xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการยะลาชี้ “ไม่เห็นด้วย” ยุบ “ศชต.” เชื่อแก้ปัญหาผิดพลาด ชาวบ้าน “เห็นชอบ” ระบุผลงานไม่ชัดเจน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ยะลา - นักวิชาการยะลา ชี้ไม่เห็นด้วยกรณียุบ “ศชต.” เชื่อเป็นการแก้ปัญหาที่ผิดพลาด ขณะที่ชาวบ้านในชุมชนเห็นชอบยุบ “ศชต.” ระบุไม่มีผลงานที่ชัดเจน ด้านศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ สรุปเหตุความไม่สงบตลอด 13 ปีที่ผ่านมา พบตัวเลขความรุนแรงลดลง

วันนี้ (1 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากมีข่าวการยุบศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศชต. ไปรวมกับกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 ซึ่งศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2552 หลังจากมีการตั้งศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ส่วนหน้า (ศปก.ตร.สน.) เมื่อปี 2547 เพื่อแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ จ.ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา

สำหรับศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศชต. มีผู้บัญชาการรวม 6 คน ประกอบด้วย พล.ต.ท.พีระ พุ่มพิเชฎฐ์ ปฏิบัติหน้าที่ 1 มีนาคม 2552 ถึง 30 กันยายน 2553, พล.ต.ท.ไพฑูรย์ ชูชัยยะ ปฏิบัติหน้าที่ 1 ตุลาคม 2553 ถึง 30 กันยายน 2556, พล.ต.ท.ยงยุทธ เจริญวานิช ปฏิบัติหน้าที่ 1 ตุลาคม 2556 ถึง 30 กันยายน 2557, พล.ต.ท.อนุรุษ กฤษณะการะเกตุ ปฏิบัติหน้าที่ 1 ตุลาคม 2557 ถึง 30 กันยายน 2558, พล.ต.ท.เฉลิมพันธุ์ อจลบุญ ปฏิบัติหน้าที่ 1 ตุลาคม 2558 ถึง 30 กันยายน 2559 และ พล.ต.ท.รณศิลป์ ภู่สาระ ปฏิบัติหน้าที่ 1 ตุลาคม 2559 ถึงปัจจุบัน

นายรักชาติ สุวรรณ์ ประธานชุมชนคูหามุข เปิดเผยว่า สำหรับเรื่องที่จะมีการยุบศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศชต.นั้น จริงๆ แล้วคนในพื้นที่ โดยเฉพาะในชุมชนต่างๆ ของ จ.ยะลา ตั้งแต่ตั้ง ศชต.ขึ้นมา ไม่เคยเห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ศชต. เข้ามาพูดคุยกับชาวบ้านในชุมชน ในเรื่องของการทำงาน หรือปัญหาต่างๆ ทำให้ชาวบ้านมองว่า ศชต.ที่ผ่านมา ไม่ได้มีผลงานอะไรที่โดดเด่น และยังมองว่า ถ้า ศชต.ไม่มีบทบาททำมวลชนในพื้นที่เลย หรือไม่ได้ลงพื้นที่ชุมชน การยุบ ศชต.จึงไม่ได้มีผลกระทบอะไรต่อชาวบ้าน
 

 
“ส่วนการทำงานของเจ้าหน้าที่หลังจากนี้ ตนก็เชื่อว่าเจ้าหน้าที่ก็คงจะปฏิบัติหน้าที่กันตามปกติ เมื่อกลับไปเป็นภาค 9 ส่วนหน้า เหมือนเดิม คงจะกระทบในส่วนของระดับผู้ใหญ่มากกว่า ในเรื่องของตำแหน่งว่าจะไปอยู่ตรงไหน ส่วนระดับล่างก็เชื่อว่าไม่มีผลกระทบอะไร ส่วนประเด็นที่น่าสนใจ ก็คือ เรื่องค่าตอบแทนของเจ้าหน้าที่ผู้ปฎิบัติหลังจากนี้มากกว่า ที่เรียกว่าค่าเสี่ยงภัย เมื่อมีการปรับเปลี่ยนแล้ว เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่จะได้รับอีกหรือไม่ เนื่องจากเมื่อกลับไปอยู่ในภาค 9 งบประมาณก็จะลดน้อยลง ก็น่าเห็นใจเจ้าหน้าที่” นายรักชาติ กล่าว

ประธานชุมชนคูหามุข ยังกล่าวอีกว่า หลังจากยุบ ศชต. ก็คงจะกลับไปสู่รูปแบบเดิม เป็นการทำงานสั่งการที่จะไม่เหมือนเดิม เพราะการบังคับบัญชาจะไปอยู่ที่ จ.สงขลา การปรับเปลี่ยนกลับไปเป็นภาค 9 ส่วนหน้า ก็ควรที่จะมีผู้ใหญ่ลงมานั่งบังคับบัญชา เพื่อคอยดูแลการทำงานของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ ซึ่งตนเองมองว่า การยุบ ศชต. ก็คงจะไม่กระทบการทำงานของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่แต่อย่างใด

ด้าน ผศ.ดร.สมบัติ โยธาทิพย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา กล่าวว่า ตั้งแต่มีสถานการณ์ความไม่สงบ ตั้งแต่ปี 2547 ที่ผ่านมา ก็มีการตั้งหน่วยงานตำรวจขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัด และ 4 อำเภอ ซึ่งตนมองว่าเป็นการทำงานที่ชัดเจน และทำงานได้ดี ซึ่งเมื่อมองว่าหากยุบรวมให้กลับไปอยู่ภาค 9 ที่จะต้องดูแลรวม 7 จังหวัด สมาธิการทำงานการดูแลพื้นที่ 3 จังหวัด ก็คงจะหลุดแน่ โอกาสการทำงานให้เต็มประสิทธิภาพก็คงจะลดน้อยลง ตนเองค่อนข้างเสียดาย อยากเห็นพื้นที่นี้เป็นพื้นที่พิเศษ ที่มีหน่วยงานพิเศษดูแลเฉพาะ 3 จังหวัดภาคใต้ เพราะปัญหา 3 จังหวัดใต้ แตกต่างจากปัญหาที่อื่นอย่างชัดเจน การยุบหน่วยงานที่ดูแล 3 จังหวัด ไปรวมกับอีกหน่วยงานหนึ่ง ซึ่งจะต้องดูแลอีก 4 จังหวัด ซึ่งแน่นอนว่าในการดูแลบริหาร ประสิทธิภาพลดน้อยลงแน่

วันนี้ถึงแม้ว่ายังมี ศชต.ก็ยังมีปัญหาหนักทั้งเรื่องคดีความ การสืบสวน การติดตามก็ยังล่าช้า พนักงานสอบสวนก็ยังไม่เต็มพื้นที่ ยังมีปัญหา ขนาดมี ศชต.ก็ยังทำงานไม่ทัน แล้วหากมีการยุบ ศชต.จะเกิดอะไรขึ้น ผู้บัญชาการภาค 9 ต้องดูแลทั้ง 7 จังหวัด เวลาที่จะต้องดูแล 3 จังหวัด ก็จะถูกแบ่ง ตนอยากเห็น ศชต.มากกว่า มีการตัดสินใจได้รวดเร็ว การยุบ ศชต.ตนมองว่ากระทบการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่แน่นอน
 

 
มีรายงานจากศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DeepSouthWatch) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี สรุปจำนวนเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่ปี 2547 ถึง 2559 ว่า ปี 2547 เกิดเหตุการณ์ จำนวน 1,474 เหตุการณ์, ปี 2548 เกิดเหตุการณ์ จำนวน 2,091 เหตุการณ์, ปี 2549 เกิดเหตุการณ์ จำนวน 2,012 เหตุการณ์, ปี 2550 เกิดเหตุการณ์ จำนวน 2,409 เหตุการณ์, ปี 2551 เกิดเหตุการณ์ จำนวน 1,063 เหตุการณ์, ปี 2552 เกิดเหตุการณ์ จำนวน 967 เหตุการณ์, ปี 2553 เกิดเหตุการณ์ จำนวน 1,097 เหตุการณ์, ปี 2554 เกิดเหตุการณ์ จำนวน 1,161 เหตุการณ์, ปี 2555 เกิดเหตุการณ์ จำนวน 1,851 เหตุการณ์, ปี 2556 เกิดเหตุการณ์ จำนวน 1,793 เหตุการณ์, ปี 2557 เกิดเหตุการณ์ จำนวน 1,356 เหตุการณ์, ปี 2558 เกิดเหตุการณ์ จำนวน 945 เหตุการณ์ และปี 2559 เกิดเหตุการณ์ จำนวน 815 เหตุการณ์

จากฐานข้อมูลของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Incident Database-DSID) พบว่า ในระหว่างเดือนมกราคมปี 2547 ถึงเดือนเมษายน 2560 มีเหตุการณ์ความไม่สงบรวมทั้งสิ้น 19,279 เหตุการณ์ ในช่วงเวลาดังกล่าวมีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบ 6,544 ราย มีผู้บาดเจ็บ 12,963 ราย สรุปได้ว่า ในรอบ 13 ปี ระหว่างปี 2547-2559 มีผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บรวม 19,507 ราย
 
กำลังโหลดความคิดเห็น