ประจวบคีรีขันธ์ - กรมชลประทาน ยึดหลักศาสตร์พระราชา แก้ปัญหาน้ำท่วมบางสะพาน โดยเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ สร้างอ่างเก็บน้ำขนาดกลางเพิ่ม
วันนี้ (29 ก.ค.) นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานเปิดโครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอบางสะพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ พร้อมด้วย พ.อ.กรกานต์ นาเวชวนิชกุล รองผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจกร (กอ.รมน.) ประจวบคีรีขันธ์ นายสมพร ปัจฉิมเพ็ชร ปลัดจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นายศักรินทร์ ทุมเสน นายอำเภอบางสะพาน นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ ผู้อำนวการสำนักงานชลประทานที่ 14 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
โดยทางกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้น้อมนำพระราชดำรัสของรัชกาลที่ 9 ที่ได้พระราชทาน ไว้เมื่อปี 2547 โดยสรุปว่า “...พื้นที่จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จนจดจังหวัดชุมพร มีปริมาณน้ำในลำห้วยต่างๆ เป็นจำนวนมากที่ไหลลงทะเล ให้กรมชลประทานพิจารณาวางแผนสร้างแหล่งเก็บกักน้ำต่างๆ ตามความเหมาะสมไว้ให้ประโยชน์ให้แก่ราษฎร และเพิ่มช่องระบายน้ำผ่านถนน และคลองระบายน้ำเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมโดยด่วนต่อไป...” มาใช้ในการวางแผนดำเนินโครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอบางสะพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำเพื่อบรรเทาอุทกภัยบริเวณพื้นที่อำเภอบางสะพาน
ที่ผ่านมา อำเภอบางสะพาน จะประสบปัญหาน้ำท่วมเป็นประจำ ล่าสุด เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 8-9 มกราคม 2560 ที่ผ่านมา ซึ่งมีฝนตกหนัก และต่อเนื่องเป็นพื้นที่กว้างครอบคลุมลุ่มน้ำคลองบางสะพาน ทั้งหมดประมาณ 474 ตารางกิโลเมตร จนทำให้มีปริมาณน้ำท่าเกิดขึ้นกว่า 60 ล้านลูกบาศก์เมตร และไหลลงสู่คลองบางสะพาน ซึ่งแคบ ตื้น และคดเคี้ยว จนทำให้ล้นตลิ่งไหลเข้าท่วมพื้นที่ อ.บางสะพาน ที่มีสภาพเป็นที่ลุ่มต่ำแอ่งกระทะ ได้สร้างความเสียหายทั้งชีวิต ทรัพย์สิน และพืชผลทางการเกษตรเป็นมูลค่ามหาศาล
อีกทั้งอ่างเก็บน้ำที่มีอยู่ภายในลุ่มน้ำคลองบางสะพาน ยังเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก จำนวน 3 แห่ง มีความจุรวมกันไม่ถึง 2 ล้านลูกบาศก์เมตร ไม่เพียงพอที่จะตัดยอดน้ำเพื่อบรรเทาความรุนแรงได้ หากมีฝนตกหนหนักต่อเนื่องน้ำจะเต็มอ่างฯ และไหลล้นออกทางระบายน้ำฉุกเฉินไหลลงสู่พื้นที่ลุ่มต่ำทันที
นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า สำหรับโครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอบางสะพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นั้น จากการศึกษาเบื้องต้นพบว่า หากจะให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จะต้องดำเนินโครงการต่างๆ ดังนี้ ในระยะเร่งด่วน ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการอย่างรีบเร่งคือ ขุดลอกคลองบางสะพาน ช่วงระบายน้ำออกสู่ทะเล ความยาว 4.50 กม.ได้รับงบประมาณแล้ว 78 ล้านบาท ปัจจุบันดำเนินการแล้วเสร็จ 0.50 กม.และอยู่ระหว่างดำเนินการ 2.2 กม. จะแล้วเสร็จทั้งหมดภายในเดือนพฤศจิกายน 2560 เพื่อช่วยเหลือประชาชนให้บรรเทาจากอุทกภัย
นอกจากนั้น มีแผนงานสร้างประตูระบายน้ำในคลองบางสะพาน เพื่อควบคุมการระบายน้ำในคลองบางสะพาน ให้มีประสิทธิภาพ คาดว่าใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างประมาณ 2 ปี และมีแผนการปรับปรุงอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กที่มีอยู่ คือ อ่างโป่งสามสิบ อ่างคลองลอย และอ่างวังน้ำเขียว เพื่อเพิ่มปริมาณการกักเก็บ คาดว่าใช้ระยะเวลาประมาณ 1-2 ปี
ส่วนในระยะกลาง และระยะยาว อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ได้ขุดขยายคลองแม่รำพึง และคลองปัตตามัง-เขาม้าร้อง เพื่อช่วยการระบายน้ำจากคลองบางสะพาน ให้ระบายน้ำลงสู่ทะเลให้เร็วที่สุด พร้อมกับดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ อ่างบ้านไทรทอง และอ่างคลองลอย เพื่อตัดยอดน้ำ และกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง อย่างไรก็ตาม โครงการนี้จะต้องดำเนินการศึกษาความเหมาะสม ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น และขอใช้พื้นที่จากหน่วยงานที่รับผิดชอบก่อนถึงจะสามารถดำเนินการได้ หากสามารถดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ เพื่อบรรเทาอุทกภัยพื้นที่บริเวณอำเภอบางสะพานได้เต็มโครงการ
โครงการดังกล่าวจะทำให้สามารถระบายน้ำที่ไหลผ่านลุ่มน้ำบางสะพานได้ไม่น้อยกว่า 1,025 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และประตูระบายน้ำทั้ง 3 แห่ง ที่จะสร้างในคลองบางสะพาน คือ ประตูระบายน้ำทุ่งมะพร้าว ประตูระบายน้ำกลางคลองบางสะพาน และประตูระบายน้ำปลายคลองบางสะพาน นอกจากจะควบคุมการระบายน้ำในคลองบางสะพาน ให้มีประสิทธิภาพแล้ว สามารถช่วยกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง รวมทั้งยังจะช่วยป้องกันการรุกล้ำของน้ำเค็มเข้ามาในคลองบางสะพาน ได้อีกด้วย
ส่วนการสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 2 แห่ง นอกจากจะช่วยตัดยอดน้ำแล้ว ยังสามารถทำให้มีแหล่งน้ำต้นทุนเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 30 ล้านลูกบาศก์เมตร และเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้ 15,450 ไร่