพวกนี้ก็ดึงออกมาใช้ อนึ่ง คาแร็คเตอร์ตัวนี้มันคือตุ๊กตา ยังไม่มีเสื้อผ้าใส่ เราจะเอาสิ่งที่อยู่ในข้างในเติมแต่งมันอย่างไร เจอกับอะไร มากขนาดไหน แรกๆ ก็เซฟโซน เอาทักษะชุดกลางๆ ที่เคยๆ แสดงมา ก็เป็นเสื้อพื้นๆ แต่ผ้าถุงสีส้ม เป็นต้น

ทีนี้ ถ้าผ้ามันเริ่มมีสีสัน ก็เติมเพิ่ม เป็นลายดอก ใช้เสียง หน้าตา จังหวะหายใจ จังหวะจริตในการพูดการทิ้งท้ายคำ การให้น้ำหนักคำ ก็สร้างคาแร็คเตอร์ที่แตกต่าง บางงานก็เสียง บางงานก็ท่าทาง บางงานก็ร่างกาย พอเราไปเก็บมาปุ๊บ เมื่อเราจะใช้ เราเอามาขยาย เพราะมันจะธรรมดาไม่ได้ มันจะต้องมีโอเว่อร์แอ็คติ้ง ขยายให้มันดูใหญ่ ดูชัด แต่ใหญ่มากไม่ได้ เพราะไม่ใช่ละครเวที เราก็ต้องบาลานซ์ทั้งหมดเข้าด้วยกัน ขยายมันก่อน เพื่อให้มันเหมาะกับตัวละครตัวนั้น พอได้แล้วก็ทำให้ชัด ละครแนวพีเรียดก็อาจจะใช้น้ำเสียงน้ำคำไม่ได้ เพราะอีกยุคหนึ่งยุคนั้นยังไม่เกิดขึ้น เพศก็อีกแบบหนึ่ง สถานที่ก็แบบหนึ่ง ในเมืองหรืออำเภอ ก็ว่ากันไป ก็ต้องทำการบ้านเรื่องพวกนี้ให้ตัวละครออกมา

ได้รับความนิยม...

ตอนนี้ถามว่ารู้สึกอย่างไร คือเราอยู่วงการนี้ 20 ปี วันหนึ่งที่เราเคยสงสัยในการมีพื้นที่ของเรา แล้ววันหนึ่งก็ได้ขจัดปัญหาพวกนั้นไป ไม่ได้สงสัยเพราะเราต้องทำหน้าที่ เราไม่เคยตื่นเต้นกับการมีพื้นที่หรืออะไรก็ตามอย่างดาราหลายๆ คนเปิดตัวกับมหาชน เราวิ่งหนีตลอด ไม่ร่วมไม่ไป แต่ไปทำละครเวทีแทน (ยิ้ม) แต่วันนี้หนีไม่ได้แล้ว สปอตไลท์มันมาตลอดเวลา หน้าหลังซ้ายขวา ทุกวันนี้หัวใจเต้นแรงมาก ทุกที่ที่ไปก็จะได้รับคำชื่นชมกับบทบาทที่เราได้รับ ก็ขอบคุณที่หลายๆ คน เห็นรายละเอียดเล็กๆ ที่เราให้กับตัวละคร คือเราสนุกทุกเรื่องทุกครั้ง แต่พอมันออกมา ไม่คิดว่ามันจะกลายเป็นฟีเวอร์ เป็นปรากกฎการณ์

คือคิดอยู่แล้วว่าสนุก แต่เรื่องปรากฏการณ์ในสังคมชั่วข้ามคืน มันเหมือนผีพุ่งใต้ เปรี้ยงเดียวดัง ไม่รู้เนื้อรู้ตัว นั่งดูละครตัวเอง กระแสโซชียลร้อนฉ่า ทวีตเตอร์อีก ดูไปก็น้ำตาไหลไป ก็ขอบคุณมากอีกครั้ง ดีใจมากที่คนรักตัวละครนี้ รักในสิ่งที่เราให้กับคาแร็คเตอร์ผิน เราช่วยสร้างคาแร็คเตอร์แย้ม เพราะเราอยู่ด้วยกัน เราไม่ได้ขโมยซีนกัน เราจะไม่ขโมย เพราะทุกคนมีเกียรติของตัวเอง เราจะช่วยดึงน้องนุ่นไปด้วย ซึ่งนุ่นเองบอกว่าหนูร้องไห้ยากมาก แต่เราถูกฝึก และเรียนมา เรานำพาง่ายกว่า เราก็จะเป็นคนที่สร้างและดึงนุ่น เราไม่ทอดทิ้งใคร ก็ทำให้ออกมาอย่างที่เห็น ทุกตัวละครส่งกันนำกัน นั่นคือนักแสดงและการแสดงที่ทำให้คนอินและชอบ

ตอนนี้คนอินและชอบบุพเพฯ มาก จำเราได้ในฐานะพี่ผิน

ก็เรียกตามชื่อตัวละคร พี่ผินๆ แต่ก่อนอาเง๊ก ก็ดีใจ รู้จักเราก็พอแล้ว ตอนนี้ก็มีถามกันเขียนกันขึ้นมาว่า ผิน คือใคร แล้วมีคนทำในเว็บไซต์ว่ารู้จักเบื้องหลังโปรไฟล์แล้วจะหนาว เป็นครูสอนการแสดง มิน่า ถึงเล่นดีขนาดนี้ (หัวเราะ) ก็ดีใจ แต่รู้จักเราในชื่อหยาตอนนี้ก็มากขึ้น อาจจะเพราะด้วยความที่อยู่มานานแล้ว ถึงวาระมันแล้ว ก็ดี เป็นโอกาสอันดี เราก็ได้รู้จักคนเยอะขึ้น แล้วคนรู้จักเราเยอะขึ้น แล้วส่งต่อมาในเรื่องของการทำบุญ เพราะเราชอบแมว รับแมวจรจัดมารักษาและหาบ้านให้เขา มันก็เป็นวงกว้างขึ้นมากกว่านี้ เราเชื่อว่ามันเป็นสิ่งที่ดี

แต่เราคือนักแสดง ก็ต้องทำให้เต็มที่ ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ คนจะรู้จักหรือไม่รู้จัก เรารู้ว่ามันต้องซื่อสัตย์ ไม่ได้ซื่อสัตย์กับอะไร ซื่อสัตย์กับตัวเอง กับสิ่งที่ทำออกมา มันไม่ใช่ว่าสักแต่ว่าทำ คือไม่ใช่ว่าแค่วันหนึ่งคุณเดินเข้าฉากเสร็จ พูดประโยคสองประโยคแล้วก็ตัด ความเป็นนักแสดงต้องซื่อสัตย์และจริงใจกับสิ่งที่ตัวเองทำมากที่สุด

เชื่อในสิ่งที่ทำ
ศรัทธาและมุ่งมั่น

ทั้งนักแสดง ผู้คิดตีโจทย์หรือที่เรียกว่าโซโลเดี่ยวในงานละครเวที นี้ยังไม่นับผลงานการันตรีรางวัลต่างๆ ที่ได้รับ อาทิเช่น ขวัญใจมหาชนควบกับขวัญใจผู้จัดทำละครเวทีในปี 2554 เรื่อง ไฮไฟว์ อิอิ นักแสดงหญิงยอดเยี่ยม เรื่อง พบรักมักกระสัน แรงบันดาลใจจากบทประพันธ์เรื่อง BLUE ROOM ในเวอร์ชันไทย ที่ต้องพลิกบทบาทแสดงถึง 5 ตัวละครในคนเดียว

“ต้องบอกว่าในกระแสที่อยู่นี้มันทำให้เห็นสิ่งหนึ่งที่หลายๆ คนมองข้ามไป คือเรื่องของนักแสดง เพราะทุกเรื่องมันมีนักแสดงหมด แต่ว่าอย่างที่บอกทั้งนักแสดงทุกคนในเรื่องนี้ เบลล่า โป๊ป ปั้นจั่น มะปราง หรือว่า นุ่น (รมิดา ประภาสโนบล) เราทำหน้าที่นักแสดง เราทำการบ้านในฐานะนักแสดง และเราฟังผู้กำกับ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี

“โดยมันมีคำถามหลายคำถามตอนถ่ายทำ ทำไมวะ ทำไมให้ทำ แต่ในฐานะนักแสดง เขาคือคนที่สำคัญที่สุดที่เราต้องเชื่อเขา แล้วมันจะได้ดี และมันก็จริงๆ มันก็ได้เห็นการทำงานของนักแสดงที่เหนือกว่าคำวิเศษ มันจริง เพราะว่ามันก็คือสิ่งที่บอกไปว่า ในคำว่านักแสดง การที่เราจริงใจซื่อสัตย์กับฐานะนักแสดง กับหน้าที่ของคุณ มันคือสิ่งที่เกิดขึ้นกับบุพเพสันนิวาส เพราะทุกคนเชื่อและจริงใจในสิ่งที่ตัวเองเป็น ในฐานะนักแสดง มันไม่ได้ประดิษฐ์ออกแบบ แต่มันศรัทธาในความเป็นตัวละครนั้นจริงๆ ก็เลยเกิดภาพแบบนี้และเป็นปรากฏการณ์เป็นฟีเวอร์

“ที่สำคัญ พื้นฐานละครคือเรื่องความบันเทิงที่สอดแทรก มุ่งให้เกิดสายสัมพันธ์อันดีกับชีวิตในทุกเรื่องๆ ณ ตอนนี้มันทำให้ครอบครัวมานั่งดูทีวีพร้อมกัน หลายบ้านไม่มีโมเม้นท์แบบนี้มานานมากแล้ว ก็ดีใจที่เราเป็นส่วนหนึ่งในตรงนี้ได้ ก็ขอบคุณ ปัจจุบันนอกจากเป็นนักแสดงก็เป็นอาจารย์พิเศษสอนที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยได้ 4 ปี หลังจากที่สอนอยู่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ทุกวันนี้ก็สอนเกี่ยวกับการแสดง วิชาโท ปริญญาตรี คณะมนุษยศาสตร์และประยุกต์ศิลป์สาขาศิลปะการแสดง ก็ขอบคุณทุกคนที่เล็งเห็นในความสามารถ ในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่เราตั้งใจถ่ายทอดในฐานะนักแสดง ขอบคุณค่ะ”

เรื่อง : รัชพล ธนศุทธิสกุล
ภาพ : จรรยา ธนาสว่างกุล


กำลังโหลดความคิดเห็น