xs
xsm
sm
md
lg

พบกรมศิลป์ว่าจ้างบริษัทรับเหมาบูรณะพระปรางค์วัดอรุณฯ ตรงกับที่มีเรื่องใน สคบ.กรรมการบริษัทพบเป็นลุงแก่ๆ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรณีการบูรณะพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม ที่ออกมาผิดแผกไปจากเดิม จนทำให้เกิดข้อกังขาของสังคมถึงกรรมวิธีและความโปร่งใส่ของขั้นตอนการดำเนินงานนั้น ได้พบว่าการบูรณะดังกล่าวดำเนินการโดยมีกรมศิลปากรเป็นผู้ว่าจ้าง และมีบริษัทตรงกับบริษัทที่ สคบ. กำลังดำเนินคดี และมีกรรมการบริษัทที่รับงานใหญ่ระดับเป็นหน้าเป็นตาของแผ่นดิน เป็นลุงแก่ๆ ที่รับเบี้ยคนชราจากรัฐ

จากกรณีที่ นายต่อตระกูล ยมนาค ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรม อดีตนายกสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ออกมาโพสต์รูปภาพของ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร หลังจากมีการบูรณะ พระปรางค์ โดยระบุข้อความว่า “บูรณะแบบไหน ถึงมาแปลงโฉม พระปรางค์ วัดอรุณฯ เป็นโทนสีขาว แกะกระเบื้องสี หลากสี จากจานเคลือบสีโบราณล้ำค่าหายออกไปแล้ว ทำแบบนี้ ทำไม? ใครรู้ช่วยตอบด้วย” จนกลายเป็นดรามาใหญ่โตชาวเน็ตรุมจวก “จากยักษ์เข้มขลังกลายเป็นยักษ์การ์ตูน”

ชาวเน็ตจวกบูรณะ “พระปรางค์วัดอรุณฯ” จากยักษ์เข้มขลังกลายเป็นยักษ์การ์ตูน

ล่าสุด วันที่ 19 ส.ค. เฟซบุ๊ก Wathin Chatkoon หรือ ดร.เวทิน ชาติกุล อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญาและศาสนา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้โพสต์กรณีดรามาต่อหลังไปพบข้อมูลบริษัทรับเหมาบูรณะพระปรางค์วัดอรุณฯ พบหนึ่งกรรมการเอี่ยวบริษัทที่ถูก สคบ. เอาผิดและดำเนินคดี แถมอีกหนึ่งกรรมการมีชื่อโผล่รับเบี้ยคนชรา จากกรณีการบูรณะพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม ที่ออกมาผิดแผกไปจากเดิม จนทำให้เกิดข้อกังขาของสังคมถึงกรรมวิธีและความโปร่งใส่ของขั้นตอนการดำเนินงานนั้น ได้พบว่าการบูรณะดังกล่าวดำเนินการโดยมีกรมศิลปากรเป็นผู้ว่าจ้าง มี บริษัท ปรียะกิจ จำกัด เป็นผู้รับจ้าง ตามสัญญาจ้างเลขที่ 77/2560 ลงวันที่ 27 มกราคม 2560 ระยะเวลาดำเนินการ 250 วัน ซึ่งเป็นข้อมูลที่ทางวัดได้ขึ้นป้ายบอกให้ทราบแล้วนั้น

คำถามคือ บริษัท ปรียะกิจ ที่เป็นผู้รับงานนั้น คือ บริษัทประเภทใด มีความชำนาญการเป็นพิเศษหรือไม่ในการรับงานนี้ เพราะพระปรางค์วัดอรุณฯ ไม่เพียงเป็นโบราณสถานที่เป็นสมบัติชาติเท่านั้น ยังเป็นถึงหน้าตาและสัญลักษณ์ของประเทศไทยอีกด้วย ในประกาศกรมศิลปากร ได้ระบุว่า มีผู้เข้าร่วมประมูลโครงการบูรณะวัดอรุณราชวราราม (ระยะ 3) จำนวน 2 ราย ที่ได้ลดราคาขั้นต่ำไม่น้อยกว่าครั้งละ 60,000 บาทถ้วน ซึ่งปรากฏว่า บริษัท ปรียะกิจ ได้ลดราคาจำนวน 2 ครั้ง ในวงเงิน 29,880,000 ภายในระยะเวลา 30 นาที ซึ่งทางคณะกรรมการประกวดราคาจ้างฯได้พิจารณาเห็นว่าเป็นราคาที่ดีที่สุด จึงเห็นสมควรให้ว่าจ้างบริษัทดังกล่าว ในวันที่ 24 พฤกศจิกายน 2557 (ประกาศ ณ วันที่ 7 ธันวาคม 2557 ลงนามโดย นายบวรเวช รุ่งรุจี อธิบดีกรมศิลปากร)

เมื่อสืบค้นข้อมูลบริษัทเพิ่มเติม พบว่า บริษัท ปรียะกิจ จำกัด นั้น ระบุที่ตั้งอยู่ที่ 1293/116 ซอยวชิรธรรมสาธิต 57 ถนนสุขุมวิท 101/1 แขวงบางจาก เขตพระโขนง กรุงเทพฯ นั้น จดทะเบียนนิติบุคคลเป็น บริษัทจำกัด เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2541 ทุนจดทะเบียน 5,000,000 บาท ในหมวดธุรกิจ ก่อสร้างอาคารที่พักอาศัย โดยมีวัตถุประสงค์ คือ “รับเหมาก่อสร้างอาคารบ้านเรือน” โดยมีชื่อกรรมการคือ 1. นายวิเชียร สะไบบาง 2. นายพงษ์ศาสตร์ ปรียะพานิช และ 3. นางสาววรางค์ศิริ วิริยะศิริกุล แต่เมื่อค้นข้อมูลต่อไปถึงตัวกรรมการบริษัทดังกล่าวพบข้อสังเกตุที่น่าสนใจ ว่า หนึ่งในกรรมการบริษัท คือ นายวิเชียร สะไบบาง มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อผู้สูงอายุที่กำลังรับเบี้ยสงเคราะห์ผู้สูงอายุ ที่ตําบลช่องด่าน อําเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี ลำดับ 265 ทำไมกรรมการบริษัทที่รับงานใหญ่ระดับเป็นหน้าเป็นตาของแผ่นดิน จึงปรากฏมีชื่อเป็นคุณลุงแก่ๆ ที่กำลังรับเบี้ยคนชราจากรัฐ

เท่านั้นยังไม่พอ ปรากฏว่า กรรมการของบริษัท ปรียะกิจ อีกคน คือ นางสาววรางค์ศิริ วิริยะศิริกุล นั้น มีชื่อและนามสกุลเดียวกันกับบริษัทรับเหมาก่อสร้างที่ทางคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค มีมติให้ดำเนินคดีอยู่ คือ บริษัท วรางค์ศิริ วิริยะศิริกุล และ นายเสรี วิริยะศิริกุล ซึ่งดำเนินโครงการวรางค์ศิริ ซึ่งข้อมูลบริษัท วรางค์ศิริ วิริยะกิจ จดทะเบียนเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2537 ทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท ระบุเป็นบริษัทจำกัด ดำเนินกิจการสร้างหมู่บ้านจัดสรรเพื่อการจำหน่าย มีชื่อ นายสุฤชา วิริยะศิริกุล และ
นายเสรี วิริยะศิริกุล เป็นกรรมการ

ทำไมชื่อของกรรมการบริษัท ปรียะกิจ ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้างโครงการบูรณะพระปรางค์วัดอรุณฯ จึงเป็นชื่อเดียวกันกับบริษัทที่ถูกขึ้นบัญชีดำโดย สคบ. และถูก สคบ. มีมติให้ดำเนินคดีอยู่ หนำซ้ำ ยังมีคนนามสกุลเดียวกัน คือ วิริยะศิริกุล ร่วมเป็นกรรมการบริษัทที่ถูกขึ้นบัญชีดำที่ว่านั้นด้วย เรื่องนี้ยังไม่สาวโยงไปถึงความไม่โปร่งใสใดๆ ทั้งสิ้น แต่เป็นเรื่องที่ อธิบดีกรมศิลปากร ในฐานะผู้ลงนาม ต้องมีคำตอบและชี้แจงสังคมให้เป็นที่กระจ่าง

ในคำถามต่อไปนี้

1. บริษัท ปรียะกิจ เป็นเพียงบริษัทรับเหมาก่อสร้าง! ใช่หรือไม่? มีความชำนาญเกี่ยวกับงานสถาปัตยกรรมไทยหรือไม่? ทำไมบริษัทรับเหมาก่อสร้างจึงได้รับเลือกให้มารับผิดชอบงานที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมดัง เช่น พระปรางค์วัดอรุณฯ

2. ทำไมกรรมการบริษัท ปรียะกิจ คือ นายวิเชียร สะไบบาง ถึงมีชื่อในบัญชีผู้สูงวัยที่รับเบี้ยยังชีพคนชราจากรัฐ?

3. ทำไมกรรมการบริษัทอีกคน คือ นางสาววรางค์ศิริ วิริยะศิริกุล ถึงมีชื่อนามสกุลเดียวกับบริษัทที่ถูกคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคขึ้นบัญชีดำและมีมติเอาผิดในการดำเนินการก่อสร้างโครงการบ้านจัดสรรโครงการวรางค์ศิริ และยังปรากฏว่า ผู้เกี่ยวข้องนั้นเป็นคนในตระกูลเดียวกัน คือ วิริยะศิริกุล ทั้งสิ้น?

ขอคำตอบชัดๆ ให้สังคมกระจ่าง สบายใจกันทุกฝ่าย

หรือ ท่านรัฐมนตรีที่กำกับดูแลกรมศิลป์จะช่วยตอบด้วยอีกคนก็ดี








กำลังโหลดความคิดเห็น