xs
xsm
sm
md
lg

ชลประทานเตรียมผันน้ำโขงสร้างความมั่นคงพื้นที่เพาะปลูกอีสานอีก 30 ล้านไร่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


อุบลราชธานี - กรมชลประทาน เสนอผันน้ำโขงเข้าเก็บตามแหล่งเก็บน้ำภาคอีสาน เพื่อสร้างความมั่นคงในการเพาะปลูกพืช ทั้งหน้าฝน และหน้าแล้ง พร้อมใช้แก้ปัญหาในใช้ช่วงเกิดปรากฏการณ์ตามธรรมชาติ ทำให้ภาคอีสานขาดแคลนน้ำใช้

รายงานข่าวแจ้งว่า ที่วิทยาลัยเกษตรกรรมและเทคโนโลยีอุบลราชธานี อ.เมือง จ.อุบลราชธานี ศจ.ระพี สาคริก ผู้ทรงคุณวุฒิด้านเกษตรกรรม เป็นประธานเปิดและบรรยายพิเศษเรื่องความมั่นคงด้านอาหาร และรับการบายศรีสู่ขวัญจากลูกศิษย์ตามประเพณีอีสาน ซึ่งจัดโดยภาคีเครือข่ายการบริหารจัดการน้ำภาคอีสานตอนล่าง เพื่อความมั่นคงทางด้านอาหารในกลุ่มจังหวัดที่ 14 ประกอบด้วย จังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษ ยโสธร และอำนาจเจริญ

ด้าน ดร.ฉวี วงศ์ประสิทธิพร ผู้อำนวยการส่วนวิศวกรรม สำนักบริหารโครงการกรมชลประทาน กล่าวถึงการผันน้ำโขงเข้ามาใช้ในพื้นที่ภาคอีสาน ตามแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำระหว่างปี 2558-2569

กรมชลประทาน มีแนวทางการผันน้ำโขงที่ไหลย้อนกลับมาตามลุ่มแม่น้ำเลย จ.เลย และปากลำห้วยหลวง จ.หนองคาย แล้วลำเลียงน้ำผ่านอุโมงค์ส่งมาตามคลองชลประทานที่จะสร้างเป็นคลองสายหลัก 6 เส้นทางยาวประมาณ 2,200 กิโลเมตร รวมกับคลองย่อยอีกประมาณ 6,000 กิโลเมตร

เพื่อลำเลียงน้ำมาเก็บไว้ตามสระเก็บน้ำของเกษตรกร อ่างเก็บน้ำ แก้มลิง เขื่อนขนาดใหญ่ เช่น เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนลำปาว เพื่อกระจายน้ำให้เกษตรกรใช้สร้างความมั่นคงในพื้นที่ใช้เพาะปลูกในหน้าฝน เพิ่มจากปกติที่สามารถส่งน้ำได้ 7 ล้านไร่ เพิ่มเป็น 37 ล้านไร่ จากพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมดของภาคอีสานที่มีกว่า 60 ล้านไร่

ส่วนในฤดูแล้งคลองส่งน้ำที่สร้างขึ้น รวมทั้งแก้มลิง อ่างเก็บน้ำขนาดย่อย และเขื่อนที่มีน้ำเก็บกักไว้ตั้งแต่ฤดูฝน จะสามารถส่งน้ำให้เกษตรกรเพาะปลูกได้ราว 12 ล้านไร่ จึงช่วยลดปัญหาการเพาะปลูกไม่ได้ผล หรือขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ในหน้าแล้ง

รวมทั้งเมื่อเกิดปรากฏการณ์เอลนิโญ่ ลานิญ่า ทำให้ฝนทิ้งช่วงระบบการผันน้ำดังกล่าว จะช่วยลดปัญหาให้แก่พื้นที่ในภาคอีสาน ซึ่งโครงการนี้ กรมชลประทานได้นำเสนอให้คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำแห่งชาติ ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เป็นประธานพิจารณาความเหมาะสมของโครงการ และคณะกรรมการให้กรมชลประทานไปหารือร่วมกับกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ในการบริหารจัดการน้ำร่วมกันด้วย

กำลังโหลดความคิดเห็น