วงเสวนาตรวจสอบการโกงเงินคนจน ชี้โกงอย่างเป็นระบบสุดเลวร้าย “วัชระ” บี้อายัดเอกสารโกงก่อนถูกทำลาย ด้าน “พิศิษฐ์” เผย สตง.ตรวจพบกลโกงตั้งแต่ปี 60 แจ้ง รมว.พม.แต่ไร้การแก้ปัญหา จนเรื่องฉาวค่อยมีการสั่งย้าย ขรก.ที่เกี่ยวข้อง หวัง สตง.ขยายผลต่อ ห่วงนโยบายผู้บริหารใหม่ห้ามให้ข่าว แถมกฎหมายใหม่ตัดทอนอำนาจ สตง. ทำงานลำบากขึ้น
วันนี้ (2 มี.ค.) คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 จัดเสวนา “เวทีประชาชนกล่าวหา-ตรวจสอบการคอร์รัปชัน กรณีโกงเงินคนจน” ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย มีวิทยากร ประกอบด้วย น.ส.ลักษณ์ หุตานุวัตร เครือข่ายวิชาการและประชาชนเพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชน นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ และนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส อดีตผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. เข้าร่วม
น.ส.สมลักษณ์กล่าวว่า การโกงเงินเป็นส่วนหนึ่งของการโกงทรัพย์คนจน ที่แบ่งได้ 3 ประเภท คือ ทั้งทรัพยากรบนอากาศ หรือเครื่องมือทางการสื่อสาร ทรัพยากรผิวดิน และใต้ดิน เป็นการโกงสามโลกแบบขาดความละอาย ซึ่งเกิดจากการสมรู้ร่วมคิดทั้งตั้งใจหรือไม่ตั้งใจของระบบราชการที่อ่อนแอ และขาดความโปร่งใส ขณะที่รัฐเอื้อประโยชน์ให้นายทุนมากกว่าคำนึงถึงชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน โดยเฉพาะความเดือดร้อนจากการทำโครงการที่เกี่ยวกับการห้สัมปทานทรัพยากรธรรมชาติ เช่น เหมืองแร่
ด้านนายวัชระมองว่า การทุจริตเงินคนจนที่เป็นงบประมาณแผ่นดินปี 2559-2560 วงเงิน 1,200 ล้านบาท ที่ใช้ช่วยเหลือคนยากไร้ และผู้ป่วยโรคเอดส์ ถือเป็นระบบเลวร้ายที่เกิดขึ้นในกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยมีพื้นที่ที่ทุจริตที่สุดแต่ยังไม่ถูกตรวจสอบ คือ ที่นิคมห้วยหลวงจังหวัดอุดรธานี ได้งบประมาณ 30 ล้านบาท และเชียงพิน อีก 15 ล้านบาท รวมถึงอีกหลายพื้นที่ก็ยังไม่มีการตรวจสอบ เช่น ที่เชียงราย เชียงใหม่ และแพร่ เป็นต้น ทั้งนี้ รูปแบบการทุจริต คือ มีการจัดทำลายเซ็นปลอม รวมถึงไม่จ่ายเต็มจำนวน โดยขบวนการทุจริตดำเนินการอย่างเป็นระบบ ข้าราชการที่ช่วยทุจริตจะได้รับการเลื่อนตำแหน่งอย่างไรก็ตามเป็นห่วงว่าเอกสารการโกงจะถูกทำลาย จึงอยากให้มีการยึดไว้ก่อน เพราะมีโอกาสที่จะกิดปัญหาไฟฟ้าลัดวงจรหรือไฟไหม้ได้
นายวัชระกล่าวด้วยว่า ได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2561 ชี้ให้เห็นถึงพฤติกรรมที่ไม่สุจริตของนายพุฒิพัฒน์ เลิศเชาวสิทธิ์ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จากนั้นเพียง 2 วัน นายกรัฐมนตรีก็มีคำสั่งย้ายนายพุฒิพัฒน์ออกจากตำแหน่ง พร้อมกับเรียกร้องให้ สตง.แถลงรายละเอียดเกี่ยวกับการตรวจสอบการทุจริตเงินคนจนด้วย
นายพิศิษฐ์กล่าวว่า ต้องถอดบทเรียนการทุจริตเงินคนจนที่เกิดขึ้น เพื่อไม่ให้เป็นวงจรอุบาทว์ในการทุจริตซ้ำซาก โดยมีข้อคิดว่าข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตระดับซี 8 ได้เลื่อนเป็นซี 9 แล้วซี 9 ที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตได้เลื่อนตำแหน่งเพราะใคร ซึ่ง สตง.เคยตรวจพบว่าในปีงบประมาณ 60 ช่วงสามเดือนแรกมีการใช้เงิน 193 ล้านบาทกระจายไปศูนย์ต่างๆ โดยมีการดำเนินการลักษณะเลือกที่รักมักที่ชังด้วย สตง.จึงตรวจสอบและแจ้งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ไร้ผลเพราะผู้เกี่ยวข้องอยู่ในตำแหน่ง จึงแจ้งไปยัง รมว.พัฒนาสังคมฯ เพื่อให้ระงับยับยั้งและวางมาตรการป้องกัน แต่ในขณะที่ตนอยู่ในตำแหน่งผู้ว่าฯ สตง.ก็ไม่ได้มีการดำเนินการใดๆ จนเป็นข่าวจึงมีการย้ายข้าราชการที่เกี่ยวข้องออกจากตำแหน่ง เชื่อว่า สตง.จะเร่งขยายผลการตรวจสอบต่อ เพราะความเสียหายที่เกิดขึ้นต้องมีคำตอบว่าเสียหายเท่าไหร่ อย่างไร ต้องขยายผลต่อ แต่น่าเสียดายที่ สตง.มีนโยบายไม่ให้ข่าว อีกทั้งมีบทบัญญัติในกฎหมายไม่ให้มีการให้ข่าวในระหว่างการตรวจสอบ และมีการตัดทอนอำนาจ สตง.ในการเรียกเอกสาร หลักฐาน จากหน่วยงานที่มีกฎหมายห้ามเปิดเผย ทำให้การทำงานจะมีปัญหาและอุปสรรคมากขึ้น เพราะต้องไปขออำนาจศาล เสียเวลา