กรมพัฒนาสังคมฯ เผย ผอ.ศูนย์คนไร้ที่พึ่งขอนแก่น สั่ง นศ.ฝึกงานปลอมเอกสารเงินสงเคราะห์มีความผิดจริง ตั้งกรรมการสอบวินัยร้ายแรงแล้ว คาดทราบผลปลาย ก.พ.นี้ พร้อมสอบละเมิดเพิ่มเกิดความเสียหายกี่คน มูลค่ากี่บาท รับศูนย์เชียงใหม่ทำผิดด้วย สั่งสอบแล้วเช่นกัน พร้อมตั้งทีมตรวจสอบเพิ่มเน้นศูนย์ฯ ได้เงินเกิน 5 ล้านบาท ย้ำจ่ายเงินสงเคราะห์ต้องถ่ายรูปรับมอบเงินเป็นหลักฐานให้ชัด
จากกรณี น.ส.ปนิดา ยศปัญญา อายุ 22 ปี นักศึกษาสาขาพัฒนาชุมชน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ออกมาร้องเรียนหลังถูกผู้อำนวยการศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดขอนแก่นและเจ้าหน้าที่สั่งให้ปลอมแปลงเอกสารลายมือชื่อและข้อมูลเงินสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อย กลุ่มผู้ติดเชื้อเอดส์ กลุ่มส่งเสริมอาชีพ และปลอมลายมือชื่อในใบเสร็จรับเงิน ระหว่างการฝึกงาน
วันนี้ (16 ก.พ.) เมื่อเวลา 15.00 น. นางนภา เศรษฐกร อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) แถลงข่าวชี้แจงกรณีดังกล่าวว่า เรื่องนี้ทาง พส.มีการดำเนินการมาตั้งแต่ ม.ค. 2561 แล้ว โดยหลังได้รับแจ้งจากทาง พม.เมื่อเดือน พ.ย.2560 ว่ามีการดำเนินงานที่ไม่ถูกต้องของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จ.ขอนแก่น ทาง พส.จึงได้มีการลงไปตรวจสอบข้อมูลและเอกสารต่างๆ และมีการตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงเมื่อ ม.ค.2561 ซึ่งพบว่ามีมูล จึงได้ย้ายผู้ที่เกี่ยวข้องออกจากพื้นที่ในเดือนเดียวกัน จำนวน 4 คน ประกอบด้วย ผอ.ศูนย์คุ้มครองฯ หัวหน้ากลุ่มสวัสดิการสังคม พนักงานราชการ และลูกจ้างประจำ โดยให้ออกจากพื้นที่ ซึ่งมีทั้งย้ายมายังส่วนกลาง และย้ายออกไปอยู่รอบนอกพื้นที่ เพื่อสะดวกต่อการสอบสวนวินัยร้ายแรง
นางนภา กล่าวว่า ขณะนี้คณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงกำลังเร่งดำเนินการสอบสวนอยู่ คาดว่าประมาณปลาย ก.พ.นี้ จะทราบผลสอบวินัยร้ายแรงว่ามีความผิดขนาดไหน และมีโทษตามระดับชั้นความผิดในขั้นใด ซึ่งโทษสูงสุดคือไล่ออกจากราชการ ส่วนการตรวจสอบข้อร้องเรียนในครั้งนี้ หากพบว่ามีความเกี่ยวโยงกับประเด็นใดอีกก็จะมีการตรวจสอบเพิ่มเติมด้วย ทั้งนี้ เท่าที่สอบข้อเท็จจริงพบว่าตัว ผอ.ศูนย์ฯ นั้นมีมูลการกระทำความผิด ไม่ว่าจะเป็นการสั่งปลอมแปลงเอกสาร ดำเนินการอื่นๆ โดยรูปแบบของการทุจริตก็เป็นไปตามข่าวที่เคยเสนอกันคือ เรื่องของการปลอมแปลงเอกสาร จ่ายเงินไม่ครบตามจำนวน อย่างไรก็ตาม การสอบวินัยร้ายแรงจะทำให้ได้ข้อมูลชัดเจนว่ามีการสั่งการในขั้นตอนใดบ้างและทราบผลเชิงลึกมากกว่านี้ สำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการทุจริตในครั้งนี้ว่ามีผู้เสียหายกี่คน เป็นจำนวนเงินเท่าไรนั้น คงต้องรอการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดเพิ่มเติม ซึ่งผลจะค่อนข้างละเอียด
ผู้สื่อข่าวถามถึงกระบวนการจ่ายเงินสงเคราะห์เป็นอย่างไร มีช่องโหว่ที่เอื้อต่อการทุจริตหรือไม่ นางนภา กล่าวว่า ก่อนอื่นต้องชี้แจงว่า การจ่ายเงินสงเคราะห์นั้น แต่ละคนจะได้รับจำนวนไม่เท่ากัน แต่รายหนึ่งจะได้ไม่เกิน 3,000 บาท ไม่เกิน 3 ครั้งต่อปี ซึ่งแตกต่างกันไปตามความเดือดร้อนของประชาชน ซึ่งกระบวนการดำเนินงานนั้น เมื่อมีการร้องเข้ามาหรือเหตุการร์ที่ประชาชนเดือดร้อนเกิดขึ้น จะมีนักสังคมสงเคราะห์และนักจิตวิทยาลงไปสอบข้อเท็จจริงถึงความเดือดร้อนว่าเป็นอย่างไร ย้ำว่าจะต้องดูมีการลงไปดู มีการซักถาม โดยมีแบบฟอร์มเป็นมาตรฐาน เพื่อนำมาวิเคราะห์และพิจารณาว่าความช่วยเหลือ ซึ่งมีทั้งการรักษา การศึกษา และเงินสงเคราะห์ที่มีความจำเป็นเร่งด่วนช่วยเหลือทันที เช่น ค่าหาหมอ ค่ารถ เป็นต้น จากนั้นจึงยื่นอนุมัติผู้อำนวยการศูนย์ฯ และเมื่ออนุมัติแล้วจะแต่งตั้งคนไปจ่ายเงินสงเคราะห์ โดยต้องมีพยานหลักฐานการจ่ายเงิน ถือเป็นระบบที่ค่อนข้างชัดเจนและมีการตรวจสอบได้
"เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถือเป็นเรื่องส่วนบุคคล ที่ไม่ได้ทำตามแนวปฏิบัติที่ถูกต้อง ซึ่งจากกรณีที่เกิดขึ้นท่าน รมว.พม.ก็กำชับให้ดูว่ามีจุดอ่อนหรือจุดเสี่ยงอะไรบ้าง จึงได้กำชับว่า 1.ต้องมีการถ่ายรูปเวลาจ่ายเงิน โดยไม่ต้องใส่ซองให้เห็นจำนวนที่ชัดเจน เห็นหน้าคนรับคนส่ง แล้วแนบเป็นหลักฐาน 2.ต้องมีพยานบุคคล โดยอาศัยเครือข่ายต่างๆ มาเป็นพยาน เช่น อปท. ครู เป็นต้น 3.ถ้าผู้ได้รับความช่วยเหลือเซ็นไม่ได้เพราะไม่รู้หนังสือ ต้องทำใบเซ็นให้ชาวบ้านเห็นตัวเลขชัดเจน พิมพ์ลายนิ้วมือและรับรองว่ารับเงินจริง ซึ่งทั้งหมดเป็นมาตรฐานที่ทำอยู่แล้ว แต่เน้นย้ำว่าต้องทำอีกครั้ง นอกจากนี้ จะให้มีการตรวจสอบแต่ละชั้นถึงการดำเนินงานด้วย เช่น ผอ.ศูนย์ฯ ต้องติดตามดูว่าหลังจ่ายเงินแล้ว เช่น 1 เดือน ผู้รับการสงเคราะห์มีชีวิตดีขึ้นหรือไม่ ยังต้องการช่วยเหลือต่อหรือไม่ เงินรับตรงหรือ หรือส่วนกลางก็ต้องมีผู้ตรวจราชการฯ พม.ลงไปตรวจสอบอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งหากการกระทำที่ไม่ถูกต้องก็ลงโทษทันที" นางนภา กล่าว
เมื่อถามถึงกรณีสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ปปท.) เขต 5 ตรวจสอบพบศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จ.เชียงใหม่มีการกระทำผิดเช่นกัน นางนภา กล่าวว่า ได้รับข้อมูลว่าผิดเหมือที่ศูนย์ฯ ขอนแก่นเช่นกัน ก็ได้มีคำสั่งย้ายส่วนผู้ที่เกี่ยวข้องแล้ว และสอบสวนวินัยเพื่อลงโทษ ก็จะพยายามดำเนินการให้เร็วที่สุด ซึ่งคงใช้แนวทางเดียวกับ จ.ขอนแก่น น่าจะรวดเร็วขึ้น
ผู้สื่อข่าวถามว่า จำเป็นต้องมีการตรวจสอบจุดอื่นๆ ด้วยหรือไม่ นางนภา กล่าวว่า พส.มีการตั้งทีมขึ้นมาเพื่อตรวจสอบเชิงลึกการดำเนินงานของแต่ละศูนย์ด้วยประมาณ 10 กว่าทีม ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการรายงานข้อมูลเข้ามาว่ามีที่ใดกระทำผิด ขณะนี้รู้ผลเพียง 2 จังหวัดคือขอนแก่นและเชียงใหม่ ส่วนที่เหลือยังไม่ทราบว่าผิดหรือถูก อย่างไรก้ตาม ย้่ำว่าการไปเยี่ยมเยียนตรวจสอบพื้นที่ต่างๆ ไม่ใช่ว่าเขามีความผิด เพียงแต่เราไปตรวจสอบความถูกต้อง ให้คำแนะนำกระบวนการทำงานให้รัดกุมมากขึ้น โดยเบื้องต้นจะเน้นในศูนย์ฯที่มีวงเงินเกิน 5 ล้านบาท ซึ่งมีอยู่ประมาณ 6 ศูนย์ก่อน และทยอยตรวจสอบศุนย์อื่นๆ ต่อ
เมื่อถามถึงการจัดสรรงบประมาณเงินสงเคราะห์เป็นการตั้งวงเงินล่วงหน้าหรือไม่ นางนภา กล่าวว่า เป็นการตั้งงบล่วงหน้า ซึ่งหลักเกณฑ์การพิจารณาเสนอของบเข้ามานั้น คือ 1.จำนวน อบต. 2.จำนวนประชากรในจังหวัดนั้น 3.เส้นความยากจนเป็นอย่างไร 4.เกิดสภาวะวิกฤตหรือไม่ เช่น น้ำท่วม ไฟไหม้ ซึ่งหากมีประชากรมาก หรือบางที่เกิดวิกฤตบ่อยก็จะมีการเสนอของบเข้ามาสูง ซึ่งเป็นการนำเอาข้อมูลและประสบการณ์ที่ผ่านมามาวิเคราะห์จำนวนงบประมาณ และมีการส่งเงินไปก่อน ซึ่งหากไม่พอก็มีการขอเพิ่มภายหลัง หรือหากเหลือก็ส่งคืน
เมื่อถามถึงภาคประชาชนเรียกร้องให้อธิบดีรับผิดชอบเรื่องนี้ นางนภา กล่าวว่า เรื่องที่เกิดขึ้นเกิดเมื่อปีงบประมาณ 2560 ซึ่งตนยังไม่เข้ามารับตำแหน่ง ตนมารับตำแหน่ง ต.ค. 2561 จะให้ตนรับผิดชอบอย่างไร อย่างไรก็ตาม ตนจะทำให้ได้ผลสอบโดยเร็ว มีการลงโทษจริงจัง พร้อมปิดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น เดินหน้าให้เข้มงวดมากขึ้น