หลายคนอาจเคยเจอเหตุการณ์ เมื่อต้องเดินทางโดยเครื่องบิน ผ่านจุดตรวจค้นกระเป๋า แล้วพบว่า ผลิตภัณฑ์ที่เตรียมมา จำพวก แชมพู โคโลญจน์ โฟมล้างหน้า ลูกกลิ้ง โลชั่น น้ำยาบ้วนปาก หรือที่เรียกว่า ของเหลว เจล สเปรย์ (Liquids Aerosols Gels : LAGs) ต่างๆ นั้น ต้องถูกกำจัดทิ้ง ณ จุดตรวจค้น ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะไม่รู้กฎและวิธีปฏิบัติ “การนำของเหลวขึ้นเครื่องบิน” วันนี้มาเคลียร์กันให้หายสงสัยครับ
จะดูว่าผลิตภัณฑ์ของคุณนับเป็นของเหลว ก็มีวิธีง่ายๆ คือ เนื้อของผลิตภัณฑ์นั้นๆ มีประกอบของน้ำอยู่มากกว่าส่วนประกอบอื่นๆ สามารถไหลไปมาในขวดและซึมเปื้อนเละเทอะได้ในกรณีขวดที่บรรจุเกิดแตกชำรุด และแม้ว่าผลิตภัณฑ์ของเหลวของคุณ จะบรรจุมาในรูปของ หลอดพลาสติก ขวดแก้ว ขวดพลาสติก ตลับ ซองแพ็ก อะไรก็ตาม ต้องนำมานับรวมปริมาตรทั้งหมด
ปริมาณของเหลวที่อนุญาตให้นำติดตัวขึ้นเครื่องบินได้ นั้นรวมทั้งหมดทุกชิ้นแล้วต้องไม่เกิน 1,000 ML. ไม่แนะนำให้กะประมาณด้วยตาเปล่า วิธีก็คือให้ดูตัวเลขระบุปริมาณที่บริเวณข้างขวดบรรจุภัณฑ์ เอามาบวกรวมกันครับ แม้ว่าของเหลวภายในขวดจะเหลืออยู่น้อยกว่าครึ่ง หรือเกือบติดก้นขวดแล้ว แต่การนับปริมาณตามกฏนั้นต้องวัดกันที่ปริมาตรของบรรจุภัณฑ์ หรือตัวเลขที่ระบุข้างขวดนั้นเอง เพื่อให้สะดวกและง่ายต่อการเดินทางแต่ละครั้ง แนะนำให้ถ่ายเทของเหลวที่ต้องการนำติดตัวไป ลงในขวดเล็กๆที่ระบุปริมาตร 100 Ml. ต่อ 1 ชิ้น นับรวมแล้วไม่เกิน 10 ชิ้น ไม่ขาดไม่เกินและพอเหมาะพอดีกับระยะเวลาการใช้งานบนเครื่องบินอีกด้วย หากต้องการนำไปเกินกว่านั้นก็จัดโหลดลงไปพร้อมกระเป๋าเดินทางใบใหญ่จะสะดวกกว่ามากที่เดียว
ทั้งนี้ ของเหลวประเภทยา นม อาหารเด็กทารก จะได้รับการยกเว้นตามกรณี และสามารถนำขึ้นเครื่องได้ในปริมาณเหมาะสมต่อการเดินทางครับ
เพื่อให้การสแกนกระเป๋าเป็นไปอย่างรวดเร็ว การรวมขวดบรรจุภัณฑ์เล็กๆ เข้าไว้ในถุงพลาสติกใสถุงเดียวกันจะทำให้ไม่กระจัดกระจายในกระเป๋าของคุณเองและเห็นง่ายต่อการสแกน และสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้จากความกดอากาศบนที่สูงทำให้เกิดแรงดันในขวด ของเหลวอาจหกเลอะเทอะ ก็ควรจะปิดปากถุงให้สนิทซึ่งเลือกเป็นถุงที่มีซิปล็อก จะง่ายและเก๋กว่ามัดด้วยหนังยาง ถุงของเหลวสำคัญนี้ ผู้โดยสารสามารถขอรับที่ท่าอากาศยานก็มีไว้ให้ตามจุดตรวจค้นก่อนเข้าเครื่องสแกน แต่หากไม่อยากเสียเวลารื้อค้นให้วุ่นวาย จะเตรียมแพคเองตั้งแต่ที่บ้านสะดวกที่สุด
เรื่องนี้ องค์กรการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) กำหนดในปริมาณของเหลวก็เพื่อให้สามารถจำกัดปริมาณ และตรวจสอบได้ว่า ของเหลวที่ถูกนำขึ้นเครื่องบินนั้นจะไม่สามารถนำมาเป็นสารประกอบในการก่อการร้ายในรูปแบบต่างๆ ได้ ดังเช่น มีกรณี เดือนธันวาคม 2552 เมื่อนายอับดุล ฟารุก อุมาร์ อาบูลมูตาลลับ แอบนำผงสารเคมีและของเหลวปริมาณมากขึ้นเครื่องบิน เพื่อพยายามระเบิดเครื่องบินสายการบินหนึ่งในยุโรป เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอีก จึงออกกฎห้ามนำของเหลวเกินกว่า 100 มิลลิลิตรขึ้นเครื่องมาใช้ เพราะปริมาณที่กำหนดนี้เป็นปริมาณน้อยเกินกว่าจะใช้เป็นส่วนประกอบของระเบิดได้ หากจะพยายามทำระเบิดจะต้องรวบรวมของเหลวจากคนอื่นๆ ในเครื่องถึง 10 คนจึงจะทำได้ แต่ก็คงเป็นที่สังเกตได้ง่าย
สำหรับประเทศไทย กรมการขนส่งทางอากาศออกมาตรการห้ามนำของเหลวขึ้นเครื่องบินทั้งภายในและระหว่างประเทศ ตามกฎระเบียบขององค์กรการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือ ICAO ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2550
สินค้าที่เป็นของเหลวซึ่งซื้อจากร้านดิวตี้ฟรีทุกชนิดจะผ่านการตรวจสอบหมดแล้ว เมื่อนำสินค้าขึ้นเครื่องจะมีถุงใส่ให้อย่างมิดชิด มีตราประทับเพื่อให้รู้ที่มาที่ไปของของเหลวที่จะนำขึ้นเครื่อง ซึ่งเห็นได้จากวิธีการบรรจุสินค้า ประเภทของเหลว เจล หรือสเปรย์ซึ่งซื้อจากร้านค้าปลอดอากร หรือดิวตี้ฟรี ที่สนามบินหรือซื้อบนเครื่องบิน จะต้องถูกบรรจุไว้ในถุงพลาสติกใสซึ่งปิดผนึกปากถุงและไม่มีร่องรอยผิดปกติให้สงสัยว่ามีการเปิดปากถุงหลังจากการซื้อ และมีหลักฐานแสดงว่าซื้อจากร้านค้าปลอดอากรที่สนามบินหรือบนเครื่องบินในวันที่ผู้โดยสารนั้นๆ เดินทาง เป็นอีกหนึ่งมาตรการของความปลอดภัย