xs
xsm
sm
md
lg

สิ้น “ระพี สาคริก” บิดากล้วยไม้ไทย สิริอายุ 95 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ศาสตราจารย์ ระพี สาคริก(ภาพจากแฟ้ม)
ศ.ระพี สาคริก ผู้ได้ฉายา “บิดาแห่งกล้วยไม้ไทย” ถึงแก่อนิจกรรมแล้ว เมื่อเวลา 07:00 น. วันนี้ ณ โรงพยาบาลวิภาวดี สิริอายุ 95 ปี 2 เดือน

วันนี้ (17 ก.พ.) เฟซบุ๊ก BLUSKY Channel ได้โพสต์ข้อความว่า ศาสตราจารย์ ระพี สาคริก ได้ถึงแก่อนิจกรรมแล้ว วันนี้ 17 ก.พ. เวลา 07:00 น. ณ โรงพยาบาลวิภาวดี

ขณะที่ เฟซบุ๊กของ Paskorn Jamlongrach ได้โพสต์ข้อความว่า “ได้รับแจ้งจากครอบครัวท่าน ศ.ระพี สาคริก กลับคืนสู่ผืนดินแล้ว เมื่อเช้านี้ (17 ก.พ. 61) กราบลาท่านอาจารย์ครับ”

มีรายงานเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้ ศ.ระพี ได้เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลพระมงกุฎ ด้วยอาการติดเชื้อในกระแสเลือด เป็นเวลาประมาณ 6 เดือน เมื่ออาการดีขึ้น ก็กลับมาพักผ่อนที่บ้านพักย่านงามวงศ์วาน แต่หลังจากนั้นไม่นานก็สิ้นลมอย่างสงบ ขณะอายุ 95 ปี 2 เดือน

ทั้งนี้ ได้มีการกำหนดบำเพ็ญกุศล ศาสตราจารย์ระพี สาคริก ที่วัดพระศรีมหาธาตฯ บางเขน ศาลาพ่วงจินดา โดยจะมีพิธีรดน้ำหลวงอาบศพ วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2561 เวลา 16.00 น.เป็นต้นไป

พระราชทานพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมศพ วันที่ 19 ก.พ.61 เวลา 18.30 น. และ ช่วงวันที่ 20-21 ก.พ.61 เวลา 19.00 น. สวดพระอภิธรรมศพ วันที่ 22-24-25 ก.พ.61 เวลา 19.00 น. และ บรรจุศพ วันที่ 25 ก.พ.61

สำหรับเกียรติประวัติของ ศาสตราจารย์ ระพี สาคริก เป็นนักวิชาการเกษตรผู้บุกเบิกวงการกล้วยไม้ของประเทศไทยสู่สากล จนได้รับฉายาว่า “บิดาแห่งกล้วยไม้ไทย” เคยเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปี 2518 - 2522 และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในรัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ปี 2522 - 2523 เป็นอดีตนายกสภาสถาบันอาศรมศิลป์ และเคยได้รับการยกย่องให้เป็นราษฎรอาวุโส

ศาสตราจารย์ ระพี สาคริก เกิดเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2465 ที่กรุงเทพมหานคร เป็นบุตรชายคนโตของขุนตำรวจเอก พระมหาเทพกษัตริยสมุห (เนื่อง สาคริก) และคุณแม่สนิท ภมรสูตร เริ่มต้นการศึกษาระดับประถมที่โรงเรียนสามเสนวิทยาคาร และจากนั้นได้ย้ายโรงเรียนอีกหลายแห่ง ตั้งแต่โรงเรียนเซนต์คาเบรียล โรงเรียนจิตรลดา โรงเรียนนาฏศิลป์ โรงเรียนวัดเบญจมบพิตร หรือ โรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตรในปัจจุบัน จนจบชั้นมัธยมบริบูรณ์ และได้รับประกาศนียบัตรจากกระทรวงศึกษาธิการถึง 2 ใบจากนั้น จึงได้เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนเตรียมวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (ต่อมาสถาปนาขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หลักสูตรปริญญาตรี 5 ปี เมื่อ พ.ศ. 2486) ซึ่งเปิดสอนระดับเตรียมมหาวิทยาลัยที่แม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ (แม่โจ้รุ่น 7) โดยศึกษาในคณะเกษตร ศาสตราจารย์ ระพี สาคริก ได้เลือกศึกษาด้านกสิกรรมและสัตวบาล สาขาปฐพีวิทยาระดับปริญญาตรี และได้รับพระราชทานปริญญาบัตรเมื่อ พ.ศ. 2490 ศาสตราจารย์ ระพี ยังได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขานวัตกรรมเกษตรจาก มหาวิทยาลัยรังสิต ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ด้านการทำงาน ศ.ระพี เริ่มต้นทำงานที่สถานีทดลองกสิกรรม แม่โจ้ วิจัยพันธุ์ข้าว พันธุ์ผักและยาสูบ ขณะเดียวกัน ยังศึกษาค้นคว้าด้านกล้วยไม้ ทั้งในด้านการปรับปรุงพันุธุ์ ขยายพันธุ์ และธุรกิจการส่งออก กลายเป็นสินค้าส่งออกด้านเกษตรที่สำคัญชนิดหนึ่งของไทย ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา สาขาเกษตรศาสตร์ และโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์

ด้านชีวิตครอบครัว ศ.ระพี สมรสกับ นางกัลยา มนตริวัตร มีบุตร 4 คน ได้แก่ นายรวิวรรณ สาคริก นายพีระพงศ์ สาคริก อดีตที่ปรึกษา รมว.ทบวงมหาวิทยาลัย นายวงษ์ระวี สาคริก ผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร บริษัท พีพี พาราวูด จำกัด และ นางมาลีกันยา สาคริก

ศ.ระพี เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ตั้งแต่วันที่ 6 ธ.ค. 2559 กระทั่งต่อมา นางมาลีกันยา บุตรสาวคนเล็ก ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง มีคำสั่งให้ ศ.ระพี เป็นคนไร้ความสามารถและอยู่ในความอนุบาลของนางมาลีกันยา เนื่องจากป่วยเป็นโรคเส้นเลือดในสมองตีบ โรคพาร์กินสัน มีอาการสมองเสื่อม และโรคถุงลงเรื้อรัง และศาลมีคำสั่งเมื่อ 18 ส.ค. 2560

แต่ทางครอบครัวชี้แจงว่า ก่อนหน้านี้ คณะแพทย์โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ได้แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาอาการของ ศ.ระพี มีความเห็นว่า มีอาการสมองเสื่อมจากโรคพาร์กินสัน ไม่สามารถรักษาให้หายได้ ทำได้แค่ประคับประคอง และศาลตัดสินตั้งแต่ ศ.ระพี ยังพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลว่าไม่สามารถทำนิติกรรมใดๆ ได้ด้วยตนเอง นอกจากนี้ ระบบความจำที่เสื่อมลงทำให้ตอบสนองทางความคิดช้า แต่ยังคงจำหลายเรื่องหลายราวได้เป็นอย่างดี และไม่มีอาการวิกลจริตแต่อย่างใด

เรื่องเกี่ยวเนื่อง
"ศ.ระพี สาคริก" ราชากล้วยไม้ไทย

หนีร้อน ไปพึ่งเย็น เป็นศิลปะ ใต้ร่มไม้ใหญ่ ศ.ระพี สาคริก


กำลังโหลดความคิดเห็น