ย้อนอดีตปี 47 คดีหวยอลเวง เจ้าของร้านขายของฟ้อง “ลุงศิษย์” ชาวบ้าน อ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น กล่าวหาว่าไปขโมยสลากฯ 4 ใบ ที่วางไว้บนตู้โชว์ แล้วถูกรางวัล 6.1 ล้าน สุดท้ายคดีจบเมื่อปี 52 ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ยกฟ้องเพราะหลักฐานไม่มีน้ำหนัก ปัจจุบันลุงเสียชีวิตแล้ว ลูกสาวยันยังไปมาหาสู่คู่กรณีตามปกติ
คดีนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2547 ตำรวจ สภ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น จับกุม นายศิษย์ กิจพฤกษ์ และ น.ส.ดรุณี กิจพฤกษ์ บุตรสาว ชาวบ้านหัน หมู่ 13 ต.กุดเค้า อ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น กล่าวหาว่าวิ่งราวทรัพย์เป็นสลากกินแบ่งรัฐบาล งวดประจำวันที่ 16 พ.ค. 2547 จำนวน 4 ใบ จากร้านกัมปนาท ของนางรสรินทร์ ศักดิ์นาราโรจน์ ตั้งอยู่เลขที่ 26-27 ถนนกลางเมือง ต.กุดเค้า อ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น เบื้องต้นนายศิษย์ และ น.ส.ดรุณี ให้การปฏิเสธ ก่อนที่ทนายความยื่นขอประกันตัวทั้งสองออกไปในวงเงิน 3 แสนบาท
นายสัมฤทธิ์ เชื้อสาวะถี ทนายความ ระบุว่า เมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2547 นายศิษย์ ขึ้นรถโดยสารสายมัญจาคีรี - นครสวรรค์ เพื่อไปงานศพน้องชายที่ จ.กำแพงเพชร นายศิษย์ ซื้อสลากฯ ที่ร้านของนางรสรินทร์ 2 ใบ จำไม่ได้ว่าเลขอะไร เมื่อไปถึง จ.กำแพงเพชร ได้ซื้ออีก 2 ใบ กระทั่งวันที่ 8 พ.ค. 2547 ได้กลับมาที่บ้าน นำสลากฯ 4 ใบไปฝากไว้กับ น.ส.ดรุณี บุตรสาว จากนั้นวันที่ 16 พ.ค. 2547 ตรวจรางวัลจึงรู้ว่าถูกรางวัลที่ 1 ได้เงินรางวัล 6 ล้านบาท และรางวัลข้างเคียง 2 ใบ อีก 2 แสนบาท จึงลงบันทึกประจำวันที่ สภ.มัญจาคีรี ไว้
ต่อมา น.ส.ดรุณี ได้นำไปขึ้นเงินที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ถนนราชดำเนินกลาง กทม. และขึ้นเงินที่ธนาคารออมสิน สาขามัญจาคีรี ได้เงิน 6.138 ล้านบาท เบิกเงินสด 38,000 บาท ส่วนที่เหลือ 6.1 ล้านบาท ฝากไว้ที่ธนาคาร กระทั่งทราบว่าเจ้าของร้านจำหน่ายสลากฯ มาแจ้งความกับตำรวจให้หาผู้ที่ขโมยสลากฯ 4 ใบ และตำรวจควบคุมตัวไป ลูกความยืนยันว่าสลากฯ ที่ถูกรางวัลซื้อมาจาก จ.กำแพงเพชร มีพยานชัดเจน
ด้าน นางรสรินทร์ ระบุว่า ได้ไปรับสลากฯ ที่ยี่ปั๊วในตัวเมืองขอนแก่น มาจำหน่าย งวดละ 2 - 3 เล่ม วันเกิดเหตุ 5 พ.ค. เวลาประมาณ 06.00 น. นายศิษย์ได้มานั่งรอรถโดยสารที่หน้าร้านเพื่อขึ้นรถเที่ยวแรก ตนอยู่ในร้านด้านหลังและมองออกหน้าร้าน เห็นนายศิษย์นั่งอยู่เก้าอี้ข้างตู้ เห็นนายศิษย์เอามือซ้ายล้วงในตู้คว้าสลากฯ แถวริมสุดยัดใส่กระเป๋าเสื้อก่อนที่เขาจะขึ้นรถไป
เมื่อตรวจสอบสลากฯ พบว่า หายไป 4 ใบ ตอนแรกตั้งใจจะแจ้งความตั้งแต่วันนั้น แต่เห็นว่าเป็นคนรู้จัก คิดว่าพอนายศิษย์กลับจาก จ.กำแพงเพชร จะขอเงินค่าสลากฯ หรือขอตัวสลากฯ คืน ที่มาแจ้งความไม่ใช่ต้องการเงิน 6 ล้านบาท แต่หวังให้ความถูกต้องและความชัดเจนปรากฎขึ้นเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า นางรสรินทร์ ไปแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.มัญจาคีรี หลังผลการออกรางวัลผ่านไปแล้ว 3 วัน นอกจากนี้ ทนายความของนายศิษย์ ได้ร้องเรียนต่อผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดขอนแก่น ให้ตรวจสอบพฤติกรรมของ พ.ต.อ.คัชชา ธาตุศาสตร์ ผกก.สภ.มัญจาคีรี (ขณะนั้น) ที่ให้ข่าวใส่ร้ายลูกความว่าเป็นโจร
3 เดือนต่อมา ตำรวจสรุปสำนวนมีความเห็นสั่งฟ้องนายศิษย์ และ น.ส.ดรุณี แต่เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2547 สำนักงานอัยการเขต 4 ขอนแก่น แถลงข่าว มีคำสั่งไม่ฟ้องทั้งสองคน เนื่องจากพยานหลักฐานไม่เพียงพอ
ร.ท.วาสิฎฐ์ บุษยรัตน์ รองอธิบดีอัยการเขต 4 กล่าวว่า “ผู้ต้องหาที่ 1 (นายศิษย์) หยิบกระดาษออกจากตู้ขายสลากฯ แล้วยัดใส่กระเป๋าเสื้อด้านขวาบนอย่างลุกลี้ลุกลนและท่าทางตกใจ และผู้กล่าวหาเห็นเข้าพอดี โดยที่ผู้กล่าวหาให้การในเรื่องการเห็นดังกล่าวไว้ 3 ครั้ง แต่ไม่อยู่กับร่องกับรอย ขัดแย้งกันในสาระสำคัญอย่างมาก จนเชื่อถือไม่ได้ เพราะขัดแย้งกับเหตุผล ทั้งๆ ที่อ้างว่าเห็นอย่างชัดเจน คาหนังคาเขาเช่นนั้น ผู้กล่าวหาก็ยังไม่ทักท้วงไม่ขอค้นตัวในทันที และไม่ได้ตรวจดูที่ตู้ขายสลากฯ ว่ามีความผิดปกติหรือมีสลากฯสูญหายไปในทันที ขณะที่ภายหลังผู้ต้องหาที่ 1 กลับมาแล้วก็ไม่ได้ถามหรือทวงหรือแจ้งความร้องทุกข์จนกระทั่งมาทราบในตอนหลังว่าถูกรางวัลที่ 1 และรางวัลข้างเคียง ผู้กล่าวหาจึงได้ไปแจ้งความไว้เพื่อเป็นหลักฐานเท่านั้น”
“จากข้อมูลทั้งหมดถือเป็นผิดปกติวิสัยเจ้าทุกข์ที่จะต้องกระทำการเพื่อปกป้องรักษาสิทธิและทรัพย์สินของตน จึงเป็นพิรุธไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้เชื่อได้ว่าผู้กล่าวหาเห็นผู้ต้องหาที่ 1 ลักสลากฯดังกล่าวตามคำให้การ นอกจากพยานผู้กล่าวหาแล้วไม่มีพยานหลักฐานใดยืนยันให้รับฟังว่าเป็นผู้ลักสลากฯหรือลักของโจรแต่อย่างใด ขณะที่ผู้ต้องหาที่ 2 ไม่สุจริตโดยรู้ว่าสลากฯที่ตนรับมาดังกล่าวเป็นของโจรก็ย่อมจะต้องมีการซุกซ่อนหรือปกปิดเงินที่ได้รับมาด้วยวิธีการซุกซ่อนบัญชีหรือเงินด้วยวิธีการใดๆก็ได้ กรณีจึงรับฟังได้ว่าผู้ต้องหาที่ 2 รับสลากฯไว้ด้วยความสุจริต ดังนั้นการกระทำของผู้ต้องหาที่ 2 จึงไม่เป็นความผิดตามข้อกล่าวหา อย่างไรก็ตามอธิบดีอัยการเขต 4 มีคำสั่งไม่สั่งฟ้อง ยังคงต้องส่งเรื่องให้ทางผู้ว่าราชการจังหวัดรับทราบข้อเท็จจริงอีกครั้งว่าเห็นด้วยกับการวินิจฉัยหรือไม่ ซึ่งถ้าเห็นด้วยก็จะสั่งยุติในคดีดังกล่าวนี้ ถ้าไม่เห็นด้วยก็จะมีการเรียกไต่สวนสำนวนอีกครั้งเนื่องจากคดีความมีอายุ 10 ปี”
นางรสรินทร์ จึงยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 29 ก.ย. 2547 โดยมีนายศิษย์เป็นจำเลยที่ 1 และ น.ส.ดรุณี เป็นจำเลยที่ 2 ในข้อหาลักทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ รับของโจร และในคำขอส่วนแพ่งของโจทก์ ให้อายัดเงินทั้งหมดที่ยังอยู่ในบัญชีเงินฝากของ น.ส.ดรุณี ในธนาคารออมสิน สาขามัญจาคีรี จนกว่าคดีจะถึงที่สุด
2 ธ.ค. 2548 ศาลจังหวัดขอนแก่นได้สั่งโอนคดีส่วนอาญาของนายศิษย์ มายังศาลแขวงขอนแก่น ส่วนในคดีส่วนแพ่ง ศาลสั่งให้แยกฟ้อง และเนื่องจากจำนวนทุนทรัพย์เกินสามแสนบาท โจทก์จึงไปฟ้องที่ศาลจังหวัดขอนแก่น ทางศาลแขวงขอนแก่น จึงรับโอนคดีของนายกิจจากศาลจังหวัดขอนแก่น ก่อนพิจารณาสืบพยาน โดยโจทก์สืบพยาน 4 นัด รวม 13 ปากจำเลยสืบพยาน 1 นัด รวม 3 ปาก แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2549
กระทั่งวันที่ 21 ก.ค. 2549 ศาลแขวงขอนแก่นพิพากษายกฟ้อง เพราะพิเคราะห์จากพยานหลักฐานโจทก์แล้วไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง
4 ก.ย. 2549 นางรสรินทร์ จึงได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ภาค 4 เพื่อให้เปิดพิจารณาคดีดังกล่าวขึ้นใหม่ แต่ศาลแขวงขอนแก่นสั่งไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ เนื่องจากเป็นคดีต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง และโจทก์ไม่ขออนุญาตให้ผู้พิพากษารับรองให้อุทธรณ์ ตามพระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจาณาความอาญาในศาลแขวง มาตรา 22 และ 22 ทวิ และโจทก์ไม่ลงลายมือชื่อในอุทธรณ์
โจทก์จึงยื่นคำร้องอ้างว่า ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลรับรองให้อุทธรณ์ ไว้ในวันที่ยื่นอุทธรณ์แล้ว และขออนุญาตให้โจทก์ลงชื่อในอุทธรณ์ จำเลยที่ 1 คัดค้านคำร้อง ผู้พิพากษาศาลแขวงขอนแก่น ไต่สวนมูลฟ้องแล้ว รับรองให้อุทธรณ์ และอนุญาตให้โจทก์ลงชื่อในอุทธรณ์และสั่งรับอุทธรณ์ จำเลยอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งที่รับรองอุทธรณ์ และยื่นคำแก้อุทธรณ์
หลังผ่านไป 5 ปี วันที่ 9 ก.ย. 2552 ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ได้สืบพยานแล้วพิจารณาไต่สวน เห็นว่า จากการวิเคราะห์พยานหลักฐานของโจทก์ที่ยื่นฟ้องจำเลยแล้วเห็นว่าไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะรับฟัง เนื่องจากศาลไม่เชื่อว่าโจทก์ให้เห็นเหตุการณ์จริงว่าจำเลยได้ขโมยเอาสลากฯ ที่ถูกรางวัลที่ 1 และรางวัลข้างเคียง เนื่องจากโจทก์พบเห็นจำเลยหยิบกระดาษแล้วพับใส่กระเป๋า ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นสลากฯ ที่จำเลยขโมยไป ซึ่งในเรื่องนี้ศาลไม่เชื่อ
โดยจำเลยได้ยืนยันว่า ได้ซื้อสลาก 4 ใบ ราคาฉบับละ 90 บาท รวมเป็นเงิน 360 บาท จริง และไม่ได้ขโมย ส่วนพยานโจทก์ที่สืบมาศาลสงสัย และไม่เชื่อว่าเห็นเหตุการณ์จริงตามที่กล่าวอ้าง ศาลจึงยืนตามศาลชั้นต้นยกฟ้อง และยกผลประโยชน์ทั้งหมดให้จำเลย
จากวันนั้นถึงวันนี้ มีรายงานว่า ความเคลื่อนไหวของครอบครัวนายศิษย์นั้น พบว่า นายศิษย์เสียชีวิตไปนานแล้ว ส่วน น.ส.ดรุณี บุตรสาว ยังคงอาศัยอยู่ในพื้นที่ อ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น ซึ่งยังคงไปมาหาสู่กับคู่กรณีตามปกติ