xs
xsm
sm
md
lg

ทหารนำเปิดวงถกแก้ปมเหมืองทองอัคราฯ ลงมติตั้งตัวแทน 5 ฝ่ายพิสูจน์ดิน-น้ำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พิจิตร - ทหารเชิญตัวแทนชาวบ้านรอบเหมืองทองอัคราฯ พร้อมนักวิชาการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถกทางแก้ปัญหาความขัดแย้ง หลังชาวบ้านร้อง คสช. เบื้องต้นได้ข้อยุติตั้งคณะทำงาน 5 ฝ่ายลงพื้นที่เก็บตัวอย่างดิน-น้ำ-สัตว์ พร้อมประวัติสุขภาพชาวบ้าน ก่อนชี้ชัดผลกระทบเหมือง

วันนี้ (17 ก.ค.) นายวัชระ ทิพย์พิลา รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร และ พ.อ.สุพจน์ บูรณะจารี พร้อมด้วย พ.อ.ดุสิต ปุระเสาร์ รองผู้บัญชาการ กกล.รส.จทบ.เพชรบูรณ์ ประจำพื้นที่พิจิตร ได้ประชุมร่วมกับชาวบ้านที่คัดค้าน-สนับสนุนเหมืองทอง บมจ.อัครา รีซอร์สเซส (อัคราไมนิ่ง)

โดยมีนักวิชาการอิสระจำนวน 5 คน และนายเชิดศักดิ์ อรรถอรุณ ผู้จัดการฝ่ายประสานงานภายนอก และนางเยาวนุช จันทร์ดุ้ง ผู้จัดการฝ่ายสิ่งแวดล้อม ตัวแทนของบริษัทเหมืองแร่ทองคำ บมจ.อัครา รีซอร์สเซส ซึ่งตั้งอยู่ที่ หมู่ 9 ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร ตลอดจนหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง รวมเกือบ 100 คน เข้าร่วมประชุม เพื่อหาข้อยุติปัญหา หลังมีชาวบ้านกลุ่มหนึ่งร้องเรียนต่อ คสช.ว่าได้รับผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม แต่ปรากฏว่าทั้งหมดไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าใครถูก ใครผิด เพราะต่างฝ่ายต่างอ้างข้อมูลยืนยันว่าฝ่ายของตนถูกต้อง

นายวัชระกล่าวว่า อยากให้ทุกคนหันหน้าเข้าหากัน เพราะถ้าต่างคนต่างตั้งแง่จะเอาแพ้ เอาชนะก็ต้องฟ้องร้อง ซึ่งที่ผ่านมาก็เป็นคดีอยู่ในศาล ทั้งในศาลอาญา และศาลปกครอง

ขณะที่ พ.อ.สุพจน์ได้กล่าวในที่ประชุมว่า ถ้าชาวบ้านเดือดร้อน และต้นเหตุมาจากเหมืองทอง ตัวผู้ประกอบการก็ต้องหาทางแก้ไข แต่ถ้าแก้ไขแล้วฝ่ายชาวบ้านก็ต้องยอมรับว่าผู้ประกอบการได้ดำเนินการอย่างที่ร้องขอหรือไม่ ดังนั้นจึงต้องหาคนกลางมาช่วยสังเคราะห์ข้อมูล และพิสูจน์ความจริง

ด้าน พ.อ.ดุสิต ปุระเสาร์ ในฐานะที่รับผิดชอบ และลงพื้นที่ตรวจสอบข้อมูลแล้ว กล่าวว่า มีทั้งชาวบ้านที่มีความสุข มีรายได้จากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ แต่ก็มีผู้ยืนยันว่าได้รับความเดือดร้อนเพราะการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำแห่งนี้ด้วยเช่นกัน ดังนั้นทหารเข้ามาเพื่อเป็นคนกลางที่จะสร้างความสุขให้แก่ทุกฝ่าย ไม่มีเจตนาที่จะปิดเหมืองแร่ทองคำ บมจ.อัครา รีซอร์สเซส แต่อย่างใด

ดร.สิตางค์ พิลัยหล้า ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมแหล่งน้ำและคุณภาพน้ำ ม.เกษตรศาสตร์, รศ.ดร.เรณู เวชรัตน์พิมล ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตววิทยา ม.ศิลปากร, ภญ.ดร.ลักษณา เจริญใจ ผู้เชี่ยวชาญด้านเภสัชศาสตร์และพืช ม.รังสิต, อ.นิดา สังขปรีชา ผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อสารมวลชน ม.รังสิต ตลอดจนทีมงานของ ดร.ระพี สาคริก ก็ได้กล่าวในที่ประชุมว่า พวกตนจะใช้เวลาประมาณ 2 เดือนเพื่อลงพื้นที่เก็บตัวอย่าง ดิน น้ำ พืชผัก สัตว์ และดูประวัติสุขภาพของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ และจะรายงานเพื่อหาข้อยุติในการแก้ไขปรับปรุงการดำเนินกิจการของเหมืองแร่ทองคำต่อไป

ขณะที่นายมงคล สุกใส ปลัดจังหวัดพิจิตร ได้เล่าประสบการณ์ว่า เคยรับราชการอยู่ที่จังหวัดลำปาง มีเหมืองแร่แม่เมาะที่มีปัญหาคล้ายกับพิจิตร นั่นคือต่างฝ่ายต่างไม่ยอมรับคำตัดสินของอีกฝ่ายหนึ่ง ดังนั้นในคราวนี้ต้องให้ทั้ง 5 ฝ่าย คือ ชาวบ้าน, เหมืองทอง, นักวิชาการ, ฝ่ายปกครอง ส่วนราชการ และทหาร ควรทำข้อตกลงกันก่อนว่าจะเคารพสิทธิความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ไม่เช่นนั้นพูดอะไรออกมา ชี้ขาดอะไรออกไปก็หาว่าไม่เป็นกลางได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังใช้เวลาประชุมกันนานกว่า 3 ชั่วโมงก็ได้ข้อยุติว่า จะให้ตั้งคณะทำงานจากตัวแทนทั้ง 5 ฝ่ายที่กล่าวไปแล้วนั้น โดยให้มีตัวแทนของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบหมู่บ้านละ 1 คน จาก 3 หมู่บ้าน คือ หมู่ 3, หมู่ 8, หมู่ 9, ตัวแทนจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง 5 คน, ตัวแทนจากนักวิชาการอิสระ 5 คน, ตัวแทนจากเหมืองทอง 5 คน, ตัวแทนจาก คสช. ซึ่งเป็นฝ่ายทหาร 3 นาย ร่วมกันเพื่อลงพื้นที่เก็บข้อมูลเก็บตัวอย่างในทุกมิติ เพื่อสรุปผลว่า บมจ.อัครา รีซอร์สเซส จะต้องแก้ไข หรือปรับปรุงอะไร บ้างในกรณีที่เกิดผลกระทบจริงๆ

หากคณะกรรมการลงพื้นที่ทำทุกอย่างแล้วพบว่าเหมืองทองอัคราทำถูกต้องตามหลักวิชาการ ตามหลักกฎหมาย ชาวบ้านก็จะต้องยอมรับด้วย



กำลังโหลดความคิดเห็น