xs
xsm
sm
md
lg

ปิดตำนาน “ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจชายแดนภาคใต้” 13 ปี ฟันเฟืองดับไฟใต้ ขวัญกำลังใจยังดีอยู่ไหม?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


1 สิงหาคม 2560 เป็นวันแรกที่ตำรวจภูธรในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 4 อำเภอในจังหวัดสตูล จะต้องย้ายกลับมาอยู่ในสังกัดตำรวจภูธรภาค 9 (บช.ภ.9)

หลังมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) 4 เม.ย. 2560 อนุมัติหลักการกฎหมาย 2 ฉบับ สาระสำคัญคือ การปรับโครงสร้างองค์กร สำนักงานตำรวจแห่งชาติขนานใหญ่

หนึ่งในนั้นคือ ยุบรวม “ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.)” เข้ากับ บช.ภ.9 เหมือนโครงสร้างเดิมเมื่อ 8 ปีก่อน แม้จะไม่มีการปรับเพิ่มหรือลดตำแหน่งก็ตาม

ส่วนภารกิจด้านความมั่นคง จะตั้งศูนย์ปฏิบัติการตำรวจภูธรภาค 9 ส่วนหน้า มีรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 เป็นหัวหน้า

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2547 ในยุครัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร เกิดเหตุการณ์ปล้นปืนที่ค่ายปิเหล็ง อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ถือเป็นปฐมบทเหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในยุค พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ ผบ.ตร. (ขณะนั้น) จัดส่งกำลังพลจากส่วนภูมิภาค และส่วนกลางเข้าไปลงพื้นที่ในลักษณะบูรณาการ เพื่อแก้ไขปัญหาและยุติสถานการณ์ให้ได้โดยเร็วที่สุด

10 ก.ย. 2547 จัดตั้ง “ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า” (ศปก.ตร.สน) ทำหน้าที่อำนวยการ ควบคุมสั่งการของตำรวจทุกหน่วย โดยใช้ศูนย์ฝึกอบรมตำรวจภูธรภาค 9 ต.สะเตง อ.เมืองฯ จ.ยะลา

เปิดทำการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2547 เวลา 14.00 น. โดยมี พล.ต.ท.วงกต มณีรินทร์ ผู้ช่วย ผบ.ตร. (ขณะนั้น) เป็นผู้บังคับบัญชา ร่วมกับ พล.ต.อ.บุญเพ็ญ บำเพ็ญบุญ รอง ผบ.ตร.

ต่อมาในปี 2551 ได้มีพระราชกฤษฎีกา โดยจัดตั้ง “ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้” และจัดตั้งส่วนราชการ ระดับกองบังคับการในสังกัด มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 16 ก.พ. 2552

ที่ผ่านมา มีผู้บัญชาการมาแล้ว 10 คน ในระยะเวลา 13 ปี โดยเฉพาะ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว สมัยที่ยังเป็น ผบช.ภ.9 ยังรับตำแหน่งในปี 2548, 2549 - 2550 และในช่วงที่เป็นผู้ช่วย ผบ.ตร. ปี 2550 - 2552

มาถึงคนสุดท้าย คือ “บิ๊กแหมว” พล.ต.ท.รณศิลป์ ภู่สาระ ปฏิบัติหน้าที่ 1 ต.ค. 2559 ถึงวันสุดท้ายขององค์กรแห่งนี้ โดยที่ไม่รู้ว่าหลังจากนี้เขาจะไปสถิตอยู่ที่ไหน

วันสุดท้ายของ ศชต. เป็นไปอย่างคึกคักเป็นพิเศษ มีการมอบโล่รางวัลและใบประกาศเกียรติคุณกับชุดปฏิบัติการตำรวจชุมชนสัมพันธ์ดีเด่น ก่อนจะมอบนโยบาย ความรับผิดชอบ กำหนดขอบเขตที่ชัดเจน

บิ๊กแหมว กล่าวทิ้งท้ายว่า พยายามทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้ดีที่สุด หากตนเองต้องจากไปจะได้ไม่มีอะไรติดค้าง ท่ามกลางสีหน้าเศร้าสลดของนายตำรวจที่เข้าร่วมประชุม

ก่อนจะปิดฉาก 13 ปี หนึ่งในฟันเฟืองส่วนป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม ที่จัดตั้งมาเพื่อช่วยภารกิจ “ดับไฟใต้” โดยเฉพาะ
พล.ต.ท.รณศิลป์ ภู่สาระ
ตลอดระยะเวลาที่จัดตั้งองค์กรที่ผ่านมา ใช่ว่าจะราบรื่น เพราะนับตั้งแต่ไฟใต้ปะทุขึ้นมา กำลังใจตำรวจก็ขวัญหนีดีฝ่อ ใครๆ ก็อยากย้ายหนี

กระทั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติออกสิทธิประโยชน์ 9 ข้อ จูงใจให้ตำรวจอยู่ในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นเบี้ยเสี่ยงภัยเดือนละ 2,500 บาท ตำรวจทุกนายในพื้นที่แห่งนี้จะต้องได้รับ

ชั้นประทวน (ยศสิบตำรวจตรี ถึง ดาบตำรวจ) ได้ค่าครองชีพเดือนละ 1,500 บาท ชั้นสัญญาบัตร (ยศร้อยตำรวจตรีขึ้นไป) ได้เบี้ยเลี้ยงเฉลี่ยเดือนละ 4,000 บาท บางตำแหน่งได้ค่าตำแหน่งอีกเดือนละ 3,000 บาท

ที่ทำเอาหน่วยอื่นตาลุกวาวก็คือ ทุกชั้นยศจะได้สิทธินับเวลาราชการทวีคูณ (ปฏิบัติราชการ 1 ปีคิดเป็น 2 ปี) ส่งผลต่อขั้นเงินเดือน การขอขั้นเงินเดือนเป็นกรณีพิเศษ และลำดับอาวุโส

รวมทั้งหากตายยังมีสิทธิได้ “เงินเพิ่มพิเศษสำหรับการสู้รบ” (พ.ส.ร.) ร่วมกับทหาร ฝ่ายปกครอง แม้กระทั่งครูในสังกัด กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)

ถึงขนาดตำรวจหน่วยอื่นร้องเรียนว่า ศชต. เอาเปรียบ

แต่พอสำนักงานตำรวจแห่งชาติ งัดไม้แข็งใช้วิธีบังคับให้พนักงานสอบสวนทั่วประเทศ 6 พันนาย ต้องจับสลากเพื่อหาตำรวจ 150 นาย ลงไปปฏิบัติหน้าที่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อปี 2555

ทำเอาตำรวจสังกัดตำรวจภูธรภาค 4 (ภาคอีสาน) นำโดย พ.ต.ท.ไขแสง ถวิลวงศ์ ต้องยื่นหนังสือคัดค้าน อ้างว่าเป็นวิธีการที่ไม่มีความเสมอภาค เพราะอายุขนาดนี้ พวกเขากำลังสร้างครอบครัว

พูดง่ายๆ คือ ไม่มีใครอยากลงไปตาย

แต่สิทธิประโยชน์เหล่านี้ กลายเป็นช่องที่ “ตำรวจเลว” บางคน เอาเปรียบตำรวจคนอื่น ด้วยการเอาชื่อไปแปะไว้ใน ศชต. แต่ไม่โผล่หัวมาทำงาน พอถึงเวลาแต่งตั้งก็ขอใช้สิทธินับอายุราชการทวีคูณ

กระทั่งเมื่อมีเรื่องไม่ชอบมาพากลมากๆ ประกอบกับตำรวจหน่วยอื่นเรียกร้องให้ลดสิทธิพิเศษ มาถึงสมัยที่ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง เป็น ผบ.ตร. ก็ยกเลิกสิทธินับอายุราชการทวีคูณตั้งแต่ปี 2557

ทำเอาตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่หวังว่าสักวันหนึ่งจะได้ย้ายไปอยู่ในที่ที่ดีกว่า ยังคงเสี่ยงตายอยู่ในพื้นที่ต่อไป ยิ่งมาเจอยุบ ศชต. อนาคตก็ยิ่งมืดมน กลับตัวไม่ได้ ไปไม่ถึงไหน

เหตุผลสำคัญที่ยุบ ศชต. นั้น แม้ไม่ทราบแน่ชัด แต่หลักๆ ก็เพื่อความเอกภาพในการบริหาร โดยเฉพาะด้านการสืบสวนสอบสวน และด้านการบริหารกำลังพล ทำได้ง่ายขึ้นภายใต้คำสั่ง ผบช.ภ.9

การยุบ ศชต. จะกล่าวว่าเป็นความล้มเหลวในการดับไฟใต้ก็ไม่ถูกนัก เนื่องจากยังมีหลายหน่วยงาน ทั้งทหาร ฝ่ายปกครอง และหน่วยงานด้านความมั่นคง ร่วมกันแก้ไขปัญหากันอยู่

แต่สิ่งที่ต้องจับตามองกันต่อไป คือ ขวัญกำลังใจของตำรวจ โดยเฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอใน จ.สงขลา จะอยู่กันอย่างไร สิทธิประโยชน์จะยังคงเดิม เพิ่มขึ้น หรือลดลง

ยิ่งสิทธิประโยชน์ลดลง ยิ่งกระทบขวัญกำลังใจ ยิ่งไม่มีใครอยากลงไปตาย โดยไม่มีอะไรให้คนข้างหลัง

-----------------------------------------------------
ตราสัญลักษณ์ที่กลายเป็นตำนาน
ทำเนียบผู้บังคับบัญชา ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.)

1. พลตำรวจโท วงกต มณีรินทร์ ผู้ช่วย ผบ.ตร. ปฏิบัติหน้าที่ 13 กันยายน 2547 - 13 กุมภาพันธ์ 2548
2. พลตำรวจโท ไพศาล ตั้งใจตรง ผู้ช่วย ผบ.ตร. ปฏิบัติหน้าที่ 14 กุมภาพันธ์ 2548 - 31 พฤษภาคม 2548
3. พลตำรวจโท อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบช.ภ.9 ปฏิบัติหน้าที่ 1 มิถุนายน 2548 - 30 กันยายน 2548 และตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2549 - 25 กุมภาพันธ์ 2550
4. พลตำรวจโท เจตนากร นภีตะภัฎ ผบช.ภ.9 ปฎิบัติหน้าที่ 26 กุมภาพันธ์ 2550 - 30 กันยายน 2550
5. พลตำรวจโท อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้ช่วย ผบ.ตร. ปฏิบัติหน้าที่ 5 ตุลาคม 2550 - 28 กุมภาพันธ์ 2552
6. พลตำรวจโท พีระ พุ่มพิเชฏฐ์ ผบช.ศชต. ปฏิบัติหน้าที่ 1 มีนาคม 2552 - 30 กันยายน 2553
7. พลตำรวจโท ไพฑูรย์ ชูชัยยะ ผบช.ศชต. ปฏิบัติหน้าที่ 1 ตุลาคม 2553 - 30 กันยายน 2556
8. พลตำรวจโท ยงยุทธ เจริญวานิช ผบช.ศชต. ปฏิบัติหน้าที่ 1 ตุลาคม 2556 - 30 กันยายน 2557
9. พลตำรวจโท อนุรุต กฤษณะการะเกตุ ผบช.ศชต. ปฏิบัติหน้าที่ 1 ตุลาคม 2557 - 30 กันยายน 2558
10. พลตำรวจโท เฉลิมพันธุ์ อจลบุญ ผบช.ศชต. ปฏิบัติหน้าที่ 1 ตุลาคม 2558 - 30 กันยายน 2559
11. พลตำรวจโท รณศิลป์ ภู่สาระ ผบช.ศชต. ปฏิบัติหน้าที่ 1 ตุลาคม 2559 - 31 กรกฎาคม 2560 ยุบองค์กรไปรวบกับ บชก.ภ.9
กำลังโหลดความคิดเห็น