เปิดกลยุทธ์ล่าสุดของไทยพาณิชย์ ติดป้ายห้อยคอ PromptPay QR CODE แก่วินมอเตอร์ไซค์ รับชำระค่าโดยสารผ่านระบบพร้อมเพย์ นำร่อง 200 คันทั่วกรุงเทพฯ เตรียมขยายบริการตามเส้นทาง BTS-MRT
หลังจากเปิดตัวแอปพลิเคชันใหม่ SCB EASY สร้างความฮือฮาโดยเพิ่มเมนู “กดเงินไม่ใช้บัตร” ที่ใช้ได้กับตู้เอทีเอ็มไทยพาณิชย์กว่า 9 พันเครื่องแล้ว ก็ยังเดินหน้าโปรโมตบริการใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง
เริ่มจาก ร่วมมือกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เจ้าของตลาดนัดสวนจตุจักร พัฒนาแอปฯ สำหรับร้านค้า และ Chatuchak Guide แบบ 3 ภาษา ไทย อังกฤษ จีน สำหรับค้นหาร้านค้าและรับโปรโมชั่น
ล่าสุด เปิดตัวบริการ "SCB EASY SCAN" บริการจ่ายค่าวินมอเตอร์ไซค์ผ่าน QR CODE บนป้ายห้อยคอคนขับเพื่อจ่ายค่ามอเตอร์ไซค์รับจ้าง นำร่อง 200 คันทั่วกรุงเทพฯ และจะขยายไปตามวินบนเส้นทางที่มีรถไฟฟ้า BTS และ MRT พาดผ่าน
สำหรับวิธีจ่ายค่าวินมอเตอร์ไซค์ เพียงสแกน PromptPay QR CODE บนป้ายห้อยคอวินมอเตอร์ไซค์ ผ่านแอปฯ SCB EASY หรือแอปฯ ธนาคารอื่น ที่รองรับโอนเงินผ่านสแกน QR CODE
จากนั้นใส่ยอดเงินที่ต้องชำระ แล้วทำรายการโอนเงินโดยไม่ต้องใช้เงินสด ที่สำคัญ เงินจะโอนเข้าบัญชีวินมอเตอร์ไซค์ทันที โดยไม่เสียค่าธรรมเนียม เช่นเดียวกับการโอนเงินพร้อมเพย์ตามปกติ
แม้ระบบ QR CODE จะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่การที่จะให้เป็นช่องทางรับเงินในชีวิตประจำวันไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะคนไทยนิยมใช้เงินสดในการชำระเงินเล็กๆ น้อยๆ
ปัจจุบัน คนไทยทำธุรกรรมทั้งการโอนเงินและชำระเงินค่าบริการต่างๆ ผ่านโมบายแบงกิ้งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ปี 2558 มีการทำรายการ 13.92 ล้านบัญชี ปี 2559 เพิ่มขึ้นถึง 20.8 ล้านบัญชี
ขณะที่ธนาคารไทยพาณิชย์ มีจำนวนผู้ใช้งานแอปฯ SCB EASY กว่า 4 ล้านคน ซึ่งหลังเปิดตัวเวอร์ชั่นใหม่ไปก่อนหน้านี้ ตั้งเป้าหมายยอดผู้ใช้งานแอปฯ เป็น 8 ล้านคนภายในสิ้นปี 2561
ธนา เธียรอัจฉริยะ รักษาการซีเอ็มโอของไทยพาณิชย์ กล่าวว่า สมรภูมิต่อไปของธนาคาร คือ QR CODE รับ-จ่ายเงิน ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำลังจะเปิดโครงการต่อจากระบบพร้อมเพย์
การที่ไทยพาณิชย์จัดระบบ PromptPay QR CODE ให้กับวินมอเตอร์ไซค์ เพราะคน กทม. คุ้นเคยกับการใช้วิน และถึงผู้บริโภคจะใช้แอปฯ อะไรก็ได้ แต่จุดรับเงินเป็นของ SCB ยิ่งยึดหัวหาดเท่าไหร่ยิ่งได้เปรียบ
สงครามดิจิตอลแบงกิ้งกำลังจะมา สังคมไร้เงินสดกำลังเพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภคมากขึ้น ขึ้นอยู่กับว่าพฤติกรรมของผู้บริโภคจะเปลี่ยน ตามเทคโนโลยีและช่องทางบริการที่เปลี่ยนไปหรือไม่?