xs
xsm
sm
md
lg

แฉงบกีฬาสีเด็กมัธยม ทุ่มขบวนพาเหรด-ลีดเดอร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ลีดเดอร์ฝึกหนัก : เด็กนักเรียนกำลังซ้อมเต้นเชียร์ ณ โรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่ง
หนังสือพิมพ์หอข่าว ของนักศึกษาชั้นปีที่ 3 กลุ่มวิชาเอกวารสารศาสตร์คอนเวอร์เจนซ์ สาขาวิชานวัตกรรมสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ตีพิมพ์ในหัวข้อ “แฉงบกีฬาสีเด็กมัธยม ทุ่มขบวนพาเหรด - ลีดเดอร์” ซึ่งล่าสุดได้รางวัลข่าวฝึกปฏิบัติดีเด่น “พิราบน้อย” ประจำปี 2560 จากสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

-----

เจาะเม็ดเงินหลังสแตนด์เชียร์ เปิดงบกีฬาสีโรงเรียนมัธยม นร. ใช้จ่ายเงินหลักหมื่นถึงเหยียบแสน ทุ่มทุนจ้างโค้ชสอนลีดเดอร์ ตัดชุดหรูเดินพาเหรด ผู้บริหาร ร.ร. ชี้ ค่านิยมกีฬาสีผิดเพี้ยน เน้นเชียร์มากกว่ากีฬา ผู้ปกครองห่วงเด็กใช้จ่ายเงินเกินตัว ศธ. รุดหาทางแก้ แนะพ่อแม่ครูสอนเด็กไม่ฟุ่มเฟือย

ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ “หอข่าว” พบเบาะแสจากกลุ่มนักเรียนมัธยมศึกษา พูดคุยเกี่ยวกับการเรียกเก็บเงินค่ากีฬาสีในคณะสี ซึ่งทางโรงเรียนมีการให้งบประมาณแก่นักเรียน แต่ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย ผู้สื่อข่าวจึงได้สำรวจ “กิจกรรมงานกีฬาสี” ด้วยวิธีการเก็บแบบสอบถาม ช่วงวันที่ 15 - 13 มกราคม พ.ศ. 2561 ในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล จำนวน 400 คน

จากการสำรวจพบว่า เป็นเพศชายจำนวน 130 คน คิดเป็นร้อยละ 30 เพศหญิงจำนวน 280 คน คิดเป็นร้อยละ 70 แบ่งเป็นเด็กนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 6 จำนวน 101 คน คิดเป็นร้อยละ 25.25 ชั้นมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 5 จำนวน 81 คน คิดเป็นร้อยละ 20.25 ชั้นมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 4 จำนวน 68 คน คิดเป็นร้อยละ 17 ชั้นมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 3 จำนวน 81 คน คิดเป็นร้อยละ 20.25 ชั้นมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 2 จำนวน 39 คน คิดเป็นร้อยละ 9.75 และนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 1 จำนวน 30 คน คิดเป็นร้อยละ 7.5

ในกิจกรรมกีฬาสีผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่าตนเองทำหน้าที่กองเชียร์ ร้อยละ 22.50 ขบวนพาเหรด ร้อยละ 24.50 ดรัมเมเยอร์และเชียร์ลีดเดอร์ ร้อยละ 14.25 นักกีฬา ร้อยละ 11.25 ฝ่ายคุมสแตนด์เชียร์ ร้อยละ 7.5 ประธานสี ร้อยละ 3 กองสวัสดิการ ร้อยละ 10.75 และไม่ได้ทำหน้าที่ใดเลย ร้อยละ 6.25

นอกจากนั้น การสำรวจพบว่าโรงเรียนส่วนใหญ่จัดกิจกรรมกีฬาสีจำนวน 1 วัน คิดเป็นร้อยละ 39 จำนวน 2 วัน คิดเป็นร้อยละ 23.5 จำนวน จำนวน 3 วัน คิดเป็นร้อยละ 29 จำนวน 4 วัน คิดเป็นร้อยละ 3 จำนวน 5 วัน คิดเป็นร้อยละ 5 และจัดงานกีฬาสีมากกว่า 5 วัน คิดเป็นร้อยละ 0.5

สำหรับคณะสีมีการจ้างคนนอกเข้ามาสอนในส่วนของท่าเต้นเชียร์ลีดเดอร์และสแตนด์เชียร์ คิดเป็นร้อยละ 58.4 ไม่มีการจ้างสอนเต้น คิดเป็นร้อยละ 15.04 และไม่ทราบว่ามีการจ้างคนนอกเข้ามาสอนคิดเป็นร้อยละ 26.56

มีการเรียกเก็บเงินจากผู้ปกครองน้อยกว่า 100 บาท ร้อยละ 22.25 จ่ายเงิน 500 - 100 บาท ร้อยละ 34.5 จ่ายเงิน 1,000 - 501 บาท ร้อยละ 24.75 จ่ายเงิน 5,000 - 1,001 บาท ร้อยละ 16 จ่ายเงิน 10,000 - 5,001 บาท ร้อยละ 2.25 และมากกว่า 10,000 บาท ร้อยละ 0.25

สำหรับความคิดเห็นเกี่ยวกับการจ่ายเงินเพื่อกิจกรรมกีฬาสีในโรงเรียน ผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า เห็นด้วยเพราะเป็นประโยชน์ส่วนรวม คิดเป็นร้อยละ 54.75 ไม่เห็นด้วย คิดเป็นร้อยละ 18.75 และเฉยๆ คิดเป็นร้อยละ 26.50 ความพึงพอใจต่อการจัดกิจกรรมงานกีฬาสีในระดับมากที่สุดร้อยละ 8.5 ในระดับมากคิดเป็นร้อยละ 39 ในระดับปานกลางร้อยละ 47 ระดับน้อยร้อยละ 4.75 และระดับน้อยที่สุดร้อยละ 0.75

ผลสำรวจพบว่าสิ่งที่เด็กนักเรียนได้รับจากการเข้าร่วมกิจกรรมการแข่งขันกีฬาสี (เลือกตอบได้มากกว่า 1 ข้อ) ทำให้มีความสามัคคี รักหมู่คณะ และรู้จักช่วยเหลือซึ่งกันและกันร้อยละ 53 ทำให้มีนิสัยรักการออกกำลังกาย มีน้ำใจเป็นนักกีฬา รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย โดยใช้กีฬาเป็นสื่อร้อยละ 45.25 ทำให้มีประสบการณ์ในการแข่งขันกีฬาร้อยละ 40 ทำให้มีสุขภาพกายและสุขภาพจิตใจที่สมบูรณ์แข็งแรง ได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ร้อยละ 39.5 ทำให้นักเรียนได้เล่นกีฬาที่ตนเองชอบหรือถนัดและกล้าแสดงออกร้อยละ 36.25

นอกจากนั้น ผู้ตอบแบบสอบถามยังให้ความเห็นน่าสนใจหลายอย่าง เช่น “ไม่อยากให้มีการเรียกเก็บเงินในงานกีฬาสีมากเกินไป… ควรลดค่าชุดเครื่องแต่งกายของเชียร์ลีดเดอร์ให้น้อยลง… ไม่จำเป็นต้องใส่ชุดโชว์ให้อลังการ เพราะคณะกรรมการดูที่ความพร้อมเพรียง ความสามัคคี และความสร้างสรรค์มากกว่าเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่ดูดีและมีราคาแพง...”

มีผู้ตอบแบบสอบถามจำนวนหนึ่งได้ระบุว่า “เงินที่โรงเรียนให้ไม่เพียงพอกับการใช้จ่ายในคณะสี ทำให้นักเรียนส่วนใหญ่ต้องหาเงินเองจนเกินกำลัง... ควรส่งเสริมกิจกรรมกีฬามากขึ้น คาดหวังให้งานกีฬาสีภายในโรงเรียนทุกคนได้มีส่วนร่วม และไม่ควรสนับสนุนให้มีการจ้างคนสอนเต้นเชียร์ลีดเดอร์ ขบวนพาเหรด หรือ สแตนด์เชียร์ เหตุเพราะสิ้นเปลืองงบประมาณ และไม่ได้แสดงถึงศักยภาพของนักเรียนอย่างแท้จริง จึงต้องการให้คุณครูที่ปรึกษาฝ่ายต่างๆ ให้คำแนะนำในการแก้ไขปัญหาของกิจกรรมงานกีฬาสีอย่างจริงจังเสียที...”

อย่างไรก็ตาม มีนักเรียนที่ให้ความเห็นสนับสนุนการจัดกีฬาสี ว่า “อยากให้จัดงานกีฬาสีหลายๆ วัน เพราะสนุกและได้ทำกิจกรรมร่วมกันกับเพื่อน ได้รู้จักรุ่นพี่รุ่นน้อง... ทำให้เกิดความรักใคร่สามัคคีกันในหมู่คณะ รู้จักความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ รู้จักการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน มีน้ำใจนักกีฬารู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย และช่วยเสริมสร้างสมรรถภาพทางร่างกายให้สมบูรณ์แข็งแรง”

เชียร์ลีดเดอร์เป็นหลัก กีฬาเป็นรอง

นางสาวเอ (นามสมมติ) นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนแห่งหนึ่งย่านบางพลี กล่าวว่า ปกติกีฬาสีควรเป็นงานแข่งกีฬา แต่ปัจจุบันกลายเป็นงานแข่งเชียร์ลีดเดอร์ การเชียร์กลายเป็นงานจ่ายเงิน กีฬาคืองานรอง ความอลังการของกองเชียร์ต้องมาก่อน คนดูกีฬาน้อยกว่าดูเชียร์ลีดเดอร์ เงินหลายหมื่นที่ได้มาจากโรงเรียนและสปอนเซอร์หมดไปกับค่าชุดของเชียร์ลีดเดอร์ และการเสียเงินไปจ้างบุคคลภายนอกมาสอนเชียร์ลีดเดอร์ทั้งที่ไม่จำเป็น

นายบี (นามสมมติ) นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 นักกีฬาคณะสีแดง โรงเรียนแห่งหนึ่งย่านสายไหมกล่าวว่า งบส่วนกลางจากโรงเรียนมี 30,000 บาท แบ่งให้เชียร์ลีดเดอร์ 25,000 บาท ฝ่ายสแตนด์เชียร์ 4,500 บาท และ 500 บาท ให้กับนักกีฬา ซึ่งตนไม่เห็นด้วยที่ให้ความสำคัญเชียร์ลีดเดอร์มากกว่านักกีฬาที่ฝึกซ้อมกันอย่างหนัก หลังเลิกงานกีฬาสีเชียร์ลีดเดอร์ก็เอาเงินส่วนที่เหลือไปเลี้ยงฉลองกัน จึงมองว่าเงินที่เสียไปไม่ยุติธรรม แต่ทำอะไรไม่ได้นอกจากปล่อยเลยตามเลย

แจงงบเชียร์ลีดเดอร์ไม่ได้สิ้นเปลือง

ด้าน นางสาวซี (นามสมมติ) นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 คณะเชียร์ลีดเดอร์สีม่วง โรงเรียนแห่งหนึ่งย่านสมุทรปราการ กล่าวว่า งบประมาณกีฬาสีที่โรงเรียนแบ่งให้ฝ่ายเชียร์ลีดเดอร์ไม่ได้สิ้นเปลืองอย่างที่หลายคนคิด หากรวมค่าใช้จ่ายทั้งหมด เช่น ค่าชุดลีดเดอร์ ค่าแต่งหน้า ค่าน้ำมัน ค่าอาหารในแต่ละวันที่ไปซ้อมก็ยังไม่พอ เชียร์ลีดเดอร์แต่ละคนต้องจ่ายเงินเพิ่มเติมจำนวนมาก เวลาว่างก็ต้องซ้อม ไม่มีเวลาเป็นส่วนตัว ถึงวันแข่งจริงจะมีกองสวัสดิการคอยดูแลบริการอาหารและเครื่องดื่มให้กับกองเชียร์ สแตนด์เชียร์ก็อยู่ในที่ร่ม ส่วนเชียร์ลีดเดอร์ต้องซ้อมตลอด เวลารับประทานอาหารแทบไม่มี ถึงเวลาแข่งขันต้องเต้นเชียร์ท่ามกลางแดดร้อน งบประมาณที่ให้เชียร์ลีดเดอร์ไม่ได้มากกว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเลย

นายดี (นามสมมติ) นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ประธานคณะสีฟ้าของโรงเรียนแห่งหนึ่งย่านสมุทรปราการ กล่าวถึงการจัดแจงงบประมาณที่ได้รับจากทางโรงเรียนว่าได้รับจำนวน 30,000 บาท นำไปใช้ในส่วนต่างๆ ซึ่งแต่ละสีมีการวางแผนการใช้งบที่ต่างกัน บางสีแบ่งตามความเหมาะสม เช่น ฝ่ายสแตนด์อุปกรณ์เชียร์ ของประดับฉาก ขบวนพาเหรดรวมค่าใช้จ่าย 19,346 บาท ฝ่ายเชียร์ลีดเดอร์ 65,627 บาท ค่าจ้างผู้สอนเต้น 20,000 บาท ค่าช่างแต่งหน้าทำผม 13,000 บาท ค่ามัดจำชุดและค่าเช่าชุด 26,914 บาท รวมเบ็ดเตล็ด 15,713 บาท และในส่วนของนักกีฬานอกจากค่าอาหารและน้ำ ยังมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในเรื่องของการทำเสื้อเพื่อใช้ลงแข่ง หรือบางสีอาจจะใช้ชุดพละของโรงเรียน แล้วแต่ว่าจะจัดสรรบริหารเงินอย่างไรให้เกิดประโยชน์ได้มากที่สุด

ผู้สื่อข่าวได้สอบถามประธานในแต่ละคณะสีของโรงเรียนมัธยมศึกษาหลายแห่ง ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ถึงงบประมาณที่ได้รับจากโรงเรียนว่าเพียงพอหรือไม่กับการนำเงินไปหมุนเวียนใช้จ่ายภายในคณะสี ประธานสีตอบเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่เพียงพอ แต่แก้ไขปัญหาด้วยการเก็บเงินจากสมาชิกในสีเพิ่ม หรือนักเรียนที่ทำหน้าที่เป็นเชียร์ลีดเดอร์ประจำสีต้องจ่ายเงินในส่วนที่เกินงบของเชียร์ลีดเดอร์ด้วยตัวเอง ซึ่งส่วนมากยินยอมเพื่อชัยชนะของสีตนเอง
ซ้อมเชียร์ : โค้ชกำลังสอนเชียร์ลีดเดอร์ที่โรงเรียนแห่งหนึ่ง
ครูสอนเต้นเปิดราคาสอนลีดเดอร์

นายนนท์ (นามสมมติ) ผู้ทำอาชีพรับจ้างสอนเชียร์ลีดเดอร์ กล่าวว่า ส่วนใหญ่เด็กนักเรียนรู้จักตนผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์และผ่านทางคนรู้จัก ในการสอนเต้นเชียร์ลีดเดอร์นั้นขึ้นอยู่กับแต่ละโรงเรียนจะจัดกีฬาสีช่วงใด ทั้งนี้ ราคาการสอนเชียร์ลีดเดอร์ ปกติจะอยู่ที่ประมาณ 50,000 บาท ไม่รวมค่าชุด และค่าอุปกรณ์ ทั้งนี้ ราคาจะขึ้นอยู่กับการตกลงระหว่างผู้ว่าจ้างกับผู้รับจ้าง ว่าต้องการจัดโชว์แบบใด ส่วนค่าชุดของเชียร์ลีดเดอร์เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 800 บาท ถึง 1,000 บาทต่อคน ซึ่งทางผู้สอนจะตกลงราคากับร้านเช่าชุดไว้ก่อนล่วงหน้า เพื่อให้เช่าได้ในราคาถูก และยังสามารถปล่อยเช่าต่อในราคาที่สูง

ผู้รับจ้างสอนเชียร์ลีดเดอร์ กล่าวต่อไปว่า ค่าสอนในแต่ละโรงเรียนขึ้นอยู่กับผู้สอนเป็นใคร เพราะในหนึ่งทีมมีผู้สอนที่มีประสบการณ์แตกต่างกัน ราคาจึงไม่เหมือนกัน ตัวอย่างเช่น เมื่อคำนวณราคาค่าสอนเต้นและอุปกรณ์การเชียร์ ปรากฏว่า ไม่คุ้มค่ากับเงินที่ลงทุนไป ก็จะมีการเก็บเงินเพิ่มจากราคาเดิม อาจไปเพิ่มในส่วนของค่าชุด ซึ่งความจริงค่าเช่าชุดราคาแค่ 500 บาท แต่บอกลูกค้าว่า 1,000 บาท และยังมีค่ารถที่ต้องขนส่งอุปกรณ์ ผู้รับจ้างก็จะนำเงินที่ได้จากส่วนนี้มาทดแทน โดยในลักษณะดังกล่าวเป็นเรื่องที่คนอื่นไม่ทราบแต่ผู้รับจ้างสอนจะรู้กันดี

นายนนท์ (นามสมมติ) กล่าวอีกว่า ผู้สอนเชียร์ลีดเดอร์ไม่ได้ทำงานทุกวัน อาจทำงานเพียง 4 วันต่อสัปดาห์ วันละ 3 ถึง 4 ชั่วโมง ถ้ามีงานเร่งด่วนก็จะเข้าสอนบ่อยขึ้น ทั้งนี้ งานที่เคยรับจ้างสอนราคาถูกสุด คือ หมื่นบาท ราคามากที่สุดหนึ่งแสนบาท แต่เมื่อหักค่าใช้จ่ายอื่นๆ จะเหลือค่าสอนไม่เกิน 3 หมื่นบาท

“สมัยก่อนเราแข่งกันเพื่อความสนุกสนาน เพื่อให้กีฬาสีมีสีสันมากขึ้น แต่ปัจจุบันเด็กสนใจที่จะชิงดีชิงเด่นกัน อยากจะเป็นที่หนึ่งอยากได้รางวัล และรางวัลที่พวกเขาได้มามันก็อยู่แค่ไม่กี่วันแล้วก็จางหายไป คนก็จะไม่นึกถึงอีก” ผู้รับจ้างสอนเชียร์ลีดเดอร์ กล่าวทิ้งท้าย

นายวัฒน์ (นามสมมติ) ผู้ทำอาชีพรับจ้างสอนเชียร์ลีดเดอร์อีกรายหนึ่ง เปิดเผยว่า ราคารับจ้างสอนเต้นส่วนใหญ่จะเฉลี่ยตกอยู่ที่ 5 หมื่นบาทต่อการสอนในช่วงระยะเวลา 3 เดือน รวมทั้งเสื้อผ้า แต่งหน้าทำผม ทำฉาก ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับธีมโชว์ในแต่ละครั้ง ส่วนใหญ่โชว์เน้นความเป็นไทย มักจะได้รับเสียงชื่นชมจากคณะกรรมการ ซึ่งการแข่งขันจะจัดโชว์ 2 รอบ ช่วงเช้าและช่วงบ่าย ชุดและเพลงต้องไม่ซ้ำกัน บางโรงเรียนทุ่มทุนสูงสุดเกือบ 8 หมื่นบาท และสิ่งที่นักเรียนทุ่มงบลงทุนเป็นจำนวนมาก คือ ขบวนพาเหรดที่จัดทำแบบอลังการ มีการเช่าชุดไทย ตกแต่งขบวนพาเหรด ชุดดรัมเมเยอร์ที่บางโรงเรียนถือคฑากันเป็นสิบๆ คน รวมแล้วทั้งขบวนเกือบ 2 หมื่นบาท ค่าสแตนด์เชียร์เฉลี่ยแล้วไม่ต่ำกว่า 5,000 บาท บางคณะสีลงทุนทำเอง แต่บางสีก็จ้างทำเพื่อความสะดวก

ผู้รับจ้างสอนเชียร์ลีดเดอร์ กล่าวต่อไปว่า บางโรงเรียนมีงบสนับสนุนให้กับกิจกรรมงานกีฬาสีแต่ก็จำนวนไม่มาก ดังนั้น บางโรงเรียนจะมีกิจกรรมหาเงินพิเศษ เช่น เก็บขวดพลาสติกภายในโรงเรียนนำมาขาย ซึ่งจะเริ่มเก็บตั้งแต่ต้นภาคเรียนไปจนถึงวันจัดการแข่งขัน บางกลุ่มมีการไปร้องเพลงเปิดหมวกตามสถานที่สาธารณะ เดินขอสปอนเซอร์ร้านค้า หรือของบสนับสนุนจากชมรมผู้ปกครอง รวมไปถึงออกเงินส่วนตัวและขอเงินจากผู้ปกครองเพื่อนำมาจ่ายค่ากีฬาสี

นายวัฒน์ (นามสมมติ) กล่าวว่า รางวัลที่เด็กได้รับจากการแข่งกีฬาสี แค่ถ้วยรางวัลที่เมื่อสิ้นสุดการแข่งขันต้องนำมาคืนให้แก่โรงเรียน บางโรงเรียนอาจจะมีแถมขนมบ้าง เรื่องรางวัลกีฬาใครได้ถ้วยสี ได้เหรียญทองมากน้อยไม่สำคัญ เพราะเด็กนักเรียนส่วนใหญ่จะตัดสินที่ว่า ปีนี้สีไหนชนะเชียร์ลีดเดอร์ ชนะเลิศกองเชียร์ ชนะขบวนพาเหรด ทุกคนไม่ได้ต้องการถ้วยรางวัลกลับบ้านไปอวดผู้ปกครอง สาเหตุที่นักเรียนกลุ่มนี้ต้องทุ่มสุดตัว เพราะคำว่าศักดิ์ศรี ความเป็นหน้าเป็นตาภายในโรงเรียน เช่น เมื่อการแข่งขันสิ้นสุดลง เมื่อมีใครมาถามว่าอยู่สีอะไร ก็จะตอบได้อย่างภาคภูมิใจว่าอยู่สีที่ชนะเลิศ หรือใครที่เป็นเชียร์ลีดเดอร์ก็จะยิ่งมีคนในโรงเรียนรู้จักมากยิ่งขึ้น

“ไม่ใช่เฉพาะเชียร์ลีดเดอร์ของโรงเรียนมัธยมเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการแข่งขันระดับมหาวิทยาลัยอีกด้วย ที่ถือว่าเรื่องศักดิ์ศรีเป็นเรื่องสำคัญ ยิ่งสีไหนคณะไหนได้รับตำแหน่งชนะเลิศติดต่อกันมาหลายปีก็จะยิ่งมีความกดดันมากขึ้นไปอีก และต้องพัฒนางานให้ดีมากขึ้น บางคณะสีต้องซุ่มไปซ้อมไกลๆโรงเรียนเพื่อไม่ให้คณะสีอื่นล่วงรู้ถึงคอนเซปต์โชว์ เด็กนักเรียนบางคนกลับบ้านดึก หรือไม่ก็ค้างบ้านเพื่อน มีปัญหาเคลียร์งานเคลียร์การบ้านไม่ทัน แต่ทั้งหมดนั้นก็ถือว่าเป็นรสชาติในวัยเรียนอย่างหนึ่ง” ผู้รับจ้างสอนเต้นกล่าว

ค่านิยมกีฬาสีที่เปลี่ยนไป

นางสุภาพร รัตน์น้อย ผู้อำนวยการโรงเรียนนวมินทราชินูทิศ เตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ กล่าวว่า กีฬาสีเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่สร้างสรรค์สิ่งที่ดีให้กับนักเรียนและบุคลากรทั้งโรงเรียน สำคัญที่สุดของการทำกิจกรรมคือ ทำให้เกิดความรัก ความสามัคคี ความมีวินัย มีการวางแผนงาน มีการแก้ไขปัญหาต่างๆ มีการเตรียมร่างกายและจิตใจ ฝึกความเป็นผู้นำ ผู้ตามที่ดี เป็นการหล่อหลอมความเป็นคนที่จะได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ สอนให้รู้จักการทำงานร่วมกันและทำในสิ่งที่ตนถนัด การแข่งขันจึงเป็นส่วนสำคัญในการทำกิจกรรม เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ถึงเป้าหมาย และทำให้รู้ถึงความรู้สึกทั้งสมหวังผิดหวัง ดังนั้นกิจกรรมกีฬาสีที่โรงเรียนจัดให้มีขึ้นในทุกปีก็เพื่อให้ทุกคนได้ทำกิจกรรมร่วมกันอย่างสร้างสรรค์อีกทั้งยังสามารถพัฒนาจิตใจให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

นางสาววิวรรณรักษ์ นวอนันต์สกุล อาจารย์ฝ่ายแนะแนว โรงเรียนราชวินิตบางแก้ว ให้ความเห็นว่า กีฬาสีในปัจจุบันนักเรียนให้ความสำคัญผิด ไม่เน้นการกีฬาแต่ไปเน้นเรื่องของโชว์ความสวยงาม ซึ่งเสียงเชียร์ เชียร์ลีดเดอร์ ขบวนพาเหรดที่จริงเป็นแค่ส่วนประกอบของการแข่งขันกีฬา เพื่อให้การแข่งขันกีฬาดูมีสีสันไม่เงียบเหงา แต่ปัจจุบันกลายเป็นธุรกิจให้คนภายนอกนำไปหารายได้ เช่น การสอนเต้นเชียร์ลีดเดอร์พร้อมเช่าชุด กลายเป็นนักเรียนรักสบาย ยอมทุ่มจ่ายเงินเป็นจำนวนมากให้กับงานกีฬาสีที่จัดขึ้นเพียงแค่วันสองวัน

“วัตถุประสงค์การจัดกิจกรรมกีฬาสีไม่เปลี่ยน แต่คนที่จัดกีฬาสีต่างหากที่ทำให้เปลี่ยน วัตถุประสงค์เดิมคือความสามัคคีแต่พอมีการแบ่งสี นักเรียนจะคิดถึงความสามัคคีแค่ในสีตนเองเท่านั้น อยู่ที่ครูและอาจารย์ต้องสื่อสารกับเด็กว่าเมื่อสิ้นสุดกิจกรรมแล้วทุกคนคือเพื่อนกันเหมือนเดิม” อาจารย์ฝ่ายแนะแนวโรงเรียนราชวินิตบางแก้วกล่าว

แนะเด็กใช้จ่ายพอประมาณ

ด้าน นางกนกลักษณ์ เถื่อนเครือวัลย์ ผู้ปกครองของนักเรียนโรงเรียนวิเทศสายไหม ได้ให้ความเห็นว่า กีฬาสีของเด็กเป็นเรื่องของการสร้างความสัมพันธ์ภายในโรงเรียน สร้างความสามัคคี ควรมีค่าใช้จ่ายที่พอประมาณ แต่ปัจจุบันให้ความสำคัญกับการทำเชียร์มากเกินความจำเป็นส่งผลให้เสียเวลาในการเรียน เสียค่าจ้างผู้ฝึกสอน ค่าเครื่องแต่งกาย ตนในฐานะผู้ปกครองอยากเห็นเด็กทำกิจกรรมด้วยความสนุกสนาน รักใคร่สามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มากกว่าการแข่งขันชิงดีชิงเด่น และไม่อยากให้มีการเสียเงินเกินกว่าเหตุอันสมควร

นายประทีป หมื่นขำ นักวิชาการศึกษาชำนาญการพิเศษ ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมการจัดการศึกษา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 1 ได้กล่าวถึงความแตกต่างระหว่างการจัดงานกีฬาสีในอดีตและปัจจุบัน ว่า อาจจะมีบางอย่างที่เปลี่ยนแปลงไปในเรื่องของลักษณะการจัดงานกีฬาสี แต่การแข่งขันกีฬาไม่ได้เปลี่ยนไปมากนัก และในส่วนของการลงทุนการตกแต่งอัฒจันทร์เชียร์ของสีหรือชุดของเชียร์ลีดเดอร์ที่บางครั้งอาจจะลงทุนเยอะเกินความจำเป็น ซึ่งค่อนข้างใช้เงินสิ้นเปลือง

“บางโรงเรียนใช้งบเกือบแสน เดือดร้อนผู้ปกครองและนักเรียนที่ต้องเรียกเก็บเงินจากเพื่อน ทำให้เกิดปัญหาภายในคณะสี” นักวิชาการศึกษาชำนาญการพิเศษ กล่าว

นายประทีป กล่าวต่อไปว่า รูปแบบของการจัดงานกีฬาสีในส่วนของขบวนพาเหรด ไม่ควรมีค่าใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือย เครื่องแต่งกายของเชียร์ลีดเดอร์หากนำวัสดุเก่ากลับมาใช้ใหม่จะสามารถลดค่าใช้จ่ายได้และทำให้เด็กเกิดความคิดสร้างสรรค์มากกว่าการจัดงานที่เน้นความอลังการมากเกินไปเพราะแท้ที่จริงกิจกรรมงานกีฬาสีจัดขึ้นเพื่อปลูกฝังให้เด็กรู้รักสามัคคีกัน

“กระทรวงศึกษาฯ” ชี้ทางแก้ทัศนคติเด็ก

นายสันติ โลหะปิยพรรณ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนปฏิบัติการ กลุ่มส่งเสริมพลานามัยนักเรียน สำนักพัฒนากิจกรรมนักเรียน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการกล่าวว่ากิจกรรมงานกีฬาสีในโรงเรียนจัดทำขึ้นเพื่อหวังให้เด็กนักเรียนในโรงเรียนได้รู้จักกัน มีกิจกรรมร่วมกัน สร้างความสามัคคี ความมีน้ำใจนักกีฬาให้กับเด็ก แต่ปัจจุบันมีเรื่องเกี่ยวกับการใช้เงินจำนวนมากในการจัดทำงานกีฬาสีจึงอาจเกิดปัญหาเรื่องการใช้เงินเกินตัวของเด็ก

นายสันติ กล่าวว่า ทาง สพฐ. เคยออกนโยบายให้ทางโรงเรียนได้รับทราบว่าควรจัดกิจกรรมงานกีฬาสีให้มีค่าใช้จ่ายที่เหมาะสมกับงบประมาณที่โรงเรียนได้จัดสรรให้ ไม่สร้างความรบกวนหรือสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้ปกครองของนักเรียน จึงได้ขอความร่วมมือจากโรงเรียน แต่ทั้งนี้ก็ไม่สามารถบังคับทุกโรงเรียนให้ปฏิบัติตามได้

นักวิเคราะห์นโยบายและแผนปฏิบัติการ กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของแนวทางการแก้ไขปัญหา ผู้ปกครองและคุณครูต้องช่วยกันปลูกฝังเด็กให้ตระหนักถึงจุดหมายปลายทางของกิจกรรมงานกีฬาสีว่าทุกอย่างไม่ใช่เพื่อ ชัยชนะเพียงอย่างเดียว
ข่าวแฉงบกีฬาสีเด็กมัธยมชิ้นนี้ ล่าสุดได้รางวัลข่าวฝึกปฏิบัติดีเด่น พิราบน้อย ประจำปี 2560 จากสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย


กำลังโหลดความคิดเห็น