xs
xsm
sm
md
lg

ผบก.ภ.จว.ยะลาเยี่ยมจุดตรวจ เน้นเฝ้าระวังวันครบรอบ 12 ปีเหตุปล้นปืนกองพันพัฒนาที่ 4

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ยะลา - ผบก.ภ.จว.ยะลา ลงเยี่ยมจุดตรวจ เน้นย้ำเฝ้าระวังวันครบรอบ 12 ปีเหตุการณ์ปล้นปืน ในขณะที่ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ สรุปตัวเลข 12 ปีไฟใต้ เกิดเหตุการณ์ทั้งสิ้น 15,374 เหตุการณ์ ผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 6,543 ราย บาดเจ็บนับหมื่น

วันนี้ (4 ม.ค.) ที่บริเวณจุดตรวจถนนพาดรถไฟ หน้าตลาดสดรถไฟ เขตเทศบาลนครยะลา พล.ต.ต.อิทธิพล อัจฉริยะประดิษฐ์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดยะลา พร้อมด้วย พ.ต.อ.จำลอง สุวลักษณ์ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเมืองยะลา ได้เดินทางมาตรวจเยี่ยมให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และกองกำลังภาคประชาชนที่ปฏิบัติหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัย พร้อมอำนวยความสะดวกให้แก่พี่น้องประชาชน

โดย พล.ต.ต.อิทธิพล อัจฉริยะประดิษฐ์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดยะลา ได้กล่าวชื่นชมเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติหน้าที่ในห้วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา พร้อมเน้นย้ำให้มีความเข้มในการตรวจตรารถยนต์ รถจักรยานยนต์ รวมทั้งบุคคลเป้าหมายเป็นพิเศษ เนื่องจากในวันนี้เป็นวันครบรอบ 12 ปี เหตุการณ์ปล้นปืนที่กองพันพัฒนาที่ 4 อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส

 
มีรายงานสรุปเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จากศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch : DSW) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ว่า สถิติจำนวนเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่ปี 2547-2558 เกิดเหตุการณ์ทั้งสิ้น 15,374 เหตุการณ์ โดยรวมเหตุการณ์เฉลี่ยปีละ 1,281 เหตุการณ์

แต่เมื่อดูแนวโน้มเหตุการณ์ทั้งหมด 12 ปี จะพบว่า มีจุดตัดของเหตุการณ์เป็น 2 ช่วงใหญ่ๆ คือ ในระหว่างปี 2547-2550 และช่วงปี 2551-2558 ในช่วง 4 ปีแรกนั้น เหตุการณ์จะรุนแรงมาก เฉลี่ยปีละ 1,926 ครั้ง ส่วนช่วงที่ 2 ระหว่างปี 2551-2558 มีเหตุการณ์เฉลี่ยปีละ 959 ครั้ง น่าสังเกตว่าเมื่อดูเหตุการณ์โดยเฉพาะในปี 2558 นี้ ได้เกิดเหตุการณ์ทั้งสิ้น 674 เหตุการณ์ ซึ่งนับได้ว่าเป็นปีที่มีเหตุการณ์ความไม่สงบต่ำที่สุดในรอบ 12 ปี

“เมื่อพิจารณาเป็นรายเดือนในปี พ.ศ.2558 เดือนที่เกิดเหตุสูงสุดคือ เดือนพฤษภาคม มีเหตุการณ์จำนวน 119 ครั้ง รองลงมาอันดับ 2 คือ เดือนตุลาคม มีเหตุการณ์ 114 ครั้ง อันดับ 3 คือ เดือนกรกฎาคม ซึ่งเกิดเหตุการณ์ 73 ครั้ง เป็นที่น่าสังเกตว่าในปี 2558 ทั้งปี มีเดือนที่มีเหตุการณ์สูงเกินกว่า 100 เหตุการณ์มีเพียง 2 เดือนเท่านั้น คือ เดือนพฤษภาคม และเดือนกรกฎาคม ในเดือนพฤษภาคม เกิดเหตุระเบิดมากกว่า 48 จุด รวมทั้งมีการแขวนป้ายผ้า 27 จุด ในเขตเมืองยะลา ตั้งแต่วันที่ 10 พฤษภาคม ต่อเนื่องจนถึงวันที่ 15 พฤษภาคม นับเป็นการโจมตีครั้งใหญ่ที่สุดในปีนี้

 
ส่วนในเดือนตุลาคม ก็เกิดเหตุวางระเบิดหลายแห่งในเมืองยะลา และ อ.ยะรัง จ.ปัตตานี สถิติระเบิดในเดือนตุลาคมจึงมากกว่า 40 จุด ส่วนเดือนที่เกิดเหตุต่ำสุดคือ เดือนมิถุนายน เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบ จำนวน 30 เหตุการณ์ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 24 คน และได้รับบาดเจ็บ 39 คน” ในรายงานระบุ

ข้อมูลของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ยังระบุอีกว่า ในรอบ 12 ปีที่ผ่านมา ความรุนแรง และความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 6,543 ราย โดยเฉลี่ยมีผู้เสียชีวิตปีละ 545 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บทั้งสิ้น 11,919 ราย โดยเฉลี่ยปีละ 993 ราย จุดที่เป็นที่น่า สังเกตในข้อมูลชุดนี้ก็คือว่า นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556 จำนวนผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บมีแนวโน้มลดลง โดยในระหว่างปี พ.ศ.2556 ถึง 2558 มีผู้เสียชีวิต 456 ราย 341 ราย และ 244 รายตามลำดับ ส่วนผู้บาดเจ็บระหว่างปี พ.ศ.2556 ถึง 2558 มีจำนวน 978 ราย 672 ราย และ 544 รายตามลำดับ


 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น