ดิจิทัล เวนเจอร์ เผย ตั้งบริษัทมาเกือบปี พบปัญหาสตาร์ทอัปไทยยังต้องการความรู้และการบ่มเพาะอย่างใกล้ชิด ฝันเป็นตัวแทนกลางระดับภูมิภาคในการให้ความรู้ หลังพบมีพันธมิตรระดับโลกเป็นเครือข่ายจำนวนมาก พร้อมเดินหน้าสร้างโปรดักส์สตาร์ทอัปให้เป็นจริงหวังป้อนสู่บริการธนาคารไทยพาณิชย์ปีนี้ 2-3 บริการ
นายธนา เธียรอัจฉริยะ รักษาการ Chief Marketing Officer ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด กล่าวว่าตั้งแต่ตั้งบริษัทขึ้นได้ประมาณ 10 เดือน ทำให้ได้เรียนรู้สตาร์ทอัปคนไทยว่าต้องให้การสนับสนุนแบบใด จากที่บริษัทตั้งใจว่าจะกันเงินไว้ให้สตาร์ทอัปลงทุนก็ต้องเปลี่ยนรูปแบบ จากเดิมที่ตั้งใจว่าจะให้เงินลงทุนและจะนำผลิตภัณฑ์ที่ได้จากสตาร์ทอัปมาทำการตลาดเอง ก็เปลี่ยนเป็นเลือกเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่คาดว่าธนาคารจะนำมาใช้งานจริง
เพราะการลงทุนด้วยเงินอย่างเดียวมีความเสี่ยง สตาร์ทอัปคนไทยเปรียบเสมือนเอสเอ็มอีที่ไม่ได้ต้องการแค่เงินทุนแต่ต้องการพี่เลี้ยง ต้องการการบ่มเพาะ ตลอดจนหาตลาดให้เขา ขณะที่ทีมงานของบริษัทเองก็มีจำนวนไม่มาก จึงไม่สามารถโฟกัสในด้านการขายเองได้
ดังนั้นจึงเป็นที่มาของโครงการ Digital Ventures Accelerator ( DVA) โดยหลักสูตรแรก คัด 10 สตาร์ทอัปไทย แบ่งเป็นฟินเทค 5 ราย และ ทั่วไป 5 ราย มาเรียนรู้ เพื่อให้ทราบแนวโน้มว่าจะสามารถนำผลิตภัณฑ์มาเป็นส่วนหนึ่งของบริการให้กับธนาคารได้หรือไม่ โดยโครงการนี้มีระยะเวลา 6 เดือน จะจบโครงการในเดือนเมษายนนี้ ซึ่งเร็วๆนี้บริษัทจะนำตัวอย่าง 2 บริการที่เกี่ยวกับ IoT มาให้ลูกค้าทดลองใช้ในงานมันนี่ เอ็กซ์โป เพื่อสำรวจตลาดก่อนและมั่นใจว่าธนาคารจะนำมาให้บริการกับลูกค้าได้จริง ซึ่งโครงการรูปแบบนี้บริษัทจะต่อยอดให้มีอย่างต่อเนื่อง และจะเชิญชวนให้องค์กรอื่นๆที่สนใจสนับสนุนสตาร์ทอัปทำในรูปแบบเดียวกันนี้ด้วย
รวมถึงในอนาคตต้องการขยายให้เป็นโครงการระดับภูมิภาค เพราะตอนนี้บริษัทมีเครือข่ายและเป็นที่รู้จักมากขึ้นแล้วจึงไม่ยากที่จะเป็นศูนย์กลางในเรื่องนี้ ควบคู่กับการสร้างโครงการบ่มเพาะความรู้แล้ว ด้วยข้อดีที่บริษัทมีเครือข่ายจากต่างชาติ บริษัทก็ต้องการเป็นศูนย์กลางด้านความรู้จากบริษัทต่างๆทั่วโลกมาร่วมแบ่งปันความรู้กันด้วย เช่น โกลเดนเกต เวนเจอร์ส กองทุนสตาร์ทอัประดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ , อาร์เบอร์ เวนเจอร์ส กองทุนฟินเทคที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย และ เท็นเซ็นต์ จากประเทศจีน
ขณะเดียวกันบริษัท ยังต้องเติมเต็มบุคลากรที่มีความรู้ด้านเทคโนโลยีเฉพาะด้านอย่างลึกซึ้งมาให้ความรู้กับผู้ที่สนใจด้วย ต่อไปหากใครต้องการความรู้ด้านนี้ บริษัทจะสามารถเป็นศูนย์กลางให้ความรู้ได้
'ตอนนี้สตาร์ทอัปในไทยยังไม่มีใครเป็นระดับยูนิคอร์นที่มีมูลค่าหลักพันล้านบาท ขณะที่เวียดนาม อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ ไปไกลกว่าเรามาก ดังนั้นแนวทางในการสนับสนุนคนไทยคือต้องเป็นพี่เลี้ยง เรามีแผนจะเพิ่มทีมงานขึ้นมาดูแล และ เป็นพี่เลี้ยงให้โดยเฉพาะ ส่วนสตาร์ทอัปต่างชาติเราสามารถขยายการลงทุนได้เลย ซึ่งก็มองว่าเวียดนามน่าสนใจ'
ขณะที่เป้าหมายในการนำผลิตภัณฑ์ของสตาร์ทอัปมาทำให้เกิดบริการจริงนั้น บริษัทคาดว่าจะมีผลิตภัณฑ์ 2-3 บริการในปีนี้ที่ธนาคารน่าจะนำมาให้บริการจริง โดยจะเน้นผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับIoT , บล็อกเชน และ Machine Learning (AI) ในการทำความรู้จักพฤติกรรมของลูกค้าก่อนนำข้อมูลมาประมวลผล เพื่อสรรหาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ลูกค้าได้ดีขึ้น
นายธนา กล่าวว่า สตาร์ทอัป และ ฟินเทค ไม่ใช่สิ่งที่ธนาคารจะต้องกลัวอีกต่อไป เพราะท้ายสุดแล้วทั้งสตาร์ทอัปและฟินเทคจะเป็นพันธมิตรกัน ธนาคารหลายธนาคารซื้อฟินเทคไว้เพื่อสร้างบริการของธนาคาร แต่สิ่งที่น่ากลัวคือ แอปพลิเคชั่นที่มีฐานลูกค้าดิจิตอลอยู่จำนวนมากด้วยการให้ใช้ฟรีก่อน เช่น ไลน์ แอปพลิเคชันของผู้ให้บริการโทรศัพท์ อุ๊คบี วงใน ลาซาด้า เป็นต้น หากนับจากนี้เขาจะหาวิธีสร้างรายได้กับฐานลูกค้าของเขาก็ทำได้โดยง่าย ซึ่งอนาคตอาจทำบริการแข่งกับองค์กรต่างๆได้ ดังนั้นองค์กรจำเป็นต้องสร้างฐานลูกค้าดิจิตอลให้ได้มากที่สุด
นอกจากนี้สตาร์ทอัปไทยต้องออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับ 4 ธุรกิจ ซึ่งเป็นธุรกิจที่ถูกดิจิตอลคุกคาม เพื่อสร้างโอกาสในการเติบโตได้ตรงเทรนด์ของตลาดในขณะนี้ คือ 1.ธุรกิจมีเดีย 2.โทรคมนาคม 3.คอนซูเมอร์ ไฟแนนซ์ และ 4. ค้าปลีก ซึ่งคนหันไปซื้อของออนไลน์เพิ่มขึ้น
ส่วนหน่วยธุรกิจที่บริษัทต้องลงทุนจากเงินที่ได้มา 50 ล้านเหรียญสหรัฐนั้น ปีนี้ตั้งเป้าว่าจะใช้เงินลงทุนให้ได้ 100 % โดยที่ผ่านมาลงทุนไปแล้วกับ 2 กองทุน และ 1 บริษัท ที่ทำบล็อกเชน เพื่อการโอนเงินระหว่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาการลงทุนของบริษัทอยู่ในระดับที่น่าพอใจ
นายธนา กล่าวย้ำว่า การวัดผลการลงทุนของบริษัทในสิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น จำเป็นต้องใช้เวลาอย่างน้อย 5 ปี ถึงจะรู้ว่าเป็นอย่างไร ดังนั้นในปีแรกบริษัทจึงเน้นการสร้างเครือข่ายกับพันธมิตรระดับโลก และการสร้างความรู้ให้กับผู้ประกอบการ