xs
xsm
sm
md
lg

ทำความรู้จัก “อุโมงค์ยักษ์บางซื่อ” แห่งที่ 8 ของ กทม. “ศาลอาญา” น้ำแห้งไม่ต้องรอครึ่งวัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


โต๊ะข่าวโซเชียลมีเดีย MGR Online ... รายงาน

เปิดใช้งานเสียที สำหรับอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อ อีกหนึ่งความหวังของชาวกรุงเทพฯ ที่จะช่วยระบายน้ำจากฝนตกหนักบนถนนสายสำคัญ ช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบาในยามวิกฤต

อุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อ เป็นอุโมงค์ระบายน้ำแห่งที่ 8 ของกรุงเทพมหานคร (กทม.) เส้นผ่านศูนย์กลาง กว้าง 5 เมตร ยาว 6.4 กิโลเมตร ลึกจากพื้นดินลงไป 30 เมตร

ความกว้างเทียบเท่ากับอุโมงค์ยักษ์พระรามเก้า - รามคำแหง ที่กว้าง 5 เมตรเหมือนกัน

จุดเริ่มต้นจากถนนรัชดาภิเษก ขนานไปกับคลองบางซื่อ ก่อนออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาที่หลังวัดแก้วฟ้าจุฬามณี แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพฯ

มีอาคารรับน้ำ 3 แห่ง บริเวณถนนรัชดาภิเษก ถนนวิภาวดีรังสิต และถนนกำแพงเพชร ทำหน้าที่รับน้ำระหว่างทาง และสถานีสูบน้ำตอนปลายอุโมงค์ กำลังสูบ 60 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

เริ่มก่อสร้างตั้งแต่เดือนกันยายน 2556 ใช้เวลาก่อสร้าง 4 ปีเต็ม ด้วยงบประมาณ 2,483 ล้านบาท มีบริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง

ขีดความสามารถของอุโมงค์แห่งนี้ สามารถระบายน้ำครอบคลุมพื้นที่ 56 ตารางกิโลเมตร ใน 6 เขต ได้แก่ เขตดุสิต บางซื่อ พญาไท จตุจักร ดินแดง และ ห้วยขวาง

ช่วยบรรเทาปัญหาน้ำรอการระบาย น้ำท่วม บนถนนสายหลัก 6 เส้นทาง ได้แก่

- ถนนพหลโยธิน ช่วง สี่แยกสะพานควาย ถึงห้าแยกลาดพร้าว

- ถนนวิภาวดีรังสิต ช่วง สี่แยกสุทธิสาร ถึงห้าแยกลาดพร้าว

- ถนนรัชดาภิเษก ช่วง สี่แยกรัชโยธิน ถึงคลองบางซื่อ

- ถนนลาดพร้าว ช่วง สี่แยกรัชดาลาดพร้าว ถึงคลองบางซื่อ

- ถนนกำแพงเพชร ช่วง ใต้ทางด่วนศรีรัช ถึงตลาดนัดสวนจตุจักร

- และ ถนนสามเสน ช่วงคลองบางกระบือถึงสี่แยกเกียกกาย

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. ยืนยันว่า จุดที่น้ำท่วมขัง น้ำรอการระบายในอดีต เช่น หน้าศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก และแยกรัชดาลาดพร้าว จากเดิมใช้เวลาหลายชั่วโมงระบายน้ำจนแห้ง

คราวนี้ฝนตกหนักเกิน 100 มิลลิเมตรขึ้นไป จะใช้เวลาระบายน้ำเพียงแค่ 30 - 45 นาทีเท่านั้น

แต่หากฝนตกน้อยกว่า 100 มิลลิเมตร การระบายน้ำจะรวดเร็ว น้ำรอการระบายครึ่งวัน ค่อนวันจะไม่มีอีกแล้ว โดยจะค่อยๆ เปิดเครื่องสูบน้ำที่มีอยู่ 6 ตัว เครื่องสูบน้ำ 1 ตัว กำลังสูบ 10 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

“ขณะนี้เราเพิ่งเปิดแค่ตัวเดียว วันหนึ่งก็ประมาณ 10 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ถ้าเปิดครบทั้ง 6 ตัว ก็จะ 60 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที กรณีที่ฝนตกมาก น้ำไหลลงคลองและไหลลงสู่อุโมงค์มาก เราก็จะเปิดให้สัมพันธ์กัน เริ่มจาก 2 - 3 ตัว แต่ถ้าน้ำมากจริงๆ เราก็จะเปิดครบทั้ง 6 ตัว” พล.ต.อ.อัศวิน กล่าว

ในกรุงเทพมหานคร มีอุโมงค์ระบายน้ำครั้งแรกเมื่อ 34 ปีที่แล้ว ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1 เมตร ในย่านสุขุมวิท ก่อนจะพัฒนาขนาดเส้นผ่านสูนย์กลางขึ้นเรื่อยๆ ตามลักษณะทางกายภาพของพื้นที่ ปัจจุบัน กทม. มีอุโมงค์ระบายน้ำ 7 แห่ง ความยาวรวมประมาณ 19 กิโลเมตร มีประสิทธิภาพระบายน้ำรวม 155.5 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ได้แก่

1. อุโมงค์ระบายน้ำซอยสุขุมวิท 26 ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1 เมตร ความยาวประมาณ 1.10 กิโลเมตร ก่อสร้างแล้วเสร็จปี 2526 ระบายน้ำได้ 4 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แก้ปัญหาน้ำท่วมขังบนถนนสุขุมวิท ระหว่างซอย 22 - 28 ในซอยสุขุมวิท 26 และพื้นที่ใกล้เคียง

2. อุโมงค์ระบบผันน้ำคลองเปรมประชากร ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 3.40 เมตร ความยาวประมาณ 1.88 กิโลเมตร ก่อสร้างแล้วเสร็จปี 2544 ระบายน้ำได้ 30 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แก้ปัญหาน้ำท่วมขังในเขตบางซื่อ จตุจักร หลักสี่ บางเขน และดอนเมือง

3. อุโมงค์ระบบระบายน้ำซอยสุขุมวิท 36 ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.80 เมตร ความยาวประมาณ 1.32 กิโลเมตร ก่อสร้างแล้วเสร็จปี 2544 ระบายน้ำได้ 6 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แก้ปัญหาน้ำท่วมขังบนถนนสุขุมวิทและซอยสุขุมวิท 36

4. อุโมงค์ระบบระบายน้ำซอยสุขุมวิท 42 ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.80 เมตร ความยาวประมาณ 1.10 กิโลเมตร ก่อสร้างแล้วเสร็จปี 2545 ระบายน้ำได้ 6 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แก้ปัญหาน้ำท่วมขังบนถนนสุขุมวิทและซอยสุขุมวิท 42

5. อุโมงค์ระบบระบายน้ำพื้นที่เขตพญาไท ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.40 เมตร ความยาวประมาณ 6.79 กิโลเมตร และ 1.50 เมตร ความยาวประมาณ 1.90 กิโลเมตร ก่อสร้างแล้วเสร็จปี 2546 ระบายน้ำได้ 4.50 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แก้ปัญหาน้ำท่วมขังในเขตพญาไท ถนนพหลโยธิน ระหว่างซอย 5 - 11 และถนนพระราม 6

6. อุโมงค์ระบายน้ำบึงมักกะสัน ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 4.60 เมตร ความยาวประมาณ 5.98 กิโลเมตร ก่อสร้างแล้วเสร็จปี 2553 ระบายน้ำได้ 45 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แก้ปัญหาน้ำท่วมขังในเขตวัฒนา ปทุมวัน ราชเทวี พญาไท ห้วยขวาง และดินแดง

7. อุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบและคลองลาดพร้าว (อุโมงค์ยักษ์พระรามเก้า - รามคำแหง) ถือเป็น "อุโมงค์ยักษ์" แห่งแรกใน กทม. ด้วยขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 เมตร ความยาวประมาณ 5.11 กิโลเมตร ระบายน้ำได้ 60 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แก้ปัญหาน้ำท่วมขังในเขตห้วยขวาง บางกะปิ บึงกุ่ม วัฒนา วังทองหลาง และลาดพร้าว

ขณะนี้ กทม. กำลังก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำอีก 1 แห่ง คือ อุโมงค์ระบายน้ำบึงหนองบอน อุโมงค์ยักษ์แห่งที่ 9 ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 เมตร ความยาวประมาณ 9.4 กิโลเมตร ระบายน้ำได้ 60 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แก้ปัญหาน้ำท่วมขังในเขตพระโขนง ประเวศ สวนหลวง วัฒนา และคลองเตย

ขณะนี้ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) กำลังอยู่ในระหว่างก่อสร้าง ซึ่ง กทม. ได้เจรจากับผู้รับเหมาให้เร่งการก่อสร้าง เพื่อให้เปิดใช้งานได้ภายในปลายปี 2562

เหนือสิ่งอื่นใด อุโมงค์ระบายน้ำ และระบบระบายน้ำจะทำงานได้ไม่ราบรื่น หากต้องเจอกับประชาชนที่ทิ้งขยะกีดขวางทางน้ำไหล เช่น เฟอร์นิเจอร์ โซฟา ที่นอน ที่กีดขวางทางน้ำไหล ต่อให้มีเป็นสิบอุโมงค์ หากพฤติกรรมในการทิ้งขยะของคนกรุงเทพฯ ยังไม่เปลี่ยนก็คงเป็นเรื่องยาก












กำลังโหลดความคิดเห็น