กาฬสินธุ์ - ดีเปรสชัน “เซินกา” ถล่มกาฬสินธุ์ไม่เลิก ล่าสุดกระแสน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยสีทนทะลักท่วมบ้านเรือนประชาชนในเขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์แล้วกว่า 10 ชุมชน ระดับน้ำสูงเกือบ 2 เมตร เผย 300 ครอบครัวต้องเร่งอพยพ นายกเทศมนตรีเมืองกาฬสินธุ์ระบุรุนแรงสุดรอบ 40 ปี
วันนี้ (28 ก.ค. 60) รายงานผลกระทบจากพายุเซินกาที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งอ่อนกำลังลงเป็นดีเปรสชัน และกลายเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำ ยังคงสร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน ล่าสุดเกิดกระแสน้ำไหลบ่าจากอ่างเก็บน้ำห้วยสีทน อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ ไหลท่วมบ้านเรือนประชาชนในเขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์แล้ว 300 ครอบครัว
เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ต้องระดมเจ้าหน้าที่เข้าอพยพข้าวของช่วยประชาชนเป็นการด่วน โดยระดับน้ำเริ่มสูงขึ้นตั้งแต่ช่วงเช้า เพียง 4 ชั่วโมงระดับน้ำได้เข้าท่วมถึง 10 ชุมชน ทั้งนี้ นายจารุวัฒน์ บุญเพิ่ม นายกเทศมนตรีเมืองกาฬสินธุ์ ระบุว่า ปัญหาน้ำท่วมกาฬสินธุ์ครั้งนี้ถือว่ารุนแรงสุดในรอบ 40 ปี จากที่เคยท่วมมาแล้วในปี 2555 แต่ระดับน้ำไหลบ่าไม่รุนแรง แต่ขณะนี้กระแสน้ำเชี่ยวกราก ทางเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ยังสั่งให้เจ้าหน้าที่เข้าทำการตัดไฟเพื่อป้องกันอันตราย
ด้านนางเนตรชนก คำดี นายกเหล่ากาชาดจังหวัดกาฬสินธุ์ ได้นำถุงยังชีพและน้ำดื่มเข้าช่วยเหลือประชาชน และได้ตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยไว้ภายในวัดหอไตร เขตเทศบาลเมือง ซึ่งจะทำอาหารไว้คอยบริการประชาชนที่เดือดร้อน ถึงแม้ฝนจะเริ่มหยุดตก แต่ปริมาณน้ำสะสมที่ไหลลงมาจากลำน้ำสาขายังทำให้ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น และคาดว่าจะมีระดับสูงสุดในคืนนี้ ประชาชนที่อาศัยในเขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ ซึ่งอยู่บริเวณติดลำน้ำปาวจะต้องระมัดระวังและเตรียมการอพยพ
ขณะเดียวกัน น้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยสีทนได้เอ่อล้นท่วมทางหลวงหมายเลข 227 ถนนจากอำเภอเมืองกาฬสินธุ์ ไปอำเภอสหัสขันธ์ ถือเป็นถนนสายหลักแห่งแรกที่ถูกน้ำท่วมขัง ไม่สามารถสัญจรผ่านได้ ต้องปิดเส้นทางโดยใช้ทางเลี่ยงเส้นทางอ่างเก็บน้ำห้วยสีทนแทน โดยแขวงการทางนำป้ายเข้ามาติดตั้งเพื่อห้ามไม่ให้รถเล็กผ่าน เนื่องจากระดับน้ำที่เอ่อล้นท่วมบนถนนสูงเกือบ 1 เมตร นอกจากนี้ เส้นทางระหว่าง อ.สมเด็จ-อ.กุฉินารายณ์ ต้องหลีกเลี่ยงการเดินทางเนื่องจากน้ำท่วมระดับสูงไม่สามารถสัญจรได้แล้ว
ส่วนปัญหาน้ำท่วม จ.กาฬสินธุ์ ขณะนี้ครอบคลุมไปทุกอำเภอ ยังมีรายงานว่าในเขตเทือกเขาภูพาน ด้านอำเภอนาคู และอำเภอเขาวง น้ำป่าได้ไหลทะลักเข้าท่วมถนนสายหลักหลายสาย และพื้นที่นาข้าวเสียหายเป็นบริเวณกว้าง ซ
ข้อมูลจากป้องกันบรรเทาสาธารณภัยมีรายงานเบื้องต้นนาข้าวเสียหายแล้วกว่า 30,000 ไร่ ครอบคลุม 15 อำเภอ 54 ตำบล ซึ่งขณะนี้ทุกฝ่ายได้เร่งช่วยเหลือประชาชนโดยเน้นไปที่ความปลอดภัยสูงสุด