xs
xsm
sm
md
lg

กรมชลฯ หงายการ์ด “กัดเซาะสันเขื่อน” 20 เมตร ลั่นอ่างเก็บน้ำสกลนครไม่ได้แตก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รองอธิบดีกรมชลฯ อ้าง อ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้น สกลนคร ไม่ได้แตก แค่กัดเซาะสันเขื่อน ลึก 4 เมตร ยาว 20 เมตร สวนทางกับ ผอ.ชลประทานสกลนคร ระบุ เขื่อนถูกพังทลายดิน น้ำไหลทันที 1 ล้านลูกบาศก์เมตร



วันนี้ (28 ก.ค.) จากกรณีที่วันที่ 28 ก.ค. อิทธิพลของพายุโซนร้อน “เซินกา” ที่ทำให้เกิดฝนตกหนักมาตั้งแต่วันที่ 27 ก.ค. ส่งผลทำให้วันนี้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน ประกอบกับน้ำป่าที่ไหลหลากลงมาจากเทือกเขาภูพาน ขณะที่อ่างเก็บน้ำห้วยทราย บ้านน้อยหัวคู ต.ขมิ้น อ.เมืองฯ จ.สกลนคร ได้แตกออกมาจากกัน ทำให้มวลน้ำจำนวนมากเข้าท่วมพื้นที่โดยรอบนั้น

นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน ชี้แจงว่า ฝนที่ตกหนักจากอิทธิพลของพายุโซนร้อนเซินกา ในพื้นที่จังหวัดสกลนคร ตั้งแต่วานนี้ (27 ก.ค.) วัดปริมาณฝนสูงสุดในเขต อ.เมืองสกลนคร ได้มากถึง 130 มิลลิเมตร ต่อเนื่องมาจนถึงวันนี้ (28 ก.ค. 60) รวมปริมาณฝนตกสะสมมากถึง 245 มิลลิเมตร ส่งผลให้มีปริมาณน้ำจำนวนมากไหลลงสู่อ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก 4 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำบ่อ อ่างเก็บน้ำห้วยเดียก อ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้น และ อ่างเก็บน้ำภูเพ็ก สรุปได้ดังนี้

อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำบ่อ ความจุเก็บกักสูงสุด 2.43 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันมีความจุมากกว่าระดับเก็บกัก ร้อยละ 107 ระดับน้ำสูงกว่าระดับเก็บกัก 0.20 เมตร เหลืออีก 0.10 เมตร น้ำจะไหลข้ามทำนบดิน เร่งระบายน้ำออกจากอ่างอย่างต่อเนื่อง แนวโน้มระดับน้ำลดลง ยังไม่มีส่งผลกระทบต่อตัวทำนบดินของอ่าง แต่อย่างใด

อ่างเก็บน้ำห้วยเดียก ความจุเก็บกักสูงสุด 4.5 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันมีปริมาณน้ำในอ่าง 4.53 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 108 ของความจุเก็บกัก ระดับน้ำสูงกว่าระดับเก็บกัก 1 เมตร เหลืออีกประมาณ 0.50 เมตร น้ำจะต่ำกว่าระดับสันเขื่อน ได้เร่งระบายน้ำออกจากอ่างอย่างต่อเนื่อง ตัวทำนบดินยังไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด

อ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้น ความจุเก็บกักสูงสุด 2.66 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันปริมาณน้ำในอ่างลดลงเหลือ 1.33 ล้านลูกบาศก์เมตร เนื่องจากก่อนหน้านี้ มีน้ำล้นทำนบดิน และกัดเซาะสันเขื่อนลึกประมาณ 4 เมตร ยาว 20 เมตร ทำให้มีน้ำไหลออกจากอ่างลงสู่ด้านท้าย ไปรวมกับปริมาณน้ำในลำนำธรรมชาติที่มีปริมาณมากอยู่แล้ว จึงทำให้เกิดน้ำท่วมพื้นที่ด้านท้ายอ่าง และถนนบางส่วน กรมชลประทาน ได้เร่งตรวจสอบความเสียหาย พร้อมหาแนวทางซ่อมแซมและแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนแล้ว

อ่างเก็บน้ำภูเพ็ก ความจุเก็บกักสูงสุด 3.0 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันมีปริมาณน้ำในอ่างมากถึง 2.91 ล้านลูกบาศก์เมตร ได้เร่งระบายน้ำอย่างต่อเนื่อง และทำนบดินยังไม่ได้รับผลกระทบในขณะนี้

อนึ่ง เส้นทางการไหลของน้ำในเขตเมืองสกลนคร เกือบทั้งหมดจะไหลไปรวมลงสู่หนองหาร และระบายออกทางลำน้ำก่ำเพียงลำน้ำเดียว ก่อนจะไหลไปลงแม่น้ำโขง แต่เนื่องจากลำน้ำก่ำมีปริมาณน้ำเต็มความจุของลำน้ำแล้ว ทำให้การระบายน้ำจากหนองหาร ไม่สามารถระบายได้อย่างสะดวก จึงทำให้เกิดการท่วมขัง ในเบื้องต้น กรมชลประทาน ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำจำนวน 2 จุด ที่บ่อบำบัดน้ำเสีย จ.สกลนคร และ หนองสนม เพื่อเร่งระบายน้ำ หากไม่มีปริมาณน้ำมาเพิ่มเติมคาดว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติในเร็ววันนี้

กรณีที่มีข่าวลือเรื่องของอ่างเก็บน้ำห้วยทราย ที่อยู่ใกล้กับพระตำหนักภูพานราชนิเวศน์แตกแล้ว นั้น กรมชลประทานขอชี้แจงข้อเท็จจริงว่า อ่างเก็บน้ำทุกแห่งในพื้นที่จังหวัดสกลนคร ที่มีเต็มอ่างนั้น ยังไม่มีอ่างเก็บน้ำใดที่แตกร้าว ทุกอ่างยังมีควมมั่นคงแข็งแรงดี

สำหรับการแก้ปัญหาในเบื้องต้น กรมชลประทาน ได้ระดมเจ้าหน้าที่และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าพื้นที่ เพื่อวางแผนแก้ไขปัญหาในแต่ละพื้นที่อย่างเร่งด่วนแล้ว

ทั้งนี้ กรมชลประทาน ไม่ได้นิ่งนอนใจต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ได้สั่งการให้โครงการชลประทานในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งระดมเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ และกำลังเจ้าหน้าที่ พร้อมกับประสานกับจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในครั้งนี้

อนึ่ง นายนิพนธ์ มังกรแก้ว ผู้อำนวยการโครงการชลประทานสกลนคร สำนักชลประทานที่ 5 เปิดเผยก่อนหน้านี้ ว่า อ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้น ต.พังขว้าง อ.เมือง จ.สกลนคร ซึ่งเป็นอ่างเก็บนำขนาดกลาง ความจุอ่างที่ 2.4 ล้านลูกบาศก์เมตร แบกรับน้ำเกินขนาด ส่งผลให้มีน้ำล้นทำนบดิน และพังทลายกินลึกประมาณ 4 เมตร ยาว 20 เมตร มีน้ำไหลออกทันทีกว่า 1 ล้านลูกบาศก์เมตร เข้าสู่พื้นที่ใกล้เคียงคือ ต.ขมิ้น ต.พังขว้าง โดยพื้นที่ดังกล่าว เป็นบ้านเรือนประชาชน และพื้นที่ทางการเกษตร

นอกจากนี้ กระแสน้ำได้กัดคอสะพานบนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 22 (สกลนคร-อุดรธานี) ขาดไป 1 สะพาน เบื้องต้น เจ้าหน้าที่กรมชลประทาน กำลังเร่งเข้าไปในพื้นที่เพื่อแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน แต่จะต้องประเมินจากสถานการณ์อีกครั้ง ว่า จะใช้วิธีนำถุงทรายมาวาแทนทำนบดินชั่วคราว หรือนำรถแบ็กโฮเข้ามาเพื่อแก้ปัญหาต่อไป

กำลังโหลดความคิดเห็น